รื้อเกณฑ์เบี้ยคนชรา ต้องพิสูจน์ความจน

หมายเหตุ – ความเห็นนักวิชาการกรณีที่กระทรวงมหาดไทยออกระเบียบวิธีการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ โดยกำหนดว่าเป็นผู้ไม่มีรายได้หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพ ตามที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ตามกฎหมายว่าด้วยผู้สูงอายุกำหนด ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 12 สิงหาคม 2566

ธเนศวร์ เจริญเมือง
อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ ม.เชียงใหม่

ผู้สูงอายุในประเทศมี 3 ประเภท คือ 1.ผู้สูงอายุที่เป็นชนชั้นแรงงาน 2.คนที่มีฐานะร่ำรวย และ 3.ข้าราชการ ประเภทที่ 2 และ 3 ไม่เดือดร้อนเพราะมีรายได้อยู่แล้ว แต่ชนชั้นแรงงานเป็นกลุ่มที่ไม่มีรายได้เมื่อแก่ชราก็ต้องพึ่งพาลูกหลาน หรือญาติพี่น้อง แต่ถ้าไม่มีลูกหลานก็ต้องอดมื้อกินมื้อ ประเด็นแรกที่อยากแสดงความคิดเห็น คือ สังคมไทยคนจนส่วนใหญ่มีรายได้น้อย ขาดการดูแลมาเป็นเวลานาน การให้คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติมากำหนดกฎเกณฑ์ไม่ควรทำ รัฐบาลควรเป็นผู้กำหนดนโยบายลงเลย เช่น กรณีผู้สูงอายุที่เป็นข้าราชการบำนาญ ไม่ควรได้รับ เพราะได้เบี้ยบำนาญไปแล้ว

Advertisement

การกำหนดกฎเกณฑ์และเงื่อนไขการจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุโดยคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติเพราะเกรงว่าจะจ่ายเงินซ้ำซ้อน ไม่น่ามีปัญหาจ่ายเงินซ้ำซ้อนกันมากมาย ไม่เหมือนรัฐมนตรีหรือข้าราชการ ที่ได้รับเบี้ยประชุมและเบี้ยต่างๆ ซ้ำซ้อน ดังนั้น การจ่ายเงินเบี้ยผู้สูงอายุควรเกิดจากนโยบายของรัฐบาลโดยตรง ไม่ควรให้คณะกรรมการเป็นผู้กำหนดและรัฐบาลต้องเน้นช่วยเหลือคนทุกข์ยากเป็นพิเศษ ไม่ควรสร้างเงื่อนไข จนคนทุกข์ยากจริงๆ ไม่สามารถเข้าถึงการช่วยเหลือได้

รัฐบาลรักษาการชุดนี้ไม่ควรตัดสินใจอะไรที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชน เพราะรู้อยู่แล้วว่าเป็นรัฐบาลรักษาการ สิ่งเดิมที่มีอยู่แล้วคงดำเนินต่อไป รอให้รัฐบาลชุดใหม่เข้ามาตัดสินใจ และหลักการที่ถูกต้องควรจ่ายให้กับผู้สูงอายุทุกคน แต่หากจะปรับเปลี่ยนหรือแก้ไขอะไร ก็ควรรอให้รัฐบาลชุดใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งเข้ามาตัดสินใจ ทำไมถึงมาตัดสินใจในเวลานี้

ก่อนการเลือกตั้ง กติกาอะไรที่ไม่ถูกต้องไม่ควรจะแก้ ควรยกให้รัฐบาลชุดต่อไปเข้ามาพิจารณา รัฐบาลชุดเก่าไม่ควรวางระเบิดทิ้งไว้ให้รัฐบาลชุดใหม่เข้ามาแก้ไข แม้มองว่าคิดดีแล้ว แต่สิ่งที่ออกมามีคนไม่เห็นด้วยจำนวนมาก

Advertisement

รัฐบาลรักษาการชุดนี้อาจรู้สึกว่ากู้เงินไปเยอะแล้ว จนประเทศมีหนี้จึงพยายามลดค่าใช้จ่าย ลดส่วนไหนได้ก็ควรลด และคนจนส่วนใหญ่ในประเทศไม่มีเสียงจึงมาโฟกัสจุดนี้ แต่สังเกตว่ารัฐบาลไม่เคยพูดถึงเรื่องงบประมาณการจัดซื้อเรือดำน้ำ หรืองบจัดซื้ออาวุธเลยทั้งที่ใช้งบประมาณมหาศาล แต่เรื่องที่เกี่ยวพันกับคนจนส่วนใหญ่ ที่เสียงไม่ดัง ไม่มีใครพูดถึง กลับถูกพูดถึงและตัดสินแบบนี้ แปลความหมายได้ว่ารัฐบาลไม่เคยสนใจฟังเสียงประชาชน ฉะนั้นประเด็นนี้จึงอยากเรียกร้องให้ฟังรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งชุดใหม่ ไม่ใช่รัฐบาลชุดเก่า

ระหว่างรัฐสวัสดิการกับการสังคมสงเคราะห์ ทิศทางควรเป็นอย่างไร สังคมสงเคราะห์เป็นนโยบายเฉพาะหน้าเพื่อการหาเสียง รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งมักจะคิดทำเรื่องสังคมสงเคราะห์เพื่อหาคะแนน ในขณะที่รัฐบาลที่มาจากฝั่งอำนาจนิยมเมื่ออยู่ในวาระนานๆ มักกลัวถูกตำหนิ คะแนนนิยมลดลง ก็จะคิดนโยบายบางอย่างออกมาเพื่อให้ประชาชนมีความสุขชั่วคราว จึงกลายเป็นนโยบายสังคมสงเคราะห์ แต่รัฐสวัสดิการเป็นทิศทางในอนาคตข้างหน้า เพราะประเทศไทยมีการเลือกตั้งทุกๆ 4 ปี จึงต้องมาถกเถียงกันว่าเราควรจะจัดรัฐสวัสดิการแบบไหนให้ประชาชน

เรื่องนี้เกี่ยวพันกับเศรษฐกิจของประเทศด้วย ถ้ามัวแต่เกี่ยงกันหรือรัฐบาลยังขาดเสถียรภาพ เศรษฐกิจประเทศจะดีได้อย่างไร จะหาเงินจากไหนมาพัฒนาประเทศชาติ และทำรัฐสวัสดิการให้ประชาชน ทางออกของรัฐบาลที่ผ่านมาจึงแก้ปัญหาโดยการออกนโยบายสังคมสงเคราะห์เพราะใช้งบประมาณน้อยกว่ารัฐสวัสดิการ

ทีปกร จิร์ฐิติกุลชัย
อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

เรื่องเบี้ยคนชราที่กำลังเป็นประเด็นอยู่ในขณะนี้ที่จะมีการปรับลดจำนวนผู้มีสิทธิ์ และเพิ่มเงื่อนไขในการรับเงินดังกล่าว โดยส่วนตัวไม่เห็นด้วย ทิศทางที่ควรจะเดินมุ่งไป ข้อเสนอมากมายจากนักเศรษฐศาสตร์ทั้งในและต่างประเทศ แม้กระทั่งองค์กรระหว่างประเทศอย่างธนาคารโลก หรือ UN ต่างชี้ให้เห็นว่าเราควรจะทำให้สังคมนั้นเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้น สวัสดิการเพื่อคุ้มครองผู้คนทั้งสังคม ควรที่จะขยายมากยิ่งขึ้น โดยในปัจจุบันมีการกล่าวถึงประเด็นเรื่องความเหลื่อมล้ำอย่างมาก ทว่านโยบายเรื่องเบี้ยคนชราที่ออกมามีการจะปรับ ลด งบสวัสดิการ เป็นการแสดงให้เห็นว่าสังคมไทยกำลังเดินถอยหลังจากเรื่องที่พึงกระทำ

หากมองเหตุผลในทางเศรษฐศาสตร์ การจ่ายเบี้ยคนชราเป็นสิ่งที่ควรทำ และเป็นเรื่องของสามัญสำนึกในสังคมว่าต้องการให้สังคมปรองดอง และลดความเหลื่อมล้ำ แต่ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในทางการเมืองทุกคนคงจะเห็นสภาพอยู่ นักการเมืองคงจะไม่ต้องการให้เกิดความเปลี่ยนแปลงเพราะอาจจะกระทบกับผลประโยชน์ของคนกลุ่มน้อย ซึ่งโดยหลักการพื้นฐาน ข้อเสนอเรื่องบำนาญที่พรรคการเมืองหยิบยกมาเป็นนโยบายในช่วงหาเสียง ที่เสนอจะเพิ่มให้ 2,000 บาท หรือบางพรรคหาเสียงไปถึง 4,000 – 5,000 บาท คำถามคือจะนำเงินมาจากไหน ถ้าหากปัจจุบันนี้ประเทศไม่ทำอะไรเลย ไม่มีการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้าง สังคมยังคงเหลื่อมล้ำ มีการกดขี่ ขูดรีดแรงงาน และปล่อยให้กลุ่มนายทุนที่อยู่บนยอดพีระมิดเอาเปรียบคนไทยทั้งประเทศต่อไป คำตอบที่มักได้ยินคือไม่มีงบประมาณ แต่ถ้าหากทำตามหลักการวิชาการทางเศรษฐศาสตร์ คือใช้เครื่องมือทางการคลังมาทำให้มีความเป็นธรรมมากขึ้น เก็บภาษีแบบก้าวหน้า และปฏิรูปเรื่องงบประมาณ ก็จะมีเงินมาลงทุนกับคุณภาพชีวิตมนุษย์  งานวิจัยแสดงให้เห็นว่าต่อให้เบี้ยผู้สูงอายุ 3,000 บาท ในระยะยาวก็ยังน้อยกว่างบประมาณของบำนาญข้าราชการที่ ณ ตอนนี้มีการตั้งข้อสังเกตว่ามีแต่จะพุ่งสูงขึ้นอย่างน่ากังวล ในเมื่อต้องหารายได้เพื่อจ่ายบำนาญข้าราชการก็ควรที่จะปฏิบัติตามข้อเสนอทางเศรษฐศาสตร์ที่มีมากมาย และทำให้สังคมมีความเสมอภาคมากยิ่งขึ้น ย้อนกลับไปถึงคำถามที่ว่า เพราะอะไรถึงเกิดเป็นปัญหาการเดินถอยหลังเรื่องระบบคุ้มครองความยากจนผู้สูงอายุ คำตอบคือ พรรคการเมืองไม่อยากแตะต้องกลุ่มทุน กับกลุ่มโครงสร้างที่เป็นอยู่ที่กำลังครอบคลุมไปในทุกอาณาจักรของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นพลังงาน ค้าปลีก ค้าส่ง โทรคมนาคม แม้กระทั่ง PM2.5 เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องเดียวกันหมด ซึ่งอยู่ที่ศูนย์กลางของการบริหารประเทศ โดยปัจจุบันปัญหาเกิดจากการยึดอำนาจ ยึดทรัพยากรต่างๆ แต่ไม่มีการกระจายกลับคืนมาให้กับสังคมอย่างเป็นธรรม

ในส่วนทางออกของปัญหาในเรื่องเบี้ยคนชรา สิ่งที่พึงทำตอนนี้คือ ทั้งสังคมต้องมีการเรียกร้องให้มากพอเท่านั้น เพราะการเลือกตั้งที่ผ่านมา แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าพรรคที่ได้คะแนนเสียงเลือกตั้งเป็นอันดับหนึ่งยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ยิ่งไปกว่านั้นคือยังไม่เห็นความชัดเจนว่าใครจะเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล แต่ถึงอย่างนั้นสังคมเห็นทิศทางแล้วว่าพรรคที่ได้เสียงข้างมาก สะท้อนผ่านประชาชนในประเทศถึงแนวโน้มความต้องการที่เรียกร้องผ่านนโยบายเลือกตั้งว่าต้องการอะไร แต่กลไกที่สืบทอดมาจากเผด็จการทหารในการทำรัฐประหาร เป็นการยึดอำนาจในการจัดสรรทรัพยากรกลับคืนไป ทำให้ขณะนี้จัดตั้งรัฐบาลยาก หรือจัดตั้งไม่ได้

สิ่งที่ทำได้คือขับเคลื่อนด้วยการด่า สังคมต้องช่วยกันออกเสียง ฟังเสียงคนให้หลากหลาย คนที่เดือดร้อน และคนที่อยู่ในบทบาทที่สามารถใช้กระบอกเสียงของตัวเองอย่างเป็นประโยชน์ขอให้ร่วมด้วยช่วยกันส่งเสียงถึงเรื่องนี้ให้มากยิ่งขึ้นเพราะจะเป็นตัวกำหนดทิศทางของประเทศ หรือนักวิชาการก็ควรที่จะออกมาช่วยกันให้ความรู้ นอกเหนือจากนั้น ภาคประชาชนก็ต้องร่วมกันขับเคลื่อนเรื่องนี้

กับประเด็นที่มีความคิดเห็นจากกลุ่มคนบางกลุ่มว่าควรจะตัดเบี้ยคนชราจากกลุ่มคนรวย หากมองอย่างเป็นกลาง มุมหนึ่งกลุ่มคนรวยก็เป็นอีกกลุ่มที่จ่ายเงินภาษีเช่นเดียวกัน คงจะไม่เสียหายอะไรเพราะเขามีสิทธิที่จะได้รับ แต่ในอีกมุมมองหนึ่ง หากสามารถกรองคนรวยออกไปก็จะง่ายกว่ากรองคนจน ซึ่งจะสามารถใช้จ่ายเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า ทว่าหากมีความจำเป็น เน้นว่าจำเป็นอาจจะต้องกรองคนรวยออก แต่โดยส่วนตัวแล้วการที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ถ้วนหน้าเป็นสิ่งที่ดีกว่า

ท้ายที่สุดแล้ว ภาพใหญ่ที่สำคัญ คือ ต้องลงมือทำได้แล้ว โดยต้องกวาดทุกคนให้เข้ามาอยู่ในระบบ และจะต้องเอื้ออำนวยให้ทุกคนสามารถสะสม ออมเงินตั้งแต่ในวัยทำงานเพื่ออนาคตของตนเอง โดยขั้นต่ำคุ้มครองที่ 2,000 บาท เพื่อเป้าหมายคุ้มครองกลุ่มครัวเรือนจนที่สุด และ ควรจะให้ออมขึ้นไปได้ถึงระดับมัธยฐานหรือกึ่งกลางของสังคมที่ 6,000 บาท โดยส่วนที่เพิ่มจาก 2,000 บาทให้รัฐบาลจ่ายสมทบ ซึ่งระยะยาวจะใช้เงินไม่มากไปกว่างบบำนาญข้าราชการ ทั้งนี้ มูลค่า 3,000 บาทในวันนี้ อีก 20 ปีข้างหน้ามูลค่าจะลดลงเหลือเพียงครึ่งเดียว แม้ตอนนี้จะมีข้อเสนอวิธีมากมาย แต่ประเด็นสำคัญเลยคือรัฐบาลควรจะลงมือทำอะไรที่จริงจังได้แล้ว และการจะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างโดยรัฐบาลรักษาการหากมองตามมารยาท ก็ควรที่จะต้องรอรัฐบาลใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายที่ได้ทำการหาเสียงไว้ เพราะประชาชนเลือกมาเพราะนโยบายหาเสียง และคาดหวังว่าพรรคการเมืองจะทำในสิ่งที่ได้หาเสียงไว้

ท้ายที่สุดแล้วความเปลี่ยนแปลงทั้งหมดก็ขึ้นอยู่กับรัฐบาลว่าจะทำหรือไม่ทำ

ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี
วิทยาลัยสหวิทยาการ ม.ธรรมศาสตร์

พอเราพูดถึงเบี้ยผู้สูงอายุ เป็นนโยบายที่เกิดขึ้นในยุครัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนโยบายที่ขึ้นชื่อว่า เป็นผลงานที่พรรคประชาธิปัตย์นำมาอวดและพูดคุยได้เลย และอาจจะเป็นนโยบายชิ้นโบแดงเลยก็ว่าได้ คือการเริ่มมีเบี้ยผู้สูงอายุ 500 บาททั่วหน้า นโยบายนี้เป็นนโยบายที่สำคัญเพราะว่าก่อนหน้านี้ ช่วงประมาณปี พ.ศ.2551 นโยบายเบี้ยผู้สูงอายุจะให้เพียง 200 บาทเท่านั้น และเป็น 200 บาทที่ให้เฉพาะกลุ่มคนจน หมายความว่าคุณอาจจะพิสูจน์ความจนต่างๆ ผ่านผู้ใหญ่บ้านบ้าง กับ อบต.บ้าง พิสูจน์ว่าลูกของคุณไม่ต้องส่งเสียแล้ว และคุณไม่สามารถที่จะทำงานได้ ไม่มีบ้าน ไม่มีรถ ไม่มีที่นา ประชาชนถึงจะได้เงินจำนวน 200 บาทซึ่งในรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์ ริเริ่มทำให้เป็นจำนวนเงิน 500 บาททั่วหน้า และนโยบายได้ถูกสานต่อในรัฐบาลของพรรคเพื่อไทย ในช่วง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และได้ขยับเบี้ยผู้สูงอายุขึ้นมาเป็นถ้วนหน้าเช่นเดียวกัน ตั้งแต่ 600 บาท เป็นขั้นบันได จนกระทั่งถึง 1,000 บาทตามช่วงอายุ ซึ่งเป็นนโยบายที่ใช้มา 10 ปี

ผมเคยมีประสบการณ์รีวิวโครงการภาครัฐด้านผู้สูงอายุซึ่งเป็นนโยบายที่มีเยอะมากสำหรับประเทศไทย แต่ว่าไม่ค่อยสัมฤทธิผลเท่าไหร่ เพราะนโยบายส่วนมากจะเป็นเกี่ยวกับเรื่องการเข้าไปช่วยเคลื่อนไหว ดูแลการสร้างอาชีพ หรือแม้กระทั่งการนำผู้สูงอายุมาทำถุงผ้า ในนโยบายที่ประสบความสำเร็จที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุที่ผ่านมา คือเบี้ยสูงอายุทั่วหน้า เป็นนโยบายสำคัญที่สามารถเปลี่ยนชีวิตของประชาชนได้

ทำไม 500-600 บาท มันอาจจะเปลี่ยนชีวิตคนได้โดยปกติแล้วคนกลุ่มคนจนจะไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการต่างๆ ได้ คนที่จนที่สุดในหมู่บ้านจะไม่สามารถไปยืนยันตัวตนว่าตนเองนั้นยากจนขนาดไหนที่สมควรที่จะได้รับตัวเงินบำนาญส่วนนี้ เงื่อนไขตรงนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมากว่าตัวสวัสดิการแบบถ้วนหน้าสามารถส่งตรงสู่กลุ่มคนที่ยากจนที่สุดได้ดีกว่าระบบสงเคราะห์ นี่คือความเข้าใจผิดขนานใหญ่ที่นักเศรษฐศาสตร์ในไทย หรือนักเศรษฐศาสตร์ที่อยู่ในหน่วยงานราชการมักจะเข้าใจว่าระบบที่ดีของคนจน คือระบบที่มุ่งเป้าไปหาคนจน ระบบที่พิสูจน์ว่าจนและเอาไปช่วยสามารถที่จะเปลี่ยนชีวิตเขาได้ ซึ่งมันไม่มี ระบบที่ดีที่สุดของคนจนคือการให้โดยไม่มีเงื่อนไข อย่างเช่น 30 บาทรักษาทุกโรค ที่พิสูจน์ได้แล้วว่าการทำงานแบบไม่มีเงื่อนไขนั้นทำได้ดีกว่า เราเห็นได้ชัดว่าตัวเงื่อนไขเบี้ยผู้สูงอายุ 500-600 บาท เป็นเวลา 10 กว่าปี ก็สามารถช่วยเหลือคนที่ยากจนได้ดีกว่ากระบวนการสงเคราะห์ กระบวนการบริจาค กระบวนการเงื่อนไขต่างๆ ที่เราได้เคยดำเนินการก่อนหน้านั้น การช่วยแบบถ้วนหน้านั้นดีกว่าการช่วยแบบมุ่งเป้า

ผมเคยมีโอกาสเคยคุยกับกระทรวงการคลัง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พวกเขากลัวที่ประชาชนจะมีชีวิตที่ดี ผมก็ตกใจ กระทรวงการคลังทำไมถึงกล้าหาญชาญชัยกับเด็กและผู้สูงอายุเหลือเกิน เวลาที่ภาคประชาชนขอให้มีการพัฒนาระบบสวัสดิการถ้วนหน้าในเด็ก ปัจจุบันเราไม่มีเงินเลี้ยงเด็ก เรามีเงินเลี้ยงดูเด็กประกันสังคมที่ต้องสมทบเอง มีเงินเลี้ยงดูกลุ่มคนยากจนที่ต้องไปพิสูจน์ความจนเอาเองนี่คือสิ่งที่มันเกิดขึ้น

กลไกที่เกิดขึ้น จะทำให้คนจนที่สุดไม่ได้รับสวัสดิการ ผู้ที่ได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ คำว่าผู้ยากไร้นั้นตีความยากมาก บางคนที่อาศัยอยู่ต่างจังหวัด ไม่มีรถเมล์ รถสาธารณะ คุณก็ต้องมีรถเก๋งเก่าๆ แต่ถ้าหากคุณมีรถเก๋งเก่าๆ คุณก็ไม่จนแล้ว หรือหากคุณมีบ้านที่ราคาเกิน 1 ล้านบาทขึ้นไปคุณก็ไม่จน บัตรคนจนก็ไม่ได้ ผู้สูงอายุก็ทำงานมาทั้งชีวิตไม่สามารถลืมตาอ้าปาก ไม่สามารถมีชีวิตที่มีความมั่นคงได้ แค่ 600 บาท 70,000 ล้านบาทต่อปี 2% ของงบประมาณรายจ่ายต่อปี ทำไมถึงมีปัญหานัก คุณกล้ามากกับเด็กและกล้าหาญมากกับผู้สูงอายุ ผมไม่เคยเห็นกระทรวงการคลังเป็นห่วงเป็นใยกระทรวงกลาโหม ที่ใช้งบประมาณสิ้นเปลือง เครื่องบินเรือดำน้ำ มีประชาชนได้ใช้กี่คน แต่ว่าเงินคนแก่ที่สามารถประคับประคองชีวิต ประคองให้คนไม่เป็นหนี้สินประคองให้คนหลุดพ้นจากความยากจน อย่างน้อยที่สุดก็พอเป็นค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าข้าวให้ประชาชน ทำไมถึงมีปัญหาในจุดนี้กันมาก งานวิจัยจำนวนมากได้มีการพิสูจน์ให้เห็นว่า ความกังวลที่สำคัญที่สุดของมนุษย์คือ ความกังวลที่เขาไม่สามารถทำงานได้ และที่ผ่านมาผมได้ทำงานวิจัยโครงการหนึ่งชื่อว่า แรงงานสร้างสรรค์ก่อนวัยใกล้เกษียณอายุ เหล่าศิลปิน กวี นักเขียน นักร้อง นักดนตรี กลุ่มคนที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ประเทศไทยมากมายมหาศาล แต่รายได้ต่ำเตี้ย ยิ่งเข้าวัยเกษียณอายุ ยิ่งกังวล เพราะคนกลุ่มนี้กำลังจะเกษียณอายุ โดยไม่มีหลักประกันอะไรเลย ในวันนี้พวกเขากำลังที่จะถูกเตะทิ้งออกไปจากระบบสวัสดิการอันเป็นสิทธิพื้นฐานอันน้อยนิดของประเทศไทย

ในการเปลี่ยนหลักเกณฑ์สถานการณ์ตอนนี้ เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงมากๆ ในประชาชนผู้สูงอายุที่ต้องถูกงดรับเงินเบี้ยผู้สูงอายุ 600 บาท ประมาณ 5-6 ล้านคน เราอาจจะเห็นเป็นแค่ตัวเลข แต่ในตัวเลขมันก็เป็นชีวิต เป็นน้ำตา อัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้น 1-2% เขาบอกว่าอาจจะมีประชากรฆ่าตัวตายเพิ่มมากขึ้น 100-200 คน ในสิ่งที่เราพูดคุยกันมาทั้งหมด เบี้ยผู้สูงอายุที่หายไปจากคนแก่ มันอาจจะเป็นแผลเป็นในช่วงวัยเกษียณอายุของเขา ที่เขาอาจจะไม่สามารถมีชีวิตอยู่ต่อได้ มันอาจจะเป็นฟางเส้นสุดท้ายของหลายครอบครัวหลายประชากร

สิ่งเหล่านี้มันเป็นบาปกรรมมหาศาล มีแนวคิดที่เรียกว่า รัฐ พัน ลึก เราอาจจะนึกภาพว่ามีแค่คุก กระบวนการยุติธรรม ทหาร ตำรวจ แต่ความเป็นจริงแล้วในระบบสวัสดิการต่างๆ มันก็มีกลไกการทำงานแบบนี้ด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image