หลักเสียงข้างมาก
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา มีคำสั่งให้นัดประชุมร่วมกันของรัฐสภา ในวันอังคารที่ 22 สิงหาคม 2566 เวลา 10.00 น. โดยมีวาระการประชุม สำคัญเร่งด่วน เรื่องที่ 1 พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เรื่องด่วนที่ 2 ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่…) พ.ศ. … (ยกเลิกมาตรา 272) โดยนายชัยธวัช ตุลาธน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) กับคณะเป็นผู้เสนอ ทั้งนี้ วาระสำคัญเร่งด่วนเรื่องแรกนั้น เป็นการพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นครั้งที่สาม ครั้งแรกนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกล เสียงเห็นชอบไม่ถึงเกณฑ์ตัดสิน ครั้งที่สองรัฐสภาลงมติว่าไม่สามารถเสนอชื่อนายพิธาซ้ำได้
การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ในวันอังคารที่ 22 สิงหาคมนี้ พรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นแกนนำรวบรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาล จะเสนอชื่อนายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี เพื่อให้พิจารณาให้ความเห็นชอบแต่งตั้ง โดยพรรคเพื่อไทยรวบรวมเสียง ส.ส.ได้เป็นเสียงข้างมากของสภาผู้แทนราษฎร นายภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ก่อนหน้านี้ว่า พรรคเตรียมการแถลง ร่วมกับทุกพรรคที่จะมาร่วมรัฐบาลอย่างเป็นทางการอีกครั้งก่อนโหวตนายกรัฐมนตรีในวันที่ 22 สิงหาคม ขณะนี้พรรค สามารถรวมเสียงพรรคการเมืองที่สนับสนุนแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยได้แล้ว 314 เสียง
การประชุมร่วมกันของรัฐสภาวาระโหวตเลือก
นายกฯ ครั้งแรก นายพิธาได้รับเสียงเห็นชอบ 324 เสียง ไม่มากกว่ากึ่งของสมาชิกทั้ง 2 สภา ถือว่ารัฐสภามีมติไม่เห็นชอบการแต่งตั้ง แม้ว่าครั้งนั้น พรรคก้าวไกลซึ่งเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล รวบรวมเสียงสนับสนุนเป็นเสียงข้างมากของสภาล่าง 312 เสียงก็ตาม แต่ ส.ว.ส่วนใหญ่งดออกเสียง และไม่เห็นชอบ ทำให้นายพิธาไม่ได้รับแต่งตั้ง การโหวตเลือกนายกฯครั้งที่สามนี้ ส.ว.ยังเป็นตัวแปรสำคัญ มีการคาดการณ์กันว่า เมื่อพรรคพลังประชารัฐและรวมไทยสร้างชาติเข้าร่วมรัฐบาล ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งของกลไก คสช.จะโหวตเห็นชอบแคนดิเดตนายกฯพรรคเพื่อไทย ขณะที่ ส.ว.หลายคนให้สัมภาษณ์ถึงจุดยืน พร้อมเห็นชอบ ยึดตามเสียงข้างมากของสภาผู้แทนราษฎร ยึดมั่นในหลักประชาธิปไตย ที่ให้ความสำคัญกับเสียงข้างมากซึ่งเป็นเรื่องถูกต้องชอบธรรม หลักเสียงข้างมากนี้ ควรเป็นมาตรฐานเดียว ไม่นำเรื่องอื่นมาเป็นข้ออ้าง ทำลายหลักเสียงข้างมาก ลดค่าระบอบการปกครองโดยประชาชนส่วนใหญ่