ราชบัณฑิตยสภา แจงหลักเกณฑ์คำย่อ ‘ส.ส.-ส.ว.’ แบบที่ถูกต้องคือ ‘สส.-สว.’

ราชบัณฑิตยสภา แจงหลักเกณฑ์คำย่อ ‘ส.ส.-ส.ว.’ แบบที่ถูกต้องคือ ‘สส.-สว.’

เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม สำนักงานราชบัณฑิตยสภา ชี้แจงการใช้คำย่อ “สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร” และ “สมาชิกวุฒิสภา” ที่ถูกต้อง โดยอ้างอิง น.ส.กุลศิรินทร์ นาคไพจิตร นักวรรณศิลป์ชำนาญการพิเศษ กองศิลปกรรม สำนักงานราชบัณฑิตยสภา ลงวันที่ 13 กรกฎาคม 2566

โดยระบุว่า เมื่อถึงช่วงเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองที่เกี่ยวกับรัฐสภา มักมีผู้สอบถามเรื่องการเขียนคำย่อของคำว่า “สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร” และ “สมาชิกวุฒิสภา” ว่าที่ถูกต้องเขียนว่าอย่างไร

ในภาษาเขียนควรเขียนคำต่างๆ เป็นคำเต็ม เพื่อให้สื่อสารได้ชัดเจน หากจำเป็นต้องย่อ สำนักงานราชบัณฑิตยสภาได้กำหนดหลักเกณฑ์การเขียนคำย่อไว้เพื่อเป็นแนวทางในการเขียนคำย่อให้ใช้เป็นแบบแผนเดียวกัน ดังปรากฏในหนังสือ หลักเกณฑ์การใช้เครื่องหมายวรรคตอน และเครื่องหมายอื่นๆ หลักเกณฑ์การเว้นวรรค หลักเณฑ์การเขียนคำย่อ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พิมพ์ครั้งที่ 7 (แก้ไขเพิ่มเติม) พ.ศ.2551

Advertisement

เมื่อพิจารณาย่อคำว่า “สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร” และ “สมาชิกวุฒิสภา” ตรงกับหลักเกณฑ์การเขียนคำย่อ ข้อ 3 และ 9

3.ถ้าเป็นคำประสม ใช้พยัญชนะต้นของแต่ละคำ

ตัวอย่าง

Advertisement

(1) ชั่วโมง = ชม.
(2) โรงเรียน = รร.

9.ตัวย่อต้องมีจุดกำกับเสมอ ตัวย่อตั้งแต่ 2 ตัวขึ้นไปให้จุดที่ตัวสุดท้ายเพียงจุดเดียว ยกเว้นตัวที่ใช้มาก่อนแล้ว

ตัวอย่าง

(1) ตำบล = ต.
(2) รองศาสตราจารย์ = รศ.
(3) พุทธศักราช = พ.ศ.

ดังนั้น คำว่า “สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร” จึงย่อเป็น “สส.” และ “สมาชิกวุฒิสภา” จึงย่อเป็น “สว.” เนื่องจากคำว่า “สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร” และ “สมาชิกวุฒิสภา” เป็นคำประสม จึงใช้พยัญชนะต้นของแต่ละคำมาเขียนเป็นคำย่อ และไม่ได้เป็นคำที่ใช้มาก่อน (เช่น “พุทธศักราช” ย่อว่า “พ.ศ.”) หรือเป็นชื่อเฉพาะ (เช่น สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน ย่อว่า สำนักงาน ก.พ.) หรือเป็นคำย่อที่ใช้ตามกฎหมาย (เช่น อักษรศาสตรบัณฑิต ย่อว่า อ.บ.) โดยจุดที่ตัวสุดท้ายเพียงจุดเดียว

อย่างไรก็ดี มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า เหตุใดจึงมีการเขียนคำย่อเป็น “ส.ส.” และ “ส.ว.” ด้วย ในเรื่องนี้มีที่มาจากพัฒนาการในการใช้คำย่อ กล่าวคือ ก่อนที่จะมีการกำหนดหลักเกณฑ์การเขียนคำย่อของราชบัณฑิตยสถาน (ปัจจุบันคือสำนักงานราชบัณฑิตยสภา) เพื่อเป็นแนวทางในการใช้คำย่อให้เป็นแบบแผนเดียวกัน พบการเขียนคำย่อในภาษาไทยทั้งแบบที่จุดคั่นทุกตัวอักษร และแบบที่จุดที่ตัวสุดท้ายเพียงจุดเดียว ในทำนองเดียวกับการเขียนคำย่อในภาษาอังกฤษ เช่น สหรัฐอเมริกา ที่เดิมพบใช้ว่า U.S.A. และต่อมาใช้ USA. ซึ่งปัจจุบันมักใช้ USA แต่ด้วยการใช้เครื่องหมายจุดในคำย่อภาษาอังกฤษไม่มีผลต่อความหมายคำ เนื่องจากประโยคภาษาอังกฤษเขียนเว้นวรรคเป็นคำๆ ไม่ได้เขียนคำต่อเนื่องกันอย่างภาษาไทย

ส่วนการเขียนคำย่อในภาษาไทยจำเป็นต้องใส่เครื่องหมายจุดในคำย่อ โดยเว้นวรรคหน้าคำย่อ เพื่อให้ทราบว่าคำย่อนั้นเริ่มต้นจากตัวอักษรใด เช่น สวนสาธารณะของ กทม.หลายแห่งจัดกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพ ด้วยเหตุนี้จึงมีการกำหนดหลักเกณฑ์การเขียนคำย่อของภาษาไทยให้ใช้เป็นแบบแผนเดียวกัน โดยเผยแพร่ครั้งแรกในหนังสือ รายงานประจำปี 2529 ราชบัณฑิตยสถาน และได้พิมพ์อยู่ในหนังสือ หลักเกณฑ์การใช้เครื่องหมายวรรคตอนและเครื่องหมายอื่นๆ หลักเกณฑ์การเว้นวรรค และหลักเกณฑ์การเขียนคำย่อ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พิมพ์ครั้งที่ 5 (แก้ไขเพิ่มเติม) พ.ศ.2533 จนถึงฉบับพิมพ์ครั้งที่ 7 พ.ศ.2551 ซึ่งหลักเกณฑ์ดังกล่าวเป็นหลักเกณฑ์ที่กำหนดมาแต่เดิมและใช้สืบเนื่องมาจนปัจจุบัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image