ส่อง‘พท.-ภท.’ตั้ง รบ. สารตั้งต้น212เสียง

ส่อง‘พท.-ภท.’ตั้ง รบ. สารตั้งต้น212เสียง หมายเหตุ - นักวิชาการวิเคราะห์สถานการณ์

หมายเหตุ – นักวิชาการวิเคราะห์สถานการณ์การเมืองหลังพรรคเพื่อไทยประกาศจับมือพรรคภูมิใจไทยตั้งรัฐบาลสารตั้งต้น 212 เสียง สลายขั้ว 8 พรรคร่วมรัฐบาลเดิม และเดินหน้าดีลเสียงพรรคการเมืองอื่นๆ และยืนยันว่าได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว

วีระ หวังสัจจะโชค
อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ ม.นเรศวร

ในการจับมือระหว่างพรรคภูมิใจไทยและพรรคเพื่อไทยที่ว่าเป็นสารตั้งต้นจำนวน 212 เสียง อันดับแรกเราต้องมาพิจารณาว่า การเริ่มจัดตั้งรัฐบาลนี้ที่พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำรัฐบาลการรวบรวมเสียงจากสภาผู้แทนราษฎร หรือฝั่งที่เป็นสภาที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะรวมเสียงในลักษณะของการมีพรรคลุงหรือไม่มีพรรคลุงก็ตาม ก็จะได้เสียงไม่ถึง 312 เสียง แบบสมัยที่จับมือกับพรรคก้าวไกล และ 8 พรรคร่วมรัฐบาล เพราะฉะนั้นอำนาจในการต่อรองของพรรคเพื่อไทยจะเสียงไม่ดังเหมือนเดิม จะกลายเป็นว่าการต่อรองและอำนาจในการเจรจาในการจัดตั้งรัฐบาลแม้ว่าพรรคเพื่อไทยจะยังเป็นแกนนำ แต่การจัดตั้งรัฐบาลจะขึ้นอยู่กับพรรคอันดับ 3 อันดับ 4 ที่จะมีอำนาจในการเจรจาต่อรอง ว่าจะเอาอะไร หรือไม่เอาอะไร เราเห็นตัวอย่างได้อย่างชัดเจนที่พรรคภูมิใจไทย ได้แถลงกับพรรคเพื่อไทยว่า สามารถกำหนดวาระทางการเมืองแทนพรรคเพื่อไทย ไม่ว่าจะเป็นการไม่แตะ ม.112 เลย ทั้งๆ ที่พรรคเพื่อไทยในช่วงที่หาเสียงเคยพูดประเด็นนี้ว่า สามารถนำไปคุยประเด็นนี้ในสภาได้ แต่พอจับมือกับพรรคภูมิใจไทย การกำหนดวาระกลับไม่ใช่พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ กลายเป็นพรรคที่ 3 รวมไปถึงจากพรรคร่วมรัฐบาล ในลักษณะดังกล่าว พรรคเพื่อไทยสูญเสียอำนาจในการต่อรอง ซึ่งอำนาจในการต่อรองไม่ได้เห็นแค่จากตัวตำแหน่งรัฐมนตรีเท่านั้น รวมไปถึงนโยบายต่างๆ ที่พรรคเพื่อไทยเคยประกาศหาเสียงไว้กับประชาชนก็จะไม่สามารถนำมาใช้ได้แบบอิสระพรรคเดียวอีกต่อไปแต่จะต้องไปแบ่ง แชร์พื้นที่ กับพรรคภูมิใจไทยด้วย เหตุเช่นนี้ในการจัดตั้งรัฐบาลที่มีสารตั้งต้น 212 เสียง เลยอาจนำไปสู่ปัญหาในอนาคตสำหรับพรรคเพื่อไทย ใน 3 เรื่องหลักๆ ด้วยกัน

Advertisement

เรื่องแรก ปัญหาในการจัดตั้งรัฐบาลนี้ขาดเสถียรภาพ ในการบริหารประเทศ เพราะว่าการแบ่งตำแหน่งกระทรวงมีลักษณะที่ทำให้นโยบายกระจายออกไปตามพรรคการเมืองต่างๆ ที่มาเข้าร่วมกับรัฐบาล และในการโหวตนายกรัฐมนตรีไม่มี ส.ส.คนใดโหวตให้ฟรีทุกคนต่างเรียกร้องตำแหน่งทางการเมือง หรือแลกประโยชน์บางอย่าง ที่พรรคเพื่อไทยจำเป็นจะต้องจ่าย หากจำเป็นจะต้องเป็นนายกรัฐมนตรี การบริหารของพรรคเพื่อไทยจะไม่เป็นแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด จะกลายเป็นการทำงานแบบต่างคนต่างทำ

ปัญหาเรื่องที่ 2 การประกาศไม่เอาพรรครวมไทยสร้างชาติและพรรคพลังประชารัฐ อาจนำมาสู่ ทาง 2 แพร่ง ที่ทำให้พรรคเพื่อไทย อาจเผชิญกับวิกฤตความชอบธรรมได้ เพราะแม้ว่าพรรคเพื่อไทยจะประกาศว่าจะไม่เอาพรรคลุง 2 พรรค แต่ก็ไม่ปิดประตูที่บางกลุ่ม บางก้อน จากพรรคลุงจะมาช่วยโหวต ภาพของบางกลุ่มบางก้อนในพรรคพลังประชารัฐและพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่มาช่วยโหวต ก็ทิ้งภาพของ 2 ลุงออกไปไม่ได้ เป็นเพียงการเล่นคำว่าไม่เอาพรรคแต่เอากลุ่ม ทั้งที่จริงๆ การเจรจาเราเห็นท่าทีว่าไม่มีทางเลยที่ถ้าผลักเอาพรรคก้าวไกลออก ก็ไม่มีทางเลยที่จะสามารถผ่านเสียงโหวต 375 เสียงได้โดยไม่มีพรรครวมไทยสร้างชาติและพรรคพลังประชารัฐ เพราะฉะนั้นยังไงก็ต้องอาศัย 2 พรรคนี้ ไม่ว่าจะมากันทั้งพรรคหรือจะมาเพียงบางส่วน ตรงนี้ก็จะนำมาสู่วิกฤตความชอบธรรมของพรรคเพื่อไทยที่ประกาศว่าไม่เอาลุง แต่ดันเอาเครือข่ายของลุงจาก 2 พรรคมาช่วยโหวต และการจะเอามาก็ต้องแลกด้วยตำแหน่งในรัฐบาลด้วยวิกฤตความชอบธรรม

ข้อสุดท้าย ข้อที่ 3 ก็คือปัญหาเกี่ยวกับการได้เสียงโหวตนายกรัฐมนตรี ปฏิเสธไม่ได้ จะต้องได้เสียงจาก ส.ว.ไม่ว่าพรรคเพื่อไทย จะรวมเสียงจากสภาล่างได้มากแค่ไหน แม้จะเอาพรรคลุงมา แต่ก็จำเป็นจะต้องได้เสียงจาก ส.ว.ส่วนหนึ่งมาช่วยโหวตจะต้องการแบบ 60 คนแบบเดิม หรืออาจจะต้องการเป็นร้อยคนเลยก็ได้ ปัญหาก็คือ ส.ว.เวลาจะมาโหวตให้เสียงเขาจะไม่แตก เราเห็นจากในอดีตตอนโหวตให้แกนนำจัดตั้งรัฐบาลจากพรรคก้าวไกล คนที่มาโหวตให้พรรคก้าวไกลจริงๆ มีอยู่แค่ 13 คน แสดงให้เห็นว่า ส.ว.มีระเบียบในการที่จะโหวตพอสมควร

Advertisement

เพราะฉะนั้นพรรคเพื่อไทยจะทำอย่างไรในการจะได้เสียง ส.ว.มา ก็จะกลายเป็นปัญหาข้อที่ 3 ที่จะเชื่อมโยงกับข้อ 2 ก็คือพรรคเพื่อไทยจะต้องไปจับมือกับพรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคพลังประชารัฐอยู่ดี เพราะว่าการจะได้เสียง ส.ว.ไม่สามารถที่จะเจรจากับ ส.ว.ได้โดยตรงได้ แต่จำเป็นจะต้องเจรจากับคนที่อยู่ข้างหลัง ส.ว. หรือที่มาของ ส.ว.นั่นเอง ซึ่งก็หนีไม่พ้นกลุ่มอำนาจที่สืบทอดกันมาเป็นเวลาอันยาวนานตั้งแต่การรัฐประหารปี 2557 การได้เสียง ส.ว.ตรงนี้ ทำให้พรรคเพื่อไทยจะต้องไปคุยกับกลุ่มอำนาจเก่า ให้ยอมตกลงจะตั้งรัฐบาลที่อาจจะเรียกว่า รัฐบาลสมานฉันท์ รัฐบาลข้ามขั้ว รัฐบาลแห่งชาติ อะไรพวกนี้ ก็ว่ากันไป แต่ในเชิงประสาน ส.ว.จะทำให้ภาพของพรรคเพื่อไทย อาจจะไม่ประสบความสำเร็จในการโหวตนายกรัฐมนตรีตั้งแต่ต้น ปัญหาก็มาจาก 2 เรื่องวิกฤตความชอบธรรม คือ ประกาศไม่เอา 2 ลุงแต่จะเอากลุ่มลุงนั่นเอง ถ้าเผื่อไม่เอา 2 พรรคนี้มา แต่เอามาเพียงบางกลุ่ม ส.ว.ก็คงจะไม่โหวตให้

เพราะฉะนั้น 3 ปัญหานี้ จึงทำให้การตัดสินใจของพรรคเพื่อไทยยากลำบาก และยิ่งทิ้งเวลานาน อย่างตอนนี้เราอาจจะได้โหวตนายกรัฐมนตรีกันประมาณปลายเดือนสิงหาคม การทิ้งเวลายาวนานขนาดนี้อาจทำให้อำนาจการต่อรองของพรรคเพื่อไทยยิ่งน้อยลง จะมาบอกว่า จับมือกับพรรคภูมิใจไทยได้ 212 เสียง มากกว่าฝ่ายขั้วอำนาจเก่าแล้ว เพราะว่าดึงพรรคภูมิใจไทยออกมาจาก 188 เสียง คำถามอาจจะไม่ใช่ อย่างนั้นเพราะการที่เอาพรรคภูมิใจไทยมารวมกันเป็น 212 เสียงต้องไม่ลืมว่า พรรคเพื่อไทยก็ต้องเสียเสียง 151 จากพรรคก้าวไกลออกไปเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้น ได้มา 70 เสียง แต่เสียไป 150 เสียงจากพรรคก้าวไกล ไม่ใช่งานง่ายของพรรคเพื่อไทย ที่จะมาอุดรอยรั่วตรงนี้ ถ้าไม่ใช่พรรค 2 ลุง

ปฐวี โชติอนันต์
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ม.อุบลราชธานี

พรรคเพื่อไทยในตอนนี้มีสารตั้งต้น 212 เสียง ยังไม่เพียงพอจัดตั้งรัฐบาลได้ เนื่องจากต้องการเสียงสนับสนุนจาก ส.ส.และ ส.ว. รวมกันได้ 376 เสียงขึ้นไป ดังนั้นพรรคเพื่อไทยต้องพยายามดึงพรรคการเมืองอื่นๆ ที่ไม่ใช่พรรคก้าวไกลเข้ามาร่วม เนื่องจากถ้ามีพรรคก้าวไกลเข้าร่วมรัฐบาล พรรคภูมิใจไทยจะถอนตัวทันทีและ ส.ว.จะไม่โหวตให้พรรคเพื่อไทยตั้งรัฐบาลได้เพราะมีประเด็นความเห็นไม่ตรงกันในเรื่องการแก้ไขกฎหมาย มาตรา 112 จากสมการดังกล่าว เป้าหมายที่พรรคเพื่อไทยต้องการ คือ 1.การจัดตั้งรัฐบาลให้ได้ 2.การเป็นรัฐบาลเสียงข้างมากเพื่อเสถียรภาพทางการเมือง และ 3.นายกฯมาจากพรรคเพื่อไทย ถึงแม้จัดตั้งรัฐบาลได้ แต่ถ้าเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย แน่นอนว่าพรรครัฐบาลของพรรคเพื่อไทยจะอยู่ได้ไม่นาน ถ้าคำนวณจาก ส.ส.จากพรรคต่างๆ ที่จะเข้าร่วมกับพรรคเพื่อไทย โดยไม่นับรวมพรรคพลังประชารัฐ พรรครวมไทยสร้างชาติพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทยจะรวมเสียงได้ 243 เสียงเท่านั้น ต้องการเสียงจาก ส.ว.มากถึง 133 เสียง จึงจะได้เสียงสนับสนุนรวมกันถึง 376 เสียง ดังนั้นเมื่อพิจารณาจากสูตรการจัดตั้งรัฐบาล เป็นไปได้ยากมากที่พรรคเพื่อไทยจะไม่ดึงพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งมี 40 เสียง พรรครวมไทยสร้างชาติซึ่งมี 36 เสียง หรือพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งมี 25 เสียง เข้าร่วมรัฐบาล เพื่อให้ได้เสียงในสภาผู้แทนราษฎรเกิน 250 เสียงขึ้นไป

ถ้าพรรคเพื่อไทยต้องดึง 1 ใน 3 พรรคนี้ พรรคไหนจะส่งผลกระทบต่อพรรคเพื่อไทยน้อยที่สุด คิดว่าถ้าพรรคเพื่อไทยดึงพลังประชารัฐเข้าร่วมจะส่งผลกระทบกับพรรคเพื่อไทยน้อยกว่าพรรครวมไทยสร้างชาติและพรรคประชาธิปัตย์ คือ การมีพรรคพลังประชารัฐเข้าร่วมจะทำให้พรรคเพื่อไทยได้คะแนนเสียงมากถึง 279 เสียง มากกว่านั้นความสัมพันธ์ที่ดีระหว่าง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ กับกลุ่ม ส.ว.สายทหารมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน จุดนี้อาจทำให้ ส.ว.ส่วนมากจากสายทหารลงคะแนนเสียงให้พรรคเพื่อไทยได้จัดตั้งรัฐบาลได้ นอกจากนี้ สมาชิกของพรรคพลังประชารัฐหลายคนก็เคยอยู่กับพรรคเพื่อไทยมาก่อน มีความสนิทชิดเชื้อกัน ทำให้การทำงานไม่น่าจะมีปัญหา

ในทางกลับกัน ถ้าพรรคเพื่อไทยดึงพรรครวมไทยสร้างชาติมาร่วมรัฐบาล สมาชิกของพรรครวมไทยสร้างชาติมาจากกลุ่ม กปปส. ซึ่งมีความขัดแย้งกับรัฐบาลพรรคเพื่อไทยในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และเป็นอีกหนึ่งตัวแปรที่สำคัญในการยึดอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา การนำพรรคนี้เข้ามาร่วมจะทำให้ฐานเสียงของพรรคเพื่อไทยส่วนใหญ่รับไม่ได้ เพราะเอาคนที่มีความเกี่ยวข้องกับการรัฐประหารโดยตรงมาเข้าร่วมรัฐบาล นอกจากนี้ การนำพรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมยิ่งอันตรายกับพรรคเพื่อไทย เพราะพรรคประชาธิปัตย์เป็นคู่ขัดแย้งกับคนเสื้อแดง ซึ่งเป็นฐานเสียงสำคัญของพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งหลายครั้งที่ผ่านมา การนำพรรคที่เคยเป็นรัฐบาลและมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของคนเสื้อแดงในเหตุการณ์สลายการชุมนุมปี พ.ศ.2553 เข้าร่วม จะยิ่งทำให้กลุ่มคนเสื้อแดงที่สนับสนุนพรรคเพื่อไทยรับไม่ได้และจะยิ่งนำมาสู่การประท้วงหนักขึ้น

สิ่งที่พรรคเพื่อไทยยังเป็นกังวลคิดว่า แม้พรรคเพื่อไทยจะจัดตั้งรัฐบาลได้ แต่นายกรัฐมนตรีอาจไม่ได้มาจากพรรคเพื่อไทย เนื่องจากนายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตจากพรรคเพื่อไทย ยังโดนกล่าวหาเรื่องคดีเลี่ยงภาษีในการซื้อขายบ้านในโครงการของบริษัท จุดนี้อาจเป็นข้ออ้างให้ ส.ว.ใช้อ้างในการไม่โหวตในนายเศรษฐาเป็นนายกฯ แต่กลับไปโหวตให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ขึ้นเป็นนายกฯแทนโดยมีพรรคเพื่อไทยเป็นพรรคร่วมรัฐบาลก็เป็นไปได้

นพพร ขุนค้า
อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ ม.ราชภัฏราชนครินทร์

ก ารแถลงจับมือกันจัดตั้งรัฐบาลของพรรคเพื่อไทยและพรรคภูมิใจไทยเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจึงมองว่าเมื่อพรรคเพื่อไทยที่มี 141 เสียง รวมกับพรรคภูมิใจไทย 71 เสียง ในการก่อตัวเป็นสารตั้งต้น 212 เสียงและยังประกาศว่าจะจัดตั้งโดยที่ไม่มี 2 ลุงด้วยนั้น จึงทำให้ดูแล้วน่าจะเป็นเรื่องยากที่พรรคเพื่อไทยและพรรคภูมิใจไทยจะทำสำเร็จ แม้จะรวมเสียงจากสภาผู้แทนราษฎรได้เกินครึ่ง แต่โอกาสที่จะได้เสียง ส.ว.มาร่วมสนับสนุนนั้นจะเป็นไปได้อย่างไร ในเมื่อความจริงนั้น ส.ว.มีอยู่แค่ 2 ค่าย คือ ฝั่งของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ถ้าไม่มีพรรค 2 ลุงเลยนั้น จึงคิดว่าน่าจะผ่านวุฒิสภาได้ยาก ในการที่จะจัดตั้งรัฐบาล เว้นเสียแต่ว่าในการโหวตนายกรัฐมนตรี จะไม่มีพรรค 2 ลุงในระยะแรก แต่เมื่อโหวตนายกรัฐมนตรีผ่านไปแล้ว พรรค 2 ลุงจะเข้ามารวมในภายหลัง โดยอาจจะมีการใช้เทคนิควิธีการดึงกลุ่มการเมืองในพรรคของ 2 ลุงเข้ามาในภายหลัง ถือว่ามีโอกาสจะเกิดขึ้นได้ แต่หากถ้าไม่มีพรรคของ 2 ลุงเข้ามาเลยนั้น เชื่อได้เลยว่าพรรคเพื่อไทยและพรรคภูมิใจไทยจะไม่สามารถที่จะจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ เนื่องจากทางพรรคเพื่อไทยยังได้เสียง ส.ว.มาสนับสนุนไม่ครบ และต้องไม่ลืมว่าพรรคเพื่อไทยนั้นจะต้องหาเสียง ส.ว.มาให้ได้อย่างมากมาย ซึ่งมากกว่าครั้งที่พรรคก้าวไกลเป็นแกนนำ ส่วนตัวจึงคิดว่ายากในการที่จะได้เสียง ส.ว.มาโหวตจนครบถึง 375 เสียง จึงจะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ สุดท้ายจึงมองว่ายาก และยังบอกได้เลยว่าการตั้งรัฐบาลของพรรคเพื่อไทย ภายใต้วลีที่สวยหรูว่า จะไม่มีลุงแต่ในทางปฏิบัตินั้น เมื่อพรรคเพื่อไทยไม่มีลุงจะทำให้จัดตั้งรัฐบาลยาก

หากถ้าไม่สำเร็จเชื่อว่าพรรคเพื่อไทยจะส่งไม้ต่อไปให้แก่พรรคอันดับที่ 3 คือ พรรคภูมิใจไทย และเป็นที่แน่นอนว่าพรรคภูมิใจไทยกับพรรค 2 ลุงนั้นไม่ได้มีปัญหาอะไรกัน ส่วนพรรคเพื่อไทยจะกลายเป็นพรรคร่วม เมื่อถึงตรงนี้ต้องจับตาว่า ถ้าพลาดในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่ไม่ใช่พรรคเพื่อไทย จึงมองว่าน่าจะเป็นพรรคภูมิใจไทย นอกจากนี้ ภายในพรรคเพื่อไทยเองนั้นยังมี ส.ส.บางส่วนไม่สบายใจที่มีการฉีกเอ็มโอยูร่วมกับพรรคก้าวไกลเดิม แม้จะยังไม่มีการประกาศออกมาอย่างชัดเจนว่าจะมาร่วมกับ 2 ลุง ตัวอย่างเช่นในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา คือ นายจาตุรนต์ ฉายแสง และนางฐิติมา ฉายแสง ออกมาเปิดเผยถึงความไม่สบายใจที่เกิดขึ้นหากต้องมีการจัดตั้งรัฐบาลร่วมด้วย โดยที่ได้มีการระบุว่า ไม่รู้ว่าจะกลับไปตอบคำถามกับประชาชนในพื้นที่ผู้ให้การสนับสนุนมาว่าอย่างไร ทั้งยังต้องยอมรับว่าความเป็นเอกภาพภายในของพรรคเพื่อไทยเองนั้น มีผลกระทบเกิดขึ้นแล้ว เนื่องจากยังมี ส.ส.บางส่วนที่ยังไม่เห็นด้วย หลายคนเกรงว่าสิ่งที่จะตามมาหลอกหลอนพรรคเพื่อไทยต่อไปในอนาคตนั้น คือ สิ่งที่ตนเคยพูดไว้ก่อนการเลือกตั้ง และถือว่าเป็นสิ่งที่พรรคเพื่อไทยจะตอบกับสังคมได้ลำบาก เมื่อบอกว่ามาร่วมกับนายอนุทิน แล้วแคมเปญไล่หนูตีงูเห่า ที่เคยพูดไว้ ยังมีพี่น้องประชาชนออกมาตั้งคำถามกันแล้วว่าก่อนเลือกตั้งนั้นมีแคมเปญนี้ แต่หลังการเลือกตั้งกลับกลายเป็นการมานั่งเป็นคู่หมั้นกัน

พี่น้องประชาชนหลายส่วนและแฟนคลับพรรคเพื่อไทยนั้นต้องยอมรับว่าเกิดความไม่สบายใจจากการกระทำของพรรคที่เกิดขึ้นในครั้งนี้แล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image