09.00 INDEX โยนหิน ประชามติ หยั่งเชิง ผ่านรัฐบาล ผ่าน ‘รัฐสภา’

09.00 INDEX โยนหิน ประชามติ หยั่งเชิง ผ่านรัฐบาล ผ่าน ‘รัฐสภา’

ท่ามกลางบรรยากาศแห่งวันชื่นคืนสุขของการได้มาซึ่ง “รัฐบาลพิเศษ” บนรากฐานแห่งความเชื่อมั่นที่จะเป็น “หินก้อนแรก” ของการสลายความขัดแย้งที่ดำรงอยู่อย่างยาวนาน

สามารถสัมผัสได้ใน 2 การเคลื่อนไหวอันทรงความหมายยิ่งในทางการเมือง

ดำเนินไปเหมือนกับเป็น “การต้อนรับ” น้องใหม่เด่นชัด

1 ย่อมเป็นการเคลื่อนไหวอันก่อให้เกิด #เขียนใหม่ทั้งฉบับ เลือกตั้ง 100 เปอร์เซ็นต์ สนองตอบต่อความกระตือรือร้นจากพรรคเพื่อไทยที่จะจัดทำ “รัฐธรรมนูญ”

ADVERTISMENT

ขณะเดียวกัน 1 คือคำประกาศจากพรรคก้าวไกลโดย นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ที่จะยื่นญัตติในวันที่ 16 สิงหาคม ให้สภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบการจัดทำประชามติ (ตาม พ.ร.บ.ประชามติ 2564) ด้วยคำถามว่า

“ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่า ประเทศไทยควรมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน”

เด่นชัดอย่างยิ่งว่าการทั้ง 2 นี้ดำเนินไปในลักษณะอันเป็นการประสานเพื่อกรุยทางให้กับ “รัฐบาลพิเศษ” ของพรรคเพื่อไทย

 

ทุกอย่างดำเนินไปอย่างสอดคล้องและสัมพันธ์กัน สะท้อนให้เห็น ความต้อง “ร่วม” ระหว่างพรรคก้าวไกลกับพรรคเพื่อไทยอันเคยสะท้อนผ่าน MOU เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม

ขณะเดียวกัน พลันที่พรรคก้าวไกลมิอาจจัดตั้งรัฐบาล 312 ได้ ภารกิจนี้ก็ตกอยู่บนบ่าของพรรคเพื่อไทย

ภายใต้การปวารณาตัวเป็นประดุจ “หินก้อนแรก” ที่ยืนอยู่บนความต้องการที่จะสลายความขัดแย้งทั้งปวง การเคลื่อนไหวอันมาจากพรรคก้าวไกลและ #conforall คือรูปธรรม

ความน่าสนใจจึงไม่เพียงแต่จะก่อให้เกิด #เขียนใหม่ทั้งฉบับ เลือกตั้ง 100 เปอร์เซ็นต์ขึ้นมาเท่านั้น หาก iLaw CLUB ก็เริ่มเปิดแคมเปญล่ารายชื่ออย่างน้อย 50,000 รายชื่อ

นำส่งคณะรัฐมนตรีอนุมัติทำประชามติโดยใช้  “คำถามที่ประชาชนกำหนดเอง” ทันทีที่จัดตั้งรัฐบาลใหม่สำเร็จ โดยพรรคก้าวไกลให้การสนับสนุนอย่างมีกัมมันตะ

เป้าหมายจึงอยู่ที่ “คณะรัฐมนตรี” และที่ “สภาผู้แทนราษฎร”

 

ต้องยอมรับว่าปมแรกที่ “รัฐบาลพิเศษ” ภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทยจักต้องพิจารณาในคณะรัฐมนตรีย่อมเป็น 50,000 รายชื่อจากประชาชนเพื่อนำไปสู่การอนุมัติ “ประชามติ”

ขณะเดียวกัน การตัดสินใจของคณะรัฐมนตรีจะอยู่ภายใต้ญัตติที่เสนอโดยพรรคก้าวไกลว่าจะมีผลออกมาอย่างไร

ทั้งหมดนี้มิได้เป็นการเคลื่อนไหวในลักษณะ “เอกเทศ” หากแต่เป็นการเคลื่อนไหวโดยอิงกับสภาพความเป็นจริงของการเคลื่อนไหวก่อนและหลังเดือนพฤษภาคมเป็นสำคัญ

นั่นก็คือ ความต้องการ “ร่วม” ในทางการเมืองของพลายพรรค การเมืองที่ต้องการจัดการกับเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ในจุดที่เป็นอุปสรรคต่อพัฒนาการแห่งระบอบประชาธิปไตย

เป็นการสอบถามต่อทิศทางของรัฐบาลผ่านคณะรัฐมนตรี

เป็นการสอบถามต่อเสียงส่วนใหญ่ของสภาผู้แทนราษฎร

 

พลันที่การล่ารายชื่ออย่างน้อย 50,000 รายชื่อบังเกิดขึ้นกระทั่งกลายเป็นเทรนด์ในทางสังคม พลันที่พรรคก้าวไกลไหวเคลื่อนการเสนอญัตติต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร

นี่ย่อมเป็นการโยนหินถาม “ความรู้สึก” ภายใน “สังคม”

มิได้เป็นการถามถึงท่าทีของแต่ละพรรคการเมืองที่เคยแสดงในห้วงก่อนและหลังการเลือกตั้ง หากแต่ยังเป็นการถามว่าจะยังรักษาคำพูดอันเป็นสัญญาประชาคมอยู่หรือไม่

ไม่ว่าต่อพรรคการเมืองใด เมื่อท่าน “พูด” คนจะล้างหูน้อมรับฟัง แต่เมื่อท่านลงมือ “ทำ” อย่างที่พูดคนจะให้ความเชื่อถือ ศรัทธา