การประชุมรัฐสภาวันที่ 22 สิงหาคมนี้ มีวาระสำคัญเดิมพันอนาคตการเมืองของพรรคเพื่อไทย (พท.) คือ การลงมติคัดเลือกบุคคลที่เหมาะสมดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ที่พรรค พท. ในฐานะพรรคแกนนำรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาล 314 เสียง ที่มีพรรค 2 ลุง อย่างพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และพรรครวมไทยสร้างชาติ(รทสช.) ร่วมฟอร์มคณะรัฐมนตรี (ครม.) กับอีก 8 พรรคที่เหลือ คือ พรรคภูมิใจไทย (ภท.) 71 เสียงพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) 10 เสียง พรรคประชาชาติ (ปช.) 9 เสียง พรรคชาติพัฒนากล้า (ชพก.) 2 เสียง พรรคเพื่อไทรวมพลัง (พทล.) 2 เสียง พรรคเสรีรวมไทย (สร.) 1 เสียง พรรคพลังสังคมใหม่ 1 เสียง พรรคท้องที่ไทย 1 เสียง โดยปราศจากเงื่อนไข ทั้งการรวมเสียง ส.ส.ที่ได้จำนวนเป็นเสียงข้างมากของสภา ถึง 314 เสียง ไม่มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และไม่มีพรรคก้าวไกล (ก.ก.) เข้าร่วมรัฐบาลทั้งทางพฤตินัยและนิตินัย
อันเป็นเงื่อนไขที่ช่วยลดความไม่สบายใจของ 249 ส.ว. ในการยกเป็นเหตุผลหลักต่อการโหวตเลือกนายกฯ สถานการณ์ดูเหมือนจะเข้าทาง และเป็นงานไม่ยาก สำหรับแกนนำจัดตั้งรัฐบาลอย่างพรรค พท. ในการแสวงหาแนวร่วมจากฝั่งวุฒิสภา อีกเพียงอย่างน้อย 60 คน มาร่วมโหวต ให้ได้เสียงไม่ต่ำกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกรัฐสภาเท่าที่มีอยู่ 374 เสียง ประกอบด้วย ส.ส. 498 คน และ ส.ว. 249 คน ตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 272 วรรคแรก กำหนดไว้ เพื่อส่งให้ เศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ขึ้นเป็นนายกฯคนที่ 30 ตามเป้าหมาย
ยิ่งเมื่อเทียบเคียงจากสัญญาณของ ส.ว. 13 คน ได้แก่ ศ.เกียรติคุณ นพ.ไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา นายเฉลา พวงมาลัย นายซากีย์ พิทักษ์คุมพล พล.ต.ท.ณัฏฐวัฒก์ รอดบางยาง นางประภาศรี สุฉันทบุตร นายพิศาล มาณวพัฒน์ นายพีระศักดิ์ พอจิต นายมณเฑียร บุญตัน นายวันชัย สอนศิริ นายวุฒิพันธุ์ วิชัยรัตน์ นายสุรเดช จิรัฐิติเจริญ และ นพ.อำพล จินดาวัฒนะ ที่เคยโหวตสนับสนุน พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรค ก.ก. เป็นแคนดิเดตนายกฯในการประชุมรัฐสภา เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคมที่ผ่านมา
หากจะอนุมานว่าทั้ง 13 ส.ว.ที่เคยโหวตสนับสนุน “พิธา” เป็นนายกฯย่อมจะต้องยึดจุดยืนและหลักการเดิมของตัวในการสนับสนุน “เศรษฐา” เช่นเดียวกัน นั่นเท่ากับว่า พรรค พท.และพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลจะต้องออกแรงหา ส.ว.อีกอย่างน้อย 47 เสียง มาปิดจ๊อบโหวตเลือกแคนดิเดตนายกฯ ให้สำเร็จ ดูจากจำนวนตัวเลข น่าจะเป็นงานง่าย
ทั้งจากกลุ่ม ส.ว.ที่พอใจกับการไม่มีเงื่อนไขแก้มาตรา 112 กลุ่มที่จะโหวตให้พรรคที่รวมเสียงข้างมากได้ และกลุ่มที่เห็นว่าสถานการณ์การรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาลเริ่มคลี่คลาย ที่จะโหวตให้กับแคนดิเดตนายกฯของพรรค พท.
ขณะที่ ส.ว.ในกลุ่มสายตรง 2 ลุง ยังออกมาส่งสัญญาณต่อการไม่ยอมโหวต “เศรษฐา” แคนดิเดตนายกฯของพรรค พท. หากยังไม่เคลียร์ข้อสงสัย ในประเด็นเรื่องการซื้อขายที่ดิน เมื่อครั้งเป็นซีอีโอ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) โดยเฉพาะข้อกล่าวหาในประเด็นเรื่องนอมินีการซื้อขายที่ดิน โดยต้องการให้ “เศรษฐา” มาชี้แจงข้อกล่าวหาดังกล่าว พร้อมกับยืนยันด้วยตัวเองว่าจะไม่มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หากพรรค พท.ได้จัดตั้งรัฐบาล ต่อที่ประชุมรัฐสภา
จากนี้ไปจนถึงการโหวตเลือกแคนดิเดตนายกฯวันที่ 22 สิงหาคม สิ่งที่พรรค พท.และพรรคร่วมรัฐบาล จะต้องดำเนินการ คือ การเดินหน้าเจรจาเสียงสนับสนุนจาก ส.ว. ให้ได้ไม่ต่ำกว่า 60 คน จาก 249 คน ให้อยู่ในสถานะ “ชัวร์” ที่สุด ต่อการเสนอชื่อ “เศรษฐา” เป็น แคนดิเดตนายกฯที่มีคำตอบเดียว คือ ต้องผ่านเท่านั้น
จะเกิดเหตุแทรกซ้อนไม่ได้ เนื่องจากจะไม่สามารถเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯเดิมซ้ำต่อที่ประชุมรัฐสภาได้ เพราะมีมติของที่ประชุมรัฐสภา เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคมที่ผ่านมา เป็นบรรทัดฐานไว้ว่า ห้ามเสนอญัตติซ้ำ ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ.2563 ข้อ 41 เช่นเดียวกับ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” แคนดิเดตนายกฯของพรรค ก.ก. ที่ได้โอกาสโหวตลุ้นเก้าอี้นายกฯเพียงรอบเดียว