บทนำ : ม.32 มาตราเจ้าปัญหา

บทนำ : ม.32มาตราเจ้าปัญหา พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มาตรา 32 “ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ห้ามแสดงชื่อหรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อันเป็นการอวดอ้างสรรพคุณ หรือชักชวนใจให้ผู้อื่นดื่มโดยตรงหรือโดยอ้อม” ได้รับการพูดถึงอีกครั้ง ภายหลัง นายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล รองประธานสภา โพสต์ภาพในเฟซบุ๊ก มือถือกระป๋องคราฟต์เบียร์ ระบุข้อความ เป็นคราฟต์เบียร์ตัวแรกใน จ.พิษณุโลก ก่อเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่อเรื่องนี้ นายบุญอยู่ ขอพรประเสริฐ อนุกรรมการแก้ไขกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ให้สัมภาษณ์ว่า กรณีนี้เข้าข่ายการแสดงชื่อหรือเครื่องหมาย ทั้งยังมีข้อความระบุของดีพิษณุโลก เป็นคำชักจูงใจ นายปดิพัทธ์เป็นบุคคลที่มีอิทธิพลต่อสังคม โชว์ภาพถือเป็นการจูงใจแล้ว ฉะนั้น ถ้าตีความตามกฎหมาย ถือเป็นความผิด บทลงโทษตาม ม.43 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

พ.ร.บ.ฉบับนี้ออกในสมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ปี 2551 เจตนารมณ์ ป้องกันเยาวชนเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยง่าย จากเดิมเปิดกว้างโฆษณาเหล้าเบียร์เสรี ทั้งนี้ นับแต่บังคับใช้ เกิดผลกระทบต่อทั้งผู้ผลิต และโดยประชาชนทั่วไป เนื่องจากเนื้อหาคลุมเครือ ร้านอาหารที่ใช้กล่องทิชชูและผ้ากันเปื้อนติดโลโก้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เคยถูกจับขณะยังไม่เปิดขาย ถูกตัดสินมีความผิด ร้านบางแห่งอยู่ติดถนน ติดป้ายผ้ากันแดดโลโก้เบียร์ มีความผิด เข้าข่ายโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แบบหนึ่ง ประชาชนทั่วไปโพสต์ภาพคู่กับเครื่องดื่มหลายกรณีถูกจับปรับ เจ้าหน้าที่ใช้ดุลพินิจว่าผิดกฎหมาย เรื่องนี้ประชาชน 11,169 คน เข้าชื่อยื่นแก้ไขต่อสภาผู้แทนราษฎร แต่ไม่สำเร็จ บางส่วนเห็นว่า เมื่อมีกฎหมายห้ามขายสุราเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 พ.ร.บ.นี้ไม่จำเป็น หากใช้ต่อไปจะส่งผลกระทบประชาชนทั่วไปไม่สิ้นสุด

พรรคเพื่อไทยแถลง ในการแยกตัวออกมาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล โดยหนึ่งในนโยบายที่ให้คำมั่นผลักดันควบคู่คือ พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ปลดล็อกทุนผูกขาด เปิดโอกาสประชาชน ผู้ประกอบการขนาดเล็กขนาดกลาง หน้าใหม่ได้เติบโต ทำมาหากินได้อย่างเสรีเมื่อได้เข้ามาเป็นรัฐบาลแล้ว หากได้หยิบยก พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ขึ้นมาพิจารณาด้วยจะเป็นการดี ว่าสมควรต้องทบทวนยกเลิก ปรับปรุงหรือไม่ การห้ามโฆษณานั้นนอกจากไม่ได้ผลตามเจตนารมณ์ออกกฎหมายมากนัก ดังเห็นได้จากตัวเลขการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้นทุกปี ยังกระทบประชาชนทั่วไป อีกทั้งยังเป็นกฎหมายไม่เป็นมิตรกับสุราก้าวหน้า ปิดทางรายใหม่ทำการตลาด สื่อสารผู้บริโภค ไม่ต่างจากเครื่องมือปกป้องผูกขาด เนื่องจากรายใหญ่นั้นเป็นที่รู้จักดีอยู่แล้ว กฎหมายที่ตีกรอบเสรีภาพ การแสดงออก และการทำมาหากินโดยสุจริตของประชาชน ควรได้รับการหยิบยกขึ้นมาทบทวน ยังจำเป็นอยู่หรือไม่