อดีตส.ส.ร.มึน! ตรรกะ”มีชัย” คนได้คะแนนสูงสุดไม่ได้หมายความว่าชนะเลือกตั้ง

“คณิน” งง “มีชัย” บอกผู้ได้คะแนนเสียงสูงสุด ไม่ใช่ผู้ชนะลต. ถาม วางระบบลต.แบบนี้เพราะเสียดายคะแนนผู้แพ้หรือมีเป้าหมายแฝงเร้นอย่างอื่น

เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ นายคณิน บุญสุวรรณ อดีตส.ส.ร. ปี 40 ในฐานะประธานคณะทำงานติดตามการร่างรัฐธรรมนูญ พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงกรณีที่นายมีชัย ฤชุพันธ์ ประธานกรธ. ระบุ ผู้ที่ได้รับเลือกตั้งเป็นอันดับหนึ่งยังไม่ถือว่าเป็นผู้ชนะเพราะคะแนนเสียงที่ได้รับอาจน้อยกว่าคะแนนของผู้ที่ได้อันดับสอง สาม สี่ รวมกัน ดังนั้น จึงต้องเอาคะแนนของผู้ที่ได้คะแนนรองๆ ลงไปมาคิดคำนวณเป็นที่นั่ง ส.ส.ในสภาด้วย เพื่อมิให้คะแนนเหล่านั้นสูญเปล่า ว่า เป็นตรรกะวิธีคิดที่ประหลาด นายมีชัยไม่เคยสมัครรับเลือกตั้ง และไม่เคยคิดที่จะสมัครรับเลือกตั้งจึง ไม่เข้าใจธรรมชาติของการแข่งขันในการเลือกตั้ง และอาจเสียดายคะแนนของผู้ที่แพ้เลือกตั้งจนลืมหลักการเรื่อง “Simple majority” หรือระบบ “Winner take all” ในการเลือกตั้ง ซึ่งหมายความว่าผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดตามจำนวนที่นั่งของแต่ละเขตถือเป็นผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นส.ส. ส่วนคนที่ได้คะแนนน้อยกว่าแม้เพียงคะแนนเดียวก็ถือว่าแพ้เลือกตั้ง นี่เป็นกฎกติกาที่ใช้กันทั่วโลก นายมีชัยจะเรียกว่าเป็นผู้ชนะหรือไม่ใช่ผู้ชนะเป็นเรื่องของนายมีชัยคนเดียวไม่ควรเอามาใช้หักล้างกติกาสากลดังกล่าวและให้ความสำคัญกับคะแนนเสียงของผู้ที่ไม่ได้รับเลือกตั้งมากกว่าผู้ที่ได้รับเลือกตั้งมากจนเกินไป

นายคณิน กล่าวต่อว่า ถามจริงๆเถิดว่าที่ออกแบบเลือกตั้งแบบนี้เป็นเพราะเสียดายคะแนนเสียงของผู้แพ้เลือกตั้งเท่านั้นจริงหรือ หรือว่ามีเป้าหมายแฝงเร้นอะไรอย่างอื่น เพราะเท่าที่ดูในเชิงลึก การเลือกตั้งที่เน้นความสำคัญของคะแนนเสียงที่ผู้แพ้เลือกตั้งได้รับก่อให้เกิดผลในทางลบต่อระบบการเมือง และเสถียรภาพทางการเมืองอย่างน้อย 4 ประการได้แก่ 1.ลดจำนวนที่นั่งส.ส.ของพรรคอันดับหนึ่ง 2.ลดโอกาสของพรรคอันดับหนึ่งที่จะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล 3.เพิ่มโอกาสของพรรคขนาดกลางทั้งการได้มีส.ส.เพิ่มอย่างเป็นกอบเป็นกำและการได้เป็นพรรคร่วมรัฐบาล และ 4.เพิ่มโอกาสของคนนอกที่จะได้เป็นนายกฯ

นายคณิน กล่าวอีกว่า แต่ถ้าจะให้เป็นอย่างที่นายมีชัย พยายามชี้นำก็ต้องเปลี่ยนวิธีเลือกตั้งและนับคะแนนจากแบบ”Simple majority” หรือ “Winner take all” มาเป็นแบบ “Absolute majority” คือ เลือกตั้งสองรอบ ถ้ารอบแรกใครได้คะแนนเกิน 50% ก็ได้เป็นส.ส.ไปเลย แต่ถ้ารอบแรกไม่มีใครได้ถึง 50% ก็เอาคนที่ได้ ที่ 1 กับที่ 2 มาแข่งกันใหม่คราวนี้ได้คนที่ชนะเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงข้างมากเด็ดขาดเป็นส.ส.แน่ๆ แต่ข้อเสียของการเลือกตั้งสองรอบคือสิ้นเปลือง ด้วยเหตุนี้จึงไม่ค่อยมีประเทศไหนนิยมใช้ ดังนั้น นายมีชัยและกรธ. จะต้องเลือกเอาระหว่างผู้ชนะเลือกตั้งที่ได้เสียงข้างมากธรรมดาที่เราใช้กันมาตลอดจนคุ้นชิน หรือว่าผู้ชนะเลือกตั้งที่ต้องได้เสียงข้างมากเด็ดขาดที่เราไม่เคยใช้มาก่อน ไม่ใช่บอกว่าให้ใช้วิธีแรกแต่ผู้ชนะต้องยอมให้ผู้แพ้มีที่นั่ง ในสภาด้วยอย่างที่ให้กาบัตรใบเดียวแต่ได้สมาชิกสองประเภทนี่แหละ เพราะมันมั่ว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image