บทนำ : รัฐสภานำร่อง

บทนำวันพฤหัสบดีที่24สิงหาคม2566 : รัฐสภานำร่อง

หลังจากนายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 ตัดสินใจใช้งบรับรองเลี้ยงหมูกระทะแม่บ้านรัฐสภา กระทั่งทำให้หลายฝ่ายออกมาแสดงความคิดเห็น ทั้งที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วย โดยนายปดิพัทธ์ยืนยันว่า ก่อนตัดสินใจได้ปรึกษาฝ่ายกฎหมายของรัฐสภาแล้ว ได้รับคำแนะนำว่าสามารถทำได้จึงดำเนินการ และได้ดำเนินการอย่างเปิดเผย บอกว่าใช้งบรับรองไปเพื่อเลี้ยงอาหารแม่บ้าน

ต่อมาได้เกิดกระแสการเปิดเผยการใช้งบรับรองของผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ หรือฝ่ายตุลาการ เพื่อแสดงความโปร่งใสในการใช้ภาษีของประชาชน และตรวจสอบว่าการเบิกใช้นั้นถูกต้อง หรือผิดเพี้ยนจากเป้าหมาย หรือใช้แล้วได้ผลคุ้มค่ามากน้อยเพียงใด ซึ่งการเปิดเผยการใช้งบประมาณ และเปิดเผยถึงการทำงานต่างๆ ของรัฐสภา นายปดิพัทธ์เคยแสดงเจตนาว่า ต้องการเห็นรัฐสภาโปร่งใส ซึ่งแนวคิดดังกล่าวน่าจะสอดคล้องกับหลักการ Open Government

ข้อมูลจากหอสมุดรัฐสภาระบุองค์ประกอบของ รัฐบาลเปิด หรือ Open Government จำนวน 4 หลักการสำคัญ ได้แก่ 1.ความโปร่งใส คือ เผยแพร่ข้อมูลทั้งเชิงรุกและเชิงโต้ตอบอย่างเปิดเผย รวมทั้งการเปิดโอกาสให้ประชาชน หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในการตัดสินใจต่อนโยบายสาธารณะอย่างโปร่งใส 2.ความซื่อสัตย์ คือ มีการจัดทำแนวทางการดำเนินงานและการยึดมั่นในคุณธรรมจริยธรรมร่วมกันบนหลักการและบรรทัดฐานที่ให้ความสำคัญกับการรักษาผลประโยชน์สาธารณะมากกว่าประโยชน์ส่วนตัว

3.ความรับผิดชอบ คือ มีความรับผิดชอบในหน้าที่ ทั้งในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐ และผู้มีอำนาจในการเปิดเผยข้อมูล รวมทั้งมีความรับผิดชอบต่อการปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่ของตน 4.การมีส่วนร่วมของประชาชนหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย คือ ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและออกแบบการบริการสาธารณะ รวมทั้งการมีส่วนร่วมในการเก็บข้อมูลเบื้องต้น ตลอดจนการเสนอแนะต่อนโยบายด้านต่างๆ

ADVERTISMENT

ข้อเสนอให้เปิดเผยการใช้งบประมาณทั้งฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ ทั้งที่กำลังปฏิบัติหน้าที่ และที่เคยปฏิบัติหน้าที่มาในอดีตจึงเป็นสิ่งที่ไม่มีอะไรน่ากีดกั้น รวมถึงการใช้งบประมาณอื่นๆ ที่นำภาษีของประชาชนไปใช้จ่าย โดยรัฐสภาซึ่งถือเป็นองค์กรที่มีตัวแทนของประชาชนเป็นสมาชิกมากที่สุด น่าจะนำร่องเป็นตัวอย่างในเรื่องนี้