‘กัณวีร์’ ลั่น ต้องปรับ ‘จุดยืนการทูตไทย’ ย่ำอยู่ในยุคสงครามเย็น ชงเปิด ‘ระเบียงมนุษยธรรม’ ช่วยผู้ลี้ภัยเมียนมา

‘กัณวีร์’ ลั่น ต้องปรับใหม่ ‘จุดยืนการทูตไทย’ ยังย่ำอยู่ในยุคสงครามเย็น ชง รบ.ใหม่ ‘เปิดระเบียงมนุษยธรรม’ ช่วยผู้พลัดถิ่นเมียนมา ใช้โอกาสแสดงบทบาทผู้นำ

เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 16 สิงหาคม ที่หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เนื่องในวาระ 78 ปี วันสันติภาพไทย สถาบันปรีดี พนมยงค์ จัดกิจกรรม PRIDI Talks #22 เสวนา “บทบาทอาเซียนในการเสริมสร้างสันติภาพในเมียนมา”

บรรยากาศภายในงาน มีการเสวนาในหัวข้อ “บทบาทอาเซียนในการเสริมสร้างสันติภาพในเมียนมา” โดยมีนักการเมือง นักวิชาการร่วมแลกเปลี่ยนมุมมอง ได้แก่ นายกัณวีร์ สืบแสง เลขาธิการพรรคเป็นธรรม ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านสันติภาพ มนุษยธรรม สิทธิมนุษยชน ผู้ลี้ภัย ความมั่นคงและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ, รศ.ดร.ม.ล.พินิตพันธุ์ บริพัตร คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, รศ.ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช รองผู้อำนวยการสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, นายสุนัย ผาสุก ที่ปรึกษา Human Rights Watch ประจำประเทศไทย และนางอังคณา นีละไพจิตร ผู้เชี่ยวชาญสหประชาชาติ และกรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์

เมื่อพิธีกรถามว่า คิดว่าบทบาทของรัฐบาลไทยต่อการสร้างสันติภาพในเมียนมาจะเป็นอย่างไร ?

Advertisement

นายกัณวีร์กล่าวว่า สำหรับตน ขอพูดในฐานะคนที่เคยไปอยู่ประเทศเมียนมาตั้งแต่ก่อนเกิดการรัฐประหาร และภายหลังเกิดรัฐประหารว่ามองอย่างไรกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้ได้รับผลกระทบ และในฐานะ ส.ส.ที่ยังไม่สามารถพูดได้ว่าเป็นฝ่ายค้านหรือรัฐบาล ซึ่งเวลาตนมองสถานการณ์ฉุกเฉิน ณ ปัจจุบัน บทบาทของรัฐบาลไทยที่ควรทำมี 2 ด้านคือ 1.ด้านมนุษยธรรม 2. ด้านความมั่นคง

“ด้านมนุษยธรรม” หลังจากรัฐประหารเกิดขึ้นทหารเมียนมา ทหารได้ดึงอำนาจของประชาชนกลับมาใส่มือของตัวเอง มีการเรียกร้องเคลื่อนไหวเชิงอสิงหา ประชาชนออกมาเรียกร้องทวงอำนาจคืน มีการลิดรอนสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง ทำให้มีผู้พลัดถิ่นมากมาย

“ตอนที่ผมอยู่ ปลายปี 2564 มีผู้พลัดถิ่นประมาณ 1 ล้านกว่าคนเรียบร้อยแล้ว 3 แสนกว่าคนอยู่ติดกับชายแดนไทย ผมอยู่บริเวณชายแดนไทยเมียนมา ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา น่าจะมีผู้พลัดถิ่นในประเทศมากกว่านี้ แล้วเราเห็นว่ามีผู้ลี้ภัยข้ามเขตแดนมาอยู่ในไทย ในศูนย์พักพิงชั่วคราว 900 กว่าคน แต่ตัวเลขอย่างไม่เป็นทางการมากกว่านั้น หลักหมื่นแน่นอน ฉะนั้นบทบาทของไทยที่จำเป็นต้องดูแล ชัดเจนตรงที่ว่าไทยจำเป็นต้องเปลี่ยนกระบวนทัศน์ทางด้านจุดยืนทางการทูตของไทยเสียก่อน เพราะไม่อย่างนั้นสิ่งที่ผมเสนอไปจะไม่สามารถทำได้เลย”

Advertisement

“บทบาท จุดยืนทางการทูตของไทย ณ ปัจจุบันนี้ ยังย่ำอยู่ในสมัยสงครามเย็น ถ้าประเทศไทยยังใช้จุดยืนเหมือนเดิมตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ‘การทูตอนุรักษนิยม’ ที่มุ่งเน้นเฉพาะทวิภาคี ตรงนี้จะทำให้ไทยไม่สามารถก้าวพ้นพาราดามทางด้านความคิด ว่าเราให้ความสำคัญในเรื่องสิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรม เพราะจุดยืนการทูตอนุรักษนิยมจะมุ่งเน้นเฉพาะการมีปฏิสัมพันธ์ รัฐต่อรัฐ ซึ่งเราเห็นชัดเจนว่ารัฐบาลไทยโดยเฉพาะช่วง คสช.จนถึงปัจจุบันนี้ ยังให้ความสำคัญกับความสะพันธ์ระหว่างทหาร ต่อทหาเป็นหลัก เรามีความสัมพันธ์กับกลไกต่างๆ บริเวณชายแดนไทย-เมียนมา ทั้ง TBC RBC รัฐบาลต่อรัฐบาลเรียบร้อยแล้ว แต่ทำไมเราถึงไม่ย่อมข้ามกระบวนทัศน์ตรงนี้ไปให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรม ถ้าการเมืองไทยยังย่ำอยู่กับที่ เราจะไม่สามารถหลุดพ้นตรงนี้ได้เลย” นายกัณวีร์ชี้

นายกัณวีร์กล่าวถึงบทบาทที่รัฐบาลไทยสามารถทำได้คือ 1.พิจารณาเปิดระเบียงมนุษยธรรม (humanitarian corridors) บริเวณชายแดนไทยทั้งหมดติดกับเมียนมา ตั้งแต่ จ.เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก กาญจนบุรี ราชบุรี รวมไปถึงระนอง ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่ ไม่ใช่การชักน้ำเข้าลึก ชักศึกเข้าบ้าน เป็นการเปิดประตูเพื่อให้มีความเป็นไปได้ที่ประเทศไทยจะให้ความช่วยเหลือเรื่องมนุษยธรรมต่อผู้ได้รับผลกระทบ ให้เข้ามาอยู่ตรงนี้

“รัฐบาลไทยควรจะใช้ทุกกลไกลกับทหารเมียนมา ที่จะต้องพูดคุยว่าทหารเมียนมาและไทยมีทั้ง TBC RBC เรามี G2G เราบอกว่า ถ้าเราจะเปิดระเบียงมนุษยธรรมตรงนี้ จากเขตแดนของไทย ข้ามไปในเมียนมาสัก 5 กม. ตรงนี้จะเป็นพื้นที่ปลอดภัยที่จะไม่มีการปฏิบัติหารทางทหาร จำเป็นต้องมีการพูดคัญระหว่างรัฐบาลไทยกับทหารเมียนมา ว่าคุณจำเป็นต้องเปิดประตูระเบียงมนุษยธรรม

“เป็นประเด็นสำคัญที่รัฐบาลไทยจะมีบทบาทสำคัญ ที่จะไปคุยกับทหารเมียนมาโดยใช้กรอบความมือทวิภาคี เรามีความสัมพันธ์ระดับท้องถิ่น ระดับรัฐบาล ทำไมไม่ใช้ตรงนี้ ทำไมปิดกั้นประตูตรงนี้ตอนที่มีปัญหา” นายกัณวีร์กล่าว

นายกัณวีร์กล่าวถึงบทบาทที่ 2. ต้องใช้กรอบ “พหุภาคีด้วย” เพราะการพูดคุยอย่างเดียวไม่เพียงพอ ตนทราบดีว่ามีความพยายามของทุกองค์กร ทุกระดับ ตั้งแต่องค์การสหประชาชาติ สถานเอกอัคราชทูต รัฐบาลต่อรัฐบาล ที่จะมีส่วนร่วมในการสร้างสันติภาพในเมียนมาแต่ไม่มีผล ต้องสร้างพื้นที่ในการหารือ เปิดประตูนี้ก่อน ไทยควรใช้โอกาสนี้พูดคุย

3.บทบาทที่ไทยจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมในการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่างเต็มที่ หากเราสามารถเปิดระเบียงมนุษยธรรมนี้ได้แล้ว เรามีทรัพยากรจำกัด ควรใช้จังหวะนี้เชิญองค์กรต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศเข้าร่วมประชุม ว่าจะทำ 5W ว่าคุณมีทรัพยากรอะไร มีแผนอะไรในการให้ความช่วยเหลือ หากเกิดหตุการณ์ผู้ลี้ภัยทะลักเข้ามา 3 แสนกว่าคนในไทย เราต้องเตรียมความพร้อมก่อน หากมีการโจมตีทางอากาศ ไทยต้องช่วงชิงจังหวะนี้ เป็นผู้นำในการ Coordinate วางแผนไว้ หากเกิดเหตุไทยต้องเป็นผู้นำในการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม

นายกัณวีร์กล่าวต่อว่า สุดท้ายคือ “บทบาทด้านความมั่นคง” ทำอย่างไรไม่ให้ผู้ลี้ภัยเดินทางออกจากประเทศเมียนมา

“เราต้องกระโดดเข้าไปในรองท้าบูตของหทารเมียนมา ว่าเขาคิดอย่างไรต่อบริบทชายแดนของประเทศตัวเอง เขาพยามทำให้สถานการณ์ชายแดนเงียบที่สุด แต่ไม่เคยเงียบ ดังนั้น ไทยสามารถใช้บทบาทนี้สร้างการพูดคุย ตั้งโต๊ะเจรจา โดยเป็นผู้นำ ใช้กรอบอาเซียนก็ได้ คุยกับลาว จีน อินเดีย ว่าจะทำอย่างไรให้สถานการณ์ชายแดนไทยสงบ นี่คือบทบาทของไทยอย่างเร่งด่วน” นายกัณวีร์กล่าว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image