อ.นิติมธ. รับเป็นวันที่น่าผิดหวังที่สุด ทำปชช.ไร้ความหมาย เตือนฝ่ายอำนาจ ยิ่งฆ่า ยิ่งเกิดใหม่

อ.นิติมธ. รับเป็นวันที่น่าผิดหวังที่สุด ทำปชช.ไร้ความหมาย เตือนฝ่ายอำนาจ ยิ่งฆ่า ยิ่งเกิดใหม่

จากกรณีการประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อพิจารณาวาระการเลือกบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งที่สอง เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคล ซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ซึ่งมีผู้เสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) เพียงชื่อเดียว ให้รัฐสภาพิจารณา และมี ส.ส.รับรอง 299 คนครบตามจำนวนที่กำหนด

โดยหลังจากที่ประชุมได้ใช้เวลาถกเถียงและอภิปรายในเหตุผลที่สนับสนุนความเห็นของฝั่งตนเอง ซึ่งใช้เวลานานกว่า 8 ชั่วโมง กระทั่งเวลา 16.55 น. นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา กล่าวว่า ขอให้ที่ประชุมลงมติว่าการเสนอชื่อนายพิธาให้รัฐสภาโหวตเป็นนายกฯอีกรอบขัดกับข้อบังคับการประชุมข้อ 41 หรือไม่ โดยผลการลงมติ พบว่าเสียงข้างมาก 395 เสียง ต่อ 312 เสียง งดออกเสียง 8 เสียง ไม่ลงคะแนน 1 ไม่เสนอชื่อนายพิธาซ้ำได้ในสมัยประชุมนี้

ล่าสุด ผศ.ดร.มุนินทร์ พงศาปาน อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ให้สัมภาษณ์ผ่านมติชนทีวี ว่า เรื่องที่เกิดขึ้นในวันนี้ ไม่ได้อยู่เหนือความคาดหมาย ก็คาดคิดไว้อยู่แล้ว เมื่อเริ่มเห็นสัญญาณตั้งแต่ไปร้องเรียน และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตอนที่ กกต.ยื่นคำร้องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ ก่อนโหวตนายกรัฐมนตรี รอบแรก เพียง 1 วัน ซึ่งทำให้เริ่มเห็นสัญญาณ และคาดการณ์ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น

Advertisement

ผศ.ดร.มุนินทร์ กล่าวต่อว่า ประกอบกับเห็นกำหนดเวลา การประชุมของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่ประชุมในวันนี้ ทำให้เห็นอย่างค่อนข้างชัดเจน แต่ลึกๆ ก็ยังมีความหวังอยู่ริบหรี่ แต่พอมาเป็นเหมือนที่เราคิด และคนส่วนใหญ่คาดคิดไว้ทุกอย่าง ทำให้ความหวังที่เราหวัง ว่า บ้านเมืองจะเดินไปข้างหน้าได้นิดนึง มันมลายหายสิ้นไป แน่นอนว่าเกิดความผิดหวังในระดับรุนแรง เพราะในอดีตเราก็ผิดหวังซ้ำซากมาตลอด วันนี้ก็เป็นอีกวันที่น่าผิดหวังอย่างที่สุด และผิดหวังกันมาเรื่อยๆ แต่ที่น่าผิดหวังที่สุด จะเกิดจากปัจจัยที่ว่าเพิ่งมีการเลือกตั้งมา และประชาชนได้ออกเสียง ได้แสดงเจตจำนงของตนเอง แต่ว่าเสียงที่เราออกไปส่งผ่านไปยังผู้แทนของเรา มันไม่มีความหมาย

ผศ.ดร.มุนินทร์ กล่าวต่อว่า ตนเกิดทันในช่วงเวลาที่เรามีการเลือกตั้ง คือ ช่วงหลังพฤษภาทมิฬ เห็นการฟอร์มทีมรัฐบาลกัน เห็นรัฐบาลที่มีเสถียรภาพบ้าง ไม่มีเสถียรภาพบ้าง มีงูเห่าบ้าง แต่ว่ามันคือกลไกของรัฐสภา เราฝันถึงคืนวันเก่าๆ ความเป็นธรรมดาของการเมือง ต่อให้มีนักการเมืองที่แย่บ้าง มีปัญหาบ้าง มันก็เป็นเรื่องการเมือง ที่สุดท้ายก็ตัดสินด้วยการเลือกตั้ง และเรารู้สึกว่าเสียงของเรามีความหมาย แต่เราผ่านมาเป็น สิบๆปีแล้ว เราถอยหลังไปยิ่งกว่าเดิม กลายเป็นว่าเรามีการเลือกตั้ง แต่เสียงของเราไม่มีความหมายอะไรเลย ในฐานะคนไทยคนหนึ่งที่มีสิทธิเลือกตั้ง ก็ผิดหวังอย่างมาก

Advertisement

“แต่ในฐานะนักกฎหมาย ผิดหวังอย่างยิ่งที่สุด เพราะความหวังริบหรี่ของเรา เราก็รู้ว่าสุดท้ายหลักกฎหมายที่เราอธิบาย มันคงไม่มีความหมายอะไร แต่มีความหวังว่า คนที่บังคับใช้กฎหมาย น่าจะยังคงรักษาหลักการในกฎหมายไว้อยู่บ้าง น่าจะมีสักคน สองคน สามคน หรือหลายคน ที่ยังคิดถึงหลักการพื้นฐานทางกฎหมายบ้าง แต่สุดท้ายเส้นทางที่มีการเลือก แสดงให้เห็นได้ชัดเลยว่า 1.คุณไม่เห็นหัวประชาชนเลย 2.ไม่สนใจหลักกฎหมายเลย ซึ่งผมได้ข้อสรุปอย่างหนึ่งว่า หลักกฎหมายที่เราอธิบายไปมัน คือ หลักสากลที่ใช้ในประเทศอื่นๆ แต่ไม่มีอยู่จริงในประเทศเรา ถือเป็นวันอีกวันหนึ่งที่น่าเศร้าในวงการกฎหมายของไทย” ผศ.ดร.มุนินทร์ กล่าว

ผศ.ดร.มุนินทร์ กล่าวต่อว่า มองว่านิติสงคราม เป็นการต่อสู้โดยการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ ฟังดูเหมือนกับว่าทั้งสองฝ่าย มีกำลัง มีการต่อสู้ทางกฎหมาย แต่บ้านเราไม่ใช่แบบนั้น ไม่ใช่เป็นการต่อสู้ของสองฝ่ายที่มีอาวุธในทางกฎหมาย แต่เป็นการทำลายฝ่ายเดียว สิ่งที่เกิดขึ้นคือการที่ฝ่ายหนึ่งพยายามที่จะทำลายฝ่ายหนึ่งอยู่ฝ่ายเดียว ตนคิดว่าเราเรียกว่าเป็นการล้างเผ่าพันธุ์ได้ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นกับหลายๆ พรรคที่ถูกมองว่าเป็นศัตรูของความมั่นคง เช่น พรรคไทยรักไทย พรรคอนาคตใหม่ พรรคก้าวไกล เป็นต้น ทั้งนี้ เราต้องดูว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับพรรคก้าวไกลต่อไป อาจจะเกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยกับพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งตนคาดหมายว่าอาจจะไปถึงขนาดนั้น

“สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการล้างเผ่าพันธุ์ คือ ทำให้พวกนี้หมดบทบาทไปอย่างสิ้นซาก แต่ผมคิดว่า มันไม่ได้ผลอะไร เพราะยิ่งทำลาย เมื่อเกิดใหม่ขึ้นมา มันแข็งแรง ซึ่งอาจจะเป็นแบบนกฟีนิกซ์ ที่เกิดใหม่จะกลับมาแข็งแรงยิ่งกว่าเดิมอีก ผมคิดว่าในอนาคตจะเกิดปรากฏการณ์แบบนี้ เพียงแต่ว่าจะผ่านค่ายกลทางกฎหมายที่วางไว้อย่างไร ถือเป็นโจทย์สำหรับคนที่คิดจะปฏิรูปและเปลี่ยนแปลงในอนาคต” ผศ.ดร.มุนินทร์ กล่าว

“ในมุมของคนสอนกฎหมาย พูดเรื่องนี้แล้วถอนหายใจ มันเหนื่อย และอ่อนแรงไปทุกครั้ง เมื่อพูดเรื่องพวกนี้ สิ่งที่เราต้องทำคือ ต้องยืนยันว่านี่คือหลักการที่ถูกต้อง เป็นหลักการสากลที่ประเทศอื่นๆยอมรับกัน ถึงวันนี้จะไม่เกิด แต่ทุกครั้งที่เราสอนนักศึกษา เราต้องมีความหวังเสมอ ว่า วันหนึ่งเมื่อนักศึกษาของเราไปทำหน้าที่เหล่านั้น จะเป็นคนสร้างการเปลี่ยนแปลง จะเป็นคนทำให้หลักการที่เราสอนใช้ได้จริงในประเทศของเรา ผมคิดว่าคนที่เป็นครูต้องมีความหวังแบบนี้อยู่ตลอด ถ้าวันหนึ่งเราไม่มีความหวัง ผมต้องลาออกจากการเป็นอาจารย์ ต่อให้เหนื่อยแค่ไหนเราต้องมีความหวัง อาจจะต้องใช้เวลาหน่อย เพราะคนรุ่นนี้ที่เราสอนจะโตขึ้นเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม” ผศ.ดร.มุนินทร์ กล่าว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image