ศ.ดร.ชาตรี ปาฐกถา ‘รื้อความทรงจำ’ ลั่นไม่ได้ Save อิฐหินปูนทราย แต่สู้เพื่อจิตวิญญาณ
เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม ที่ห้องประชุม ศร.3004 มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ เขตพระนคร กรุงเทพฯ กลุ่ม Save อโยธยา ร่วมกับ Documentary Club จัดกิจกรรม ชมสารคดี “The Destruction of memory” โดยมี ศ.ดร.ชาตรี ประกิตนนทการ อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.ศิลปากร ปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “รื้อสร้างความทรงจำในเมืองเก่ากรุงเทพฯ”
ในตอนหนึ่ง ศ.ดร.ชาตรีกล่าวว่า ความทรงจำของผู้คนและสังคมที่บอกว่าตัวตนของพวกเขาคือใคร จิตวิญญาณของพวกเขาคือใคร พวกเขามีอุดมการณ์อย่างไร และเมื่อเขาไร้ตัวตน ไร้จิตวิญญาณ ไร้ความหมาย ก็จะถูกลืม
ลักษณะของการรื้อทำลาย มี 3 ประการ
ลักษณะที่หนึ่ง คือการทำลายมรดกวัฒนธรรม เกิดจากความขัดแย้งระหว่างการอนุรักษ์และการพัฒนา ที่มีเงื่อนไขทางเศรษกิจเป็นหลัก ซึ่งจะไม่จัดอยู่ในกรณีที่สารคดีนี้ชี้ประเด็นเรื่อง Cultural genocide ซึ่งมีเงื่อนไขซับซ้อนและความเฉพาะที่ไม่สามารถเปรียบได้ กล่าวคือ มันเป็นความขัดแย้งจากสิ่งที่มีค่าทั้งคู่ระหว่าง “การพัฒนา” และ “การอนุรักษ์” ทางออกของการแก้ปัญหานี้คือการผสานและหาสมดุล 2 อันนี้ด้วยกัน
ถ้าความต้องการในการพัฒนาชนะ สิ่งที่สูญหายไปด้วยคือจิตวิญญาณที่ฝังอยู่ในทโบราณสถานชิ้นนั้น ยกตัวอย่าง เช่น ศาลเจ้าแม่ทับทิม หากมองเงื่อนไขในการรื้อทำลาย ไม่ได้มุ่งเป้าไปที่การทำลายตัวตน ความทรงจำ แต่ไม่ได้เห็นค่ามากพอ เขามองด้วยการพัฒนาในมุมเศรษฐกิจจากทุนนิยมร้อยเปอร์เซ็นต์
“อีกตัวอย่างที่ยกขึ้นมาบ่อยคือ ป้อมมหากาฬ เป็นการสูญเสียบ้านไม้ที่อยู่บริเวณนั้น กรณีนี้มันก็เกิดจากการขัดแย้งของการอนุรักษ์และพัฒนาเช่นเดียวกัน ผนวกกับการมองไม่เห็นค่าของจิตวิญญาณของชาวบ้าน แม้มูลเหตุไม่ใช่ Cultural genocide แต่เป็นการไม่เห็นค่ามากพอ จากการพูดคุยของคนที่ย้ายออกไป แม้เขาไม่ได้ตาย เขามีชีวิตต่อไป แต่อัตลักษณ์ตัวตนของเขาหายไปหมดแล้ว
ฉะนั้น ในหลายกรณี คนที่ย้ายไปอยู่ที่อื่น เขาจะหิ้วความเป็นชุมชนป้อมมหากาฬไปอยู่ในที่ใหม่ด้วย มันเป็นหนทางเดียวที่้ขาจะรู้สึกถึงความเป็นตัวตนของเขาอยู่” ศ.ดร.ชาตรีกล่าว
ศ.ดร.ชาตรีกล่าวว่า กรณีสุดท้าย เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อ 16 ปีที่แล้ว วัดยานนาวา ด้านขวาคือลานจอดรถ มันเป็นลานโล่งๆ ที่เราไม่มีความรู้สึก ความทรงจำอะไร แต่มันเคยเป็นชุมชนซอยหวั่งหลี เคยเป็นท่าเรือ เคยมีโรงหนังฮ่องกงตรงนี้ เคยมีผับบาร์ ความทรงจำบรรจุอยู่ตรงนี้เต็มไปหมด
“เมื่อสิ่งเหล่านี้หาย ความทรงจำชุดนี้ก็หาย แม้ถูกบันทึกในหน้าหนังสือ หน้าข่าวเมื่อ 16 ปีที่แล้ว แต่มันไม่ได้บันทึกโดยคนที่อยู่ในพื้นที่นี้ แม้เขาจะไม่ได้เสียชีวิตทางกายภาพ แต่อัตลักษณ์เขาหายไป เขาอาจจะเดินหน้าสร้างอัตลักษณ์ใหม่ได้ แต่มันก็ไม่เหมือนเดิม เหมือนกับที่เราย้ายไปที่อื่นแล้ว เรารู้สึกแปลกแยก แต่ตรงนี้เขาอยู่มาตลอดชีวิต ผมรู้สึกว่าการสูญเสียนี้มันทรงพลังมาก หลายคนเขาจึงรู้สึกไม่สามารก้าวต่อไปได้” ศ.ดร.ชาตรีกล่าว
ศ.ดร.ชาตรีกล่าวว่า เหตุผล 3 ลักษณะ 1.ความขัดแย้งระหว่างการอนุรักษณ์และพัฒนาโดยตรง กรณีวัดยานนาวา ที่เจ้าของที่ปล่อยให้ทุนใหญ่เข้ามา ทำให้สิ่งที่สูญเสียไปคือจิตวิญญาณและความทรงจำ แม้ผมไม่เห็นด้วย แต่กรณีนี้ก็ไม่สามารถเอาไปเทียบกับสารคดีได้ แต่มนเป็นเรื่องความขัดแย้งการอนุรักษ์และพัฒนา
ศ.ดร.ชาตรีกล่าวต่อไปว่า ประเด็นที่ 2 คือการรื้อสร้างที่มองไม่เห็นคุณค่า มันสัมพันธ์กับกรณีที่ 1 ซึ่งเกิดจากการร่วมมือของนายทุนที่ไม่รู้คุณค่าของชุมชน ซึ่งเคสส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากกรณีข้างต้น
ส่วนกรณีที่ 3 คือการรื้อลบสิ่งก่อสร้างความทรงจำกระแสหลักที่ถูกมองว่าเป็นอันตรายต่อรัฐ มีความใกล้เคียงกับสารคดีที่สุด แต่ระดับความรุนกรงไม่เท่าคือกรณีที่เทียบเคียงได้คือ ปรากฏการณ์รื้อลบและสร้างใหม่ของคณะราษฎร ที่เราเห็นการรื้อลบศิลปะ ย้ายอนุสาวรีย์ของคณะราษฎรหลายปีที่ผ่านมา โดยมีคู่ตรงข้ามสำคัญที่รัฐพยายามผลักดันคือความทรงจำแบบราชาชาตินิยม
“ตลอดกว่า 20 ปีที่ผ่านมา ความทรงจำของราษฎรได้เปลี่ยนคุณค่ามาหลายชุด แต่ตอนนี้การเป็นสัญลักษณ์ของการต่อต้านรัฐประหาร หรือประชาธิปไตยไปแล้ว ซึ่งความทรงจำชุดนี้มันถูกเพ่งเล็งโดยตรงจากภาครัฐและผู้มีอำนาจ” ศ.ดร.ชาตรีกล่าว
ศ.ดร.ชาตรีกล่าวว่า การรื้อจากความตั้งใจ อนุสาวรีย์ปราบกบฏ ตั้งอยู่ในวงเวียนกลับรถ ถูกทิ้งร้างเงียบเหงามานานมาก แต่ไม่มีใครคิดจะรื้อทิ้ง แต่เมื่อกลายมาเป็นตัวแทนของจิตวิญญาณการต่อสู้อะไรบางอย่าง มันจึงถูกรื้ออย่างตั้งใจ ซึ่งเป็นการรื้อจิตวิญญาณบางอย่างออกไป
ศ.ดร.ชาตรีกล่าวอีกว่า หากพูดถึงกรณีอื่นๆ ซึ่งเป็นกรณีล่าสุดคือ การปรับอาคารนิทรรศการรัตนโกสินทร์ ราชดำเนิน จากอาร์ตเดโค มาเป็นนีโอคลาสสิก
“การปรับปรุงอาคารหลังนี้ชัดเจนมา มันไม่ได้เป็นการปรับปรุงตาม Adaptive reuse กล่าวคือ แนวคิดนี้ไม่ได้เป็นการอนุรักษ์แบบ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่สามารถปรับปรุงบางส่วน หรือรื้อบางส่วน โดยอนุรักษณ์คุณค่าบางอย่างไว้ และพัฒนาบางสเปซให้เป็นสมัยใหม่ได้
แต่อาคารนี้ไม่สามารถเรียกอย่างนั้นได้ โดนเฉพาะด้านพื้นที่ใช้สอยภายในก็ถูกปรับ ซึ่งจะเห็นได้ว่ามันไม่ได้ปรับโครงสร้างในระดับสำคัญ เพื่อการตอบรับธุรกิจสมัยใหม่คือตัวนิทรรศการ แต่เป็นการปรับโครงสร้างเปลือกนอกอาคารเท่านั้น ซึ่งเป็นการปรับปรุงเปลือกนอก เพื่อพุ่งตรงไปที่การลบความทรงจำอาร์ตเดโคของคณะราษฎร
เปลือกอาคารมันเริ่มเป็นตัวแทนของการต่อสู้ประชาธิปไตย ไม่รู้ว่ามันเชื่อมโยงแบบนี้ถูกต้องหรือไม่ แต่มันเป็นการรื้อจิตจิญญาณของประชาธิปไตยโดยใช้นีโอคลาสสิกมาแทน” ศ.ดร.ชาตรีกล่าว
ศ.ดร.ชาตรีกล่าวด้วยว่า หากมองในแง่ร้าย การรื้อแบบนี้จะถูกทำไปเรื่อยๆ แม้แต่ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ก็อาจจะโดน ซึ่งตอนนี้ถนนราชดำเนินอยู่ในภาวะวิกฤตที่สุด และใกล้เคียงกับ Culture genocide
ศ.ดร.ชาตรีกล่าวทิ้งท้ายว่า ตัวอย่างคร่าวๆ ที่พูดมา สรุปว่าการต่อสู้เพื่อรักษาโบราณสถาน โบราณคดี ที่แม้ว่าไม่ได้ขึ้นทะเบียนโบราณสถาน เราไม่ได้ต่อสู้เพื่ออิฐ หิน ปูน ทรายของมัน แต่เราต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ และจิตวิญญาณที่ฝังอยู่ในนั้นต่างหาก
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- เมืองอโยธยา สุ่มเสี่ยงสาบสูญ จากรถไฟความเร็วสูง โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ