พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะแกนนำรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาล หลังจากรับไม้มาจากพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ก็เดินหน้ารวมเสียงแบบเปิดเกมเร็ว ผ่านปฏิบัติการสลายขั้วทางการเมือง ลบความขัดแย้งผ่านสีเสื้อการเมืองสู่เป้าหมายการเป็นรัฐบาลพิเศษ ตามที่ “ภูมิธรรม เวชยชัย” รองหัวหน้าพรรค พท. ในฐานะหนึ่งในแกนนำคณะเจรจาจัดตั้งรัฐบาล ออกมาระบุว่า หากเห็นว่าพรรค พท.เป็นแกนนำ และสามารถแก้ปัญหาประเทศได้ ก็แสดงเจตนารมณ์ช่วยสนับสนุน ตอนนี้ไม่ทราบว่าใครจะสนับสนุนบ้าง แต่ได้หมดเลยทั้งพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) พรรค รทสช. พรรคไทยสร้างไทย (ทสท.) และพรรคเป็นธรรม (ปธ.) สามารถสนับสนุนได้หมด ให้เกิดการสลายขั้ว ลดความขัดแย้ง เกิดความสมานฉันท์ สามัคคี เพราะเป็นรัฐบาลพิเศษเอาวาระประชาชนเป็นหลัก
หากต้องไปที่พรรคและต้องเชื้อเชิญ พรรค พท.ก็ยินดีไป เพราะปรารถนาว่าการตั้งรัฐบาลหากสามารถทำได้ด้วย ส.ส.จะแก้วิกฤตได้เป็นหนึ่งทางเลือก แต่ถ้าไม่เป็นไปเช่นนี้ ก็มีทางเลือกอีกหลายทาง พรรค พท.ต้องจ่ายต้นทุนมาก หากตัดสินใจทำไปแล้วต้องจ่ายต้นทุนสูง แต่ประเทศมีทางออกก็ถือว่าคุ้มค่า ส่วนการตัดสินใจครั้งนี้จะผิดจะถูกอย่างไรอยู่ในดุลพินิจของประชาชนและพร้อมรับผลที่จะเกิดขึ้น ซึ่งการโหวตสนับสนุนแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ของพรรค พท.จะเป็นจุดเริ่มต้นของโอกาสที่จะพูดคุยกันต่อในการร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล ยืนยันว่าหากพรรคใดไม่โหวตสนับสนุน ก็ไม่ได้อยู่ในสมการการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้
จากกระแสข่าวล่าสุดมีแนวโน้มว่า พรรค พท.อาจจะเปิดดีลจัดตั้งรัฐบาลที่ 315 เสียง ประกอบด้วย พรรค พท. 141 เสียง พรรคภูมิใจไทย (ภท.) 71 เสียง พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) 10 เสียง พรรคประชาชาติ (ปช.) 9 เสียง พรรคเพื่อไทรวมพลัง (พทล.) 2 เสียง พรรคชาติพัฒนากล้า (ชพก.) 2 เสียง ส่วนพรรคเสรีรวมไทย (สร.) พรรคพลังสังคมใหม่ พรรคท้องที่ไทย พรรคละ 1 เสียง พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) แม้จะยังไม่แถลงข่าวร่วมกัน แต่ก็แสดงความชัดเจนว่าจะยกมือ 40 เสียงให้พรรค พท. รวมทั้งพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) 36 เสียง พรรคประชาธิปไตยใหม่ อีก 1 เสียง
ขณะที่เสียงสนับสนุนการจัดตั้งรัฐบาลพรรค พท.ตามกระแสข่าวจะอยู่ที่ 315 เสียง โดยมี “พรรค 2 ลุง” มาร่วมเสริมเสถียรภาพช่วยให้การทำงานของรัฐบาลมีความมั่นคงมากขึ้น เพราะมีเสียงของสภามากกว่า 300 เสียง พ้นสภาพรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำมากพอสมควร
ด่านสำคัญที่จะชี้ชะตาการนับหนึ่งจัดตั้งรัฐบาลของพรรค พท. คือ การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีของที่ประชุมรัฐสภา ตามกระแสข่าวคือ วันที่ 22 สิงหาคมนี้ ด้วยเสียงที่พรรค พท.รวบรวมได้ อยู่ที่ 315 เสียง หากไม่มีเสียง ส.ส.จากพรรคที่ยังไม่ประกาศชัดว่าโหวตสนับสนุนนายกฯของพรรค พท. หรือไม่ ทั้งพรรค ก.ก. 151 เสียง พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) 25 เสียง พรรคไทยสร้างไทย (ทสท.) 6 เสียง และพรรคขนาดหนึ่งเสียง อีก 3 เสียง มาโหวตสนับให้แบบไร้เงื่อนไข
จำต้องลุ้น ส.ว.อีกอย่างน้อย 59 เสียง มาโหวตสนับสนุน “เศรษฐา ทวีสิน” แคนดิเดตนายกฯ ให้ได้เสียงไม่ต่ำกว่ากึ่งหนึ่ง 374 เสียง ของจำนวนสมาชิกรัฐสภาที่มีอยู่ คือ (747 เสียง)
ตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 272 วรรคแรก กำหนดไว้
แม้จะมีพรรค พปชร. และพรรค รทสช. ร่วมจัดตั้งรัฐบาลด้วย ย่อมมีนัยยะส่งถึง 250 ส.ว. เนื่องจาก ทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะอดีตหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและหัวหน้าพรรค พปชร. ในฐานะอดีตรองหัวหน้า คสช. ถือเป็น 2 แกนนำ คสช. ที่มีบทบาทแต่งตั้ง 250 ส.ว. ให้เข้ามามีอำนาจร่วมโหวตเลือกนายกฯในช่วง 5 ปี ตามบทเฉพาะกาล ของรัฐธรรมนูญ 2560
แต่การจะเดินหน้าโหวตเลือกของที่ประชุมรัฐสภา การดีลเสียงทั้ง จาก ส.ส. และ ส.ว.ก่อนถึงวันโหวต ต้องอยู่ในสถานะ “ชัวร์” แบบ 100% จะเกิดรายการผิดคิว หรือ “ฮิวแมน เออเร่อ” ไม่ได้ เนื่องจากการเสนอชื่อ แคนดิเดตนายกฯของพรรค พท.ต้องมีคำตอบเดียว คือ ได้เสียงสนับสนุนครบ ผ่านเกณฑ์ไม่น้อยกว่า 374 เสียง
จากนี้ไปจนถึงวันโหวตเลือกนายกฯคนที่ 30 จึงเป็นโจทย์ใหญ่ของพรรค พท. ที่ต้องงัดทุกกลยุทธ์การเมือง ในการเดินหน้าเจรจา ปิดดีลเสียงสนับสนุนให้สำเร็จ
โดยมีอนาคตการเมืองของพรรค พท.เป็นเดิมพัน