รัฐบาลแจงวุ่นปมรื้อเกณฑ์เบี้ยผู้สูงอายุ ปัดลักไก่-วางยา โยนรบ.ใหม่ตัดสินใจ

รัฐบาลแจงวุ่นปมรื้อเกณฑ์เบี้ยผู้สูงอายุ ปัดลักไก่-วางยา โยน รบ.ใหม่ตัดสินใจ

เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม จากกรณีราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ระเบียบกระทรวงมหาดไทย (มท.) ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) พ.ศ.2566 โดยมีประเด็นที่เป็นเรื่องการวิจารณ์กรณีเปลี่ยนแปลงเกณฑ์จากถ้วนหน้าไปเป็นอย่างอื่น ซึ่งสาระสำคัญอยู่ที่หมวด 1 คุณสมบัติของผู้มีสิทธิที่จะได้รับเบี้ยยังชีพ ข้อ 6 (4) ระบุว่า เป็นผู้ไม่มีรายได้ หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพตามที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ (กผส.) กำหนด

โดยระเบียบนี้มีผลบังคับใช้มาตั้งวันที่ 12 สิงหาคมที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ได้ชี้แจงไปแล้วเป็นไปตามหลักเกณฑ์ หลักการที่มาจาก กผส.ที่มีหน้าที่ตรงนั้นอยู่ ข้อสำคัญจากประเด็นดังกล่าวอาจจะยังไม่เข้าใจหรือไม่เข้าใจและแกล้งไม่เข้าใจก็ไม่ทราบเหมือนกัน ทั้งนี้ คนที่เคยได้รับอยู่แล้วยังได้รับเหมือนเดิม ขณะเดียวกันวันนี้เป็นการเตรียมการสู่อนาคตว่าจะใช้งบประมาณอย่างไรให้เพียงพอในวันข้างหน้า เป็นเรื่องของรัฐบาลหน้าสามารถดำเนินการได้ต่อไป ถ้ามีเม็ดเงินงบประมาณที่เพียงพอ

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธาน กผส. กล่าวว่า กผส.ยังไม่ได้มีการกำหนดนโยบายในเรื่องของการที่จะปรับลดเงิน และจำนวนของเบี้ยผู้สูงอายุใดๆ ทั้งสิ้น แต่ที่ผ่านมาได้เข้าไปแก้ไขปัญหาการจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุซ้ำซ้อน ยุติไปแล้วกว่า 30,000 คน ที่รับเบี้ยผู้สูงอายุซ้ำซ้อน ทั้งจาก 600-1,000 บาท และยังรับเบี้ยบำนาญตกทอด ได้แก้ไขปัญหาโดยไม่ต้องเอามาคืน หรือที่ยังไม่รับก็ให้มารับไปได้ก็เป็นที่ยุติไป ยืนยันว่ามติที่จะไปดำเนินการ ไม่มีการลดเบี้ย หรือลดจำนวนผู้สูงอายุ

Advertisement

ด้าน พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ที่มาของการแก้ไขระเบียบ มท. เกิดขึ้นจากคณะกรรมการกฤษฎีกาได้มีคำวินิจฉัย เรื่อง การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่มีความซ้ำซ้อนกับสวัสดิการอื่น โดยระบุว่า ระเบียบ กผส. และระเบียบ มท. ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุของ อปท.พ.ศ.2552 คือ ในอดีตผู้ที่ได้รับสวัสดิการภาครัฐ เช่น บำเหน็จ บำนาญ จะไม่ได้รับเบี้ยผู้สูงอายุ ทั้งนี้ อาจจะเป็นผู้มีรายได้น้อย ไม่พอกับการดำรงชีวิต เป็นการขัดแย้งกับพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ผู้สูงอายุ พ.ศ.2546 และไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ดังนั้น มท.จึงจำเป็นต้องปรับแก้ระเบียบให้สอดคล้องกับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยเปิดกว้างให้ผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ มีโอกาสได้รับการช่วยเหลือเพิ่มเติม ดังนั้น จึงไม่ใช่การลักไก่ออกระเบียบในช่วงรัฐบาลรักษาการแต่อย่างใด

“การกำหนดหลักเกณฑ์ผู้มีสิทธิได้รับเบี้ยยังชีพในส่วนนี้ กผส.และ ครม.ชุดใหม่จะพิจารณา โดยอยู่บนหลักของความทั่วถึงและเป็นธรรม” พล.อ.อนุพงษ์กล่าว

 

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image