หมายเหตุ – ความเห็นนักวิชาการมองฉากทัศน์ของพรรคเพื่อไทยที่เดินหน้าจัดตั้งรัฐบาล รวบรวมได้ 315 เสียง จะมีเสถียรภาพแค่ไหน
วันวิชิต บุญโปร่ง
คณะรัฐศาสตร์ ม.รังสิต
หากมองเสถียรภาพของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยที่ผสมข้ามขั้วจากตัวเลขมันดูดี แต่หากดูเนื้อหาการแบ่งกระทรวง ดูความรับผิดชอบในการร่วมงานกัน จากการคาดการณ์ ผมกังวลใจว่าถ้าเพื่อไทยนำพรรค 2 ป.เข้ามาร่วม มีความเป็นไปได้สูงฉากทัศน์ที่วางไว้ไม่ต่างอะไรกับรัฐบาลนำโดยพรรคพลังประชารัฐที่เลือกตั้งปี 2562
เมื่อดูจากเป้าหมายการขับเคลื่อนนโยบายด้านเศรษฐกิจที่เคยใช้หาเสียงไว้ เช่น ดิจิทัลวอลเล็ต เงินเดือนเรียนจบปริญญาตรี 25,000 บาท หรือแม้กระทั่งเรื่องค่าครองชีพ ค่าแรงขั้นต่ำวันละ 600 บาท ขึ้นตามขั้นบันได ต้องใช้งบประมาณมหาศาล ดูทิศทางแล้ว รัฐบาลจะเกิดเสถียรภาพก็ต่อเมื่อแบ่งกระทรวงสำคัญให้กับพรรคร่วมรัฐบาล จะถูกตั้งคำถามว่าหาเสียงแล้วทำไม่ได้ตามเป้า
ขณะเดียวกัน หากพรรคเพื่อไทยจะกุมบังเหียนครบวงจร กระทรวงเศรษฐกิจ กระทรวงที่สำคัญก็จะต้องมีปัญหาเรื่องเสถียรภาพแน่นอน เพราะอย่าลืมว่าสไตล์การทำงานของพรรคที่จะมาร่วม หลายเรื่องที่คนตั้งคำถาม เช่น จะบริหารสัมพันธภาพกับพรรคภูมิใจไทยได้อย่างไร เรื่องกัญชาที่ใช้หาเสียงทุกสนามเลือกตั้งโดยเฉพาะภาคอีสาน พรรคเพื่อไทยจะเอากลับไปเป็นพืชยาเสพติด รวมถึงวิวาทะต่างๆ กับพรรครวมไทยสร้างชาติ อาจจะมีรัฐมนตรีที่เคยเป็นแกนนำ กปปส.มาดำรงตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีชุดนี้จะเกิดการตั้งคำถามถึงการทำงานที่เป็นเนื้อเดียวกันได้หรือไม่
การที่พรรคร่วมมาจากหลายพรรค ทำให้ทุกพรรคการเมืองต้องการได้เก้าอี้กระทรวงสำคัญไปผลักดันนโยบายของตัวเอง ท้ายที่สุดแล้วพรรคเพื่อไทยเป็นเหมือนเจ้ามือต้องจ่ายรอบวง ทำให้ทุกคนมีหน้ามีตาในกระทรวง เมื่อมาร่วมแล้วจะคุ้มค่าในการสนับสนุนพรรคเพื่อไทย
ดังนั้น เรื่องแนวโน้มของการผลักดันนโยบายของพรรคเพื่อไทยที่จะทำให้บรรลุแน่นอน คงทำสุดความสามารถ โดยเฉพาะทุกคนตั้งคำถามต่อดิจิทัลวอลเล็ต แต่พรรคเพื่อไทยต้องทำให้สังคมเกิดความเชื่อมั่น แสดงความสามารถในฐานะรัฐบาลว่าจะหารายได้เสริม รายได้เข้าประเทศเพิ่มมาจากทางไหนได้บ้าง เพราะมีแต่รายจ่ายจากการใช้งบประมาณมหาศาล ต้องใช้เต็มขีดศักยภาพเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทย แสดงให้เห็นว่าจะมีเงินเข้ามาสมทบมากขึ้นมากน้อยเพียงใด
ส่วนการตั้งรัฐบาลสลายขั้วขัดแย้งเป็นแค่ภาพลวงตา ภาพมายาคติที่พรรคเพื่อไทยใช้พูด จริงๆ แล้วเป็นการใช้เพื่อแก้เงื่อนไขของรัฐธรรมนูญที่บีบให้ต้องขอเสียงสนับสนุนรวมเสียง ส.ว.ให้ได้ถึง 375 เสียงขึ้นไป กลับกลายเป็นตัวเลขคณิตศาสตร์ทางการเมือง จึงเป็นความจำเป็นที่ต้องรวมเสียงกัน ฉะนั้นเพื่อลดข้อครหาอ้างว่าเป็นการสลายขั้วความขัดแย้งนั้นไม่จริง เพราะทุกพรรคที่เข้ามาร่วมจัดตั้งรัฐบาลคราวนี้ ย่อมมีค่าใช้จ่าย ค่าตอบแทนต่อมวลชนที่สนับสนุนตนเอง ก่อนหน้านี้แข่งขันเอาเป็นเอาตาย เกิดห้ำหั่นในสนามเลือกตั้ง เป็นการพูดแก้เกี้ยวเฉยๆ
หากมองระยะยาวน่าจะรู้กันแล้วว่าคงจะมีปัญหาในหลายๆ มิติ อันนี้ต้องแสดงความเป็นผู้นำของคุณเศรษฐา ทวีสิน หากได้เป็นนายกรัฐมนตรี จะสามารถรับมือการผสมหลายพรรคที่มาทำงานร่วมกันให้ไปทิศทางเดียวกันได้หรือไม่ เป็นการทดสอบวุฒิภาวะความสามารถของคุณเศรษฐา น่าสนใจ น่าติดตามดูว่าจะออกมาได้ดีแค่ไหน แต่เชื่อว่าในบุคลิกของคุณเศรษฐาที่มีความเป็นนักธุรกิจ น่าจะมีท่าทีในการประนีประนอมการทำงานกับคนอื่นได้
ตอนนี้วิกฤตศรัทธาของประชาชนสะสมมาเรื่อยๆ กลายเป็นความรู้สึกเฉยชา ชินชากับสิ่งที่เกิดขึ้น แน่นอนความผิดหวังเกิดขึ้นอยู่แล้ว แต่จะลงถนน หรือคนจะลงมาก่อหวอดความไม่พอใจนั้น มองว่ามันยังไม่ถึงขั้นสุกงอมพอ แต่พรรคเพื่อไทยต้องพิสูจน์ตัวเอง เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายทางการเมืองรอบนี้สูงมาก คนเสื้อแดง คนที่จงรักภักดีต่อพรรคเพื่อไทยมาตลอด ย่อมรับไม่ได้อยู่แล้วที่ดึงพรรค 2 ป.มาร่วมรัฐบาล
โจทย์ที่พรรคเพื่อไทยต้องพิสูจน์คือเรื่องนโยบายที่หาเสียงด้านนโยบายเศรษฐกิจ ที่จะกระตุ้นและสร้างความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ รวมถึงสาระสำคัญที่ต้องไม่ลืม คือประเด็นทางการเมืองที่มุ่งผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะสถานการณ์ตอนนี้ชี้ให้เห็นว่าระบบการเมืองกลายเป็นเงื่อนตาย และอุปสรรคในการพัฒนาการเมือง เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญที่วางกติกาไว้หยุมหยิมมากมาย ดังนั้น ทุกพรรคการเมืองไทย หากมองถึงความจำเป็นในการปลดแอก ปลดล็อกทุกอย่าง การทำประชามติเพื่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็ควรจะทำควบคู่ไปด้วย
ขณะเดียวกัน เสถียรภาพการทำงานของ ครม.ที่จะเกิดขึ้น ต้องเผชิญกับฝ่ายค้านอย่างพรรคก้าวไกล เคยทำงานร่วมกันกับพรรคเพื่อไทยมาก่อน ย่อมเข้าใจถึงวิธีคิดและสไตล์การทำงานได้ดี เพราะฉะนั้น พรรคก้าวไกลคงใช้ประโยชน์ตรงนี้ในการทำงาน สะสมคะแนนนิยมทางการเมืองต่อไปได้
ดังนั้น หากทุกฝ่ายทำหน้าที่ของตนเองอย่างตรงไปตรงมา ก็ต้องใช้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ และต้องไม่ลืมว่าคะแนนรัฐบาลที่กำลังจะเกิดขึ้น ถูกตั้งคำถามถึงความเชื่อมั่น คะแนนเริ่มต้นมาจากเป็นลบเราต้องมาดูว่าการเดินเกมไปข้างหน้าร่วมกันกับพรรคเพื่อไทยนี้ จะร่วมกันหาทางออก แก้มือ และฟื้นฟูความเชื่อมั่น ให้ประชาชนกลับมาเชื่อมั่น ด้วยนโยบายที่ตัวเองเชื่อว่าเชี่ยวชาญด้านกระตุ้นเศรษฐกิจ รอดูว่าจะทำได้ดีแค่ไหน
ผศ.ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว
คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ม.บูรพา
ผมมองว่าถ้าดูจาก ส.ส.ทั้งหมด มีแนวโน้มในการจัดตั้งรัฐบาลได้ และมีความเข้มแข็ง แต่จะมีปัญหาการแบ่งเก้าอี้รัฐมนตรี จะตอบคำถามสังคมอย่างไร ก่อนหาเสียงได้ประกาศว่า มีลุงไม่มีเรา มีเราไม่มีลุง และท่าทีของ ส.ว.ยังไม่ชัดเจนว่าจะสนับสนุนเศรษฐา ทวีสิน และไม่เห็นท่าทีแกนนำพรรคเพื่อไทยจะไปพบ ส.ว.
กรณีที่มีการกล่าวกันว่าการจัดตั้งรัฐบาลนี้ไม่มีลุงแต่ส่ง ส.ส.ภายในพรรคมาร่วมรัฐบาล คิดว่าเป็นความเจ้าเล่ห์ ร่วมกันประเมินและดูถูกสังคมต่ำเกินไป โดยเฉพาะแกนนำพรรคเพื่อไทยพยายามบอกว่ามีแต่พรรคไม่มีลุง ประเมินว่าสังคมคงทำอะไรไม่ได้ แล้วโบ้ยไปว่าเป็นเรื่องของการหาเสียงเลือกตั้ง จะโกหกหรือตระบัดสัตย์อย่างไรก็ได้ ประชาชนทำอะไรไม่ได้
ส่วนเสถียรภาพพรรคเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาล ผมมองว่าไม่มีเสถียรภาพแน่นอน อำนาจการต่อรองในฐานะแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลแม้ว่าจะสูงจริงก็ตาม แต่อำนาจอยู่ที่พรรคร่วมมากกว่า ดูจากกระแสข่าวว่าทั้งโควต้าและสัดส่วนจัดตั้งรัฐบาลลงตัว แต่ข้อเท็จจริงยังไม่ลงตัว เนื่องจากพรรคภูมิใจไทย พรรคพลังประชารัฐและพรรครวมไทยสร้างชาติ จะมีการต่อรองมากกว่านี้จะทำให้พรรคเพื่อไทยลำบาก นอกเสียจากสงวนท่าทีไปก่อน เวลาโหวตอาจจะดีลลับกับพรรคก้าวไกล แล้วหักหลังพรรคทั้งหมดที่จะจัดตั้งรัฐบาลใหม่ กลับไปตั้งรัฐบาลกับพรรคก้าวไกล
พรรคเพื่อไทยอาจจะมีดีลลับกับ ส.ว.ผ่านพรรค 2 ลุง ผมเชื่อว่าเกมนี้ยังมีการสู้กันอยู่ ไม่ว่าจะเป็นพรรค 2 ลุง โดยเฉพาะพรรคของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ยังไม่ได้ถอยพร้อมจะสู้จนถึงวินาทีสุดท้ายในการต่อรองตำแหน่งให้ชัดเจน หากต่อรองไม่ได้ เชื่อว่าแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยไปต่อไม่ได้ ทั้งเศรษฐาและ น.ส.แพทองธารจะไม่ผ่าน แต่จะไหลไปหา พล.อ.ประวิตรทันที โดยข้ามนายอนุทินชาญวีรกูล
รัฐบาลชุดใหม่จะมีการเตรียมจัดตั้งขึ้นโดยไม่มีพรรคก้าวไกล ผมมองว่ายากที่จะเป็นปึกแผ่นได้ เป็นรัฐบาลผสมมีการต่อรองกันสูง และไร้เอกภาพ เนื่องจากพรรคที่ร่วมรัฐบาลมาจากกลุ่มทุนที่แตกต่างที่ต่างมีความประสงค์ต่อตำแหน่ง เช่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กลุ่มทุนที่ต่างกันระหว่างพรรคภูมิใจไทยกับพรรคเพื่อไทยก็แข่งขันกัน นอกเสียจากกลุ่มทุนที่เป็นกลุ่มเดียวกันเช่นพรรคเพื่อไทยกับพรรครวมไทยสร้างชาติจะคุยกันได้ง่ายมากกว่า
หากพรรคเพื่อไทยถอยหนึ่งก้าวแล้วให้ตำแหน่งสำคัญกับพรรคร่วม เพื่อให้ผ่านการโหวตนายกรัฐมนตรีและเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล ก็มีโอกาสเหมือนกัน เพราะพรรคเพื่อไทยยังมีวาระพิเศษ จำเป็นต้องนำทักษิณ ชินวัตร กลับประเทศ จึงมีความจำเป็นจะต้องมีร่างทรงและชี้นิ้วสั่งได้
กรณีที่มี 315 เสียงในการจัดตั้งรัฐบาล หากมองการบริหารถือว่ามีเสถียรภาพ ฝ่ายค้านก็ไม่ได้น้อยเกินไปในการติดตามตรวจสอบถ่วงดุล แต่ปัญหาอยู่ที่ส.ว.ที่มีความสัมพันธ์ทางอำนาจกับพรรค 2 ลุง ซึ่งจะเป็นตัวแปรหลัก ส่วนการโหวตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยจะผ่านหรือไม่นั้น อยู่ที่อำนาจการต่อรองต้องยอมพรรคพลังประชารัฐและพรรครวมไทยสร้างชาติ จนกว่าทั้ง 2 พรรคจะพอใจ
ตอนนี้พรรคเพื่อไทยจะย้ายข้ามขั้วตั้งรัฐบาล แต่ยังไม่เห็นความรับผิดชอบของ ส.ส.กลุ่มนายจาตุรนต์ ฉายแสง มีกระแสข่าวว่าจะไม่ยกมือโหวตให้ และยังไม่เห็นความรับผิดชอบของหัวหน้าพรรคเพื่อไทยและอุ๊งอิ๊ง ปัจจัยหลักเหล่านี้ ส่อที่จะทำให้พรรคแตกได้
ทางออกของการจัดสรรเก้าอี้รัฐมนตรีที่ไม่มีปัญหาของเพื่อไทย คือ ต้องจัดสรรตามที่พรรคร่วมต้องการ อาทิ เก้าอี้รัฐมนตรีคมนาคม สาธารณสุข การท่องเที่ยวและกีฬา และพาณิชย์ ต้องให้พรรคภูมิใจไทยตามสัดส่วน 9 ต่อ 1 หรือต้องให้กระทรวงมหาดไทย กลาโหม เกษตรฯ กับพรรคพลังประชารัฐ ถ้าไม่พอใจสามารถพลิกได้ตลอดเวลา
นอกเสียจากพรรคเพื่อไทยฉลาดยอมทำทีให้ไปก่อนแล้วไปดีลลับกับพรรคก้าวไกล พอวันโหวตนายกรัฐมนตรี ทางพรรคก้าวไกลสวนยกมือโหวตให้ พอจัดตั้งรัฐบาลได้ก็หลอกทิ้งพรรคที่กำลังจะจัดตั้งรัฐบาลใหม่ทั้งหมด กลับไปจัดตั้งรัฐบาลกับกลุ่ม 312 เสียง ส่วนจะถูกกระแสโจมตีหรือไม่นั้น มองว่าการเมืองแบบนี้อาจเกิดขึ้นได้ เพราะพรรคภูมิใจไทยเคยทำกับพรรคเพื่อไทยในอดีต ต้องมองว่าใครเล่นเกมสูงกว่ากัน
คิดว่าพรรคก้าวไกลจะเล่นเกมนี้เหมือนกัน เพื่อหลอกให้กลุ่ม 188 เสียง มาช่วยโหวตเพื่อปิดสวิตช์ ส.ว. แล้วพรรคเพื่อไทยมาตั้งรัฐบาลกับซีกประชาธิปไตย จะเป็นเกมที่โหด แต่พรรคเพื่อไทยจะได้เสียงตบมือจากฟากประชาธิปไตยอย่างมากมาย ที่กล้าเล่นเกมโหดกับฝั่งเผด็จการ
เมื่อมองไปแล้วหาก พล.อ.ประวิตรเล่นเกมไม่ทันอาจเพลี่ยงพล้ำได้ เว้นแต่ต้องจับพรรคเพื่อไทยทำเอ็มโอยูก่อน หากไม่ทำ มีแนวโน้มสูงที่พรรคเพื่อไทยจะทรยศกลับไปหาขั้ว 312 เสียง พล.อ.ประวิตรอาจจะมีการทำแผนซ้อนแผน ไม่ผ่านแคนดิเดตของพรรคเพื่อไทย แล้วไหลไปหา พล.อ.ประวิตร เอง
การที่พรรคเพื่อไทยเริ่มแจงนโยบายการตั้ง ส.ส.ร.เพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่ มองดูแล้วเป็นเรื่องของพรรคเพื่อไทย ถ้า ส.ส.ของ พล.อ.ประวิตร และ ส.ว.ไม่ยกมือโหวตเศรษฐาเป็นนายกฯ พรรคเพื่อไทยก็ยังดีลกับพรรคก้าวไกลได้ เพราะพรรคเพื่อไทยก็ไม่ไว้ใจว่า ส.ว.จะโหวตให้ ทุกอย่างเดินเกมทำให้ดูเหมือนว่า ฟาก 188 เสียง มีเอกภาพสามัคคีร่วมกัน
กรณีกระแสข่าวว่า ส.ส.ของพรรค 2 ลุง จะมาร่วมสนับสนุนเป็นกลุ่มเป็นก๊วนคงเป็นไปไม่ได้ หากมาอย่างนี้พรรคเพื่อไทยจะเสีย แม้บอกว่าทำได้ ดูเหมือนว่าจะเป็นการย่อยสลายพรรค 2 ลุง ช่วงที่ผ่านมาพรรคเพื่อไทยก็กล่าวโจมตีพฤติกรรมของ ส.ส.ที่ไม่ทำตามมติพรรคเป็นพวกงูเห่า เป็นพวกที่ทรยศต่อประชาธิปไตย เป็นพวกที่รับใช้เผด็จการ ตอนนี้พรรคเพื่อไทยทำพฤติกรรมแบบที่กล่าวมา
ถ้ามีการกางแผนเกี่ยวกับเก้าอี้รัฐมนตรีทั้งหมดก่อนโหวตนายกรัฐมนตรี ผมมองว่าพรรคเพื่อไทยสามารถทำได้ ควรแถลงข่าวออกมาให้ชัดเจนว่าพรรคใดได้เก้าอี้อะไรบ้าง รวมทั้งวาระของรัฐบาลชุดใหม่มีอะไรบ้าง จะเป็นสัญญาใจให้บิ๊กป้อมไม่สามารถบิดพลิ้ว แต่พรรคเพื่อไทยไม่กล้าทำ เพราะรู้ตัวเองจะกลับไปหาอีกซีกหนึ่งแต่มาหลอกใช้อีกฝั่งหนึ่ง
หากมองไปแล้วขณะนี้ทุกพรรคการเมืองอยู่ท่ามกลางความหวาดระแวง ก็อยู่ที่การต่อรองที่บิ๊กป้อมและพรรครวมไทยสร้างชาติจะพอใจไหม แต่ผมก็ยังคิดว่าทั้งพรรค 2 ลุง จะทำลายพรรคเพื่อไทยด้วย
หากโหวตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยไม่ผ่าน คงเป็นไปตามกติกาก็ต้องไหลไปพรรคอันดับ 3-4 แต่พรรคภูมิใจไทยไม่เอาอยู่แล้ว อ้างว่ามัดรวมไปซีกของพรรคเพื่อไทยไปแล้ว ก็ต้องไปอยู่ที่ พล.อ.ประวิตร ที่เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคพลังประชารัฐ
หากการเมืองวุ่นวายจนไม่สามารถโหวตนายกรัฐมนตรี และจะต้องหาคนนอกกฎหมายเขียนเอาไว้แล้ว มีความเป็นไปได้ แต่ต้องหานายกรัฐมนตรีคนนอกที่สังคมไว้เนื้อเชื่อใจ ทำความเข้าใจกับสังคมว่าเดดล็อกจริงๆ ที่จะหาทางออก เชื่อว่ากลไกทางการเมืองคงจะมีทางออกด้วยกติกาและหลักการ นอกเสียจากชนชั้นนำไม่อยากให้ออกในหลักการที่ควรจะเป็น ก็จะเลือกใช้กติกาเลือกนายกรัฐมนตรีคนนอกก็ได้เช่นกัน