บทนำมติชน : อำนาจเด็ดขาด

การใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว ปลดบอร์ดกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ด้วยเหตุผลว่า มีการใช้อำนาจบอร์ดอนุมัติงบประมาณให้กับองค์กรที่บอร์ดบางคนเป็นกรรมการอยู่ พร้อมกันนี้ กรมสรรพากรได้เรียกเก็บภาษีย้อนหลัง 5 ปีจากผู้รับทุนจาก สสส. ไม่น้อยกว่า 800 ล้านบาท ฯลฯ ทำให้เกิดปฏิกิริยาจากวงการแพทย์และเครือข่ายอย่างรุนแรง มีแพทย์อาวุโสออกมาแสดงความผิดหวัง บางคนกล่าวว่า รู้สึกผิดอย่างมหันต์ที่ร่วมขับไล่รัฐบาลก่อนหน้านี้ด้วยความรักชาติ แต่กลับพบว่า สภาพปัจจุบันนั้นแย่ยิ่งกว่า

สถานการณ์ได้พลิกเปลี่ยนไป เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ออกมากล่าวขอโทษพี่หมอทุกคน ที่ทำไปเพราะอยากให้ทุกอย่างดีขึ้น ก่อนจะให้สัมภาษณ์ในวันต่อมาว่า จะมีคำสั่งให้บอร์ดที่มีอยู่ทำงานได้ โดยจัดตั้งรองประธานให้ครบ ส่วนที่เหลือก็ให้มีการคัดสรร ให้เข้าทำงานได้ในวันที่ 18 มกราคม เมื่อถามว่าจะให้บอร์ด 7 คนที่มีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่กลับมาทำงานใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ไม่กลับ ถ้าจะกลับมาทำงาน ก็ให้เข้ากระบวนการคัดสรร เมื่อบอกว่าคนไม่พอ ก็จะใช้มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว ให้ทำงานได้ ให้อนุมัติงบประมาณได้ โครงการที่ไม่มีปัญหาก็อนุมัติไป ส่วนที่มีปัญหาก็แก้ไขตามระเบียบ

การปลดบอร์ด สสส. 7 คน ส่งผลให้องค์ประกอบ 5 ประการ ในการประชุมของ สสส.ไม่ครบถ้วน ตำแหน่งรองประธานบอร์ดที่มาจากผู้ทรงคุณวุฒิหายไป ทำให้ไม่สามารถประชุมขับเคลื่อนการทำงานได้ จึงจะต้องจับตาว่า คำสั่งของ พล.อ.ประยุทธ์จะให้ดำเนินการอย่างไรเพื่อให้ได้มาซึ่งรองประธานจากโควต้าของผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งถ้าดำเนินการตามขั้นตอนปกติอาจต้องใช้เวลา อย่างไรก็ตาม บทเรียนที่เกิดขึ้นจากกรณีนี้ ได้แก่ การใช้อำนาจเด็ดขาดโดยไม่มีการตรวจสอบ แม้มีข้อดีที่อาจแก้ปัญหาได้ทันท่วงที แต่สามารถทำให้เกิดผลร้ายได้พร้อมๆ กัน ดังนั้น ทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นผู้ใช้อำนาจ หรือผู้ที่สนับสนุนให้เกิดระบบที่ใช้อำนาจในลักษณะนี้ และบางคนประสบผลร้ายด้วยตนเองมาแล้ว จะต้องตระหนักและหาทางไม่ให้การใช้อำนาจในลักษณะนี้เกิดขึ้นอีก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image