หมายเหตุ – สาระสำคัญร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) บำนาญแห่งชาติ พ.ศ. … ที่พรรคก้าวไกล (ก.ก.) จะเสนอต่อที่สภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 24 สิงหาคมนี้ เพื่อให้มีระบบบำนาญให้เพียงพอต่อการดำรงชีวิตอย่างเหมาะสม มีคุณภาพ ตามศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
ร่างพระราชบัญญัติบำนาญแห่งชาติ พ.ศ. ….
มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติบำนาญแห่งชาติ พ.ศ. …”
มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา 3 ในพระราชบัญญัตินี้
“บำนาญแห่งชาติ” หมายความว่า เงินรายเดือนเป็นบำนาญพื้นฐาน ที่รัฐต้องจัดให้แก่ผู้มีอายุหกสิบปีขึ้นไป เพื่อเป็นหลักประกันรายได้โดยมีจำนวนไม่ต่ำกว่าเส้นความยากจนที่กำหนดโดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
“คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการบำนาญแห่งชาติ
“กรรมการ” หมายความว่า กรรมการบำนาญแห่งชาติ
“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตาพระราชบัญญัตินี้
มาตรา 4 ให้นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกประกาศ คำสั่ง ระเบียบ หรือข้อบังคับ เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ ประกาศ คำสั่ง ระเบียบ หรือข้อบังคับ เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้
หมวด 1 บททั่วไป
มาตรา 5 บุคคลทุกคนที่มีอายุหกสิบปีขึ้นไปให้ได้รับบำนาญแห่งชาติ
การได้รับสิทธิตามพระราชบัญญัตินี้ ไม่ตัดสิทธิประโยชน์ของผู้สูงอายุที่ได้รับบำนาญตามกฎหมายอื่นหรือตามมติคณะรัฐมนตรี
มาตรา 6 รัฐมีหน้าที่จัดบำนาญแห่งชาติ และให้พิจารณากำหนดอัตราบำนาญแห่งชาติทุกสามปี ตามกำหนดเส้นความยากจนของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
หมวด 2 คณะกรรมการบำนาญแห่งชาติ
มาตรา 7 ให้มีคณะกรรมการบำนาญแห่งชาติ ประกอบด้วย
(1) นายกรัฐมนตรี หรือรองนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายคนหนึ่งเป็นประธานกรรมการ
(2) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
(3) ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
(4) ผู้แทนองค์กรเอกชน ซึ่งมีวัตถุประสงค์ที่มิใช่แสวงหาผลกำไร และดำเนินกิจกรรม ดังต่อไปนี้ ด้านละหนึ่งคน
(ก) งานด้านผู้ใช้แรงงาน
(ข) งานด้านผู้สูงอายุ
(ค) งานด้านเด็กและเยาวชน
(ง) งานด้านสตรี
(จ) งานด้านชาติพันธุ์และชนกลุ่มน้อย
(ฉ) งานด้านคนพิการ
(ช) งานด้านเกษตรกร
(ซ) งานด้านผู้ป่วยเรื้อรัง
(ฌ) งานด้านชุมชนแออัด
(ญ) งานด้านสิทธิมนุษยชน
(ฎ) งานด้านกองทุนการออมของชุมชน
(5) ผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนสองคน ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้มีความเชี่ยวชาญประสบการณ์ และผลงานเป็นที่ยอมรับด้านเศรษฐศาสตร์ ด้านรัฐสวัสดิการ เป็นกรรมการ ให้ผู้อำนวยการสำนักงานบำนาญแห่งชาติเป็นกรรมการและเลขานุการ
องค์กรเอกชนตาม (4) ต้องเป็นองค์กรที่ดำเนินกิจกรรมมาไม่น้อยกว่าสองปี มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ และได้มาขึ้นทะเบียนไว้กับสำนักงานก่อนครบกำหนดสิบห้าวัน นับแต่วันที่มีเหตุให้มีการคัดเลือกกรรมการ ถ้าองค์กรใดดำเนินกิจกรรมหลายกลุ่ม ให้ขึ้นทะเบียนเพื่อใช้สิทธิคัดเลือกกรรมการในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น
หลักเกณฑ์และวิธีคัดเลือกผู้แทนองค์กรเอกชนตาม (4) ให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีกำหนด โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ให้กรรมการตาม (1) (2) (3) และ (4) ดำเนินการสรรหาและพิจารณาคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิเสนอให้คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งเป็นกรรมการ
หลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาและพิจารณาคัดเลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามวรรคห้า ให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด
มาตรา 8 กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ต้องมีสัญชาติไทย และไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้
(1) เป็นคนไร้ความสามารถ หรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
(2) เป็นบุคคลล้มละลาย หรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต
(3) เป็นหรือเคยเป็นข้าราชการการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น เว้นแต่จะได้พ้นจากตำแหน่งมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งปี
(4) เป็นหรือเคยเป็นกรรมการ หรือผู้ดำรงตำแหน่งอื่นในพรรคการเมือง หรือเจ้าหน้าที่ของพรรคการเมือง เว้นแต่จะได้พ้นจากตำแหน่งมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งปี
(5) เคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือจากหน่วยงานเอกชน เพราะทุจริตต่อหน้าที่ หรือประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง
มาตรา 9 กรรมการตามมาตรา 7 (4) และ (5) มีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละสี่ปี และอาจได้รับ เลือกหรือแต่งตั้งใหม่อีกได้ แต่จะดำรงตำแหน่งเกินกว่าสองวาระติดต่อกันไม่ได้
เมื่อครบวาระตามวรรคหนึ่ง หากยังมิได้คัดเลือกกรรมการตามมาตรา 7 วรรคหนึ่ง (4) หรือแต่งตั้ง กรรมการตามมาตรา 7 วรรคหนึ่ง (5) ขึ้นใหม่ ให้กรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระนั้น อยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่ากรรมการซึ่งได้รับคัดเลือกหรือแต่งตั้งใหม่เข้ารับหน้าที่ แต่ต้องไม่เกินหกสิบวัน นับตั้งแต่วันที่กรรมการพ้นจากตำแหน่งตามวาระนั้น
ในกรณีกรรมการตามวรรคหนึ่งพ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระ ให้ดำเนินการคัดเลือกหรือแต่งตั้งกรรมการประเภทเดียวกันแทนภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่ตำแหน่งกรรมการนั้นว่างลง และให้ผู้ที่ได้รับคัดเลือกหรือได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งแทน อยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการซึ่งตนแทน
ในกรณีที่วาระของกรรมการที่พ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระเหลืออยู่ไม่ถึงเก้าสิบวันจะไม่ดำเนินการคัดเลือกหรือแต่งตั้งกรรมการแทนตำแหน่งที่ว่างนั้นก็ได้ และในการนี้ ให้คณะกรรมการประกอบด้วยกรรมการเท่าที่เหลืออยู่
มาตรา 10 นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา 9 วรรคหนึ่งแล้ว กรรมการตามมาตรา 7 (4) และ (5) พ้นจากตำแหน่งเมื่อ
(1) ตาย
(2) ลาออก
(3) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 8
(4) คณะรัฐมนตรีให้ออก เพราะบกพร่องหรือทุจริตต่อหน้าที่ มีความประพฤติเสื่อมเสียหรือหย่อนความสามารถ
มาตรา 11 ให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(1) กำหนดนโยบายบำนาญที่เป็นธรรมและยั่งยืนสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง ประชากร เศรษฐกิจ และสังคม ครอบคลุมประชากรทุกกลุ่ม และเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบ
(2) จัดทำแผนแม่บทบำนาญแห่งชาติทุกสามปี เพื่อเป็นทิศทางดำเนินการนโยบายบำนาญแห่งชาติที่เชื่อมโยงบำนาญในทุกประเภท เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบ
(3) พิจารณาอนุมัติแผนงบประมาณประจำปีตามที่สำนักงานเสนอ
(4) กำหนดวิธีการจ่ายบำนาญแห่งชาติ โดยคำนึงถึงความสะดวก ความครอบคลุม การเข้าถึง
(5) กำกับติดตามและตรวจสอบการเบิกจ่ายบำนาญแห่งชาติ
(6) ส่งเสริม สนับสนุน และประสานการบูรณาการข้อมูลของระบบบำนาญทุกระบบ รวมทั้งข้อมูลประชาชนที่ไม่อยู่ในระบบบำนาญ
(7) สรุปสถานการณ์ ปัญหาอุปสรรค แนวทางแก้ไข เสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณา จัดทำรายงานการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง และรายงานให้สภาผู้แทนราษฎรทราบ
(8) ออกประกาศ คำสั่ง ระเบียบ หรือข้อบังคับเพื่อดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้
(9) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อดำเนินการตามที่คณะกรรมการกำหนด
(10) รับและพิจารณาเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการรับเงินบำนาญแห่งชาติตามกำหนดเวลาการได้รับเงินบำนาญแห่งชาติไม่ครบถ้วน
(11) สรรหาและแต่งตั้งผู้อำนวยการสำนักงานบำนาญแห่งชาติ
(12) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่พระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่นกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ หรือตามที่คณะรัฐมนตรีมอบหมาย
แผนแม่บท ประกาศ คำสั่ง ระเบียบ หรือข้อบังคับตามมาตรานี้ เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้
ให้หน่วยงานด้านบำนาญดำเนินการเกี่ยวกับบำนาญและบำนาญพื้นฐานให้สอดคล้องกับแผนแม่บทตามมาตรานี้
มาตรา 12 การประชุมของคณะกรรมการ ต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม
ในการประชุมของคณะกรรมการ ถ้าประธานกรรมการไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้กรรมการที่มาประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม
การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งให้มีหนึ่งเสียงในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด
มาตรา 13 กรรมการผู้ใดมีส่วนได้เสียในเรื่องที่พิจารณา ห้ามมิให้เข้าร่วมพิจารณาในเรื่องนั้น
มาตรา 14 ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้คณะกรรมการมีอำนาจออกคำสั่งเป็น หนังสือ เรียกให้บุคคลผู้เกี่ยวข้องมาให้ถ้อยคำ และให้ส่งเอกสารหรือหลักฐานมาประกอบการพิจารณาได้
มาตรา 15 ให้มีคณะอนุกรรมการเฉพาะด้านเพื่อปฏิบัติหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(1) ให้คำแนะนำปรึกษาต่อคณะกรรมการในการออกประกาศ คำสั่ง ระเบียบ หรือข้อบังคับ
(2) ให้คำแนะนำและข้อเสนอแนะทางวิชาการต่อคณะกรรมการ
(3) ปฏิบัติการอื่นตามที่คณะกรรมการมอบหมาย
มาตรา 16 ในการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเฉพาะด้าน ให้คณะกรรมการแต่งตั้งกรรมการคนหนึ่ง เป็นประธานอนุกรรมการ และแต่งตั้งผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับอำนาจหน้าที่ของอนุกรรมการเฉพาะด้านแต่ละคณะ จำนวนไม่เกินหกคนเป็นอนุกรรมการ
กรรมการคนหนึ่งจะเป็นประธานอนุกรรมการเฉพาะด้านเกินหนึ่งคณะมิได้
ให้แต่งตั้งข้าราชการ ข้าราชการของกระทรวงการคลังเป็นผู้ช่วยเลขานุการได้คณะละไม่เกินสองคน
มาตรา 17 ให้นำมาตรา 9 มาตรา 10 มาตรา 11 มาตรา 13 และมาตรา 14 มาใช้บังคับกับการประชุมคณะอนุกรรมการเฉพาะด้าน การดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่ง และการประชุมของคณะอนุกรรมการเฉพาะด้านโดยอนุโลม
มาตรา 18 ให้กรรมการและอนุกรรมการเฉพาะด้านได้รับประโยชน์ตอบแทนตามที่รัฐมนตรีกำหนดตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ
หมวด 3 บทกําหนดโทษ
มาตรา 19 ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการตามมาตรา 14 มาตรา 15 ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกินหกเดือน ปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 20 ผู้ใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 21 กรณีที่รัฐจ่ายเงินบำนาญพื้นฐานล่าช้า ไม่ครบถ้วน รัฐต้องจ่ายเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยร้อยละสิบห้าต่อปี จนกว่าจะจ่ายครบถ้วน
บทเฉพาะกาล
มาตรา 22 ในระหว่างที่ยังไม่มีคณะกรรมการตามพระราชบัญญัตินี้ ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่ง ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธานกรรมการ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคม แห่งชาติเป็นกรรมการ และให้ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังเป็นกรรมการและเลขานุการ โดยให้ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังแต่งตั้งข้าราชการของสำนักงานเศรษฐกิจการคลังจำนวนไม่เกินสองคนเป็นผู้ช่วยเลขานุการ ทำหน้าที่สรรหาคณะกรรมการตามมาตรา 7 (4) และ (5) ให้เสร็จสิ้นภายในหกสิบวัน นับจากวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
มาตรา 23 ให้คณะกรรมการใช้อำนาจตามมาตรา 11 (8) ประกาศปรับเปลี่ยนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ให้เป็นบำนาญแห่งชาติ ตามมาตรา 6 ภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวัน หลังพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ