14 กลุ่มนัดรวมตัว 13 ก.ค.เชียร์พิธานั่งนายกฯ ตร.เข้มจุดเสี่ยง 3 เหล่าทัพหนุนดูแลความสงบ

14 กลุ่ม รวมตัวหน้ารัฐสภา 13 ก.ค. หนุน “พิธา” นายกฯ ตามเจตจำนงประชาชน ด้าน บช.น. เข้ม จุดเสี่ยง กทม.-ศาลากลาง จัดที่คุมขังชั่วคราว 3 แห่ง ส่วน 3 เหล่าทัพ เตรียมกำลังในที่ตั้ง พร้อมสนับสนุน

เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม แหล่งข่าวความมั่นคง ระบุถึง การเตรียมความพร้อมรับมือโหวตเลือกนายกฯ ที่รัฐสภา วันที่ 13 ก.ค.2566 นี้ ว่า พบความเคลื่อนไหวของกลุ่มมวลชน ที่คาดว่าจะมีการรวมตัวเพื่อมาแสดงเจตจำนงบริเวณลานหน้ารัฐสภา เพื่อให้ที่ประชุมรัฐสภาสนับสนุน นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกลและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30

– กลุ่มแฟนคลับพรรคก้าวไกล (ด้อมส้ม) นำโดย นางนภัสสร บุญรีย์
– กลุ่มทะลุฟ้า นำโดย นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา
– กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม นำโดย น.ส.กัลยกร สุนทรพฤกษ์
– กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย นำโดย นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข
– กลุ่มเครือข่ายแรงงาน นำโดย น.ส.ธนพร วิจันทร์
– คณะก้าวหน้า นำโดย น.ส.พรรณิกา วานิช
– กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย นำโดย นายกรกช แสงเย็นพันธ์
– กลุ่ม iLaw นำโดย นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์
– กลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอก นำโดย น.ส.ชุมาพร แต่งเกลี้ยง
– กลุ่มทะลุวัง นำโดย น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์
– กลุ่มโมกหลวงริมน้ำ นำโดย นายโสภณ สุรฤทธิ์ธำรง
– กลุ่มการ์ด We Volunteer นำโดย นายธนากร มูลถวิล
– กลุ่มเพื่อนกัญปฏิวัติ นำโดย นายจิรภาส กอรัมย์
– กลุ่มล่องนภา ประมาณ น.ส. มาริสา เพศยนาวิน

ขณะที่ พล.ต.ต.โชคชัย งามวงศ์ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รอง ผบช.น.) ในฐานะกำกับดูแลงานฝ่ายความมั่นคง ได้สั่งการให้กองบังคับการตำรวจนครบาล 1-9 (บก.น.1-9) กำหนดจุดเสี่ยง พื้นที่เฝ้าระวัง จุดระดมพล เพื่อเตรียมแผนรองรับ กรณีเกิดความวุ่นวาย ทำลายสถานที่ราชการ สถานที่สำคัญ เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เช่น พ่นสี ก่อกวน ก่อความวุ่นวาย

Advertisement
  • บก.น.1 รับผิดชอบ 9 สน. และ 1 กองกำกับการสืบสวน พื้นที่เฝ้าระวัง เช่น ทำเนียบรัฐบาล นางเลิ้ง เขตพระราชฐาน วัดพระแก้ว กระทรวงกลาโหม สนามหลวง อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ลานคนเมือง อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ แยกดินแดน หน้า ร.1 รอ. รัฐสภา แยกเกียกกาย ถนนทหาร
  • บก.น.2 มีเขตรับผิดชอบ 11 สน. และ 1 กองกำกับการสืบสวน พื้นที่เฝ้าระวัง เช่น สนามบินดอนเมือง หลักสี่ ศูนย์ราชการ กกต. ศาลรัฐธรรมนูญ จตุจักร หมอชิต สถานีกลางบางซื่อ 5 แยกลาดพร้าว รัชโยธิน วงเวียนบางเขน
  • บก.น.4 รับผิดชอบ 8 สน. และ 1 กองกำกับการสืบสวน พื้นที่เฝ้าระวัง เช่น หน้ามหาวิทยาลัยรามคำแหง โชคชัย 4 ลาดพร้าว
  • บก.น.5 มีเขตรับผิดชอบ 9 สน.และ 1 กองกำกับการสืบสวน พื้นที่เฝ้าระวัง เช่น ใต้สถานีบีทีเอสอุดมสุข แยกบางนา สวนลุมพินี
  • บก.น.6 รับผิดชอบ 8 สน. และ 1 กองกำกับการสืบสวน พื้นที่เฝ้าระวัง เช่น หน้าหอศิลป์ sky walk เซ็นทรัลเวิลด์ แยกศาลาแดง ศาลพระพรหม แยกปทุมวัน
  • บก.น.7 มีเขตรับผิดชอบทั้งหมด 11 สน. และ 1 กองกำกับการสืบสวน พื้นที่เฝ้าระวัง เช่น ศาลาแดง ธรรมศาลา พุทธมณฑลสาย 1-4 วงเวียนใหญ่
  • บก.น.8 มีเขตรับผิดชอบทั้งหมด 11 สน. และ 1 กองกำกับการสืบสวน พื้นที่เฝ้าระวัง เช่น วงเวียนใหญ่ ฝั่ง บุปผาราม

นอกจากนี้ ในส่วนต่างจังหวัด กำหนดเฝ้าระวัง ศาลากลางจังหวัดทั่วประเทศ

ขณะที่ 3 เหล่าทัพ ได้เตรียมกำลังทหารไว้สนับสนุนไว้ในที่ตั้ง โดยเบื้องต้นให้เป็นหน้าที่ของตำรวจ ส่วนการหยิบมาตรการใดๆ มาบังคับใช้ ให้คำนึงสถานการณ์หน้างาน และพฤติกรรมของผู้ชุมนุม เพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อย โดยเฉพาะบริเวณหน้ารัฐสภา อำนวยความสะดวกการโหวตนายกฯ ลุล่วงไปด้วยดี

ก่อนหน้านี้ พล.ต.ต.สมควร พึ่งทรัพย์ รอง ผบช.น. ได้มีหนังสือคำสั่ง ใช้สถานที่ควบคุมของ สน.ทุ่งสองห้อง, สน.ฉลองกรุง, สน.จรเข้น้อย เป็นสถานที่ควบคุมพิเศษเฉพาะคราว ตั้งแต่วันที่ 1-31 ก.ค.66 หรือจนกว่าจะเสร็จสิ้นภารกิจ โดยมอบหมายให้ พ.ต.อ.วิชัย แดงประดับ รอง ผบก.สส.บช.น. เป็นนายตำรวจผู้ประสานการปฏิบัติ

Advertisement

สืบเนื่องจากสถานการณ์ด้านการข่าวปรากฏข้อมูลอันน่าเชื่อถือว่า ได้มีกลุ่มผู้ชุมนุมที่มีความเห็นต่างทางการเมืองและกลุ่มแนวร่วมอื่นๆ ได้นัดรวมกลุ่มจัดกิจกรรมชุมนุมภายในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยมีลักษณะใช้ความรุนแรง และไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอาจก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยภายในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครนั้น

และเป็นไปตามมาตรการรักษาความสงบเรียบร้อย กรณีที่มีการจับกุมตัวผู้ต้องหาเป็นจำนวนมากเพื่อให้การดำเนินคดีผู้ต้องหาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งเกิดความปลอดภัย อาจก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย หรือเกิดอันตรายประการอื่น

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image