‘ภาคประชาสังคม’ เดาฉากทัศน์ แผนสมคบคิด วอนทุกฝ่ายเสียสละ ‘ก้าวข้ามกับดัก’ อย่าผลักไสพรรคอันดับ1

‘เครือข่ายภาคประชาสังคม’ เดาฉากทัศน์ แผนสมคบคิด วอนทุกฝ่ายเสียสละ ‘ก้าวข้ามกับดัก’ อย่าผลักไสพรรคอันดับ 1

เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม สืบเนื่องสถานการณ์การเมืองไทย หลังการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 ผ่านพ้นไปเป็นเวลากว่า 2 เดือน แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 นั้น

เครือข่ายภาคประชาสังคมสนับสนุนการกระจายอำนาจ นำโดย นายวีระ สมความคิด ประธานเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชัน นายเมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) นายสมบูรณ์ คำแหง ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนระดับชาติ (กป.อพช.) ร่วมแถลงการณ์ เรื่อง สนับสนุนการจัดตั้งรัฐบาลประชาธิปไตยและการกระจายอำนาจ – จัดการตนเอง โดยมีเนื้อหาระบุว่า

หลังจากผลการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ปรากฏขึ้นว่า พรรคการเมืองซึ่งสนับสนุนแนวทางประชาธิปไตยและการกระจายอำนาจได้ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรมากเป็นอันดับที่ 1 ( พรรคก้าวไกล ) และอันดับที่ 2 ( พรรคเพื่อไทย ) ตามลำดับ ประชาชนทั่วไปที่เชื่อว่าผลการเลือกตั้งคือสิ่งบ่งชี้ “มติของมหาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย” ต่างคาดหวังว่า มติมหาชนนี้จะเป็นสิ่งกำหนดตัวบุคคลที่จะก้าวขึ้นมารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไปตามหลักการและครรลองประชาธิปไตย แต่การณ์กลับปรากฎว่า ความคาดหวังเช่นนี้ กำลังมีแนวโน้มที่จะไม่เป็นจริง เพราะกำลังมีการสมคบคิดระหว่างหลายฝ่ายทั้งที่เป็นสมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาผู้แทนบางส่วน เจ้าของทุนขนาดใหญ่และกลุ่มผู้มีอำนาจบางฝ่ายดำเนินการด้วยเล่ห์กลทางการเมืองที่ซับซ้อนเพื่อให้พรรคที่ได้ที่นั่งอันดับที่ 1 ไม่สามารถผ่านการออกเสียงลงคะแนนให้ความเห็นชอบเป็นนายกรัฐมนตรีได้ จนต้องเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองซึ่งได้ที่นั่งอันดับ 2 ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล แต่ก็เป็นแกนนำที่กำลังผลักไสให้พรรคที่ได้ที่นั่งอันดับที่ 1 และอาจรวมถึงพรรคฝ่ายประชาธิปไตยบางพรรคต้องออกจากการร่วมรัฐบาลในอนาคตทั้งที่ได้ร่วมทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) และแถลงการณ์อย่างเปิดเผยต่อประชาชนอย่างชัดแจ้งแล้ว

Advertisement

การสมคบคิดที่ไม่เคารพต่อมติมหาชนและขาดจริยธรรมทางการเมืองอย่างรุนแรงเช่นนี้ ยังอาจส่งผลร้ายให้เกิดฉากทัศน์อันไม่พึงปรารถนาต่อไปได้หลายประการ เช่น (ก) พรรคซึ่งได้ที่นั่งอันดับที่ 2 ดังกล่าวอาจร่วมเป็นรัฐบาลกับพรรคตัวแทนของผู้นำในการรัฐประหารหรือสนับสนุนการรัฐประหาร (ข) แม้แต่พรรคได้ที่นั่งอันดับที่ 2 ก็ไม่ได้เป็นรัฐบาลแต่เป็นพรรคที่แพ้การเลือกตั้งและสนับสนุนการรัฐประหารสามารถเกาะกลุ่มกันจัดตั้งรัฐบาลได้ (ค) ประชาชนจำนวนมากเข้าร่วมการชุมนุมประท้วงอาจถูกปราบปรามอย่างรุนแรง (ง) เกิดการอ้างเหตุปัจจัยต่างๆ แล้วทำรัฐประหาร เป็นต้น

เครือข่ายภาคประชาสังคมสนับสนุนการกระจายอำนาจที่มีรายชื่อท้ายแถลงการณ์นี้ เห็นว่า สถานการณ์เช่นนี้สะท้อนถึงความล้มเหลวที่รุนแรงอย่างยิ่งของการเมืองในโครงสร้างส่วนบนของประเทศ ทำให้เห็นว่าการเมืองส่วนนี้ไม่ได้ทำหน้าที่จัดการและนำพาประเทศให้สมกับบทบาทและความคาดหวังของประชาชน ตรงกันข้ามกลับกลายเป็นตัวหน่วงรั้งความก้าวหน้าของประเทศไม่ให้ก้าวไปข้างหน้า โดยเฉพาะมุ่งรักษาและเพิ่มพูนความเข้มแข็งของอำนาจรวมศูนย์และของอภิสิทธิ์ชนให้มีมากขึ้น ในขณะที่โครงสร้างและระบบการเมืองส่วนล่างในระดับพื้นที่หรือท้องถิ่นที่ประกอบด้วยองค์กรรัฐภาคท้องถิ่น ภาคประชาสังคม – ชุมชนท้องถิ่น และภาคธุรกิจท้องถิ่นกลับต้องพยายามขับเคลื่อนปรับตัวเองอย่างยากลำบากเพื่อลดผลร้ายของการกดทับโดยโครงสร้างการเมือง โครงสร้างทางเศรษฐกิจ และระบบการปกครองส่วนบนที่ล้าหลังและเพื่อให้เท่าทันสถานการณ์ความจำเป็นของพื้นที่และความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาของสังคม

Advertisement

ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ เครือข่ายภาคประชาสังคมสนับสนุนการกระจายอำนาจ ซึ่งเป็นอิสระและไม่ได้เกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองใดๆ แต่มุ่งหมายที่จะเห็นประเทศขับเคลื่อนไปบนแนวทางประชาธิปไตย และพัฒนาไปบนเส้นทางการกระจายอำนาจการปกครองไปสู่ประชาชน เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องแสดงจุดยืนและเรียกร้องต่อทุกฝ่ายให้ช่วยกันคลี่คลายข้อจำกัดและข้อขัดข้องทั้งปวง เพื่อนำพาประเทศออกจากสถานการณ์นี้ ดังต่อไปนี้

1. ขอเรียกร้องให้สมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากทุกพรรคการเมืองผู้มีเกียรติและศักดิ์ศรีของความเป็นผู้แทนปวงชนตามรัฐธรรมนูญแสดงออก ซึ่งความพยายามในการรักษาหลักการและวิถีทางประชาธิปไตยโดยการออกเสียงลงคะแนนและกระทำทุกประการอย่างชอบธรรมเพื่อให้เกิดรัฐบาลที่มีพรรคซึ่งได้ที่นั่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมากลำดับที่ 1 และอันดับที่ 2 เป็นพรรคร่วมรัฐบาลให้ได้ ซึ่งจะเป็นการเคารพต่อผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา

2. เฉพาะพรรคซึ่งได้ที่นั่งมากเป็นอันดับที่ 2 และกำลังถือครองโอกาสที่จะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้มากที่สุดในขณะนี้นั้น ขอให้ยุติความพยายามผลักไสพรรคการเมืองที่ได้ที่นั่งมากอันดับที่ 1 รวมทั้ง พรรคฝ่ายประชาธิปไตยใดๆ ออกจากการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อป้องกันผลร้ายต่อที่จะเกิดต่อประเทศชาติและระบอบประชาธิปไตยอย่างยากจะแก้ไขให้ฟื้นคืน ซึ่งจะเป็นผลทำนองเดียวกันกับผลที่จะเกิดกับพรรคการเมืองดังกล่าวนี้เองในอนาคต

3. ขอเรียกร้องให้ชนชั้นนำของประเทศไม่ว่าจะอยู่ในระบบราชการฝ่ายบริหาร ฝ่ายรัฐสภา ฝ่ายตุลาการคณะกรรมการเลือกตั้งและองค์กรอิสระใดๆ ที่เกี่ยวข้อง เจ้าของทุนธุรกิจขนาดใหญ่ และผู้มีสถานะและอำนาจทางสังคมทั้งปวง ได้โปรดเสียสละประโยชน์ส่วนตนเพื่อรักษาประโยชน์ส่วนรวมของประชาชนและประเทศชาติ แสดงบทบาทในการรักษาความศักดิ์สิทธิ์ของระบอบประชาธิปไตยควบคู่ไปกับหลักนิติรัฐ – นิติธรรม และละวางอคติใดๆ อันอาจเป็นอุปสรรคต่อความสำเร็จหรือความเป็นไปได้ของการแสดงบทบาทต่างๆ ที่เรียกร้องข้างต้น

4. ขอเรียกร้องต่อพี่น้องประชาชนทั่วประเทศให้ยังคงเชื่อมั่นต่อการจัดการตนเอง ทั้งในระดับภูมิภาค จังหวัด อำเภอ ตำบล ชุมชน ภูมินิเวศ หรือแม้แต่รายประเด็นปัญหา และขอให้ยกระดับความเข้มแข็งของกลุ่ม องค์กรหรือเครือข่ายตนเองควบคู่ไปกับการรักษาความเชื่อมโยงสนับสนุนซึ่งกันและกัน ร่วมมือกันและร่วมมือกับภาคีภาครัฐและภาคเอกชนอย่างบูรณาการบนวิถีทางที่สอดคล้องกับบริบทและความหลากหลายของพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพในรูปแบบสภาพลเมืองหรือสมัชชาพลเมืองและอื่นๆ เพื่อให้การจัดการตนเองเช่นนี้เป็นพลังแห่งการพัฒนาไปข้างหน้า ความเป็นปึกแผ่นและสมัครสมานของสังคมไทยต่อไป

เครือข่ายฯ เชื่อมั่นว่า สังคมไทยมีศักยภาพในตัวเพียงพอที่จะจัดการปัญหาของตนเองได้ ค้นพบทางออกของตนเองได้ ก้าวข้ามกับดักและขวากหนามต่างๆ ไปสู่ระดับพัฒนาการที่สูงกว่าอดีตได้ เพียงแต่พวกเราต่างต้องรับฟังกัน เคารพกันและยึดถือประโยชน์ร่วมกันของประชาชนและประเทศชาติเป็นสำคัญเหนือกว่าอื่นใด

แถลงเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2566

รายนามเครือข่ายภาคประชาสังคมสนับสนุนการกระจายอำนาจที่ร่วมลงชื่อในแถลงการณ์

1.กลุ่ม Think Tank จัดการตนเอง
2.เครือข่ายจังหวัดจัดการตนเอง
3.คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.)
4.เครือข่ายนักวิชการเพื่อการกระจายอำนาจ (คนก.)
5.คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.พอช.)
6. สถาบันสังคมประชาธิปไตย
7.ศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อสังคมประชาธิปไตย (YPD)
8.เครือข่ายประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ
9.เครือข่ายคนหนุ่มสาวจังหวัดยโสธร
10.เครือข่ายทรัพยากรจังหวัดแพร่
11.สมาคมภาคีพัฒนาจังหวัดแพร่
12.เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนจังหวัดเชียงราย
13. เครือข่ายบ้านชุ่มเมืองเย็น
14. มูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย
15. สมาคมชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดสตูล
16. รักจังสตูล
17.ขบวนองค์กรชุมชน (สภาองค์กรชุมชน) จังหวัดสตูล
18. สมาคมประชาสังคมพังงาแห่งความสุข
19. สภาองค์กรชุมชนตำบลจังหวัดพังงา
20.กลุ่ม Non-Binary Thailand
21.สภาพลเมืองเชียงใหม่
22.สถาบันการจัดการทางสังคม
23. ภาคีรณรงค์เลือกตั้งผู้ว่าฯ เชียงใหม่
24. เครือข่ายจังหวัดอำนาจเจริญจัดการตนเอง
25. ขอนแก่นทศวรรษหน้า
26. สภาองค์กรชุมชนตำบลจังหวัดพัทลุง
27. สภาประชาชนภาคใต้
28. เครือข่ายภัยพิบัติชุมชนภาคใต้
29. สภาพัฒนาองค์กรเครือข่ายชุมชนจังหวัดมุกดาหาร
30. วาระเปลี่ยนตะวันออก
31. เครือข่ายประชาสังคมจังหวัดกระบี่
32. เครือข่ายพิทักษ์สิทธิชุมชน เขาคูหา อ.รัตภูมิ จ.สงขลา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image