4 สูตรรัฐบาลเพื่อไทย หลังพิธาวืดนายกฯ
ฉากทัศน์ทางการเมือง โดยเฉพาะโฉมหน้าสูตรของรัฐบาลใหม่ ภายใต้การนำของ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล 312 เสียง จากเดิมมีพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ที่คว้าที่นั่ง ส.ส.มาเป็นอันดับหนึ่ง 151 เสียง พร้อมกับชู พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรค ก.ก.และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี เสนอให้ที่ประชุมรัฐสภา โหวตเลือกเป็นนายกฯตามมาตรา 272 เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคมที่ผ่านมา ในครั้งแรก แม้ไม่สามารถฝ่าด่านได้เสียงสนับสนุนเกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภา (ตามจำนวนเท่าที่มีอยู่) 375 เสียง เพราะได้เสียงสนับสนุนมาที่ 324 เสียง ยังขาดอีก 51 เสียงเป็นอย่างน้อย
ขณะที่การโหวตเลือกนายกฯรอบ 2 แม้ทั้ง 8 พรรคร่วมยังมีมติส่ง พิธา ชิงนายกฯอีกรอบ แต่เจอด่านหินทั้งการตีความข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อที่ 41 ที่ห้ามเสนอญัตติที่ตกไปแล้วได้หรือไม่ โดยที่ประชุมเสียงข้างมาก 395 เสียง ต่อ 312 เสียง งดออกเสียง 8 เสียงไม่ลงคะแนน 1 คือไม่เสนอชื่อนายพิธาซ้ำได้ในสมัยประชุมนี้ และกรณีศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับคำร้องของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ส่งให้ศาลพิจารณาสมาชิกภาพ ส.ส.ของ พิธา สิ้นสุดลงหรือไม่ จากเหตุมีชื่อถือครองหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) จำนวน 42,000 หุ้น พร้อมกับสั่งให้ พิธา หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.ตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคม เป็นต้นไป จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย
เส้นทางรัฐบาลของพรรค ก.ก.จึงอยู่ในสถานะ ไปต่อ ลำบาก ฉากทัศน์ต่อไปจึงเป็นความชอบธรรมของพรรคอันดับ 2 อย่างพรรคเพื่อไทย (พท.) รับไม้ต่อ กลับมาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล
สูตรการจัดตั้งรัฐบาลภายใต้การนำของพรรค พท. ความเป็นไปได้ สูตรที่ 1 คือ 8 พรรคร่วม 312 เสียง ประกอบด้วย พรรค ก.ก. 151 เสียง พรรค พท. 141 เสียง พรรคประชาชาติ (ปช.) 9 เสียง พรรคไทยสร้างไทย (ทสท.) 6 เสียง พรรคเพื่อไทรวมพลัง (พทล.) 2 เสียง พรรคเสรีรวมไทย (สร.) 1 เสียง พรรคเป็นธรรม (ปธ.) 1 เสียง และพรรคพลังสังคมใหม่ 1 เสียง พร้อมกับชู เศรษฐา ทวีสิน ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย เป็นแคนดิเดตนายกฯ ให้ที่ประชุมรัฐสภาเลือก
หากดูจากฐานคะแนนที่ พิธา ได้รับเสียงสนับสนุน 324 เสียง แบ่งเป็น จาก 8 พรรคร่วม 311 เสียง และ ส.ว. 13 เสียง ยังต้องเดินหน้าหาเสียงอีกอย่างน้อย 51 เสียง ถ้าไม่ได้เสียงจากขั้วรัฐบาลเดิม 188 เสียง โหวตข้ามขั้วมาสนับสนุน ก็จะต้องเดินหน้าเจรจากับ ส.ว.ให้ได้อีก 51 เสียง แต่อาจติดเงื่อนไขที่ ส.ว.บางกลุ่มจะไม่โหวตสนับสนุนนายกฯจากพรรค พท.หากมีพรรค ก.ก. ร่วมรัฐบาลด้วย แต่ด้วยชั้นเชิงทางการเมืองของพรรค พท. อาจออกเป็นรัฐบาลสูตรที่ 2 คือ 8 พรรคร่วม 312 เสียง พร้อมกับดีลเสียงเพิ่ม
จากขั้วรัฐบาลเดิม 188 เสียง บางพรรค อาทิ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) 25 เสียง พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) 10 เสียง พรรคชาติพัฒนากล้า (ชพก.) 2 เสียง พรรคเล็ก 1 เสียงอีก 4 เสียง จะรวมได้ 353 เสียง ยังต้องการเสียง ส.ว.อีก 22 เสียง ซึ่งเป็นจำนวนที่ไม่ยากในการเจรจาของเสียง ส.ว. แต่มีเงื่อนไขที่ว่า พรรค ก.ก.ยอมรับหรือไม่ รวมทั้งพรรคร่วมในขั้วปัจจุบันจะยอมรับในจุดยืนของพรรค ก.ก.ได้หรือไม่ จึงอยู่ที่ความสามารถของแกนนำจัดตั้งรัฐบาลอย่างพรรค พท.เป็นผู้จัดการ
ถ้าสูตรที่ 2 ไปต่อไม่ได้ อาจจะเป็นสูตรที่ 3 ประกอบด้วย พรรค พท. 141 เสียง และอีก 6 พรรคร่วม โดยไม่มีพรรค ก.ก. จะมีเสียงอยู่ที่ 161 เสียง ผนึกกับขั้ว 188 เสียง โดยไม่มีพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ที่อาจติดเงื่อนไขและจุดยืนทางการเมืองที่ไม่ตรงกับพรรค พท. อีก 152 เสียง จะเป็นรัฐบาลผสม ที่มี 313 เสียง
โดยมี เศรษฐา เป็นนายกฯ ต้องหาเสียง ส.ว.มาสนับสนุนอีก 62 เสียง ซึ่งไม่ใช่เรื่องยาก เนื่องจากมีพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ภายใต้การนำของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค พปชร. ที่มีคอนเน็กชั่นกับกลุ่ม ส.ว.สาย พล.อ.ประวิตร ไม่ต่ำกว่า 80 คน
หากรัฐบาลสูตร 3 ยังตั้งไม่ได้ เนื่องจากยังติดเงื่อนไขที่ ส.ว.ไม่โหวตสนับสนุน แคนดิเดตนายกฯจากพรรค พท. อาจต้องเดินหน้ามาสู่การตั้งรัฐบาลสูตร 4 ด้วยการให้พรรค พปชร.เป็นแกนนำ โดยชู พล.อ.ประวิตร เป็นนายกฯคนที่ 30 โดยสูตรที่ 4 เป็น สูตรก้าวข้ามความขัดแย้ง ตามมอตโตของ พล.อ.ประวิตร ซึ่งฟันธงล่วงหน้าได้ว่า ส.ว.พร้อมเทเสียงสนับสนุนให้ พล.อ.ประวิตรเป็นนายกฯ ได้อย่างไม่ยาก
แต่มีเงื่อนไขอยู่ที่พรรค พท.จะยอมรับดีลนี้หรือไม่ เนื่องจากความชอบธรรมในฐานะพรรคที่มีเสียง ส.ส.มากที่สุด 141 เสียง แต่ไม่สามารถผลักดันแคนดิเดตนายกฯของพรรคให้ขึ้นทำหน้าที่บริหารประเทศได้
ทุกสูตรการจัดตั้งรัฐบาล ไม่ว่าจะออกมาเป็นรูปแบบใด ล้วนมีต้นทุนทางการเมือง ที่ทุกพรรคต้องจ่าย จะมากหรือน้อย คงไม่มีใครประเมินเป็นตัวเลขหรือมูลค่าได้
ซึ่งผลการเลือกตั้งครั้งต่อไปจะเป็นคำตอบให้แต่ละพรรคได้ชัดเจนที่สุดว่าใครมี จุดยืน และเคารพ ฉันทามติ ของประชาชนหรือไม่?
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่