โฟกัสนโยบาย ‘เพื่อไทย’ ตอบโจทย์ปากท้อง-ฟื้นเศรษฐกิจ?

โฟกัสนโยบาย‘เพื่อไทย’ ตอบโจทย์ปากท้อง-ฟื้นเศรษฐกิจ?

โฟกัสนโยบาย ‘เพื่อไทย’ ตอบโจทย์ปากท้อง-ฟื้นเศรษฐกิจ?

หมายเหตุ – ความเห็นของนักวิชาการและภาคธุรกิจเกี่ยวกับนโยบายของพรรคเพื่อไทย ที่จะดำเนินการทันทีภายหลังการจัดตั้งรัฐบาลเสร็จเรียบร้อย

ธนิต โสรัตน์
รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้า
และอุตสาหกรรมไทย

Advertisement

การจัดตั้งรัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทย (พท.) ตามที่ภาคเอกชนและสำนักวิเคราะห์เศรษฐกิจต่างๆ ต่างระบุว่า หากมีการตั้งรัฐบาลได้เร็วจะเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับประเทศไทยมากขึ้น เพราะที่ผ่านมา เสถียรภาพเศรษฐกิจไทยมีปัญหาคั่งค้าง ทั้งเรื่องสภาพคล่องทั้งภาคธุรกิจ และประชาชนที่ขาดสภาพคล่องมากขึ้น ปัญหาการส่งออกที่หดตัว ปัญหาภัยแล้ง และกำลังซื้อที่ทยอยหายไป ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องรอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากรัฐบาลเข้ามาแก้ไขในหลายๆ เรื่อง เช่น ราคาน้ำมันดีเซลสูงขึ้น เพราะหมดมาตรการของรัฐบาลที่เข้ามาช่วยอุ้มราคาน้ำมัน อีกทั้งกองทุนน้ำมันยังติดลบอีกกว่าหมื่นล้านบาท ซึ่งเรื่องแบบนี้ต้องการรัฐบาลเข้ามาตัดสินใจ และเรื่องความเชื่อมั่น

ขณะนี้ในมุมมองของนักลงทุนดูไม่ค่อยจะดีนัก สะท้อนจากการชะลอการลงทุนในประเทศไทย ดังนั้น เมื่อมีความชัดเจนที่พอจะส่อเค้าว่ากำลังจะมีรัฐบาล โดยเฉพาะเริ่มเห็นตัวนายกรัฐมนตรี ถ้าเป็นนายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นนักธุรกิจที่มีความโดดเด่น ดังนั้น นักธุรกิจจึงมีความเชื่อมั่น เพราะตัวนายเศรษฐาเคยทำธุรกิจที่รับตำแหน่งผู้บริหารด้วยมูลค่าหลักแสนล้านบาทมาก่อน อีกทั้งยังวางเดิมพันด้วยชื่อเสียงที่เมื่อรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คงไม่ทำเรื่องที่ส่งผลเสียต่อตนเอง และมุ่งที่จะสร้างผลดีต่อประเทศมากกว่า

อย่างไรก็ตาม มีเรื่องที่เป็นกังวล เพราะพรรคเพื่อไทยอาจจะดึงพรรคร่วมรัฐบาลใหม่ที่ขัดต่อกระแสสังคม ส่งผลให้ภาพลักษณ์พรรคเพื่อไทยติดลบ อาจทำให้นำไปสู่การเมืองนอกสภา หรือการลงถนนประท้วงของประชาชน แม้จะยังไม่มีเค้าลางว่าจะเกิดขึ้น ฝั่งเอกชนยังคงมีความกังวลในเรื่องนี้ เพราะเกรงว่าจะเป็นชนวนเหตุที่ทำให้ประชาชนลงถนนได้ ทั้งนี้ โดยทั่วไปถ้ามีการรวมรัฐบาล สิ่งสำคัญคือการดำเนินนโยบายว่าจะเป็นอย่างไร เพราะเมื่อเป็นรัฐบาลผสมต้องมีการเจรจา และตกผลึกด้านนโยบายออกมาให้เหมาะสมกับเศรษฐกิจ และงบประมาณ ทั้งนโยบายระยะสั้นและระยะยาว

Advertisement

สำหรับเรื่องนโยบายที่พรรคเพื่อไทยออกประกาศล่าสุดนั้น หากได้เป็นรัฐบาลจะดำเนินการทันที คือ 1.ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ของประชาชน 2.แจกกระเป๋าเงินดิจิทัล (Digital Wallet) 1 หมื่นบาทต่อคน 3.ค่าไฟ ค่าน้ำมัน ลดราคาทันที และ 4.พักหนี้เกษตร 3 ปี, พักหนี้ SME 1 ปี โดยเรื่องการพักหนี้เกษตรกร เป็นเรื่องที่มองว่ามีความจำเป็น เพราะขณะนี้เกิดปัญหาภัยแล้ง และเกษตรกรได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติธรรมชาติ อีกทั้งมาตรการจากประเทศจีนที่ลดการนำเข้าสินค้า เช่น ยาง ที่มีการผลิตมากในภาคใต้ เมื่อมีการลดการส่งออกทำราคาตกลง จึงมองว่าควรเป็นนโยบายที่น่าจะทำเร่งด่วน เพื่อบรรเทาภาระของเกษตรกรไทย ขณะที่นโยบายกระเป๋าเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาทต่อคน ให้ตั้งแต่คนอายุ 16 ปีขึ้นไป เป็นนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น

นอกจากนี้ นโยบายที่รัฐบาลอยากทำและควรเตรียมอย่างเต็มที่คือราคาพลังงานที่ต้องติดตามต้นทุน เพราะมีความผันผวนมากจนทำให้ค่าไฟฟ้ามีราคาแพงขึ้นและมีความไม่แน่นอนสูง ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนทยอยกลับมาอ่อนค่า เนื่องจากตลาดมีความแปรปรวนหนัก จึงมองว่าเหล่านี้เป็นปัจจัยท้าทายของรัฐบาลใหม่

ขณะที่นโยบายที่รัฐบาลยังไม่ควรสนับสนุนคือการขึ้นอัตราค่าแรงขั้นต่ำ เพราะอาจไปเพิ่มต้นทุนให้ธุรกิจมากขึ้น และมองว่ารัฐบาลมีนโยบายลดราคาพลังงานส่วนนี้จึงเป็นปัจจัยที่ช่วยเหลือประชาชนมากกว่า อีกทั้งนโยบายที่ใช้งบประมาณสูงที่อยากให้มีการทบทวน เช่น โครงการที่ทางการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จะพัฒนาเส้นทางรถไฟทางคู่ ช่วงชุมพร-ระนอง ใช้งบประมาณโดยรวม 5 แสนล้านบาท เป็นนโยบายจากพรรคภูมิใจไทย อยากให้ชะลอตัวไปก่อน เพราะช่วงรัฐบาลรักษาการได้มีการดำเนินการสร้างโครงสร้างพื้นฐานไว้ค่อนข้างมาก จึงมองว่าการลงทุนไม่ควรทุ่มเงินทีเดียว เกรงว่าจะมีปัญหาด้านการคลัง

ขณะเดียวกัน การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ควรจะทำนั้น สนับสนุนให้สร้างโครงสร้างพื้นฐานในเรื่องรถไฟฟ้าความเร็วสูง แนะนำให้ทำในเส้นทางที่เป็นส่วนต่อจากโคราชเชื่อมต่อไปประเทศจีน เพราะโคราชเป็นเมืองอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม ต้องดูว่าประเทศไทยมีการสร้างรถไฟทางคู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องทำเป็นไฮสปีดเข้ามาเพิ่มเติม

เอกชนคาดหวังว่าจะสามารถจัดตั้งรัฐบาลแล้วเสร็จในเดือนสิงหาคมนี้ได้ และไม่อยากให้พรรคเพื่อไทยไปดึงพรรคที่ประชาชนไม่ชอบเข้าร่วมรัฐบาลจะเกิดปัญหาลงถนน และส่งผลต่อเศรษฐกิจ เพราะช่วงปลายปีเศรษฐกิจไทยแม้จะได้ประโยชน์จากภาคท่องเที่ยวที่ยังประคองเศรษฐกิจไทยได้ แต่ยังเผชิญปัญหาเรื่องการส่งออกที่หดตัวต่อเนื่อง และยังไม่ฟื้นขึ้นได้ง่าย จากการประเมินคาดว่าการส่งออกจะหดตัวที่ 2-3% ในปีนี้ ดังนั้น หากเร่งจัดตั้งรัฐบาลและเข้ามาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้เร็วจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจมากขึ้น

สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์
นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง

นโยบายของพรรคเพื่อไทย ซึ่งมีความชัดเจนในการเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลแล้ว แบ่งเป็นโจทย์ที่ต้องดำเนินการแก้ไข ได้แก่ โจทย์ระยะสั้นและโจทย์เชิงโครงสร้าง โดยในปี 2566 ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยสามารถขยายตัวได้ โดยเป็นอิสระจากการเมืองอยู่ที่ 3% แต่ก็ยังอยู่ในระดับที่ต่ำสุดในอาเซียน ซึ่งสิ่งที่พรรคเพื่อไทยกำลังจะทำอยู่หากจัดตั้งรัฐบาลได้แล้ว ถือว่าตอบโจทย์ในระยะสั้นได้ เพราะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ อาทิ การแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท อันนี้จะส่งผลให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ ในช่วงที่กว่าจะมีงบประมาณปี 2567 ออกมาได้ คาดว่าต้องรอจนถึงไตรมาส 1/2567 ทำให้เม็ดเงินที่จะแจกไปนี้ ช่วยกระตุ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ได้

หากมีการจัดตั้งรัฐบาลและเข้ามาเร่งรัดใช้งบประมาณปี 2566 ที่ยังเหลืออยู่ในส่วนของงบลงทุน เพื่อไทยจะต้องรีบเร่งการเบิกจ่ายออกมาให้เร็วที่สุด รวมถึงการเร่งทำตามมาตรการที่หาเสียงไว้ ทั้งการช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีด้วย ซึ่งส่วนนี้อาจช่วยให้เศรษฐกิจไทยปี 2566 สามารถขยายตัวได้ถึง 3.8% จากที่จะขยายตัวได้เพียง 3% ได้

เมื่อเข้ามาแล้วรัฐบาลจะสามารถกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวได้ โดยเฉพาะช่วงครึ่งหลังของปีที่จะเข้าสู่ช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว (ไฮซีซั่น) ซึ่งหวังว่าครึ่งปีหลังนี้จะมีออกมาถึง 25 ล้านคนตามเป้าหมายของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้ แต่ยังหวังว่าหากมีการออกแรงจากรัฐบาลเพิ่มขึ้นในส่วนของมาตรการสนับสนุนต่างๆ อีก อาจทำให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาถึง 27-28 ล้านคนก็ได้ ขณะเดียวกันก็ต้องทำในภาคการส่งออกควบคู่ไปด้วย เพราะปี 2566 การส่งออกอาจยังไม่ได้ดีมากนัก จึงต้องอาศัยมาตรการช่วยเหลือสนับสนุนเพิ่มเติม โดยปี 2567 รัฐบาลใหม่จะต้องรีบเร่งในการอนุมัติงบประมาณประจำปี 2567 ออกมาเบิกจ่ายให้เร็วที่สุด แม้ตอนนี้คาดว่าจะต้องรอจนถึงไตรมาส 2/2567 ก็ตาม

โจทย์หินที่สุด ซึ่งที่ผ่านมายังไม่มีรัฐบาลใดสามารถแก้โจทย์ได้ แต่พรรคเพื่อไทยมีนโยบายจะดำเนินการได้ คือ การเน้นเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ที่เพิ่มไอที เทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาพัฒนาเศรษฐกิจไทย ซึ่งในเชิงนามธรรมของแนวนโยบายถือว่าถูกต้อง เพราะเศรษฐกิจในอนาคตจะต้องใช้เทคโนโลยีใหม่เข้ามาปรับใช้มากขึ้น โดยสิ่งที่ต้องทำคือ พัฒนาเทคโนโลยีระดับกลางเข้ามาใช้ ยังไม่ต้องถึงกับระดับสูงด้วย เพราะเราทำไม่ได้ ใช้เทคโนโลยีระดับกลางพัฒนา 2 เรื่อง ได้แก่ 1.กิจกรรมหลัก ที่เราอาจเสียเปรียบเพราะต้องมีคนที่เก่งไอทีเข้ามาช่วยพัฒนา แต่ก็ทำได้ หากรัฐบาลสนับสนุนเอสเอ็มอีมากขึ้น อาทิ การใช้ปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) เพิ่มคุณภาพให้กับจุดแข็งของไทย อย่างอาหารให้มีนวัตกรรมใหม่มากขึ้น และ 2.การท่องเที่ยวไทยและสุขภาพที่เป็นจุดแข็งมากที่สุด หากสามารถนำเอไอเข้ามาพัฒนาการท่องเที่ยวตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ทั้งการยกระดับเมืองรองขึ้นมา จัดกิจกรรมต่างๆ จะช่วยกระตุ้นเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยมากขึ้นได้

โจทย์เหล่านี้ ถือเป็นโจทย์ที่หินมาก แต่แนวนโยบายของพรรคเพื่อไทยมีการพูดถึงเรื่องเหล่านี้ จึงอยากเห็นว่าจะมีการแปลงโจทย์นามธรรมเหล่านี้ออกมาให้เป็นรูปธรรมได้อย่างไรบ้าง โดยเฉพาะการแก้โจทย์หินสุดๆ ที่อยากเห็น แต่พรรคเพื่อไทยไม่ได้พูดไว้ว่าจะทำคือ การแก้ไขปัญหาในด้านการศึกษา ต้องกล้าปฏิวัติระบบการศึกษา ไม่ใช่เป็นการศึกษาที่พึ่งพาเพียงกระทรวงการศึกษาไว้อย่างเดียวเท่านั้น เพราะเป็นแบบเก่า จะต้องมีการพัฒนาใหม่ อาทิ การโรงเรียนทั่วไปมีความอิสระสามารถจัดรูปแบบและพัฒนาหลักสูตรที่เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่แต่ละจังหวัดได้ ฝึกฝนการอ่านเขียนทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เพื่อให้เกิดการพัฒนาขีดความสามารถในการศึกษาและการแข่งขันระหว่างประเทศได้

สิ่งที่อยากเตือน คือ แนวนโยบายที่จะดำเนินการ ยังต้องเจอปัญหาในเรื่องเสถียรภาพของงบประมาณที่หนี้สาธารณะไทยอยู่กว่า 63% แล้ว แม้มีการขยับเพดานหนี้ไปถึง 70% แต่ก็เป็นการเพิ่มในช่วงโควิด-19 เท่านั้น

สิ่งที่ร้ายกว่านั้นคือ งบประมาณที่เป็นงบลงทุนมีเหลือเพียง 20% เท่านั้นจึงมีความจำกัดมากๆ ทำให้เป็นห่วงว่า การกระตุ้นเศรษฐกิจของเพื่อไทย จะต้องทำให้เกิดดุลยภาพ ต้องไม่เพิ่มภาระที่เกี่ยวข้องกับงบประมาณ เพราะหากงบเพิ่มมากขึ้น ทางออกอาจเป็นการกู้หนี้เพิ่มอีก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image