09.00 INDEX : แนวโน้ม ปรองดอง การเมือง โดยมี “เลือกตั้ง” เป็น”จุดร่วม”

 

ไม่ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จากเพื่อไทย ไม่ว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จากประชาธิปัตย์

ล้วนร้องเพลง “เดียวกัน”

1 เป็นบทเพลง”สวัสดีปีใหม่” และ 1 เป็นบทเพลงว่าด้วย”การ เลือกตั้ง” ตาม “โรดแมป”

Advertisement

เป็นเรื่องแปลก มีความน่าสนใจ

ไม่ว่า นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล จากชาติไทยพัฒนา ไม่ว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล จากภูมิใจไทย

ล้วนร้องเพลง “เดียวกัน”

Advertisement

1 เป็นบทเพลง “สวัสดีปีใหม่” และ 1 เป็นบทเพลงว่าด้วย”การเลือกตั้ง”ตาม”โรดแมป”

เป็นเรื่องแปลก มีความน่าสนใจ

หากมองจากพื้นฐานแห่งเพลง”สวัสดีปีใหม่” ปี 2560 จึงเป็นปีแห่งความหวัง

และ “ความหวัง” นั้นคือ “การเลือกตั้ง”

 

การที่ “นักการเมือง” อย่าง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร การที่ “นักการเมือง” อย่าง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

เอ่ยถึง “การเลือกตั้ง”

เป็นสิ่งที่สามารถเข้าใจได้ มิได้เป็นเรื่องแปลกหรือน่าประหลาดใจ

แต่ที่ไม่ควรมองข้ามก็คือ เป็นไปได้อย่างไร

เป็นไปได้อย่างไรที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะร้องเพลงเดียวกันกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ก็ 2 คนนี้เป็น”คู่แข่ง”ทางการเมือง มิใช่หรือ

ยิ่งกว่านั้น บทเพลงจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร บทเพลง จาก นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยังเป็นบทเพลงเดียวกันกับที่ นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล และ นายอนุทิน ชาญวีรกูล ร้อง

นั่นก็คือ บทเพลงว่าด้วย “การเลือกตั้ง”

นี่คือการปรองดองและสมานฉันท์อันยิ่งใหญ่ของเหล่า “นัก การเมือง”

นี่ย่อมเป็นเรื่อง “น่ารัก”ในทาง “การเมือง”

 

เรื่อง “น่ารัก” ระหว่าง“นักการเมือง”ต่างพรรค อาจกลายเป็นเรื่อง “น่าเกลียด” ขึ้นโดยพลัน

หากมองจาก “อีกฝ่าย”

นั่นก็คือ ฝ่ายที่ไม่อยากเห็นความปรองดองของ”นักการเมือง”และระหว่าง”พรรคการเมือง”

อันกลายเป็นข้ออ้างในเรื่อง “รัฐประหาร”

ไม่ว่าจะเป็นรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 ไม่ว่าจะเป็นรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

เพราะได้”ประโยชน์”จากความไม่ปรองดองนี้

1 ได้ประโยชน์จากความขัดแย้ง 1 ได้ประโยชน์จากการไม่ให้ กระบวนการเลือกตั้งดำเนินไปตามปกติ

ใครกันเล่าที่ไม่อยากให้มี”การเลือกตั้ง”

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image