‘ธงทอง จันทรางศุ’ โหมโรง ‘ยุติ-ธรรม’

‘ธงทอง จันทรางศุ’ โหมโรง‘ยุติ-ธรรม’

‘ธงทอง จันทรางศุ’ โหมโรง ‘ยุติ-ธรรม’

หมายเหตุ – ศ.พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ ศาสตราภิชานประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอดีตคณบดี ให้สัมภาษณ์พิเศษมติชนโหมโรงก่อนขึ้นเวที “Talks for Thailand รัฐ ลวง ลึก” ในหัวข้อ ยุติ-ธรรม วันที่ 23 สิงหาคม ที่โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ รางน้ำ กรุงเทพฯ

ความหมายแฝงของหัวข้อเสวนา ยุติ-ธรรม ที่จะพูดบนเวทีงาน รัฐ ลวง ลึก ในวันที่ 23 สิงหาคมนี้ ที่โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ รางน้ำ กรุงเทพฯ ว่ายุติธรรม หรือความยุติธรรม แปลเป็นภาษาฝรั่งตามที่ทุกคนรู้จัก คือคำว่า Justice มันคือสภาวะอุดมคติอย่างหนึ่งที่คนอยากจะไปถึง หรือเป็นสภาวะของการได้ข้อสรุปของเรื่องราว ที่ตัวเองมีความเห็นแตกต่างกัน มีข้อพิพาทกัน และเป็นข้อสรุปที่สอดคล้องกับความเป็นธรรม เราเรียกว่า ยุติธรรม

เรื่องของความยุติธรรม ถึงแม้จะมีความเป็นนามธรรมมาก แต่ยิ่งนับวันผมรู้สึกว่า เรื่องนี้มีความสำคัญ มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ไม่ใช่น้อย อย่าไปนึกว่ามนุษย์ต้องการเพียงแค่ปัจจัย 4 ที่เราเรียนรู้มาตั้งแต่เด็ก เรื่องของยุติธรรมเป็นลมหายใจของมนุษย์ จะพบว่าในหลายประเทศ หลายกรณี รวมถึงบ้านเราด้วย เมื่อใดก็ตามที่ไม่เกิดความยุติธรรมขึ้น จะรู้สึกว่าผู้คนกระวนกระวายมาก บางคนอาจจะรู้สึกถึงขนาดว่ามันไปกระทบเสรีภาพในชีวิตร่างกายเขาด้วยซ้ำไป หรือการสูญเสียทรัพย์สินหลายสิ่งหลายอย่าง ซึ่งหลายคนยอมที่จะเป็นผู้ลี้ภัยไปต่างประเทศ จะเห็นได้ว่าความยุติธรรมถ้าไม่มีเมื่อไหร่มันก็เดือดร้อน

Advertisement

หัวข้อที่ผมเป็นผู้พูดในคราวนี้ใช้คำว่า ยุติ-ธรรม โดยมีขีดตรงกลางระหว่างคำว่ายุติ กับ ธรรม มันมีความหมายที่ซ้อนความลงไปเป็นการตั้งคำถามว่า กระบวนการยุติธรรม หรือความยุติธรรมในประเทศไทยมันเป็นที่ยุติไปแล้วใช่หรือไม่ ยุติแปลว่า จบเห่ไปแล้วล่ะมั้ง เพราะว่าในหลายปีที่ผ่านมาเป็นคำถามที่อบอวลอยู่ในสังคมไทยของเรา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของตัวบทกฎหมาย ไล่ตั้งแต่รัฐธรรมนูญลงมา

คำว่า ยุติธรรม อาจจะไม่ได้แปลตรงแค่สารัตถะเท่านั้น มันหมายถึงกระบวนการได้มาซึ่งกฎหมาย ประชาชนมีส่วน มีเสียง มีโอกาสที่จะให้ความเห็นประกอบการร่างพิจารณาร่างกฎหมายนั้น หลายฉบับจะเห็นได้ชัดถ้าเป็นกฎหมายที่ออกมาในเวลาของการรัฐประหาร กฎหมายเหล่านั้นอ้างว่าเป็นกฎหมายอ้างไปเถิด แต่ใครจะเห็นว่าสิ่งเหล่านั้นมีคุณค่าทางด้านกฎหมายที่แท้จริงหรือไม่ มีสัญลักษณ์คำถามตัวโตๆ อยู่เลย คือกฎหมายหลายอย่าง ที่ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่ถูกท้าทายจากสังคมในปัจจุบัน กฎหมายที่กำลังพูดอยู่ในสังคมเวลานี้ กฎหมายใหม่ๆ เรื่องของสังคม เรื่องของเศรษฐกิจหลายอย่าง เป็นเรื่องที่ต้องการคำตอบใหม่ๆ เช่น อากาศสะอาด สมรสเท่าเทียม สุราก้าวหน้า และอีกอย่างที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ ผมว่าเวลานี้คำว่ากฎหมายเองถูกท้าทายว่า ยุติธรรมจริงหรือ

ส่วนต่อมา คือ กระบวนการทางกฎหมาย ซึ่งกฎหมายเป็นแผ่นกระดาษวางอยู่บนหิ้ง บนชั้นมันไม่มีฤทธิ์เดชอะไรหรอก เพราะมีกระบวนการยุติธรรมของเรา พูดชื่อคำว่าศาลขึ้นมา ศาลนานาชนิดในเวลานี้ ในความรู้สึกของประชาชนรู้สึกอย่างไร ผมคิดว่าเรื่องนี้ถามผมคนเดียวไม่ได้ ต้องถามชาวบ้านด้วยว่ารู้สึกอย่างไร ไม่ใช่แค่ศาล ผมพูดถึงทนายความ อัยการ ผู้พิพากษา กระบวนการบังคับโทษในทางอาญา ทางแพ่ง บังคับคดีราชทัณฑ์ สิ่งเหล่านี้พูดกันไพเราะ คือ สิ่งเหล่านี้ยังมีโอกาสที่จะพัฒนาได้อีกมาก ซึ่งอันนี้แปลว่า มันยังด้อยพัฒนาอยู่ เรายังสามารถที่จะพัฒนาต่อไปได้ เพื่อที่จะยกระดับการทำงานในกระบวนการยุติธรรมให้มันตอบสนองความต้องการของผู้คน

Advertisement

เมื่อพูดถึงผู้คนที่อยู่ในกระบวนการบังคับใช้กฎหมายแล้ว อีกส่วนหนึ่งที่ไม่น่าจะละเลย คือ การผลิตคนป้อนเข้าสู่กระบวนการตรงนี้ การจัดการด้านการศึกษากฎหมายในบ้านเรา กระบวนการคัดเลือกคนเข้าสู่ตำแหน่งแห่งหนทั้งหลาย อย่างเป็นผู้พิพากษา มีคำถามเกิดขึ้นอยู่ เรื่องสนามเล็ก สนามใหญ่ มีเฉพาะเพียงคนที่มีฐานานุรูปตามสมควร มีปัญญาไปเรียนต่างประเทศได้ กลับมาสอบเป็นผู้พิพากษา เมื่อดูนามสกุลจะคล้ายๆ กับนามสกุลของพ่อ อันนี้เป็นเรื่องแต่ก่อน ถ้าจะมีนามสกุลใหม่ๆ ใครจะฟันฝ่าเข้าตรงไปได้หรือไม่

โรงเรียนกฎหมายของเราสอนอะไรบ้าง ได้กล่าวถึงได้พูดกันถึงเรื่องความยุติธรรมเพียงใดแค่ไหน สิ่งนี้คือเรื่องที่ถ้าคุยกันในรายละเอียด คงจะไปได้อีกไกล มีตัวอย่าง มีประเด็นที่จะช่วยกันขบคิดได้ ผมคงไม่ใช่คนเดียวที่เป็นคนคิดได้ทะลุปรุโปร่ง แต่ช่วยกันคิดจะดี การพูดในเวทีนี้ผมมุ่งที่จะตั้งคำถามสำหรับคนที่อยู่ในห้องประชุมของเรา ทางบ้าน หรือฟังออนไลน์ก็ดี คุณเห็นว่า ธรรมตอนนี้เป็นที่ยุติแล้วหรือยัง หรือยังมีชีวิตรอดอยู่ ผมคิดว่าคำถามนี้ต้องช่วยกันแสวงหาคำตอบ

สำหรับคนที่มาฟัง ถ้าพูดถึงในแวดวงที่จำกัดหน่อย อาจจะพูดถึงคนที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรม ตัวบุคลากรทั้งหลายที่อยู่ในกระบวนการ มีอยู่เป็นแสน แค่ตำรวจก็สองแสน ผู้พิพากษาเป็นพัน อัยการ ครูบาอาจารย์สอนกฎหมาย แต่ผมคิดว่าคนที่จะมาช่วยกันแสวงหาคำตอบในเรื่องนี้ ไม่ได้จำกัดอยู่แค่คนที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมเท่านั้น แต่ประชาชนต่างหากที่เป็นผู้รับผล ไม่ว่าจะเป็นผลดี หรือผลร้าย อันเนื่องมาจากกระบวนการยุติธรรม ไม่ควรจะนั่งนิ่ง เพราะสิ่งนั้นจะมาถึงเนื้อถึงตัว ถึงชีวิตเรา ถึงสมบัติ ถึงอนาคตของเรา ถึงลูกหลานของพวกเรา ตกลงทุกคนฟังได้ และทุกคนควรจะฟังด้วย

ผู้ฟังสามารถเป็นประชาชนทุกคนไม่ว่าจะเสื้อสีไหน ผมคิดว่าสีมันยังเปลี่ยนได้เลยนะ ผมไม่ได้จำกัดจำเขี่ยว่าจะต้องเป็นสีใดสีหนึ่ง ผมคิดว่าประเทศนี้เป็นของประชาชนเสมอกัน และจงคิดถึงเรื่องความยุติธรรมในประเทศของเราให้อย่างหนัก ดังนั้น ความยุติธรรมเป็นเรื่องของทุกคน ไม่มีใครเป็นเจ้าของความยุติธรรม ไม่ใช่ผู้พิพากษาเป็นคนขีดเส้น หรือวาดรูปให้เราดูว่า นี่ไง ความยุติธรรมของเรา ถ้าท่านวาดมันเป็นของท่าน ถ้ามันเป็นของเรา เราต้องมีส่วนในการสร้างกระบวนการตรงนี้ด้วย

หากมาฟังเสวนาเวทีนี้ จะถูกจุดประกายความคิด และผมคิดว่าความคิดนี้ก็เหมือนเทียน หรือไฟฟ้า เมื่อมันสว่างขึ้นแล้ว ที่มันสำคัญ คือ มันไล่ความมืดดำ ความคลุมเครือให้หายไป ถ้าหากว่าห้องที่เราพูดคุยกัน เรานั่งคุยกันอยู่อย่างนี้ อย่างน้อยมันเป็นเทียนหนึ่งเล่ม เป็นไฟฟ้าหนึ่งหลอด มันคงไม่จบเพียงแค่ในห้องประชุมเท่านั้น แต่หวังว่ามันจะมีการถ่ายทอดความคิดเหล่านี้ มีการขบคิด มีการนำไปทำให้เกิดความเป็นจริงในวันข้างหน้า ที่คำว่าความยุติ-ธรรม ซึ่งมีขีดอยู่ตรงกลาง วันนั้นมันจะหายไป เหลือแต่คำว่า ยุติธรรม คำเดียวที่ไม่มีขีดอยู่ตรงกลางอีกต่อไป

กิจกรรมที่มติชนจัดขึ้นคราวนี้ รัฐ ลวง ลึก มีหลายมิติ หลายแง่มุม เช่น สถานการณ์การเมืองที่เป็นปัจจุบัน การวิเคราะห์เชิงวิชาการในแง่มุมต่างๆ ของสิ่งที่เป็นภาวการณ์ ที่เราพบเห็นอยู่ในทุกเมื่อเชื่อวัน คิดว่าทุกคนแสวงหาคำตอบเหมือนกันว่า เราจะมีวันพรุ่งนี้ วันมะรืนนี้ที่ดีกว่าวันนี้ ได้บ้างหรือไม่ เวทีนี้น่าจะเป็นเครื่องช่วยในการแสวงหาคำตอบเหล่านั้น อย่างน้อยก็เป็นหนึ่งวันที่เรามาอยู่ด้วยกัน

ผมคิดว่าการกำหนดประเด็นในเวทีการเสวนาครั้งนี้ กว้างขวาง ครอบคลุมเรื่องราว ที่อยู่ในความสนใจของผู้คนจำนวนมาก และมีคนที่มาเป็นวิทยากร ซึ่งเป็นนักวิชาการหลายวัย วัยที่เป็นกลางคนก็มี มีวัยที่เป็นรุ่นลูกก็เห็นจะได้ ถ้าเป็นรุ่นพี่ผมก็ยังมีอยู่ เช่น รศ.สุขุม นวลสกุล เป็นต้น การที่มีคนหลายๆ วัยมาอยู่ด้วยกัน ในเวทีเดียวกันและเป็นกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องถึงกัน คิดว่าน่าจะเป็นภาพจำลองของเมืองไทยได้ เพราะเมืองไทยทุกวันนี้เราไม่ค่อยได้มีโอกาส หรือมีพื้นที่ที่เปิดกว้าง สำหรับคนต่างวัย ต่างความเห็น ที่มีมามีบทบาทในการพูดคุยกัน เวทีนี้อาจจะเป็นภาพจำลองของเวทีที่ทำให้คนต่างวัยมาพูดคุย แลกเปลี่ยนกันได้ ท่านก็คงไม่ควรจะพลาดที่จะมาเป็นส่วนหนึ่งของเวที

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image