เวทีอภิปรายมช. อัด รธน.กระทบระบบการเมืองไทย ทำพรรคอันดับ 1 ตั้งรัฐบาลไม่ได้

เวทีอภิปราย มช. อัด รธน.กระทบระบบการเมืองไทย ทำพรรคอันดับ 1 ตั้งรัฐบาลไม่ได้

เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 25 ก.ค. ที่ห้องประชุม 1 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) มีการจัดเวทีอภิปรายเรื่อง “ไปให้พ้นรัฐธรรมนูญวิปริต การเมืองวิปลาส” โดยมี รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล ดร.กฤษณ์พชร โสมณวัตร ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายคุณภาพนักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ และ รศ.ดร.ทศพล ทรรศนกุลพันธ์ หัวหน้าศูนย์ศึกษากฎหมายกับเทคโนโลยี คณะนิติศาสตร์ มช. ร่วมในเวทีอภิปราย มีกลุ่มนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มช. และผู้สนใจเข้าร่วมอภิปรายจำนวนมาก

รศ.สมชายกล่าวว่า การเลือกตั้งผ่านมากว่า 2 เดือนแต่ยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ และยังไม่ชัดเจนว่าใครจะเป็นรัฐบาล ใครจะเป็นนายกฯ ซึ่งโดยหลักการพื้นฐาน พรรคการเมืองที่รวบรวมเสียงข้างมากได้ จะได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล แต่ปรากฏว่าจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ช่วงแรกมีปัญหาที่ ส.ว. จนวนไปที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน และศาล รธน. ปัญหาที่เกิดขึ้นมาจาก รธน.ฉบับปัจจุบันที่มีปัญหาค่อนข้างมาก

โดยแกนกลางของประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้น คือ การเผชิญหน้าของระบบอนุรักษนิยม และสถาบันการเมืองที่มาจากประชาชน ตอนนี้จะเห็นว่า ส.ว.ออกมาแสดงบทบาทมาก แต่ในข้อเท็จจริง ส.ว.ไม่ได้มีความสัมพันธ์อะไรกับประชาชน เพราะถูกเลือกมาจาก คสช. ส.ว.จึงเป็นตัวอย่างของสถาบันที่เรียกว่าไม่สัมพันธ์อะไรกับประชาชน แต่กลับทำหน้าที่มีปัญหากับสถาบันที่มาจากการเลือกตั้ง

Advertisement

ขณะที่การเลือกตั้งหลายครั้งที่ผ่านมาก็มีการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบมาโดยตลอด มีการตัดสิทธิทางการเมือง และพรรคการเมือง โดยชนชั้นนำ ซึ่งกรณีที่เกิดขึ้นกับการลงคะแนนเลือกนายกฯ เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ชนชั้นนำพยายามแทรกเข้ามาผ่านกลไกของ ส.ว.

ด้าน ดร.กฤษณ์พชรกล่าวว่า รธน.วิปริต การเมืองวิปลาส คือการเมืองและกฎหมายที่ไม่ตั้งอยู่บนฐานของความจริงใดๆ จนนำมาสู่ปัญหา เป็นผลพวงจากความล้มเหลวของสถาบันทางกฎหมายมานานนับศตวรรษ

ขณะที่ ส.ว.ชุดนี้ทราบดีว่ามาจากการแต่งตั้งของ คสช. แต่ภายหลัง ส.ว.กลับบอกว่ามีวุฒิภาวะ ทั้งที่ตัว ส.ว.มีความเชื่อมโยงกับรัฐบาลชุดเดิม กฎหมายไทยจึงเป็นกฎหมายที่ลวงโลก ปฏิเสธความเป็นจริง เมื่อสถาบันทางกฎหมายอ่อนแอจึงถูกใช้เป็นเครื่องมือของสถาบันอื่น ไม่สามารถถ่วงดุลได้ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจึงมีการใช้กฎหมาย รธน. เพื่อสร้างบรรทัดฐานและหาข้อยุติ จนทำให้เกิดความวุ่นวายกว่าเดิม เกิดความไม่แน่นอนทางการเมืองอยู่ตลอดเวลา กระทั่งมีการใช้อำนาจพิเศษต่างๆ เข้ามาแทรกแซง เช่น การรัฐประหาร

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image