คงไม่บ่อยนักที่การจากไปของนักวิชาการผู้หนึ่ง จะนำมาซึ่งความอาลัยจากผู้คนแทบทุกชนชั้น หลายวงการ หลากเจเนอเรชั่น สะท้อนผลของงาน คุณูปการ และแนวคิดที่วางรากฐาน จุดประกาย สร้างความเปลี่ยนแปลง กระตุกความคิดใหม่ๆ ในสังคมไทยอย่างกว้างขวาง
ศาสตราจารย์ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ คือนักวิชาการผู้นั้น ผู้ซึ่งเป็นปัญญาชนของสามัญชน ผู้ซึ่งเป็นนักปราชญ์ที่อยู่เคียงข้างคนยากคนจน ผู้ซึ่งมีจุดยืนชัดแจ้งของฝ่ายประชาธิปไตยอย่างไม่ต้องเคลือบแคลงสงสัย
เย็นย่ำจวบจนค่ำคืนของวันอาทิตย์ที่ 13 สิงหาคมที่ผ่านมา ภาคประชาชน ผนึกกำลังจัดงาน ‘นิธิ นิธิ นิธิ’ ณ อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา แยกคอกวัว ถนนราชดำเนิน กรุงเทพฯ หนึ่งในแลนด์มาร์กของการต่อสู้โดยประชาชนเพื่อประชาชน รำลึกถึงการสูญเสียครั้งสำคัญที่เกิดขึ้นในเวลา 11.47 น. ของวันจันทร์ที่ 7 สิงหาคม 2566
เผยถึง ‘ฝันแรก’ ที่อาจไม่เคยทราบ จนถึงความหวังใน ‘วาระสุดท้าย’ ที่ศาสตราจารย์ ดร.นิธิ ทันได้พบเห็นจากผลการเลือกตั้ง 2566
สุชาติ สวัสดิ์ศรี อดีตศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์
และอดีตบรรณาธิการสังคมศาสตร์ปริทัศน์
ยกวาทะ ‘นักประวัติศาสตร์ที่ดีต้องไม่มีชาติ’
‘นิธิ เอียวศรีวงศ์ : บุรุษรัตนของสามัญชน’ คือหัวข้อปาฐกถาที่ ศาสตราจารย์ ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ อดีตคณบดีคณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวเบื้องหน้าประชาชน โดยระบุว่า สิ่งที่โดดเด่นอย่างแรกของศาสตราจารย์ ดร.นิธิ คือการทำให้วิชาการ โดยเฉพาะวิชาประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นวิชาที่คนเบื่อที่สุด เข้าถึงสาธารณชนผ่านข้อเขียนต่างๆ จุดยืนทางการเมืองพัฒนายกระดับมายาวนาน ตั้งแต่เป็นนิสิตจุฬาฯ ก็เริ่มเขียนบทความลงวารสารต่างๆ โดยมีทรรศนะการมองโลกไม่เหมือนกับคนยุคก่อน
“ถ้าดูจากงานหลักที่อาจารย์นิธิทำ จะศึกษาช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งสิ่งสำคัญกว่าการที่นักประวัติศาสตร์ทั่วไปบอกให้เรารู้ โดยทั่วไปนักประวัติศาสตร์มักยกย่องสมัยปฏิรูป ในสมัย ร.5 ว่าเป็นยุคสำคัญของการเปลี่ยนแปลงและเป็นผลพวงต่อมาถึงยุคหลังๆ แต่ผมคิดว่าอาจารย์นิธิมองตรงข้าม โดยไม่ได้ปฏิเสธว่ายุคต้นกรุงเทพฯมีความเปลี่ยนแปลงเยอะ แต่อาจารย์บอกว่าที่สำคัญกว่าก็คือยุคปลายกรุงศรีอยุธยา ต่อช่วงต้นรัชกาลที่ 1 ซึ่งเป็นยุคที่วางพื้นฐานของการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงที่จะเกิดขึ้นต่อไปในสมัยรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 จึงเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ได้ค่อนข้างราบรื่น
นี่เป็นทฤษฎีการตีความทางประวัติศาสตร์ที่ไม่มีใครเคยทำ แล้วผมคิดว่าจนถึงบัดนี้ก็ไม่มีใครหักล้างได้ จะรับหรือไม่รับก็ตาม แต่คุณก็ต้องอ่านเรื่องสังคม วรรณกรรม กับกระฎุมพีไทย”
ศาสตราจารย์ ดร.ธเนศมองว่า จะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ศาสตราจารย์ ดร.นิธิ ไม่ได้เดินตามการวิเคราะห์ชนชั้นของฝ่ายซ้าย ซึ่งวิเคราะห์
แนวทางชนชั้นโดยเริ่มทุกอย่างที่ชนชั้นล่าง แต่ศึกษาโดยความเป็นจริงจากหลักฐาน แล้วนำเสนอให้เห็นว่ากรุงเทพฯเกิดขึ้นมาจากชนชั้นกลางที่คิดแบบชนชั้นล่าง
“แม้กระทั่งศักดินาก็ตาม อาจารย์นิธิมองว่าเป็นกระฎุมพีศักดินาคือศักดินาที่ไม่ได้คิดแบบศักดินาแบบก่อน แต่คิดแบบกระฎุมพีในความหมายของชีวิตเมือง ชีวิตใหม่ ชีวิตที่มีการวางแผน แน่นอนว่าเศรษฐกิจต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เราก็รู้ว่าการค้าสำเภาเป็นเรื่องใหญ่มาก เป็นแหล่งทรัพยากรความมั่งคั่งที่สร้างชนชั้นนำจารีตให้อยู่ต่อมา ทั้งหมดนี้ผมคิดว่าเป็นพื้นฐานมั่นคงที่อาจารย์นิธิใช้ในการศึกษาประวัติศาสตร์ต่อมา
หลังจากนั้นเมื่อมองดูการเปลี่ยนแปลงยุค 2475 ยุค 2490 ยุค 2500 ผมสังเกตว่า วิธีที่อาจารย์นิธิใช้คือโลกทัศน์ของกลุ่มคนที่เป็นกระฎุมพีที่ยังแสดงบทบาทอยู่ และกลุ่มอำนาจที่ใช้พื้นที่ ใช้วัฒนธรรม ใช้การค้า สร้างความมั่นคง”
รศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร ในฐานะตัวแทน เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.)
ไม่มาร์กซิสต์ ไม่ซ้าย โจทย์ใหญ่ว่าด้วย ‘ความเปลี่ยนแปลง’
สำหรับโจทย์ใหญ่ในการศึกษาของศาสตราจารย์ ดร.นิธิ ในมุมมองของ ศาสตราจารย์ ดร.ธเนศ คือประเด็นที่ว่าด้วย ‘การเปลี่ยนแปลงทางสังคม’ โดยเฉพาะสังคมไทยจากอดีตมาจนถึงปัจจุบัน และอนาคต
“คำถามนี้ไม่ใช่ปัญหาโดยตรงของวิชาประวัติศาสตร์ จริงๆ แล้ว ควรเป็นของสังคมศาสตร์มากกว่า แต่ผมคิดว่านี่คือปัญหาของพัฒนาการวิชาสมัยใหม่ ไม่ว่าจะเป็นสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ ซึ่งมีการแยกศาสตร์ แต่กระบวนการโลกาภิวัฒน์ซึ่งค่อยๆ เกิดมา ทำให้ศาสตร์ต่างๆ กลับเข้ามาผสานกันอีกครั้ง
มีคนถามว่าผลงานอาจารย์นิธิเป็นฝ่ายซ้ายหรือไม่ เป็นมาร์กซิสต์หรือไม่ ถ้าดูจากผลงานแล้วไม่ใช่ เกือบไม่มีเลย กล่าวคือ งานประวัติศาสตร์ที่อาจารย์ใช้ ก็ไม่ใช่นักมาร์กซิสต์ แต่ที่ใช้อธิบายการเปลี่ยนแปลงในยุคต้นรัตนโกสินทร์ เป็นสังคมศาสตร์ทั่วไป แค่มองว่ามีการค้า
งานของอาจารย์นิธิโฟกัสพื้นที่ทางความเชื่อ ศาสนา อุดมการณ์ และการเมือง ไม่ใช่พื้นที่ทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะ แล้วทำไมการอธิบายจากทางวัฒนธรรมของอาจารย์ จึงสามารถอธิบายความเปลี่ยนแปลงอย่างยาวนานจากอดีตมาถึงปัจจุบัน
ผมคิดว่าคำตอบคือโลกาภิวัตน์ได้สลายเส้นแบ่งของวิชาการ ทั้งยังสลายเส้นแบ่งของโลกการผลิต ประเด็นนี้ถ้ามองเมื่อ 5-10 ปีที่แล้ว มันยังไม่ชัดเท่าไหร่ แต่พอมาถึงปีนี้ ต่อไปข้างหน้า เราจะพบกระบวนการผลิตซึ่งฝ่ายซ้ายเคยเชื่อว่าอยู่ในพื้นที่ทางวัตถุ 100 เปอร์เซ็นต์ มาในยุคนี้ มันเริ่มกลับหัว เพราะความเป็นจริงของกระบวนการผลิตไม่ได้หยุดนิ่งอยู่กับพื้นที่ที่เป็นวัตถุ แต่กลายเป็นพื้นที่ทางความคิดที่ผ่านโซเชียลมีเดีย ข้ามพื้นที่ ข้ามเวลา ข้ามทวีป
หลายอย่างมันมาโดยจังหวะของมัน ที่งานศึกษาของอาจารย์นิธิในมิติทางวัฒนธรรมสามารถนำไปวิเคราะห์ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไปจนถึงเศรษฐกิจ
ในที่สุดแล้ว อาจารย์นิธิคิดว่าสิ่งที่เราอยากรู้คือเราต้องเตรียมตัวทางความคิดของคนในสังคมเพื่อยอมรับความเปลี่ยนแปลง จะต้องรู้ว่าเราจะเปลี่ยนไปสู่อะไร พื้นฐานคืออะไร แล้วผลที่จะมาคืออะไร
นี่เป็นสิ่งที่ต้องใช้พลัง สติปัญญา ความรู้ข้ามสาขาที่มากกว่าวิชาเฉพาะที่เราถนัดกันมาเมื่อ 10-20 ปีที่แล้ว” อดีตคณบดีศิลปศาสตร์ อธิบายผ่านปาฐกถา
ประชาชนเขียนรำลึก ศาสตราจารย์ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์
‘ชีวิตนิธิมีไว้ทำไม?’ กับสำนักที่ไม่มีชื่อ
ปิดท้ายปาฐกถาด้วย ประเด็น ‘วิธีวิทยา’ ของศาสตราจารย์ ดร.นิธิ ที่ ศาสตราจารย์ ดร.ธเนศมองว่า สิ่งที่ทำให้การศึกษา การนำเสนอประวัติศาสตร์ของท่านยืนยงข้ามยุค ข้ามสมัย ข้ามเวลามาเป็น 10-20 ปี และเชื่อว่างานหลายชิ้นยังอ่านต่อไปได้อีก 10-20 ปีข้างหน้า เพราะใช้วิธีการที่ไม่มองการศึกษาว่าเป็นสิ่งที่หยุดนิ่ง ตายตัว
“ข้อสรุปที่อาจารย์ได้จากการศึกษาสุนทรภู่ก็ดี เรื่องในต้นกรุงรัตนโกสินทร์ก็ดี ก็ต้องเอามาตรวจสอบใหม่ ชำระใหม่ กับการเปลี่ยนแปลงหลังจากนั้นอาจารย์นิธิบอกว่าการเป็นนักประวัติศาสตร์ที่ดีมันยาก โดยทั่วไปคนบอกว่าขอแค่เป็นกลางได้ ก็ดีแล้ว แกบอกว่าแค่เป็นกลางก็ยังยาก เพราะเกือบจะเป็นไปไม่ได้เลย กว่าที่จะรู้ว่าเราเข้าใจผิด มันก็ต้องใช้เวลาตรวจสอบ
ดังนั้น อาจารย์จึงยินดีถ้าใครจะวิพากษ์ หรือวิวาทะว่าไม่ถูกอย่างไร เพราะเป็นวิธีเดียวที่จะทำให้วิชานี้เข้าใกล้ความเป็นจริงที่สุด เพราะฉะนั้น อาจารย์นิธิจึงสรุปว่านักประวัติศาสตร์ที่ดีต้องไม่มีชาติ แม้ว่าจะรักชาติขนาดไหนก็ตาม ไม่มีศาสนา แม้เขาจะเป็นนักบวช ไม่มีอุดมการณ์ แม้เขาจะเป็นมาร์กซิสต์ก็ตาม
ทั้งหมดมันสรุปเลยว่าอาจารย์ไม่ได้ยึดโยงอยู่กับความเชื่อ วิธีการอันหนึ่งอันใด แต่ค้นหาความเป็นจริงท่ามกลางการปฏิบัติที่เป็นจริง
ผมคิดว่าสิ่งที่ทำให้อาจารย์ยืนหยัดอยู่ได้ เพราะอาจารย์เชื่อมั่นในคนอื่น นี่คือสิ่งสำคัญมาก เรามักศึกษาเรื่องต่างๆ เพื่อสนองความต้องการของตัวเอง แต่อาจารย์นิธิศึกษาเพื่อทำให้เรื่องเป็นของคนอื่น เป็นประวัติศาสตร์ของคนอื่น และอาศัยสติปัญญาร่วมกันของคนจำนวนมาก ที่จะทำให้ประวัติศาสตร์นั้นมีชีวิต มีวิญญาณ มันจึงไม่ใช่ประวัติศาสตร์ของแก ไม่ใช่ประวัติศาสตร์ของสำนักหนึ่งสำนักใด ไม่ว่าจะสำนักซ้าย หรือสำนักขวา มันไม่มีชื่อ สำนักอาจารย์นิธิไม่มีชื่อ เพราะเป็นสำนักร่วมกันของทุกคน”
จากนั้นศาสตราจารย์ ดร.ธเนศกล่าวว่า จะปิดท้ายด้วยคำถามว่า “ชีวิตของนิธิมีไว้ทำไม?” เหมือนชื่อบทความ “ทหารมีไว้ทำไม” โดยศาสตราจารย์ ดร.นิธิ
“ผมจะตอบแทนอาจารย์ว่าชีวิตของอาจารย์นิธิมีไว้เพื่ออนุเคราะห์เกื้อหนุนการจุดแสงสว่างที่มีอยู่ในตัวของเราเอง ของประชาชนเอง เพื่อร่วมกันขจัดความมืดในสังคมออกไป เพื่ออนาคตที่สดใสของทุกคน”
ความฝันแรก คือ ‘นักเขียน’ บทความวิชาการ ราวได้อ่าน‘วรรณกรรม’
ครั้นในช่วงเสวนา ‘นิธิ ในสายตาสามัญชน’ อดีตศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ และอดีตบรรณาธิการสังคมศาสตร์ปริทัศน์ อย่าง สุชาติ สวัสดิ์ศรี หนึ่งในผู้ร่วมเสวนา เผยว่า ความฝันแรกๆ ของ ศาสตราจารย์ ดร.นิธิ คือ ‘อยากเป็นนักเขียน’ ถ้าไปดูหนังสือเล่มละบาท หรือหนังสืออนุสรณ์ในมหาวิทยาลัย จะพบงานเขียนของนิธิ ซึ่งเคยเขียนเรื่องสั้นด้วย ตนเคยนำมารวมพิมพ์ในชุด ‘เรื่องสั้นสันติภาพ’ ที่ตนเป็นบรรณาธิการ ชื่อว่า ‘แด่มนุษยชาติ’ โดยใช้ชื่อ นิธิ ตามชื่อจริง เนื้อหาเกี่ยวกับผลร้ายของสงคราม
“ผมถามนิธิว่าเขียนเอง หรือแปลงมาจากเหตุการณ์แนวรบด้านตะวันตก เหตุการณ์ไม่เปลี่ยนแปลง ได้คำตอบว่าเขียนเอง แล้วอ่านดูก็รู้เลย ภาษาของนิธิ เป็นภาษาของคนวรรณกรรม แต่เมื่อมาทำงานเป็นครูบาอาจารย์ ระหว่างการเป็นนักเขียนในร่างของนักวิชาการ เป็นนักวิชาการในร่างของนักเขียน ระหว่างกลางในการเป็นนักเขียนกับนักวิชาการ นิธิมีความเป็นครูในฐานะวิชาชีพและการทำงานทางความคิด
เราเห็นผลงานของนิธิมากมาย ที่บอกว่ามีความเป็นครูนั้น ในผลงานเหล่านั้น นิธิสอนโดยไม่สอน บทความในลักษณะความเรียงที่เขียนลงในมติชน ศิลปวัฒนธรรม แม้มีประเด็นทางวิชาการ ร้อยแปดพันก้าว แต่มีลักษณะการจุดประเด็นให้คนคิดต่อ ความเป็นนิธิคือ ปลายเปิดเสมอ ทุกเรื่องถ้าเป็นเหรียญก็มี 2 ด้านให้คนตีความใหม่ได้ และท้าทายความคิดใหม่ๆ”
สุชาติ เอ่ยว่า ถ้าให้สรุปกว้างๆ ในความเป็นนิธิคือ ‘เรียบง่ายแต่ทรงพลัง’
“ภาษาของนิธิ ไม่ว่าคนรุ่นไหนอ่าน อย่างผม อ่านในฐานะบรรณาธิการ ภาษาของเขาแก้ไขได้น้อยมาก ไม่ว่าจะเป็นวรรคตอน การสะกด รู้เลยว่ามีวรรณศิลป์ และพยายามสร้างคำใหม่ตลอดเวลา บัญญัติศัพท์ของตัวเองที่เข้าใจง่าย หลายคำถูกนำไปใช้ โดยไม่รู้ว่าต้นทางมาจากนิธิ ที่พอจะจำได้ เช่น รากหญ้าสร้างบ้าน ชนชั้นกลางสร้างเมือง, วัฒนธรรมไฟกะพริบ ไวยากรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นเรื่องของคนที่จะใช้ภาษามานำความคิด ผิดไปจากคนที่คิดอะไรได้ก็เขียน
การใช้ภาษาของนิธิ เชื่อว่าโยงมาถึงสิ่งที่นิธิให้ความสนใจคือเรื่องวัฒนธรรม เวลาพูดเรื่องการเมือง นิธิจะโยงเข้าวัฒนธรรม พูดเรื่องเศรษฐกิจก็จะโยงเข้าวัฒนธรรม พูดเรื่องสังคมก็จะโยงเข้าวัฒนธรรม เหมือนต่อขยายจิตร ภูมิศักดิ์ ซึ่งงานเขียนของทั้ง 2 มีลักษณะเดียวกัน คือ จิตร เขียนเรื่องลง นสพ.เป็นตอนๆ ในชั่วชีวิตมีงานพิมพ์รวมเล่มเพียงเล่มเดียว คือ ศิลปะเพื่อชีวิต นอกนั้นถูกรวมหลังจากเสียชีวิตไปแล้ว โดยมีความสนใจด้านประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมเหมือนกัน แต่ภาษาแข็งแบบฝ่ายซ้าย ในขณะที่ภาษาของนิธิเป็นแบบวรรณศิลป์ เหมือนได้อ่านงานวรรณกรรม”
ศาสตราจารย์ ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ อดีตคณบดีคณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
ตั้งคำถาม ‘มายาคติ’ ชวนสงสัยในสิ่งที่ ‘คุ้นเคย’
ด้าน เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) ส่ง รศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์ ตัวแทน กล่าวไว้อาลัย ความบางส่วนว่า บทบาททางวิชาการของ นิธิ เอียวศรีวงศ์ เป็นที่ประจักษ์ชัดอยู่แล้ว ทั้งในผลงานด้านประวัติศาสตร์ รัฐศาสตร์ มานุษยวิทยา ผลงานนิธิไม่เพียงสร้างความรู้ให้แก่สังคม หากแต่ยังเป็นการตั้งคำถามกับมายาคติที่คนปัจจุบันมีต่ออดีตและสังคมปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นมายาคติเกี่ยวกับความเป็นชาติไทย มายาคติเกี่ยวกับทุนนิยมไทย หรือแม้แต่มายาคติเกี่ยวกับชนชั้นกลาง
นอกเหนือจากการทำงานวิชาการบนหอคอยงาช้าง นิธิยังมีบทบาทสำคัญในการวิพากษ์สังคม ทั้งด้วยบทความขนาดกลางที่เขียนลงวารสารทางวิชาการ และบทความขนาดเล็กที่เขียนลงหนังสือพิมพ์ หรือกระทั่งให้คำปรึกษาเรื่องความสัมพันธ์ส่วนบุคคล ในคอลัมน์ แล้วเราก็ปรึกษากัน ในนามปากกา รังรอง
ผลงานเหล่านี้ครอบคลุมประเด็นและแง่มุมต่างๆ ทั้งความรัก การเมือง กฎหมาย ภาษา อาหาร เครื่องดื่ม แฟชั่น ไปจนกระทั่งเพลง การแสดง ศาสนา พิธีกรรม และอื่นๆ อีกมากมาย จนเรียกได้ว่า แทบจะไม่มีเรื่องอะไรเลยที่นิธิยังไม่เคยเขียนถึง
ในช่วงท้ายของชีวิต นิธิตั้งคำถามถึงความจำเป็นในการมีอยู่ของสถาบัน องค์กร หรือหน่วยงานของรัฐ ด้วยคำถามประเภท ทหารมีไว้ทำไม ระบบราชการมีไว้ทำไม ชาติมีไว้ทำไม กระทั่งมหาวิทยาลัยมีไว้ทำไม
“คำถามเหล่านี้ชวนให้เราตั้งข้อสงสัยต่อสิ่งที่เราคุ้นเคย เสียจนกระทั่งหลงคิดไปว่าเป็นสิ่งจำเป็นขาดแคลนมิได้ หากแต่อันที่จริงแล้วมันกลับซ่อนความบิดเบี้ยว และถ่วงรั้งความเปลี่ยนแปลงไปสู่การทำหน้าที่ที่สมบูรณ์ตามยุคสมัยที่ควรจะเป็นของพวกมัน หรือบางครั้ง สถาบันเหล่านี้เองกลับกลายเป็นเครื่องมือในการสร้างความเหลื่อมล้ำ ค้ำจุนความอยุติธรรม ไปเสียอีก”
ผลเลือกตั้ง66 ส่ง‘อ.นิธิ’สู่ภพหน้าอย่างเปี่ยมหวัง
รศ.ดร.ยุกติ กล่าวต่อไปว่า นอกเหนือจากการทำงานวิชาการและงานเขียนวิพากษ์สังคมแล้ว ศาสตราจารย์ ดร.นิธิยังเป็นนักวิชาการที่เข้าร่วมการเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนทั้งในเชิงความคิด หรือการร่วมผลักดันให้เกิดความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้าง ในขบวนการปกป้องสิทธิในการครอบครองและใช้ทรัพยากรของประชาชน
ในประเด็นสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมือง ศาสตราจารย์ ดร.นิธิยังมีส่วนร่วมเป็นผู้นำคนหนึ่งของคณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 (ครก.112) ที่นักวิชาการ ศิลปิน และประชาชนร่วมกันรวบรวบรายชื่อประชาชนเกินกว่า 30,000 รายชื่อ เพื่อเสนอขอแก้ ม.112 เมื่อกว่า 10 ปีที่แล้ว ในขณะที่นักวิชาการจำนวนมากหลีกเลี่ยง แม้แต่จะลงชื่อสนับสนุนก็ยังไม่สะดวกกัน
“เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ขบวนการคนหนุ่มสาวกลับมามีบทบาทนำในการเรียกร้องเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจของสังคมไทยอีกครั้งหนึ่ง นอกเหนือจากบทวิเคราะห์ทางวิชาการแล้ว ยังเข้าร่วมแสดงออกทางการเมืองอย่างต่อเนื่องในฐานะมวลชนผู้สนับสนุนการเคลื่อนไหวของเหล่าเยาวชน เช่น ร่วมในขบวนการยืนหยุดขัง ที่เชียงใหม่ และนิธิยังมีส่วนในการเป็นพยานในคดีสำคัญๆ ที่มีการต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิการแสดงออกของประชาชน
ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจเลยที่ เมื่อถึงวาระที่นิธิ เอียวศรีวงศ์ ล่วงลับไป ใครต่อใครต่างก็ระลึกถึงเขาในมิติต่างๆ ที่หากไม่ได้เกี่ยวข้องหรือรู้จักโดยตรง ก็จะต้องมีบางส่วนเสี้ยวของผลงานเขาที่ก่ออิทธิพลต่อความคิดของใครที่ได้อ่านงานเขา นั่นเพราะนิธิ อ่าน เขียน อย่างกว้างและลึกซึ้ง ตลอดจนแลกเปลี่ยนและร่วมเรียนรู้กับมิตรทางวิชาการและการเมืองอย่างเท่าเทียมและเคารพกันและกันเสมอมา และที่มากไปกว่านั้น นิธิยังเป็นนักสู้เพื่อประชาชนคนสามัญอยู่เสมอมา”
รศ.ดร.ยุกติเผยด้วยว่า ในวาระสุดท้ายของ แรกทีเดียว ศาสตราจารย์ ดร.นิธิเปรยว่า อาจอยู่จะไม่ทันได้เห็นผลการเลือกตั้งเมื่อ 14 พฤษภาคม 2566 แต่เมื่อผลออกมาแล้วและก็เป็นไปเกินกว่าที่คาด ว่าพรรคการเมืองที่เสนอการเปลี่ยนแปลงระดับโครงสร้างอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนจะชนะการเลือกตั้ง
“นั่นอาจจะเป็นขวัญกำลังใจที่สังคมไทยจะมอบให้แก่นิธิ เอียวศรีวงศ์ ให้เขาได้เดินทางไปสู่ภพหน้าอย่างเต็มเปี่ยมไปด้วยความหวัง” รศ.ดร.
ยุกติกล่าว ก่อนทิ้งท้ายว่า ในวันนี้ แม้ว่าเราจะสูญเสียนิธิไปแล้ว แต่ผลงานอันเป็นดั่งจักรวาลความรู้ ตลอดจนจิตวิญญาณปัญญาชนของคนสามัญของนิธิ เอียวศรีวงศ์ จะยังคงอยู่ ให้คนรุ่นหลังได้ถกเถียงด้วย หรืออาศัยใช้วิพากษ์มายาคติต่างๆ
ตลอดจนสานต่อความหวังถึงสังคมที่เสรีและเป็นธรรมในอนาคตอันใกล้กันต่อไป