หมายเหตุ – ความเห็นนักวิชาการวิเคราะห์การเมืองภายหลังนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.จากปมการถือครองหุ้นสื่อไอทีวี ทำให้พรรคก้าวไกลซึ่งเป็นพรรคอันดับหนึ่งต้องส่งไม้ต่อให้พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลแทน
สมชาย ปรีชาศิลปกุล
อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ ม.เชียงใหม่
สํ าหรับข้อเสนอแนะสูตรการจัดตั้งรัฐบาลที่เหมาะสมและเป็นที่ยอมรับมากที่สุดในขณะนี้ยังเป็นสูตร 8 พรรค 312 เสียง ซึ่งเหมาะสมและสอดคล้องกับผลการเลือกตั้งที่มาจากเสียงส่วนใหญ่ เพราะทั้ง 8 พรรคได้รับคะแนนสูงสุดและรวมตัวกันเป็นเสียงข้างมากในสภา เป็นความต้องการของคนที่มีสิทธิลงคะแนนเสียงในสังคมไทย แม้ตอนนี้มีความพยายามจะกระจายไปสูตรนั้นสูตรนี้ แต่คิดว่าจะทำให้การจัดตั้งรัฐบาลมีปัญหาเกิดขึ้นมาก
สถานการณ์การเมืองในปัจจุบันไม่สามารถตอบได้ว่าจะมีความเป็นไปได้หรือไม่ที่ 8 พรรคจะจัดตั้งรัฐบาลได้ เพราะไม่มีข้อมูลวงใน แต่อยากจะเตือนว่าคนที่มีสิทธิลงคะแนนเลือกตั้งจำนวนมาก คาดหวังอยากจะเห็นความเปลี่ยนแปลง ไม่เฉพาะเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพียงอย่างเดียว แต่คนอยากเห็นความเปลี่ยนแปลงที่สะท้อนถึงการเปลี่ยนเชิงโครงสร้าง เช่น การหาเสียงที่ผ่านมาก็มีการพูดการปฏิรูปนโยบายทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง จึงเป็นความคาดหวังว่าการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้จะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลง
ดังนั้น การรวมตัวของ 8 พรรคการเมืองที่ได้เสียงเกินครึ่งหนึ่งของสภา จึงเป็นการจัดตั้งรัฐบาลที่มีเหตุผลมากที่สุด ซึ่งจริงๆ หากเราอยู่ในระบบรัฐสภาที่ปกติ การจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้จะไม่มีปัญหาเลย เพราะ 8 พรรคมีเสียงเกิน 250 เสียงแล้ว แต่สภาวะที่เป็นอยู่เป็นสภาวะที่ไม่ปกติ ฉะนั้นสิ่งที่ควรทำคือยืนยันในหลักการที่ควรจะเป็นมากที่สุด การจัดตั้งรัฐบาลโดยพยายามดึงพรรคนั้นพรรคนี้เข้ามาร่วม กำลังทำให้บรรดานักการเมืองโยนหลักการที่ถูกต้องทิ้ง และปรับตัวตามระบบที่ไม่ปกติ ซึ่งจริงๆ ไม่ควรเป็นเช่นนั้นเพราะเสียงของประชาชนต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง จึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดที่นักการเมืองควรคำนึงถึง
กรณีที่มีข้อเสนอให้รอ 8 เดือนจน ส.ว.หมดวาระ จึงเลือกนายกรัฐมนตรีและจัดตั้งรัฐบาลว่า อันดับแรกเห็นว่า 8 พรรคควรจับมือกันให้แน่น และเสนอชื่อบุคคลที่มีคุณสมบัติเหมาะสม ซึ่งแต่ละพรรคมีบัญชีรายชื่ออยู่แล้ว เมื่อพรรคการเมืองได้ทำหน้าที่ของตนเองโดยสมบูรณ์แล้ว หากเสนอรายชื่อไปแล้วไม่ผ่านเพราะ ส.ว. ก็ต้องให้สังคมเห็นว่าการจัดตั้งรัฐบาลที่มีปัญหา เป็นปัญหาที่ซีกของ ส.ว. ไม่ใช่สภาผู้แทนราษฎร เพราะฉะนั้นถ้าเสนอชื่อไปครั้งที่ 1 ครั้งที่ 2 หรือครั้งที่ 3 ไม่ผ่าน ก็เป็นเรื่องที่ ส.ว.ต้องรับผิดชอบ และหากสังคมเห็นว่ารอนานไม่ได้ ก็ต้องเพิ่มแรงกดดันไปที่ ส.ว. ส่วนภาคธุรกิจ เอกชนที่รอไม่ได้ก็ต้องส่งเสียงเช่นกันว่าต้องการรัฐบาลจากเสียงข้างมากทุกฝ่ายต้องช่วยกันออกเสียง เพราะการเปลี่ยนครั้งนี้มีเครือข่ายและโครงสร้างของผู้ที่จะได้ประโยชน์อยู่ การเปลี่ยนอาจไม่ง่าย ดังนั้น ทุกฝ่ายต้องช่วยกัน น่าจะไม่ยาวถึง 8 เดือน คิดว่าน่าจะใช้เวลาไม่เกิน 2-3 เดือน ถ้าสามารถสร้างแรงกดดันที่มากพอ ส.ว.ก็อาจจะยอมให้กับหลักการและความถูกต้องที่มาจากเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน
ส่วนกรณีรัฐสภาใช้ข้อบังคับของตนเองมาตัดสิทธิการเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลและแคนดิเดตนายกฯมองว่าเป็นเรื่องที่ขัดหลักการของกฎหมาย ดังนั้น ศาล รธน.ควรต้องมีความเห็นว่า การวินิจฉัยการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีเป็นญัตติซ้ำขัดกับ รธน.แน่นอน หรือพูดง่ายๆ คือ การเสนอชื่อบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นนายกฯ สามารถเสนอซ้ำได้ คิดว่าโอกาสที่นายพิธาจะถูกเสนอชื่อซ้ำจึงเป็นไปได้ แต่ขณะนี้พรรคก้าวไกลมอบหมายให้พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลไปก่อน หากไม่ประสบผลสำเร็จ ก็กลับมาเสนอชื่อนายพิธาซ้ำอีกครั้ง ก็มีโอกาสเป็นไปได้
ตรีเนตร สาระพงษ์
อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.อุบลราชธานี
มองเห็นเค้าลางว่าการฟอร์มรัฐบาลอาจมีสูตรใหม่มากกว่า 8 พรรคเดิม และอาจได้เห็นการก้าวข้ามขั้วความคิดระหว่างเสรีนิยมกับอนุรักษนิยมที่ทั้งสองฝ่ายปะทะกันมาตลอดร่วมทศวรรษ และเมื่อพรรคเพื่อไทยเล่นบทนี้ ไล่พรรคก้าวไกลทางอ้อมเช่นนี้ก็น่าเชื่อว่านี่อาจทำให้แก้วที่ร้าวไปแล้วยากที่จะกลับมาดีดังเดิมได้ และหากจะร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล 8 พรรคตามเอ็มโอยูเดิมก็น่าจะเลยจุดนั้นมาแล้ว ฉากของ 8 พรรคเดิมจึงเป็นเรื่องของการที่พรรคเพื่อไทยพยายามขับไล่พรรคก้าวไกล ส่วนพรรคก้าวไกลก็กำลังทำให้เห็นว่าพรรคเพื่อไทยมีต้นทุนสูงสักเพียงใดที่เล่นกับศรัทธาประชาชน
อย่างไรก็ตาม น่าเชื่อว่านายพิธาอาจได้รับสิทธิในการโหวตนายกฯอีกครั้ง ด้วยเหตุที่ศาลรัฐธรรมนูญน่าจะวินิจฉัยว่าการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีไม่เป็นการเสนอญัตติซ้ำ เพราะข้อกฎหมายเรื่องลำดับศักดิ์กฎหมายและนิติวิธีค่อนข้างชัดตามความเห็นของนักกฎหมายที่ออกมาส่งเสียงทั้งวงการ คือการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุด นั่นก็เท่ากับว่านายพิธาควรมีสิทธิโหวตนายกรัฐมนตรีอีกรอบ เพราะตามข้อตกลง 8 พรรคร่วมที่ตกลงว่าจะเสนอชื่อนายพิธาอย่างถึงที่สุด แต่ภาพชนแก้วมิ้นต์ช็อก เมนูหักหลังเพื่อน โดยเฉพาะการเห็นตัวแทนของพรรคร่างทรงลุงตู่กับลุงป้อม นั่งแถลงข่าวโดยมีภาษากาย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย นั่งพยักหน้าเชิงให้ความเห็นชอบ ให้สัตยาบัน ย่อมทำให้พรรคเพื่อไทยติดลบในสายตาประชาชนไปแล้ว และอยู่ในสภาวะกลับลำยาก หรือกลับลำก็มิได้ล้างภาพเพื่อนรักหักเหลี่ยมโหดที่ถลำตัวไปมากได้ ประกอบกับมูลเหตุจูงใจที่ทำให้พรรคเพื่อไทยยอมหักศรัทธาประชาชนเช่นนี้ก็ย่อมเป็นแรงจูงใจที่สูงมาก จึงน่าจะเป็นการยากที่ 8 พรรคร่วมจะกลับมาสนับสนุนนายพิธาอีก ทั้งๆ ที่นี่คือสูตรที่เป็นฉันทามติและเป็นความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่
หากพรรคก้าวไกลต้องการจะเสนอนายพิธาอีกรอบ อาจต้องฟอร์มทีมใหม่อีกครั้ง แต่เส้นทางค่อนข้างยากเพราะพรรคเพื่อไทยเล่นเกมเอาพรรคที่น่าจะร่วมรัฐบาลได้อย่างพรรคภูมิใจไทยมาแถลงข่าวปิดทางไว้แล้วว่าไม่เอาพรรคก้าวไกล ซึ่งก็จะเหลือแต่พรรคประชาธิปัตย์ แต่เชื่อว่าพรรคก้าวไกลจะไม่เลือกเส้นทางนี้ เพราะการกระทำเช่นนี้ย่อมไม่ต่างอะไรกับพรรคเพื่อไทยที่กำลังข้ามขั้ว เช่นนั้นเส้นทางของพรรคก้าวไกลจึงค่อนข้างชัดว่าน่าจะต้องเป็นฝ่ายค้าน แต่เป็นฝ่ายค้านที่ป๊อปปูลาร์ที่สุด
แนวโน้มที่อาจเกิดขึ้นได้ คือการจัดตั้งรัฐบาลข้ามขั้วคือการผสมพันธุ์กันระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคพลังประชารัฐ พรรครวมไทยสร้างชาติพรรคภูมิใจไทย และบางพรรคจากกลุ่ม 8 พรรคเดิมที่ถือหางพรรคเพื่อไทย ซึ่งดูเสมือนวิธีคิด หลักการอุดมการณ์พรรคการเมืองที่เริ่มก่อร่างสร้างตัวจัดตั้งรัฐบาลจะเปลี่ยนไป แต่ต้องไม่ลืมว่าความคิดของประชาชนที่เลือกฝ่ายประชาธิปไตยส่วนใหญ่ไม่ได้เปลี่ยนไปด้วย และการจัดตั้งรัฐบาลสูตรนี้ไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของประชาชน และชุดคำพูดที่คล้ายกัน หรือชุดความคิดที่คล้ายกันของพรรคต่างๆ ในกลุ่มใหม่นี้ กับเหล่า ส.ว.ที่ออกมาโจมตีพรรคก้าวไกลเรื่องแก้มาตรา 112 หรือวางเงื่อนไขว่าต้องไม่มีพรรคก้าวไกล ที่ต่างสอดคล้องเหมือนมาจากห้องเรียนเดียวกัน ก็ยิ่งทำให้เห็นว่าฉากใหม่ในวันโหวตนายกฯและภาพรัฐบาลที่ถูกเซตไว้แล้ว จึงน่าเชื่อว่าพรรคเพื่อไทยจะจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ และได้ทำภารกิจที่เป็นแรงจูงใจสำคัญที่ยอมหักกับประชาชนครั้งนี้
แต่อย่าคิดว่าจะเป็นไปได้อย่างราบรื่นเพราะวันประกาศจัดตั้งรัฐบาลข้ามขั้ววันแรกของพรรคเพื่อไทย คือวันแรกที่สังคมจะขับพรรคเพื่อไทย จะถูกขับออกจากฝั่งประชาธิปไตย เพราะนี่คือสูตรจัดตั้งรัฐบาลที่จะเกิดขึ้นแต่ไม่เป็นที่ยอมรับ
ภูมิ มูลศิลป์
คณบดีคณะสังคมศาสตร์ ม.ศรีนครินทรวิโรฒ
ส่วนตัวมองว่าพรรคการเมืองทุกพรรคล้วนมาจากการลงคะแนนเสียงของประชาชน ฉะนั้นสถานะของ ส.ส.แต่ละคนที่ กกต.ประกาศรับรองมาแล้วจึงมีสถานะเป็นผู้แทนของประชาชนโดยชอบด้วยกฎหมาย ทีนี้หากเป็นไปตามมารยาททางการเมืองจะพบว่าพรรคการเมืองที่ได้คะแนนเสียงมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งจะมีความชอบธรรมในการที่จะจัดตั้งรัฐบาลก่อน อย่างไรก็ตาม หากพรรคที่ได้คะแนนเป็นอันดับ 1 ไม่สามารถรวบรวมเสียงจนกระทั่งจัดตั้งรัฐบาลได้ ก็ต้องเปิดโอกาสให้พรรคอื่นๆ ซึ่งหากดูในประวัติศาสตร์ทั้งในและต่างประเทศจะเห็นว่าในบางครั้ง พรรคที่ได้คะแนนเป็นอันดับ 1 กลับกลายเป็นฝ่ายค้านก็มี แต่บังเอิญว่าประเทศไทยในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ได้มีการกำหนดให้ ส.ว.มีอำนาจในการลงคะแนนเสียงเลือกนายกรัฐมนตรี เพื่อที่จะไปจัดตั้งรัฐบาลด้วย
กลไกที่บิดเบี้ยวนี้ทำให้ต้องย้อนกลับมาพิจารณาว่า ในบรรดาพรรคการเมืองที่ได้คะแนนเสียงเลือกตั้งเอง ดูแล้วประชาชนจะให้การยอมรับกับพรรคการเมืองในลักษณะที่มีความเกี่ยวโยงกับประชาธิปไตย โดยยึดจากอดีตที่เคยปฏิบัติหน้าที่มาเป็นหลัก ซึ่งจริงๆ แล้วโดยส่วนตัวมองว่าทางฝั่งสภาผู้แทนราษฎรเองไม่ได้ผิดใจอะไรหากจะมีการรวมตัวกันของพรรคใดก็แล้วแต่ที่ได้เสียงแล้วไปจัดตั้งรัฐบาล แต่ตัวแปรสำคัญคือ ส.ว. ที่เข้าใจว่ามีความกังวลกับนโยบายของพรรคการเมืองบางพรรค
หากจะให้มีความเหมาะสมพรรคการเมืองเองก็ต้องมองย้อนกลับมาดูว่าในเมื่อเราไม่ได้เป็นพรรคที่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้เพียงพรรคเดียว ไม่ว่าจะโดยบริบทใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของ ส.ส.ในกรณีปกติ หรือกรณีแบบนี้ที่จะต้องมาอาศัยเสียงจาก ส.ว. เพราะโดยปกติแล้วการรวมตัวกันของหลายพรรคก็แน่นอนว่าจะต้องมีการเจรจากันว่า นโยบายใดที่จะสามารถเป็นนโยบายร่วม นโยบายใดที่อาจจะต้องพักไว้และรอเวลาที่เหมาะสม
ผมก็ยังเชื่อมั่นว่าพรรคที่ยังมีความชอบธรรมและยังรวมตัวกันได้อาจจะต้องมานั่งเจรจากันถึงเรื่องนโยบายว่าประเด็นใดที่ยังอยู่ในความกังวล ไม่ว่าจะเป็นของสังคมเอง หรือของคนที่จะมีอำนาจโหวตเองก็คงจะต้องมาเจรจาต่อรองกันต่อไป
ส่วนกรณีมองว่าถ้าเกิดเป็นสูตรข้ามขั้วจาก 8 พรรค มาจับมือกับขั้วรัฐบาลปัจจุบัน 188 เสียง จะส่งผลต่อความชอบธรรม และทำให้เกิดแรงกดดันจากประชาชนหรือไม่นั้น ผมมองว่าสำหรับในเรื่องของความชอบธรรมโดยกระบวนการของรัฐสภาจะบอกว่าชอบธรรม 100% ก็คงไม่ได้ เพราะมีปัจจัยในเรื่องการที่ ส.ว.เข้ามามีส่วนร่วมในเรื่องการลงคะแนนเสียงโหวตอยู่
อย่างไรก็ตาม ถามว่าขัดต่อหลักการในระบบรัฐสภาที่จะมีการเปลี่ยนขั้ว มีการจับมือกันจัดตั้งรัฐบาลหรือไม่นั้น ผมเห็นว่าก็คงจะไม่ แต่สิ่งที่น่าจะเป็นกังวล คือ กระแสของสังคม เพราะมีบทบาทมากในมิติการเมืองไทย เช่น ตอนช่วงพฤษภาฯทมิฬ ที่มีกระแสไม่เอานายกฯคนนอก แต่พอตอนหลังที่ได้ นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรีไทย กลับมาซึ่งเป็นนายกฯคนนอก กลายเป็นว่ากระแสสังคม ณ ขณะนั้นกลับยอมรับได้ ฉะนั้นในแง่ของความชอบธรรมและในแง่กลไกก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่สำหรับกระแสของสังคมในประเทศไทยคงจะต้องให้ความสำคัญอย่างมาก
ส่วนกรณีมองว่าหากเกิดสูตรรัฐบาลข้ามขั้วซึ่งนำโดยพรรคเพื่อไทย ที่ถึงแม้จะได้เสียงเกินกึ่งหนึ่ง ทำให้รัฐบาลทำงานได้ จะต้องเจอกับแรงต้านของประชาชนหรือไม่นั้น ผมเห็นว่าเจอแน่นอน และแรงกดดันจะส่งผลต่อการเลือกตั้งในครั้งหน้าของพรรคเพื่อไทยเองด้วย เพราะฉะนั้นในเรื่องการกำหนด หรือการจับมือกับพรรคใดนั้น จะต้องเป็นโจทย์ที่พรรคเพื่อไทยคิดหนักทีเดียว อย่างไรก็ตาม ผมมองว่าสมมุติว่าทางพรรคก้าวไกลเองยอมลดเงื่อนไขบางอย่าง รวมไปถึงพรรคอื่นที่หากจะไปเจรจาตกลงเงื่อนไข ยอมลดอะไรที่เป็นกำแพงระหว่างกันได้บางส่วนก็อาจจะมีโอกาสเป็นไปได้ ในปัจจุบันระยะสั้นก็คงจะเป็นม็อบ มีการต่อว่า ไม่ว่าจะเป็นออนไลน์หรือการชุมนุมบ้าง แต่สิ่งที่จะเป็นผลกระทบจริงๆ คือ ในการเลือกตั้งครั้งหน้า
ส่วนกรณีหากพรรคก้าวไกลยอมถอยลดเพดานการแก้ไขมาตรา 112 มองว่าทาง ส.ว.จะมีแนวโน้มที่จะยอมรับได้หรือไม่ หากรัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทย ยังมีพรรคก้าวไกลเป็นพรรคร่วมรัฐบาลอยู่นั้น ผมเชื่อว่าจะมี ส.ว.บางส่วนที่จะเทคะแนนให้ แต่อย่างไรก็ตามคะแนนอาจจะยังไม่เพียงพอในการจัดตั้งรัฐบาล ฉะนั้นสิ่งที่เพื่อไทยพยายามดำเนินการอยู่ก็คือลองดูว่าจะมีพรรคการเมืองใดที่ยังไม่ได้อยู่ใน 8 พรรคร่วม สามารถเข้ามามีคะแนนเสียงและเข้ามาเติม ทำให้เสียงครบ 375 เสียงได้
ตอนนี้ปัจจัยสำคัญอาจจะตกไปที่พรรคการเมืองทั้งหลายที่จะมารวมกันเป็นรัฐบาล หรือว่าจะยอมลดเงื่อนไขที่เคยตั้งแง่ระหว่างกันได้เพียงใดเพราะถ้าไม่สามารถลดเงื่อนไขอะไรกันได้ เชื่อว่าจะกลายเป็นประตูสำหรับกลุ่มอำนาจเดิมในการที่จะอาศัยจังหวะนี้ในการจัดตั้งรัฐบาล
ในแง่ระบบยังมีความเป็นไปได้ แต่คำถามคือจะได้รับการยอมรับจากประชาชนมากขนาดไหน อันนี้คงจะเป็นปัญหาและนอกจากส่งผลให้มีการชุมนุม ก็น่าจะส่งผลถึงอายุของรัฐบาลเองในอนาคตด้วยว่าจะอยู่ไม่ครบเทอม