09.00 INDEX จาก#หมูกระทะ สู่#ภาษีกู หงุดหงิด ต่อ รองประธานฯ
ปฏิกิริยาอันตามมาจากสถานการณ์#หมูกระทะ สะท้อนให้เห็นแรงกระเพื่อมทั้งในทาง “ความคิด” และในทาง “การเมือง” อย่างคมแหลมเป็นพิเศษ
หากมิใช่เป็นความริเริ่มจาก “รองประธานสภา” อันมาจากพรรคก้าวไกล “ปฏิกิริยา” คงไม่กว้างไกลไพศาลระดับนี้
น่าสนใจก็ตรงที่ไม่เพียงแฝงกลิ่นอายแห่งความเป็นพันธมิตร ประชาชน เพื่อประชาธิปไตย ประสานมากับความเป็นมวลมหาประชาชนกกปส.
หากแต่สามารถประมวลได้เป็นกลุ่มความคิดอันเป็นตัวแทนแบบพรรคประชาธิปัตย์ อันเป็นตัวแทนแห่งพรรคภูมิใจไทย ผนวกเข้ากับตัวแทนแบบพรรคเพื่อไทยได้อย่างกลมกลืน
ไม่ว่าจะมองผ่าน#ภาษีกู ไม่ว่าจะมองผ่าน#หมออ๋อง ไม่ว่าจะมองผ่าน #หมูกระทะ สามารถประชันกับ #ทักษิณกลับไทย และ#ชลน่านจะลาออกกี่โมง
นั่นย่อมเป็นเสียงสะท้อนผ่านเทรนด์แห่งทวิตเตอร์ ผ่านวิวาทะแห่งช่องทางเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม สร้างความคึกคักเป็นอย่างสูงให้กับคำว่า “งบรับรอง”
เกิดคำถามว่าสถานการณ์#หมูกระทะเคยเกิดขึ้นหรือไม่
กล่าวในทางรูปแบบการเลี้ยงหมูกระทะผ่าน”งบรับรอง”อาจไม่เคยเกิดขึ้นในยุทธจักรการเมือง แต่ก็ต้องยอมรับว่าสถานการณ์ที่ใกล้เคียงกันนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้ว
อย่างน้อยในเดือนธันวาคม 2563 นายชวน หลีกภัย ก็เคยเลี้ยงพนักงานทำความสะอาด พนักงานจ้างเหมาบริการ พร้อมกับมอบกล่องอาหารเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับ 166 คน
อย่างน้อยการจัดเลี้ยง “พนักงาน” โดยใช้งบประมาณของทางราชการ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ก็กระทำอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เข้าดำรงตำแน่งเป็นผู้ว่าฯกทม.
คำถามก็คือ การกระทำของ นายชวน หลีกภัย ในฐานะประธานสภา การกระทำของ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ในฐานะผูว่าฯกทม.เหตุใดจึงไม่เกิด “ปฏิกิริยา”
แต่เมื่อเป็นของ นายปดิพัทธ์ สันติธาดา จึงเป็น “ประเด็น”
ต้องยอมรับว่าพลันที่#ภาษีกู ได้รับการหยิบเข้ามาเพื่อเป็นช่องทางแห่งการแสดง “ปฏิกิริยา” ไม่ว่าจาก #หมออ๋อง ไม่ว่าจาก #หมูกระทะก็ได้กลายเป็นคำถาม
เห็นด้วยหรือไม่กับการเปิดเผย “งบเลี้ยงรับรอง” ขึ้น
เป็นการตั้งข้อสงสัยต่อเจตนาของ นายปดิพัทธ์ สันติธาดา เป็นการต่อยอดจาก “ปฏิกิริยา” ทั้งที่เห็นชอบด้วยและไม่เห็นชอบด้วย
โยงยาวไปยังระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจ่ายเงินค่ารองรับในตำแหน่งประธานวุฒิสภา พ.ศ.2536