‘ชัยชนะ’ ยันไม่ใช่งูเห่า แบะท่า พ้น ปชป. พร้อมน้อมรับผลที่เกิดขึ้น ปัดตีเช็คเปล่า-เป็นอะไหล่ให้’พท.’

‘ชัยชนะ’ ยันไม่ใช่งูเห่า แบะท่า พ้น ปชป. พร้อมน้อมรับผลที่เกิดขึ้น ชี้ โหวต ‘เศรษฐา’ หวังให้ประเทศเดินหน้า ปัดตีเช็คเปล่า-เป็นอะไหล่ให้ ‘พท.’ หวังร่วมรัฐบาล

เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม ที่รัฐสภา นายชัยชนะ เดชเดโช ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ ส.ส.พรรค ปชป. 16 เสียงโหวตสนับสนุนนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี ว่ากลัวตกขบวนร่วมรัฐบาลหรือไม่ ว่า ไม่ใช่เรื่องกลัวตกขบวนหรือร่วมขบวน แต่การประชุมพรรค เมื่อวันที่ 21 ส.ค.ที่ผ่านมา จากการหารือมี 3 ความเห็น คือ เห็นด้วย ไม่เห็นด้วย และงดออกเสียง สรุปว่าให้งดออกเสียง หลังจากนั้นในประชุมรัฐสภาวานนี้ (22 ส.ค.) ตนกับเพื่อน ส.ส. ได้นั่งฟังการอภิปราย รับฟังข้อมูลจากสมาชิกรัฐสภา เรื่องข้อสงสัยในตัวนายเศรษฐา คิดว่าไม่มีน้ำหนักในการเข้าสู่การดำรงตำแหน่งนายกฯ และจากการลงพื้นที่พบปะประชาชนมีการสอบถามความเห็น เขาอยากหาทางออกให้ประเทศ โดยบอกว่าถ้าเป็นนายเศรษฐา ซึ่งไม่มีแนวคิดล้มล้างหรือแก้ไข มาตรา 112 ก็ต้องยกให้เขา ซึ่งพรรคเพื่อไทย (พท.) มีจุดยืนชัดเจนที่จะไม่แก้ไข

ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะแก้ไขเพื่อประโยชน์ประชาชน และเพื่อประชาธิปไตยที่แท้จริง ซึ่งการเลือกตั้งล่วงเลยมาถึง 90 วันแล้ว แต่เรายังไม่มีนายกฯ ประเทศจึงต้องหาทางออกให้ได้ วันนี้งบ 67 ยังไม่มีการประชุมเพื่อพิจารณา ขณะที่งบ 68 กำลังจะมาถึง รัฐบาลรักษาการก็มีกรอบอำนาจหน้าที่ที่กำหนด ทำให้สส.พรรค 16 คน ที่โหวตก็หารือกัน หลายคนมีแนวคิดแบบนี้ จึงตัดสินใจชั่วโมงสุดท้ายว่าจะ โหวตให้นายเศรษฐาเป็นนายกฯ ที่สำคัญในการโหวตครั้งนี้ ไม่ได้ยืนยันว่าเราจะขอร่วมรัฐบาล เราพร้อมทำงานทั้งสองหน้าที่ ทั้งการเป็นรัฐบาล และฝ่ายค้าน ไม่ใช่โหวตแล้วจะได้ขึ้นรถไฟขบวนสุดท้าย อย่างไรก็ตาม ต้องขอกราบอภัยแฟนคลับพรรค ปชป. ที่คาดหวังว่าเราจะไม่โหวตให้หรืองดออกเสียง

เมื่อถามว่า มีการดีลกับพรรค พท. ก่อนโหวตหรือไม่ นายชัยชนะกล่าวว่า ไม่มี ไม่มีการโทรคุยกับใคร เช็กมือถือตนได้เลย

เมื่อถามว่า พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่ ส.ส.สงขลา พรรค ปชป. ออกมาระบุเองว่ามติพรรค ปชป. โหวตได้เพียงไม่เห็นชอบ และงดออกเสียง นายชัยชนะ กล่าวย้อนถามว่า พล.ต.ต.สุรินทร์ ได้อยู่ในที่ประชุมหรือไม่ เพราะมีความเห็นหลายคน

Advertisement

เมื่อถามย้ำว่า สามารถเปิดบันทึกการประชุมได้หรือไม่ นายชัยชนะกล่าวว่า ก็ไปหาเปิดบันทึกการประชุมดูก่อน ตนก็ไม่ทราบ แต่ตนขอเรียนว่า มติพรรคออกวันนั้นจริงๆ แต่วันนั้นในกลุ่มสส.ส่วนใหญ่เรามีความคิดเห็นแบบนี้ หากจะต้องเรียกประชุมใหม่ก็คงไม่ทัน เราจึงประชุมในกลุ่มเพื่อน ตนทราบดี การที่เราทำผิดมติพรรคอะไรจะเกิดขึ้น เราก็น้อมรับในการตรวจสอบ หรือคำตัดสิน ถ้ามีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบขึ้นมา เพราะเราถือว่าสิ่งที่เราทำ มี 2 ทางให้เลือก

เมื่อถามว่า กังวลหรือไม่หากโทษแรงถึงขั้นขับออกจากพรรค นายชัยชนะกล่าวว่า ยินดีแสดงความบริสุทธิ์ในการชี้แจงเหตุผล ว่ามีเหตุผลอย่างไรที่ทำแบบนี้ ท้ายที่สุดผลจะเป็นอย่างไร เราต้งยอมรับให้ได้ นี่ไม่ใช่ครั้งแรกในการโหวตสวนมติพรรค ในอดีตก็เคยมี และมีการสอบสวน แต่ในสิ่งที่ตนกับเพื่อนได้กระทำ เราน้อมรับในการตัดสินที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอยู่แล้ว

“ผมคิดว่าสิ่งที่เราทำมันคือการหาทางออกให้กับประเทศ เมื่อวานก็เห็นว่าทั้ง ส.ว. และ ส.ส. โหวตเห็นชอบเป็นส่วนใหญ่ ฉะนั้นประเทศมันต้องหาทางออกให้ได้” นายชัยชนะกล่าว

Advertisement

เมื่อถามว่า ก่อนจะโหวตเห็นชอบได้มีการแจ้งต่อ นายชวน หลีกภัย, นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค ปชป. ในฐานะที่เป็นผู้ใหญ่ของพรรคหรือไม่ นายชัยชนะกล่าวว่า ไม่ได้มีการคุยกัน เพราะเวลากระชั้นชิด เริ่มโหวตตอนบ่าย 3 เราก็ได้คุยกันตอนเกือบจะบ่าย 3 แล้ว

เมื่อถามว่ามีความคิดเห็นอย่างไรที่พรรค ปชป. ถูกมองว่าเป็นพรรคอะไหล่ให้กับพรรค พท. นายชัยชนะ กล่าวว่า ไม่ใช่ เราไม่ได้เป็นพรรคอะไหล่ของใคร ตนย้ำจุดยืนเสมอเราไม่ได้บอกว่าการที่โหวตวานนี้ (22ส.ค.) จะได้เข้าร่วมรัฐบาล เราพร้อมทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้าน แต่เรามองว่าต้องถึงทางออกประเทศแล้วจริงๆ ขอความร่วมมือกับสื่อด้วย ที่ไปเขียนข่าวว่าตนเป็นงูเห่า ตนไม่ใช่งูเห่า เพราะการที่จะเป็นงูเห่าต้องเป็นจำนวนน้อยหรือส่วนน้อยของพรรค แต่ตนไปเพราะเสียงข้างมาก เราคุยกันในพรรค ส.ส.ในพรรคส่วนใหญ่ มีความเห็นแบบนี้ ฉะนั้นเรียกงูเห่าไม่ได้

เมื่อถามว่า พรรค ปชป. จะชี้แจงอย่างไรเมื่อข้อสงสัยว่ามีผลประโยชน์ นายชัยชนะกล่าวว่า การทำงานในการโหวต ตนบอกแล้วเราพร้อมทำงานทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งรัฐบาล และฝ่ายค้าน ยืนยันว่าการโหวตเห็นชอบไม่ใช่การร่วมรัฐบาล เราพร้อมทำหน้าที่ฝ่ายค้านเช่นกัน ส่วนใครจะมองว่าเราโหวตเพราะมีผลประโยชน์แอบแฝง เป็นสิ่งที่ทุกคนคิดได้ แต่ความจริงก็คือความจริง ความจริงอยู่ในตัวตน ตนคิดอย่างไร ทำอย่างไรก็ต้องพูดความจริง ตนเป็นหนึ่งที่ไม่เคยหลบสื่อ พร้อมให้สัมภาษณ์ตลอด เพราะตนไม่มีอะไร มีแต่ข้อเท็จจริง แต่ถ้าวันนี้ตนไม่มีข้อเท็จจริง แล้วมาพูดอีกอย่าง ก็ไม่พร้อมที่จะเจอสื่อ ถูกหรือไม่

“พรรคประชาธิปัตย์ เวลามีเหตุการณ์อะไร ติดต่อใครไม่ได้ ติดต่อผมได้ ผมให้สัมภาษณ์ตามข้อเท็จจริง และไม่เคยให้ร้ายกับพรรคนี้ ไม่เคยทำให้พรรคเสียหาย ยึดมั่นกับพรรคมาตลอด แต่การตัดสินใจร่วมรัฐบาลหรือไม่ร่วม ต้องกลับไปถามรักษาการกรรมการบริหารพรรคที่ยังมีอำนาจเต็ม และ ส.ส.พรรค ถ้ามติอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น แต่วันนี้จะไปร่วมได้อย่างไรเพราะไม่มีการเทียบเชิญ ถ้าเขาไม่เทียบเชิญ เราก็ทำหน้าที่ฝ่ายค้าน และขณะนี้ยังไม่มีใครโทรมาเทียบเชิญ มีแต่ผู้สื่อข่าวโทรมา” นายชัยชนะกล่าว

เมื่อถามว่า การตีเช็คเปล่าแบบนี้ ถือว่าพร้อมที่จะเป็นรัฐบาลด้วยหรือไม่ นายชัยชนะกล่าวว่า ไม่ใช่การตีเช็คเปล่า เป็นแนวความคิดในเวลานั้น ที่มองเห็นว่าประเทศต้องหาทางออก จะมองว่าตีเช็คเปล่าไม่ได้ เมื่อถามว่า แต่ถ้ามีการมาชวนไปร่วมรัฐบาล พร้อมจะไปหรือไม่นายชัยชนะ กล่าวว่า เป็นเรื่องของอนาคตที่ยังไม่เกิดขึ้น ยังตอบไม่ได้ มันต้องกลับมาถามมติพรรคอยู่แล้ว

เมื่อถามว่า ทางออกของประเทศแบบไหนที่ทำให้โหวตเห็นชอบ นายชัยชนะกล่าวว่า ตนถามว่าวันนี้ถ้าประเทศไม่มีรัฐบาล เราไปดูกัมพูชา เลือกตั้งทีหลัง แต่จัดตั้งรัฐบาลได้ก่อนเรา ประเทศเรายังไม่มีรัฐบาลเลย สมมติว่าประเทศเกิดวิกฤตวันนี้ จะนำเงินที่ไหนมาใช้ เพราะยังไม่มีการพิจารณางบประมาณ วันนี้ต้องยอมรับว่าการที่ยังไม่มีนายรัฐมนตรี และรัฐบาลที่ทำงานได้อย่างจริงจัง การขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ ทำไม่ได้ นโยบายพรรค ปชป. ที่เรานำเสนอก่อนการเลือกตั้ง ก็อยากฝากให้กับรัฐบาลใหม่นำไปใช้แก้ปัญหาให้เกิดขึ้นจริง

เมื่อถามว่า การที่มาโหวตเห็นชอบในการลงคะแนนช่วงท้าย ทั้งที่เสียง ส.ว. เทมาให้จนพออยู่แล้ว นายชัยชนะกล่าวว่า เราก็เห็นว่าเสียงพออยู่แล้ว เราก็เลยโหวตให้ด้วย ส่วนในอนาคตการโหวตของ ปชป. จะมีการปล่อยฟรีโหวตหรือไม่นั้น ตนคิดว่าในที่ประชุมพรรคก็ต้องมีการพูดคุยกันในอนาคต อะไรที่ผิดพลาดไปแล้ว นำมาถกเถียงแก้ไขในวันข้างหน้า

เมื่อถามว่า ท้ายที่สุดหากโดนขับออกจากพรรค จะยินดีหรือไม่ นายชัยชนะกล่าวว่า ก็ให้ถึงเวลานั้นก่อน อะไรที่ยังมาไม่ถึงก็ยังตอบไม่ได้ ขอย้ำว่าเราน้อมรับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image