ประวัติศาสตร์แบบ ‘วงขดลวด’

ประวัติศาสตร์แบบ‘วงขดลวด’

สถานีคิดเลขที่ 12 : ประวัติศาสตร์แบบ ‘วงขดลวด’

“…แม้ว่าวิโก จะเห็นว่าวิถีของประวัติศาสตร์ย่อมหมุนเป็นวง แต่ก็มิได้คิดว่าจะหมุนทับรอยเดิม วิโกคิดว่าประวัติศาสตร์คงจะหมุนเป็นวงขดลวดมากกว่า แม้ว่าบางยุคบางสมัยซึ่งห่างกันด้วยเวลาจะมีความละม้ายคล้ายคลึงกัน แต่ในขณะเดียวกันยุคทั้งสองก็มีความแตกต่างกันอย่างลึกซึ้ง…

“เหตุฉะนั้นวิโกจึงกล่าวว่าประวัติศาสตร์ไม่เคยซ้ำรอย และนักประวัติศาสตร์จะไม่มีวันสามารถทำนายกาลอนาคตได้เลย ในข้อนี้ทำให้วิโกแตกต่างจากนักประวัติศาสตร์กรีกและเรอแนสซองซ์ที่เห็นว่าประวัติศาสตร์ย่อมมี ‘แผนการณ์’ ใหญ่ที่แน่นอนอยู่เบื้องหลัง เมื่อนักประวัติศาสตร์รู้แผนการณ์ใหญ่นั้นได้ก็สามารถกำหนดหรือทำนายกาลอนาคตได้”

(นิธิ เอียวศรีวงศ์, หนังสือ “ประวัติศาสตร์นิพนธ์ตะวันตก”)

ADVERTISMENT

ในฐานะคนสนใจ “ประวัติศาสตร์” คำถามว่า “ประวัติศาสตร์คืออะไร?” มักผุดขึ้นในหัวผมมาตลอด

และคำตอบที่ตนเองมีต่อคำถามนี้ก็แปรผันไปตามประสบการณ์ ความคิดความอ่าน ในแต่ละห้วงเวลา-ช่วงอายุ

ADVERTISMENT

ถ้าให้ตอบคำถามดังกล่าวในวัยเด็ก “ประวัติศาสตร์” ย่อมหมายถึงอดีตกาล ซึ่งจำเพาะเจาะจงไปยังชีวประวัติของบรรดามหาบุรุษ

เมื่อโตขึ้นอีกนิด จึงเริ่มค้นพบว่ายังมีคนเล็กคนน้อย ชาวบ้านไพร่ทาส อีกมากมาย ที่ใช้ชีวิตโลดแล่นอยู่ในประวัติศาสตร์แต่ละหน้า

ทั้งยังมีปริศนาเร้นลับและประวัติศาสตร์บาดแผลอีกไม่น้อย ที่ถูกปิดซ่อนเก็บงำไว้ในอดีต

เมื่อเข้ามหาวิทยาลัย ผมจึงเริ่มตระหนักว่า “ประวัติศาสตร์” คือ “ความเปลี่ยนแปลง” หรือปฏิสัมพันธ์ที่อดีต ปัจจุบัน อนาคต มีต่อกัน ซึ่งในบางครั้ง อาจปรากฏในรูปพัฒนาการความต่อเนื่องของสิ่งเดิม แต่ในบางคราว ก็ปรากฏในรูปของความขัดแย้งแตกหักที่นำไปสู่สิ่งใหม่ๆ

ฉับพลันนั้น ผมจะหลงทึกทักไปทันทีว่า วิถีความเปลี่ยนแปลงในประวัติศาสตร์ต้องเดินเป็น “เส้นตรง” จากล้าหลังไปสู่ก้าวหน้า ตามทฤษฎีวิวัฒนาการ

ก่อนจะได้เรียนรู้เพิ่มเติมว่า สำหรับจักรวาลวิทยาแบบไทยๆ หรือในหลายสังคมแถบตะวันออก ข้ามไปถึงฝั่งอเมริกาใต้ ก็มีโลกทัศน์ที่มองว่าประวัติศาสตร์นั้นเดินเป็น “วงกลม” ที่เวียนวนมาสู่จุดเดิมซ้ำแล้วซ้ำเล่าไม่รู้จบ

แล้วก็เป็นตำราวิชาการของอาจารย์ นิธิ เอียวศรีวงศ์ (พ.ศ.2483-2566) ที่อ้างอิงไว้ข้างต้นนี่แหละ ที่ทำให้ผมได้รู้จักกับแนวคิดของ “จิออมบาติสตา วิโก (Giambattista Vico)” (ค.ศ.1668-1774) นักคิดชาวอิตาลี ที่เสนอว่า วิถีประวัติศาสตร์หมุนเป็น “วงขดลวด”

คือ คล้ายจะเวียนวนกลับมาสู่จุดเดิม ทว่า ไม่เหมือนเดิม

เมื่อแรกตื่นเต้นกับวิถีประวัติศาสตร์แบบ “วงกลม” และ “วงขดลวด” ผมยังมองมันเป็นแค่นิทานหรือเรื่องเล่าเชิงนามธรรมที่เท่ๆ ไกลตัวเรา และแปลกประหลาด (exotic) ดี

แต่พอเกิดรัฐประหาร 2549 ผมจึงรู้ซึ้งอย่างหัวเราะไม่ออกว่า ประวัติศาสตร์ของบ้านเราอาจหมุนเป็นวงกลมจริงๆ

อย่างไรก็ดี ปฏิกิริยาทางการเมืองหลังจากนั้น ทั้งผลการเลือกตั้งปี 2550 การก่อกำเนิดของ “คนเสื้อแดง” และผลการเลือกตั้งปี 2554 ได้ช่วยย้ำว่า อย่างน้อย ประวัติศาสตร์ของเรายังวนเป็น “วงขดลวด”

ต่อให้จะมีคนพยายามหมุนมันกลับไปสู่จุดเดิม แต่ผลลัพธ์ก็ออกมาไม่เหมือนเดิม

รัฐประหาร 2557 เป็นความพยายามที่มุ่งกำหนด “แผนการใหญ่” ให้ประวัติศาสตร์การเมืองไทยหมุนเป็นวงกลมอีกหน

วงกลมของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดูจะสมบูรณ์แบบกว่าของ พล.อ.สนธิ
บุญยรัตกลิน

แต่การเกิดขึ้นของพรรคอนาคตใหม่ การตื่นตัวทางการเมืองของเยาวชนในทศวรรษ 2560 และชัยชนะของพรรคก้าวไกลในการเลือกตั้ง 2566 ก็บ่งบอกว่า พล.อ.ประยุทธ์ อาจนำพาเครือข่ายอำนาจที่รายล้อมและหนุนหลังเขาอยู่ ไปสู่จุดที่สุ่มเสี่ยงกว่าเดิม

หลังเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม เราเห็นกระบวนการที่จะนำพาประเทศให้หมุนเป็นวงกลมอีกรอบ

ท่ามกลางการเกิดขึ้นของตัวแสดงใหม่ๆ รายละเอียดใหม่ๆ ขณะที่สถานภาพของตัวละครเดิมๆ กลุ่มอำนาจเดิมๆ ก็มิได้ทรงพลังเช่นเดิมอีกต่อไป

ประวัติศาสตร์การเมืองไทยกำลังจะหมุนเป็น “วงขดลวด” อีกคำรบ

ปราปต์ บุนปาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image