วิจารณ์แซ่ดมติ 2 สภา เบรกโหวต ‘พิธา’ ซ้ำ

วิจารณ์แซ่ดมติ2สภา เบรกโหวต‘พิธา’ซ้ำ หมายเหตุ - นักวิชาการวิพากษ์

หมายเหตุ – นักวิชาการวิพากษ์วิจารณ์ปมข้อบังคับรัฐสภาข้อที่ 41 ที่มีมติเห็นว่าการเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) เป็นนายกรัฐมนตรีเป็นการเสนอญัตติซ้ำไม่สามารถทำได้ ส่งผลให้ข้อบังคับที่ 41 เหนือกว่ารัฐธรรมนูญ 2560 และจะส่งผลกระทบที่ตามมาอย่างไร

ยอดพล เทพสิทธา
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

หากจะอธิบายการใช้วิธีการคือการที่ใช้ข้อบังคับที่ 41 มาตีความว่าเป็นญัตติ ซึ่งญัตติที่ตกไปแล้วจะนำกลับมาเสนอซ้ำไม่ได้นั้น ผมมองว่าเป็นกระบวนการที่สรรหาคำเปรียบไม่ได้ เป็นกระบวนการที่ทำให้กฎหมายบิดเบี้ยว ประการแรกต้องเข้าใจก่อนว่า กระบวนการทางนิติบัญญัติมี 3 อย่าง คือ 1.การบรรจุระเบียบวาระการประชุม 2.การเสนอญัตติ 3.การตั้งกระทู้ถาม การเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ที่จะต้องถูกบรรจุไว้ในระเบียบวาระการประชุมของรัฐสภา เช่น เวลาไปประชุม มีวาระที่ 1 แจ้งเพื่อทราบ, วาระที่ 2 รับรองรายงานการประชุม, วาระที่ 3 การเสนอชื่อบุคคลที่เหมาะสมเป็นนายกฯ ว่ากันไปตามระเบียบวาระการประชุม แต่ญัตติคือสิ่งที่สมาชิกรัฐสภาเตรียมมาและร้องขอให้รัฐสภาดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นการใช้อำนาจทางนิติบัญญัติ ไม่ใช่การใช้อำนาจตามกระบวนการทางรัฐธรรมนูญ

Advertisement

ดังนั้น การที่บอกว่าเสนอชื่อซ้ำไม่ได้ ผมมองว่าเป็นการบิดเบือนกฎหมายที่ทำให้ระบบกฎหมายเสียไปแล้ว ทุกอย่างจะเป็นญัตติไปหมดซึ่งผิด มีหลายอย่างที่ไม่เหมือนกัน จากที่ควรจะเป็นการเสนอชื่อตามกระบวนการปกติ ตามข้อบังคับในหมวดที่ 9 เพียงแต่ข้อบังคับการประชุมสภา เป็นแค่ตัวกำหนดขั้นตอนเฉยๆ ว่าจาก 1 ไปถึง 10 การจะได้นายกฯนั้นมีขั้นตอนอย่างไรบ้าง คือความสำคัญของข้อบังคับการประชุมสภา ที่ใช้เพื่อให้การประชุมเป็นไปอย่างมีระเบียบเรียบร้อย ไม่อย่างนั้นจะซ้ำไปซ้ำมา

หลักการในการเสนอนายกฯ ไม่ใช่ญัตติ ลองไปสำรวจความเห็นของนักกฎหมายใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นอ.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ, อ.พวงทอง ภวัครพันธุ์ หรือแม้แต่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ มองว่าไม่ใช่ญัตติ จะเสนอชื่อซ้ำก็ได้ สิ่งที่สมาชิกรัฐสภากำลังทำในวันนี้จะส่งผลกระทบต่อระบบกฎหมายในอนาคตอย่างมาก ทำให้เกิดเดดล็อกทางการเมือง

สมมุติอยู่ๆ พรรค ก.ก.สะดุด ถ้าอย่างนั้นจะลองเสนอแคนดิเดตของพรรคที่ไม่ใช่ทั้ง 8 พรรคไปเลย เป็นใครก็ได้ ไม่ว่าจะพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) หรือพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เสนอ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค พปชร. ไปก็ได้ เพื่อไปโหวตใน ส.ว.ไม่ผ่าน หรือกลายเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยแล้วในวันที่มีการโหวตไม่ไว้วางใจรัฐมนตรี นั่นคือ พล.อ.ประวิตรกลับมาไม่ได้แล้ว หรืออีกกรณีหนึ่ง ถ้าจะมองเป็นญัตติแบบที่สมาชิกรัฐสภาส่วนมากมอง วันที่ 27 กรกฎาคมนี้ นายเศรษฐา ทวีสิน หรือ น.ส.แพทองธารชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย อาจจะได้รับการเสนอชื่อ แล้วถ้าโหวตไม่ผ่านอีก จนไม่เหลือแคนดิเดต จะถีบไปสู่มาตรา 272 วรรค 2 คือนายกฯที่ไม่ได้อยู่ในบัญชีแคนดิเดต หรือนายกฯคนนอก

Advertisement

อยากถามว่า ในเมื่อกระบวนการมีทางออกให้เสมอ ทำไมสมาชิกรัฐสภาบางส่วนถึงต้องผลักประเทศให้ไปสู่ทางตันอีกครั้งหนึ่งด้วยกระบวนการทางกฎหมายมีคำตอบ อันนี้ไม่ใช่ญัตติก็ว่ากันไป ทำไมถึงต้องพยายามผลักประเทศให้ไปสู่ทางตันอีกครั้งผมก็ไม่เข้าใจเหมือนกันสมมุติ น.ส.แพทองธาร หรือนายเศรษฐาไม่ผ่าน นายชัยเกษม นิติสิริ จากพรรคเพื่อไทย (พท.) ไม่ผ่าน ไม่เหลือใครแล้ว จะเหลือแต่อีกฝั่งที่จะกลายเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย จะเอาอย่างนั้นหรือ เป็นดุลพินิจของประธานรัฐสภาในการวินิจฉัย ว่ามีข้อเท็จจริงเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ ลงมติไปหรือยัง โดยหลักการแล้ว จริงๆ เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคมที่ผ่านมา นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา สามารถที่จะวินิจฉัยไปได้เลยว่า ให้หรือไม่ให้ ไม่จำเป็นที่จะต้องเอามาลงความเห็นหรือโหวตกัน ผมเลยมองว่าเป็นกระบวนการที่ค่อนข้างประหลาดอยู่

ฉากต่อไป ผมคิดว่าจะไปตกที่พรรค พท. ที่จะเหนื่อยมากที่ต้องทำอย่างไรก็ได้ให้โหวตผ่านในรอบเดียวถ้าให้ผมวิเคราะห์ ค่อนข้างยากมาก เพราะต้องไม่ลืมว่ายังมี ส.ว.ที่กลายเป็นปัจจัยในการตั้งเงื่อนไขว่า พรรค พท.จะต้องไม่รวมกับพรรค ก.ก. กลายเป็นว่าการโหวตเลือกนายกฯ ส.ว.เข้ามามีส่วนร่วมมากอย่างที่ไม่สมควรจะมี พูดอย่างภาษาบ้านๆ กำลังผลักประเทศให้ไปสู่จุดที่อาจจะก่อให้เกิดความวุ่นวาย และมีการทำรัฐประหารอีกครั้ง เพราะถึงที่สุดจะกลายเป็นนายกฯคนนอก เมื่อตกลงกันไม่ได้ต้องมีการสตาร์ตรถถังอยู่ดี จริงๆ ผมว่าหลายฝ่ายเรียกร้อง ส.ว.ให้เคารพในเสียงของสภาล่าง แต่ผลก็อย่างที่เห็น

ถามว่านายพิธาจะยังมีสิทธิอยู่อีกหรือไม่ ก็ยังมีวิธีที่อาจจะทริกกี้ ถ้าจะไปกันในฐานะที่เรียกว่าเป็นญัตติ เสนอซ้ำไม่ได้ แต่มีข้อยกเว้นคือ เว้นแต่มีข้อเท็จจริงอื่น ถ้าอย่างนั้นก็ให้อีกฝั่งหนึ่งเสนอใครก็ไม่รู้ขึ้นมา แล้วก็ให้นายพิธามาลงด้วย จะกลายเป็นว่าข้อเท็จจริงไม่เหมือนเดิม เพราะในขณะที่เสนอชื่อนายพิธาในครั้งแรก นายพิธาไม่มีคู่แข่ง แต่ข้อเท็จจริงเปลี่ยน คือมีคู่แข่ง อาจจะดูขี้โกง และไม่ควรจะไปในระบบแบบนี้แต่ควรจะยืนยันกันไปในระบบที่ถูกต้อง

พิชิต รัชตพิบุลภพ
คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

จ ากที่รัฐสภาลงมติเหตุที่มาจากข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ.2563 ข้อ 41 ส่งผลให้ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อนายพิธา ไม่สามารถถูกเสนอชื่อเพื่อให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบเป็นนายกฯได้ ผลจากการลงมติดังกล่าว เป็นการส่งสัญญาณในทางการเมืองที่สำคัญยิ่งมากกว่าผลทางกฎหมายที่จะตามมาในภายหลัง กล่าวคือ การกระตุ้นเร่งเร้าให้พรรคร่วม 8 พรรคในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสัญญาณเตือนดังกล่าวมุ่งพุ่งตรงไปยังพรรค พท. ที่ต้องคิดให้รอบคอบถึงคนที่จะถูกเสนอชื่อเป็นนายกฯในครั้งถัดไป และพรรค พท.ต้องทบทวนให้ดีว่า รายชื่อของพรรคร่วมรัฐบาลยังคงมีความจำเป็นที่ พรรค ก.ก.ต้องยังคงอยู่ร่วมในสมการทางการเมืองต่อไปอีกหรือไม่

หากวิเคราะห์ในมุมพรรคเพื่อไทย แม้จะมีรายชื่อแคนดิเดตนายกฯอยู่ถึง 3 คน แต่คลื่นสัญญาณที่ส่งมาชัดทำให้คาดว่าพรรค พท. นายชัยเกษม น่าจะถูกเสนอรายชื่อเป็นนายกฯในครั้งถัดไปมากกว่าที่จะเป็นนายเศรษฐา หรือ น.ส.แพทองธาร ผลการประชุมร่วมรัฐสภาน่าจะเป็นไปในทิศทางที่คาดเดาได้ไม่ยากว่า การลงมติดังกล่าวคงไม่ผ่านการเห็นชอบจากรัฐสภา แต่ผลลัพธ์นี้น่าจะเป็นสิ่งที่พรรค พท.ต้องการ

ด้วยเหตุผลหลักสองประการ กล่าวคือ เป็นการตรวจสอบเสียงสนับสนุนจากวุฒิสมาชิกที่ประสานกันไว้ล่วงหน้าว่ามีจำนวนวุฒิสมาชิกเท่าใดและมีวุฒิสมาชิกท่านใดบ้างที่ให้การสนับสนุนพรรค พท. ยังคงขาดเสียงสนับสนุนจากวุฒิสมาชิกอยู่เท่าใดเพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายจำนวนที่ต้องการ ทำให้พรรค พท.สามารถประมาณการจำนวนมือในสภาในส่วนของวุฒิสภาได้คร่าวๆ

ประการที่สองซึ่งเป็นประการที่สำคัญสุด ผลจากการลงมติที่ไม่ผ่านการเห็นชอบของรัฐสภาจะนำมาซึ่งความชอบธรรมของพรรคการเมืองบางพรรคในพรรคร่วมทั้ง 8 พรรคในปัจจุบันที่เห็นว่า ถึงเวลาที่มีความจำเป็น ถึงเวลาที่เหมาะสม ต้องมีการเปลี่ยนแปลงจำนวนและรายชื่อพรรคร่วมกันใหม่เพื่อให้การจัดตั้งรัฐบาลสามารถดำเนินการต่อไปได้

ซึ่งจะสอดคล้องกับข้อเสนอแนะจากวุฒิสมาชิกที่ได้แสดงความเห็นมาก่อนหน้านั้นแล้ว ท้ายที่สุดแล้ว พรรค ก.ก.คงต้องยอมเสียสละตนเองไปเป็นฝ่ายค้านและยกมือสนับสนุนให้พรรค พท.ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล เพื่อให้ประเทศชาติเดินต่อไปได้ตามเส้นทางที่ถูกวางไว้

ผศ.โอฬาร ถิ่นบางเตียว
อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

กรณีข้อถกเถียงกันในรัฐสภาเกี่ยวกับกรณีที่ข้อบังคับสภาที่ 41 ขัดกับรัฐธรรมนูญ ผมมองว่าในเรื่องนี้การใช้ข้อบังคับสภาที่ 41 ถือว่าผิดมาก และถือว่าเป็นเรื่องใหญ่มาก ที่ประธานรัฐสภาปล่อยให้มีการพิจารณาโดยไม่ให้ความสำคัญของข้อกฎหมาย เนื่องจากการโหวตนายกฯอยู่ในรัฐธรรมนูญถือว่าเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ มีศักดิ์และสิทธิสูงสุด แต่ให้ข้อบังคับการประชุมรัฐสภาข้อ 41 มาถือเป็นแนวปฏิบัติ มีศักดิ์และสิทธิต่ำกว่า ปกติจะใช้เกี่ยวกับการประชุมรัฐสภา แต่ในการประชุมครั้งนี้ได้นำกฎหมายลูก มาพิจารณาเหนือกว่ารัฐธรรมนูญ ถือว่าผิดหลักกฎหมายเลย ผลพวงของการตัดสินแบบนี้และในครั้งนี้ผิด หากใครไปยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน เรื่องนี้จะเป็นคดีแน่นอน

หากมองว่าการใช้กฎหมายแบบนี้อาจจะนำไปสู่การเลือกนายกฯคนนอก ผมมองว่านายกฯคนนอกสามารถทำได้อยู่แล้ว หากมีเสียงในสภา 500 คน ทั้ง ส.ว.และ ส.ส.ยกมือโหวตคือ 2 ใน 3 สามารถทำได้ แต่จะใช้ในกรณีที่เกิดวิกฤตจริงๆ ไม่สามารถหาแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนใดได้แล้ว ส่วนจะกลายเป็นวัฒนธรรมหรือไม่นั้น ถ้าไม่มีใครร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญจะกลายเป็นบรรทัดฐานยังเป็นการทำลายหลักกฎหมายทั้งระบบ หรือหากมีคนร้องจะไม่กลายเป็นบรรทัดฐาน ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า สิ่งที่ประธานรัฐสภา และสมาชิกรัฐสภาตัดสินใจเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคมที่ผ่าน ว่าเป็นความผิดหากพรรค พท.ยังเกาะอยู่กับพรรค ก.ก.จะเจอกับบรรทัดฐานเดียวกัน ดังนั้น หากพรรค พท.ส่งนายเศรษฐาลงโหวตนายกฯแล้วไม่ผ่าน จะโหวตแคนดิเดตนายกฯที่เหลืออีก 2 คน น.ส.แพทองธาร และนายชัยเกษม หากไม่ผ่านอีก จะไหลไปที่พรรคภูมิใจไทย (ภท.) พรรค พปชร. จนกระทั่งไปถึง พล.อ.ประวิตร ส่วนจะไปพิจารณาถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แคนดิเดตนายกฯพรรค รทสช. ก็ไม่ได้เพราะลาออกไปแล้ว เมื่อหาแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี เมื่อมาถึงตอนนี้ก็จะต้องมาพิจารณานายกรัฐมนตรีคนนอก ซึ่งมีโอกาสเป็นไปได้เหมือนกัน สำหรับการเมืองประเทศไทย

หากมาหยุดที่ พล.อ.ประวิตร ถือว่าเมื่อเกมการเมืองเป็นเช่นนี้ ตามบรรทัดฐานที่ปฏิบัติกันมาต้องยอมรับ แต่ปัญหาประชาชนจะยอมรับได้หรือเปล่า โดยเฉพาะด้อมส้ม และประชาชนที่สนับสนุนพรรค ก.ก. ถ้าเกมการเมืองลากมาถึงจุดนี้ เมื่อมามองย่างก้าวของพรรค พท.จะมีเลือก 2 ทาง หากต้องการเป็นรัฐบาล ต้องผลักพรรค ก.ก.ออกไป บอกเลิกเอ็มโอยูทั้งหมด แต่หากไม่ผลักพรรค ก.ก.ออกไป การโหวตนายกฯจะเป็นแบบนี้ พรรค พท.ไม่มีโอกาสเป็นรัฐบาล มองไปแล้วหากการโหวตนายกฯมาถึงพรรค พปชร. อาจจะเกิดปรากฏการณ์งูเห่า โดยเฉพาะพรรค พท. เหมือนที่เคยกล่าวไปแล้วพรรค พท.ยังอยู่กับพรรค ก.ก. แต่คนในพรรค พท.จะเปิดประตูให้งูเห่าออกไป เพื่อไม่ให้พรรค พท.เสียรังวัดทางการเมือง

ตรีเนตร สาระพงษ์
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

ก ารที่ประธานรัฐสภานำเอาประเด็นที่ว่าการเสนอชื่อนายกฯ ไปให้สมาชิกรัฐสภาโหวตว่าเป็นญัตติหรือไม่ ความเห็นทางกฎหมายก็มี 2 ประเด็นหลัก คือ 1.ประธานรัฐสภาจะเห็นว่าญัตติดังกล่าวสามารถโหวตซ้ำได้เพราะเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงไป กรณีนี้กฎหมายให้เป็นสิทธิในการใช้ดุลพินิจของนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ดังนั้น ประธานรัฐสภาต้องใช้อำนาจพิจารณาซึ่งเรียกว่าอำนาจดุลพินิจ และการพิจารณาดังกล่าวว่าเสนอญัตติได้หรือไม่ ไม่ใช่อำนาจของ ส.ส.หรือ ส.ว. อันเป็นสมาชิกรัฐสภา ดังนั้น ภาพการโหวตของสมาชิกรัฐสภาทั้ง ส.ส. ส.ว. และการดำเนินการของประธานรัฐสภาจึงเป็นการปฏิบัติที่ไม่เป็นไปตามข้อบังคับการประชุมข้อ 41

2.การพิจารณาลำดับศักดิ์กฎหมาย หรือในทางสากลทั่วโลกรู้จักกันในชื่อหลัก Hierarchy of law ซึ่งการเคารพลำดับศักดิ์ทางกฎหมายถือเป็นพื้นฐานของหลักนิติธรรม เนื่องจากจะเป็นตัวกำหนดว่ากฎหมายต่างระดับหรือลำดับศักดิ์ต่างกันจะใช้อย่างไร นั่นหมายความว่าประธานสภาต้องไม่หยิบยกเอาข้อบังคับการประชุมสภามาใช้เลย เพราะรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายลำดับศักดิ์สูงสุดได้กำหนดกฎกติกาการเสนอชื่อนายกฯเอาไว้แล้ว จะไปนำเอากฎหมายที่มีลำดับศักดิ์ต่ำกว่ามาใช้ไม่ได้

อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้จึงเท่ากับว่าประธานรัฐสภาและรัฐสภาไม่มีอำนาจลากเอาการเสนอนายกรัฐมนตรีไปพิจารณาในฐานะญัตติข้อบังคับการประชุมสภาตามข้อ 1.เพราะเหตุผลเรื่องลำดับศักดิ์กฎหมายข้างต้น แต่ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ และสมาชิกรัฐสภาก็ไม่มีอำนาจลงมติโหวตว่ากรณีดังกล่าวเป็นญัตติซ้ำหรือไม่ แต่ทั้งประธานรัฐสภาและสมาชิกรัฐสภาต้องยึดถือตามรัฐธรรมนูญ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image