วงเสวนาชี้ คสช.มุ่งคุมสื่อให้เชื่อฟัง

ขอบคุณภาพจาก iLaw.or.th

เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม ที่อาคารมงกุฎสมมติวงศ์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเวทีเสวนาสาธารณะเรื่อง “19 ปีปฏิ-Loop สื่อวิทยุ-โทรทัศน์ไทย… ไปต่ออย่างไร” โดย ผศ.ดร.พิรงรอง รามสูต รองอธิการบดี จุฬาฯ และอาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า จุดเริ่มต้นการปฏิรูปสื่อของไทยคือ เหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ตอนนั้นรัฐมีการปิดกั้นสื่อมหาศาล โดยเฉพาะวิทยุและโทรทัศน์ เหล่านี้เป็นมูลเหตุสำคัญของการปฏิรูป กระทั่ง 22 พฤษภาคม 2557 มีการรัฐประหารโคยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งมีแผนการปฏิรูปประเทศ 11 ด้าน โดย 1 ในนั้นคือ ด้านสื่อมวลชน

ผศ.ดร.พิรงรองกล่าวว่า บรรยากาศและการใช้อำนาจของรัฐในปัจจุบันไม่เอื้อต่อการปฏิรูปสื่อ สื่อของรัฐยังคงอยู่ต่อไป ในรัฐธรรมนูญ 2559 ระบุว่า เจ้าหน้าที่สื่อของรัฐยังต้องทำงานสอดคล้องกับหน่วยงานที่สังกัดอยู่ ซึ่งขัดกับอีกมาตราที่ระบุว่าพึงใช้เสรีภาพเช่นเดียวกับสื่อมวลชนทั่วไป มองว่าการกำหนดบางเรื่องแบบเฉพาะเจาะจงในรัฐธรรมนูญควรอยู่ในกฎหมายย่อยมากกว่า

“คิดว่าการปฏิรูปสื่อในสายตาของ คสช. คือเพื่อให้สื่อกลายเป็นเด็กดี และเชื่อฟังรัฐ แม้จะมีการเลือกตั้งแต่ก็ขึ้นอยู่กับรัฐบาลในอนาคตว่าตระหนักและตั้งใจปฏิรูปหรือเปล่า เพราะรัฐบาลไหนก็อยากควบคุมสื่อทั้งนั้น” ผศ.ดร.พิรงรองกล่าว

นายวิชาญ อุ่นอก เลขาธิการสหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ กล่าวว่า ที่ผ่านมาประชาชนหลายภาคส่วนร่วมมือกัน โดยคาดหวังว่าจะมีองค์กรที่มีเสรีภาพและเป็นประชาธิปไตยเข้ามาช่วยจัดสรร เมื่อได้ กสทช.ต่างคิดว่าเป็นจุดเปลี่ยน สามารถฝากความหวังกับองค์กรนี้ได้ แต่เมื่อเวลาผ่านมา คงเห็นแล้วว่าแม้จะมีตัวแทนไปนั่งแต่ก็เป็นเพียงเสียงส่วนน้อย ไม่สามารถผลักดันอะไรได้ ในอนาคต ภาควิชาการ ภาควิชาชีพ ภาคประชาสังคม และภาคประชาชน ควรต้องเข้ามามีบทบาทอีกครั้ง

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image