หมายเหตุ – ความเห็นและข้อเสนอนักวิชาการเกี่ยวกับนโยบายด้านแรงงาน การศึกษา และสตรี ที่พรรคเพื่อไทยในฐานะแกนนำจัดตั้งรัฐบาลจะต้องดำเนินการภายหลังจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ
มนัส โกศล
ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย
สิ่งที่อยากขอให้รัฐบาลชุดใหม่ดำเนินการเร่งด่วนในส่วนของภาคแรงงาน คือ 1.การปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกันสังคม ในส่วนของสิทธิประโยชน์กองทุนบำนาญชราภาพ โดยแก้ไขให้ผู้ประกันตนที่อายุไม่ถึง 55 ปี และออกจากงานแล้ว สามารถเลือกได้ว่าจะรับเงินบำเหน็จหรือเงินบำนาญตามสัดส่วนของเงินที่ได้เคยส่งเข้ากองทุน 2.การส่งเงินเข้ากองทุนประกันสังคม มาตรา 40 ที่ผู้ประกันตนต้องเลือกทางเลือกที่ 1, 2 และ 3 และรัฐบาลจ่ายสมทบให้จำนวนหนึ่งนั้น ขอให้ผู้ประกันตนสามารถเลือกโรงพยาบาลได้โดยไม่ต้องไปใช้สิทธิบัตรทอง อีกทั้งให้เพิ่มเงินทดแทนการขาดรายได้ 3.การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ขอให้ทำทันทีโดยพิจารณาตามอัตราเงินเฟ้อ ณ ปัจจุบัน โดยไม่ต้องรอให้ถึงรอบปี 4.การดูแลลูกจ้างเหมาบริการหน่วยงานภาครัฐที่มีอยู่ประมาณ 5 แสนคน ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานบรรจุเข้าเป็นพนักงานราชการ เพื่อให้ได้สิทธิสวัสดิการต่างๆ เพราะปัจจุบันคนกลุ่มนี้เมื่ออายุถึง 60 ปี เกษียณแล้วไม่ได้อะไรเลย ส่วนลูกจ้างเหมาจ่ายในภาคเอกชน ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปเข้มงวดกับนายจ้างเกี่ยวกับการจ่ายค่าตอบแทนและสวัสดิการต่างๆ ไม่ให้ลูกจ้างเสียเปรียบ และ 5.กรณีการว่างงาน ที่คาดว่าจะมีเพิ่มขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำ ขอให้รัฐบาลเร่งจัดหาตำแหน่งงานว่าง และจัดฝึกอาชีพให้กับประชาชนให้หลากหลาย เพื่อรองรับปัญหาคนตกงานในอนาคต เนื่องจากบางโรงงานมีการนำระบบ AI เข้าไปทดแทน
ไม่ว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานจะเป็นคนเดิม หรือคนใหม่ ขอให้เร่งทำทันที หากเป็นรัฐมนตรีคนใหม่ ก็ขอให้สานต่องานเดิมที่นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานคนปัจจุบันได้ริเริ่มไว้ เพราะท่านเป็นคนแรกที่เข้าถึง และเข้าใจปัญหาของผู้ใช้แรงงานดีจนสามารถแก้ไขปัญหาหลายเรื่องได้
วสันต์ มหิงษา
รองประธานบริหารสภาองค์การลูกจ้างแรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย
ในฐานะผู้นำแรงงาน ผ่านรัฐมนตรีมาหลายคน ตั้งแต่สมัยที่กระทรวงแรงงานแยกออกมาจากกระทรวงมหาดไทย อยากได้รัฐมนตรีที่ให้ความสำคัญและเข้าใจปัญหาของแรงงานมากที่สุด เพื่อให้ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้แรงงาน ถ้าต้องมีรัฐบาลชุดใหม่ ไม่ว่าจะมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานคนเดิม หรือคนใหม่ อยากให้มาสานต่อสิ่งที่เคยทำดีๆ ไว้ ส่วนนโยบายที่ยังค้างคาอยู่ในสมัยของนายสุชาติ ก็อยากให้มาดำเนินการต่อ เช่น พ.ร.บ.ประกันสังคม 3 ข้อ และการต่อยอดโครงการสินเชื่อเพื่อผู้ประกันตน ที่ร่วมกับธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และกระทรวงการคลัง ลดอัตราดอกเบี้ยเหลือร้อยละ 1.99 ตลอดสัญญา 5 ปี เดิมให้วงเงินรายละไม่เกิน 2 ล้านบาท อาจจะขยายวงเงินมากกว่า 2 ล้านบาท หรือการกำหนดอัตราดอกเบี้ย MRR ให้เหมาะสมกับผู้ประกันตน
แต่ถ้าเลือกได้ เราอยากขอให้นายสุชาติ กลับมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพราะยังมีอีก 3-4 ประเด็น ที่นายสุชาติได้ขับเคลื่อนไว้ สำหรับสิ่งที่อยากให้เกิดเป็นนโยบายของกระทรวงแรงงาน คือ การสร้างโรงพยาบาล (รพ.) ประกันสังคม เพื่อผู้ประกันตน ซึ่งเรามองถึงเรื่องการสร้างบุคลากรทางการแพทย์และการสาธารณสุขที่เป็นลูกหลานของผู้ใช้แรงงานด้วยกัน เช่น การให้ทุนเรียนแพทย์ หรือการทำความตกลงกับสถาบันการศึกษาที่มีนักศึกษาแพทย์ โดยให้ทุนจากประกันสังคมได้เข้าไปเรียน และเมื่อเรียนจบให้กลับมาอยู่ใน รพ.ประกันสังคม โดยอาจจะเริ่มในภูมิภาคที่มีผู้ใช้แรงงานสูงก่อน รวมถึงการมีธนาคารแรงงาน เพื่อให้ผู้ใช้แรงงานได้ใช้บริการ มีสิทธิการเข้าถึงธุรกรรมทางการเงินได้มากขึ้น เช่น การกู้ซื้อบ้าน ซื้อรถ ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ
และสุดท้าย อยากให้มีกฎหมายบังคับให้สถานประกอบการต้องมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้พนักงาน อาจจะเริ่มในอัตราที่ต่ำตามลำดับไปตามความเหมาะสมเช่น ลูกจ้าง ร้อยละ 7 นายจ้างสมทบ ร้อยละ 7 เพื่อให้มีความมั่นคงในวัยเกษียณ นี่คือสิ่งที่อยากเห็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เข้ามาดูแลในเรื่องนี้
จะเด็จ เชาวน์วิไล
ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล
ที่ผ่านมาเมื่อพูดถึงเรื่องการจัดตั้งรัฐบาล ปัญหาทางสังคมเกี่ยวกับผู้หญิง และเด็ก จะมีการพูดถึงเรื่องนี้น้อยมาก รัฐบาลควรจะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ให้มากกว่านี้ สิ่งที่สำคัญในการจัดตั้งรัฐบาล หากยึดถือเรื่องของประชาชนเป็นหลัก ควรจะเน้นปัญหาทางสังคมที่เห็นอย่างชัดเจน อาทิ ปัญหาความรุนแรงต่อเด็กและผู้หญิง ทุกวันนี้เกือบทุกวันจะเห็นข่าวทำร้ายร่างกาย หรือฆาตกรรม และรัฐบาลมีการพูดถึงเรื่องเหล่านี้น้อยมาก
การจัดตั้งรัฐบาลในครั้งนี้ ผลพวงของปัญหากองสุมอยู่ที่ประชาชนค่อนข้างเยอะ โดยเฉพาะปัญหาทางสังคมที่เกี่ยวโยงกับปัญหาทางเศรษฐกิจ เป็นผลของปัญหาที่มาจากความเหลื่อมล้ำ ความไม่เท่าเทียมกันทางสังคม หรือความไม่เท่าเทียมทางเพศ เนื่องจากรัฐบาลที่ผ่านมาให้ความสำคัญกับเรื่องนี้น้อยมาก ทั้งหมดเป็นปัญหาที่แก้ไม่ได้ตลอดระยะเวลา 9 ปี และปัญหามีแต่จะทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นรัฐมนตรีประจำกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ควรจะต้องเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ มีความรู้เรื่องประเด็นทางสังคมมาดำรงตำแหน่ง และไม่ใช่เพียงกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ที่จะต้องแก้ไขเรื่องนี้เพียงลำพังเท่านั้น กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงยุติธรรม ไปจนถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ต้องร่วมมือแก้ปัญหาเหล่านี้ โดยมีการบูรณาการและเชื่อมโยงกันเพราะเรื่องความรุนแรงนั้น รากฐานเกิดจากระบบชายเป็นใหญ่ และหน่วยงานรัฐควรจะละทิ้งทัศนคติที่ว่าความรุนแรงเป็นเรื่องส่วนตัว
เรื่องที่อยากให้รัฐบาลใหม่เร่งแก้ไข คือ แก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงภายในครอบครัว ควรจะเน้นให้ผู้หญิงได้รับความคุ้มครอง หรือปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่นำมาซึ่งผลกระทบ เป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดความรุนแรง ซึ่งปัญหาความรุนแรงในครอบครัวเกิดจากความไม่เท่าเทียมทางเพศ หรือโครงสร้างชายเป็นใหญ่ ซึ่งเรื่องสำคัญที่สุดที่ควรจะแก้ไขได้ในระยะยาวคือ การปรับเปลี่ยนทัศนคติของคนในสังคมให้ความคิดแบบชายเป็นใหญ่ลดลง
และตลอดระยะเวลา 9 ปีที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาไม่มีการปรับปรุงหลักสูตร โดยจะต้องเพิ่มเติมหลักสูตรเหล่านี้เพื่อปรับทัศนคติ ให้คนรุ่นใหม่เข้าใจเรื่องความเท่าเทียม และเคารพศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ถัดมา เรื่องการควบคุมสื่อ เนื่องจากปัจจุบันในแพลตฟอร์มต่างๆ มีภาพของการกดทับผู้หญิงเต็มไปหมด นำเสนอภาพผู้หญิงที่เป็นเพียงวัตถุทางเพศ แม้กระทั่งรายการโชว์ที่มีการคุกคามแขกรับเชิญหญิง ซึ่งในส่วนนี้อยากให้มีการควบคุมอย่างจริงจัง และมีการเพิ่มสื่อที่มีความสร้างสรรค์ แสดงให้เห็นว่าผู้หญิงมีความสำคัญต่อสังคมนี้มากไม่ต่างกัน
หรืออีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดความรุนแรง คือ แอลกอฮอล์ จะเห็นได้ว่าปัจจัยกระตุ้นส่วนใหญ่มาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และยาเสพติด รัฐบาลควรจะจัดการกับปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เหล่านี้มากขึ้น หรือควบคุมให้จริงจังเพื่อไม่ให้เป็นปัจจัยกระตุ้นที่นำมาสู่ความรุนแรงในครอบครัว รัฐบาลควรจะมีนโยบายควบคุม ไม่ใช่การสนับสนุนให้มีมากยิ่งขึ้นจนทำให้เกิดเป็นปัญหา
เรื่องถัดมา คือ รัฐบาลควรจะแสดงให้เห็นว่าจะแก้ปัญหาเรื่องความไม่เท่าเทียมระหว่างหญิง ชาย หรือเพศสภาพอื่นๆ อย่างไร รัฐบาลควรจะยึดถือให้เป็นนโยบายที่สำคัญ และในส่วนของเรื่องสมรสเท่าเทียม รัฐบาลหลายพรรคมีการพูดถึงอยู่แล้ว โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยเป็นหลัก ซึ่งดีแล้วหากจะรีบลงมือทำ แต่นอกเหนือจากเรื่องสมรสเท่าเทียม ควรจะมีเรื่องอื่นๆ ด้วยที่นำมาสู่ปัญหาที่เกิดขึ้นกับเด็ก และผู้หญิง ทุกวันนี้เรื่องทำแท้งก็มีปัญหามาก เมื่อผู้หญิงต้องการจะทำแท้งก็ทำไม่ได้ แม้จะมีกฎหมายออกมาแล้วก็ตามว่าสามารถทำแท้งได้อายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ แต่น่าแปลกที่ทุกวันนี้ยังไม่สามารถทำได้ โรงพยาบาลหลายแห่งไม่ปฏิบัติตาม
ในส่วนของประเด็นสมรสเท่าเทียม จากสถานการณ์ทางการเมืองที่มีการพลิกไปพลิกมา อาจจะส่งผลให้กฎหมายสมรสเท่าเทียมไม่ถูกผลักดันต่อ โดยส่วนตัวมองว่า ในประเด็นดังกล่าวมีพรรคการเมืองหลายพรรคที่ให้ความสำคัญมาก พรรคการเมืองใดที่ให้สัญญาไว้ก็ต้องทำตามสัญญา อย่าสัญญาแบบเล่นๆ ส่วนตัวเชื่อว่า หากเครือข่ายหลายๆ เครือข่ายติดตามอยู่คงจะต้องกดดัน และมีการผลักดันอย่างต่อเนื่อง และทางภาคเอกชนคงไม่ปล่อยแน่นอน
นอกจากความเท่าเทียมที่สำคัญแล้ว อีกหนึ่งเรื่องคือ สวัสดิการ ที่ควรจะมีนโยบายอย่างชัดเจนที่ส่งเสริมสวัสดิการต่างๆ โดยเฉพาะสวัสดิการครอบครัว และผู้หญิง เช่น เรื่องสิทธิในการลาคลอดที่เพิ่มขึ้น เป็นต้น ไปจนถึงสวัสดิการเลี้ยงเด็ก แม้กระทั่งเงินสำหรับเด็กเล็กเบี้ยคนชรา ล่าสุดจะมีการตัดเงินผู้สูงอายุเกิดขึ้น ส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องที่รัฐบาลไม่ควรจะทำอย่างยิ่ง โดยเฉพาะกับรัฐบาลใหม่ที่ควรจะประกาศว่าไม่เห็นด้วย และต้องยกเลิกเรื่องนี้
สุดท้ายแล้วรัฐบาลควรจะให้ความสำคัญเรื่องความเท่าเทียม ไม่ว่าจะเป็นเพศสภาพไหนๆ ในส่วนของผู้หญิงก็ควรที่จะมีเวทีให้ผู้หญิงได้แสดงบทบาท มีการรวมกลุ่ม และแสดงศักยภาพของตนเองให้มากกว่านี้
สมพงษ์ จิตระดับ
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิภาคประชาสังคม กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
ปัญหาสำคัญและเร่งด่วนด้านการศึกษา ที่รัฐบาลใหม่จะต้องเร่งแก้ไข คือ 1.นโยบายการปฏิรูปการศึกษา เพราะความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเริ่มกลับมารุนแรง และหนักหน่วงมากยิ่งขึ้น ซึ่งระบบการศึกษาในนิยามใหม่เปลี่ยนไปแล้ว ถ้ายังไม่ปฏิรูปการศึกษา และประคับประคองระบบการศึกษาแบบเดิม การศึกษาไทยจะไม่มีทางดีขึ้นได้ 2.หลักสูตรฐานสมรรถนะ ที่หยุดชะงักไปและไม่ได้ดำเนินในรัฐบาลชุดที่แล้ว 3.การแก้ปัญหาหนี้สินครู ที่ไม่ได้รับการตอบสนอง 4.บทบาทของครูที่มีภาระอื่นมากจนเกินไป ไม่ว่าจะในส่วนของเอกสาร และงานที่ไม่มีความเกี่ยวข้อง การเฝ้าเวร การขอวิทยฐานะ เรื่องนี้เป็นปัญหาคาราคาซังจนถึงปัจจุบันนี้ และไม่มีใครแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง และ 5.เรื่องทรัพยากร และงบประมาณ หากไม่ปฏิรูปการศึกษา ก็อาจโงหัวขึ้นยาก สิ่งนี้คือสารตั้งต้นสำคัญของการปฏิรูปการศึกษา
ผู้ที่จะมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่มีกระแสข่าวว่าพรรคเพื่อไทย (พท.) จะเสนอชื่อนพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้า พท. ขณะที่พรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) จะขอตำแหน่งนี้ให้ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการ ศธ.คนปัจจุบันนั้น ดูแล้วก็เป็นไปได้ยากทั้ง 2 ตัวเลือก ที่เป็นแบบนั้นเพราะมองไม่เห็นอนาคตของการเปลี่ยนแปลง หรือแม้กระทั่งการปฏิรูปการศึกษามากนัก เช่น นพ.ชลน่าน ด้วยความที่เป็นนักการเมือง และไม่ใช่นักการศึกษา
อีกทั้งหลักการของคนที่จะมาดูแล ศธ.เรื่องความซื่อสัตย์สำคัญอย่างมาก การตระบัดสัตย์ หรือพูดแบบนักการเมือง อาจจะมีปัญหา ดูเป็นการเสนอภาพลักษณ์กับเด็กว่า ผู้ใหญ่พูดแล้วไม่รักษาคำพูด แล้วมาดูแล ศธ.หาก นพ.ชลน่านจะมาดูแล ศธ.จริง ก็ควรจะลาออกจากหัวหน้าพรรคก่อน ต้องรักษาคำพูดตัวเองก่อน และต้องนำนโยบายที่ พท.หาเสียง ได้แก่ 1.ส่งเสริมการเรียนรู้ผ่านขั้นตอน หรือ Learn to Earn 2.นโยบายแจกแท็บเล็ต และ 3.โครงการ 1 ทุน 1 อำเภอ นำมาปรับให้เข้ากับนโยบายที่จะนำไปใช้กับ ศธ.
ส่วน น.ส.ตรีนุชจะเป็นสายที่เข้ามาประคับประคองระบบราชการมากกว่า อาจจะเข้ามาสานต่องานเดิมที่ทำไว้แล้ว ซึ่งรู้แล้วว่า 2-3 ปีที่ผ่านมา การศึกษาไม่ได้ดีขึ้นเลย นโยบายสำคัญๆ หลายเรื่องถูกท้าทาย และไม่ประสบความสำเร็จ เช่น พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ก็ถูกพับไปในรัฐบาลชุดนี้ และช่วงที่ น.ส.ตรีนุชเป็นรัฐมนตรีว่าการ ศธ.ก็ไม่ได้มีอำนาจจริง อำนาจกลับไปเชื่อมโยงเพียงแค่ตัวของนายกรัฐมนตรี และระบบราชการมากกว่า แต่เป็นคนดีที่พยายามจะเข้าใจเด็กและครู แต่อำนาจการตัดสินใจกลับไม่ดีเท่าที่ควรหากจะให้ น.ส.ตรีนุชกลับมาเป็นรัฐมนตรีว่าการ ศธ.ต่อ
สำหรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นกระทรวงที่มีความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องของการเปลี่ยนแปลงการพัฒนาประเทศ ทั้งผลิตภัณฑ์ งานวิจัย และนวัตกรรม แต่กลับกลายเป็นว่ากระทรวงนี้ นักการเมืองมองข้ามคุณสมบัติของคนที่จะเข้ามาดูแล อว. คืออาจต้องเป็นนักวิชาการที่ลงเล่นการเมือง มีแนวความคิดเกี่ยวกับเรื่องการปฏิรูปการอุดมศึกษาอย่างจริงจัง ต้องมีการปฏิรูปโดยเฉพาะในเรื่องของงานวิจัย ที่ต้องยุติธรรม และต้องประสานงานวิจัย งานวิชาการ และงานนวัตกรรม ที่เชื่อมโยงกับภาคเอกชน ทั้งราชการและมหาวิทยาลัย
หากดูที่ตัวของรัฐมนตรี อว.คนปัจจุบันอย่างนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ ก็ไม่เหมาะสม เพราะเป็นคนที่ทิ้งประวัติศาสตร์ และไม่เชื่อในเรื่องพลังของนิสิตนักศึกษา ซึ่งเป็นคุณสมบัติอีกหนึ่งข้อของคนที่จะมาเป็นรัฐมนตรี อว.คือนิสิตนักศึกษาต้องเชื่อมั่นในตัวของรัฐมนตรีว่าการ อว.ด้วยความที่โลกของคนยุคใหม่ และโลกของนิสิตนักศึกษา ที่มีมุมมองที่ต้องการความเปลี่ยนแปลง และต้องฟังเสียงของพลังนิสิตนักศึกษา