‘ดร.สติธร’ ส่องม็อบ ไร้แกนนำ-มากพลัง

‘ดร.สติธร’ ส่องม็อบ ไร้แกนนำ-มากพลัง

ภายหลังการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งแรกเมื่อ 13 กรกฎาคม นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกฯจากพรรคก้าวไกล แกนนำ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลไม่ผ่านการลงมติของรัฐสภา

นำไปสู่ปรากฏการณ์ชุมนุมทางการเมืองเพื่อสนับสนุนของฝ่ายที่เรียกว่าประชาธิปไตย เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

ในเรื่องของการ “ชุมนุม” องค์การนิรโทษกรรมสากล หรือแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้ให้ความหมายไว้ว่า คือการรวมตัวโดยเจตนาเป็นการชั่วคราว ในพื้นที่ส่วนตัวหรือพื้นที่สาธารณะ เพื่อเป้าประสงค์บางประการ เช่น เพื่อกดดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและเพื่อสร้างจิตสำนึกให้ประชาชนตระหนักถึงปัญหาที่สำคัญ รวมถึงการชุมนุม การเดินขบวน การประท้วงทางการเมือง เพื่อเป้าหมายสามารถอยู่ร่วมกันโดยสันติ เสรีภาพ การชุมนุมโดยสงบจึงเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎบัตรระหว่างประเทศ

เช่นเดียวกัน รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 44 ก็รองรับเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ

Advertisement

อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตการชุมนุมทางการเมืองที่กำลังดำเนินอยู่ปัจจุบัน ลักษณะคล้ายไร้แกนนำ ไม่ได้เกิดด้วยการนัดหมายกันอย่างเป็นทางการ หรือมีวาระการชุมนุมชัดเจน แต่เป็นการสื่อสารนัดหมายผ่านโซเชียลมีเดีย ใช้โทรศัพท์มือถือในการติดต่อผ่านแอพพลิเคชั่นเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ เป็นโซเชียลมีเดียที่ผู้ชุมนุมนิยมใช้มากที่สุด

การชุมนุมแบบไร้แกนนำมีข้อดี ทำให้ฝ่ายเจ้าหน้าที่ไม่สามารถปราบปรามได้ง่าย จะจับกุมใคร หรือแม้แต่จะเจรจาต่อรองด้วยทำได้ลำบาก ไม่รู้ว่าใครคือแกนนำตัวจริง จึงหยุดยั้งได้ยาก และยิ่งทำให้การชุมนุมแบบนี้มีพลังมากขึ้น

สิ่งหนึ่งที่ชัดเจนคือ ผู้ชุมนุมจะอ้างการออกมาเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิ่งที่เป็น “ความต้องการของประชาชน”

Advertisement

แต่ก็มีข้อเสีย สุ่มเสี่ยงจะทำให้การชุมนุมแบบสันติกลายไปเป็นการชุมนุมที่มีการใช้ความรุนแรงได้ จากการที่ผู้ชุมนุมส่วนน้อยไปก่อเหตุความไม่สงบสันติจนทำให้ตำรวจต้องเข้ามาจัดการ ทั้งที่ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่อาจไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรงเลย

จุดนี้กลายเป็นเหตุผลให้ฝ่ายรัฐบาลใช้เป็นข้ออ้างในการเข้าปราบปราม

ดร.สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า อธิบายปรากฏการณ์ม็อบที่เกิดขึ้นขณะนี้ต้องถือว่ามีพลัง เป็นแนวการทำม็อบยุคใหม่ ไม่จำเป็นต้องมีแกนนำชัดเจน แต่มีเพียงหลวมๆ แต่ละคนต่างมีกลุ่มของตัวเองและมารวมพลังกัน โดยมีการนัดหมาย ซึ่งจริงๆ ก็มีคนนัดหมายชวนกันใช้ช่องทางผ่านสื่อมีลักษณะผู้ประสานงานมากกว่า ไม่ได้มีแกนนำในอารมณ์ว่าต้องเป็นคนนี้ขึ้นมานำปราศรัยและมีเวทีกลางอันเดียว

หากจะคึกคักอยู่ค้างคืนอะไรอย่างนี้คงมีชวนกันบ้าง แต่ไม่มีการกำหนดตายตัวว่าต้องปักหลักแบบสมัยเสื้อเหลือง เสื้อแดง หรือกลุ่ม กปปส. โอกาสม็อบจะยกระดับสูงขึ้นมองว่าสามารถทำด้วยรูปแบบวิธีที่ต่างกันไป

แต่สไตล์หลังๆ จะเป็นแฟลชม็อบที่มาบ่อยๆ มาเรื่อยๆ มาทุกวัน มีหลายสถานที่กระจายตัวไปทั่ว อีกทั้งยังผูกกับกระแสในออนไลน์ วันนี้ฝ่ายความมั่นคงประเมินว่ากระแสม็อบจุดติดหรือไม่ม็อบกระแสแรงไหม ก็ดูทั้งหมดในภาพรวม

“เขาก็ไม่ได้ประเมินแค่ว่าต้องมีคนมาหมื่นคนตรงนั้น ตรงนี้ ต้องมายืดเยื้อกันอะไรอย่างนี้ แต่ว่าถ้ามาเรื่อยๆ ปริมาณคนในจุดหลักๆ หนาตา แล้วก็ในกระแสโซเชียลก็กระหน่ำไม่หยุด เขาก็รู้สึกว่าแค่นี้ก็มีกระแส มีพลังกระแทก เหมือนม็อบอาทิตย์ก่อนที่แยกอโศก ถ้าเทียบกับปริมาณก็ไม่ได้เยอะ แต่หมายความว่าอารมณ์ความรู้สึกมันได้ ถ้าขืนใครไปขัดใจม็อบ ต่อเนื่องไปมีโอกาสจะขยายไปกว่านี้ เพราะฉะนั้น ต้องรีบชะลออารมณ์ของคน ถามว่ามันสร้างผลกระทบไหม มันสร้างได้แน่ แล้วคนที่เขาดูเรื่องความมั่นคงเขาก็ประเมินจากตรงนั้น” ดร.สติธรอธิบาย

การสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดียจะเป็นปัจจัยเสริมการเคลื่อนไหวของนอกสภามีพลังหรือไม่ ดร.สติธรเชื่อว่ามีส่วนเกี่ยวข้องค่อนข้างมาก ม็อบที่ไปปรากฏตัวในสถานที่ต่างๆ ตามวันเวลาที่นัดหมาย จะแรงหรือไม่แรงก็ต้องถูกรับลูกจากกระแสโซเชียลด้วย หากคนมีความรู้สึกร่วม ต่อให้ไม่ไปม็อบแต่ว่ามีการดู มีการส่งต่อ มีการพูดถึง ถือว่ามีผลทั้งหมด โซเชียลเป็นช่องทางสนับสนุนได้ทั้งบริจาคเงิน ส่งกำลังใจ ส่งข้อมูล ช่วยกระแทก เป็นได้หลายแบบ

สำหรับข้อสังเกตกรณีม็อบกดดัน ส.ว. สุดท้ายแล้วผลที่ออกมาอาจไม่เปลี่ยนแปลง ดร.สติธรตั้งข้อสังเกตเช่นกันว่า เมื่อครั้งม็อบมาแรง เช่น การแก้รัฐธรรมนูญครั้งที่ 1 จะเห็นว่าสุดท้ายก็ไม่กล้าลงมติโหวตคว่ำ แต่ใช้วิธีชะลอตั้งคณะกรรมาธิการไปศึกษาเพื่อดึงเวลาออกไปเป็นเดือน จนมั่นใจว่าม็อบเริ่มเบาจึงมาคว่ำภายหลัง ดังนั้น ไม่ได้แปลว่าไม่มีผลเลย ไม่เช่นนั้นคงถูกคว่ำตั้งแต่แรก

ปัจจัยที่จะทำให้ม็อบมีพลังส่งผลต่อทางการเมืองจะต้องรอให้สถานการณ์สุกงอม หรือมีปัจจัยเปลี่ยนมาเร่งเร้า เช่น การตั้งรัฐบาลข้ามขั้ว อาจจุดระเบิดอารมณ์คนหมู่มาก ดังนั้น ต้องเป็นสิ่งที่ฝืนความรู้สึกของประชาชน สิ่งนั้นจะเป็นตัวกระตุ้น

มีคำถามว่าสุดท้ายแล้วพลังม็อบมีโอกาสจะรุนแรงเหมือนการชุมนุมปี 2563 หรือไม่ จากปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นแฟลชม็อบ ดร.สติธรมองว่ามีโอกาส แต่ต่างฝ่ายต่างมีบทเรียนด้วยกัน คนสลายชุมนุมก็คงไม่กล้าทำอะไรผลีผลามหากฝ่ายม็อบไม่รุนแรง

เพราะฉะนั้น หากไม่มีอะไรให้เป็นเหตุ หรือข้ออ้างให้สลายก็แค่คุมเกมเอาไว้ ก็อยู่ที่ม็อบแล้วว่าวิธีเคลื่อน วิธีการแสดงออก อยู่ในระดับที่ฝ่ายความมั่นคงรับได้ ก็ไม่จำเป็นต้องหาวิธีการมาสลาย ช่วงหลังจะเป็นม็อบในรูปแบบที่ตื๊อกันไปมา ฝ่ายความมั่นคงก็จะดูว่าม็อบยืนระยะได้แค่ไหน ฝั่งม็อบก็ต้องหาอารมณ์ความรู้สึกว่ายังไม่แผ่ว มีแต่จะขึ้น ก็ตื๊อกันไปแบบนี้ ใครอดทนน้อยกว่าคนนั้นแพ้

สิ่งที่น่าติดตามหลังจากนี้หากเกิดการจัดตั้งรัฐบาลข้ามขั้วขึ้นมาจริง ดร.สติธรมีความเห็นว่า ประชาชนจำนวนไม่น้อยน่าจะไม่ยอม ต้องออกมาแสดงออกแน่ เพียงแต่จะสั้นหรือยาว อาจจะขออาละวาดหน่อย ให้เห็นว่าไม่พอใจ แต่โอเคไม่เป็นไรรับสภาพได้ พอให้รัฐบาลรู้ว่าข้ามขั้วไปแล้ว อย่ามาทำอะไรแบบนี้อีก สั่งสอนนิดหน่อยแล้วก็อาจจะเบาๆ ไป แต่ก็รอโอกาสข้างหน้า ยุบสภาเมื่อไรเจอกันที่คูหาเลือกตั้ง

“แต่คงไม่ถึงขั้นเอาให้ถึงเป็นถึงตายเพราะแน่นอนถ้าไปยืดเยื้อขนาดนั้นรัฐบาลเอาไม่อยู่จะเจอกลไกนอกรัฐธรรมนูญมาจัดการแทน มาเป็นข้ออ้างยึดอำนาจอะไรแบบนี้ ทางม็อบเขาก็ไม่ได้อยากให้ไปทางนั้น เพราะเขาก็มองว่าเอาแค่รัฐบาลเสียเครดิต และก็ต้องตั้งใจทำงานแล้ว เดี๋ยวรอบหน้าเลือกตั้งกันใหม่จะสั่งสอนที่คูหา ประชาชนเขาก็รู้แล้ว อันนี้คืออย่างน้อยก็ออกมาม็อบให้รู้ว่าต้องตั้งใจทำงานจริง ไม่ใช่ไปแลกผลประโยชน์กันอย่างเดียว” ดร.สติธรทิ้งท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image