‘โฆษกปชป.’ ย้ำ พรรคไม่เคยมีมติให้ใครเจรจาร่วมรบ. ยัน ‘ชวน’ โหวตไม่เห็นชอบเศรษฐาไม่ขัดมติ

“โฆษกปชป.” ย้ำ พรรคไม่เคยมีมติให้ใครเจรจาร่วมรัฐบาล ยัน “ชวน” โหวตไม่เห็นชอบเศรษฐาไม่ขัดมติ แต่ 16 ส.ส. กก.บห.ต้องจัดการ

เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่มี ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ จำนวน 16 คน ลงมติเห็นชอบ นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกฯ เพราะต้องการร่วมรัฐบาล ว่า เรื่องร่วมรัฐบาลที่ได้นำมาผูกโยงกับการลงมติของ 16 ส.ส.นั้น พรรคต้องขอย้ำว่าไม่เคยมีมติให้ใครไปร่วมเจรจาในการจัดตั้งรัฐบาล เพราะพรรคมีข้อบังคับชัดเจนว่าการร่วมรัฐบาลจะต้องดำเนินการผ่านคณะกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) และที่ประชุมร่วมกันระหว่าง กก.บห. กับ ส.ส. ถึงจะไปดำเนินการได้ และตลอดระยะเวลาที่ผ่านมายังไม่มีการประชุมใดๆ ในเรื่องการร่วมรัฐบาลหรือไม่ร่วมเลย หากมีใครไปเจรจาพูดคุยเพื่อร่วมรัฐบาลถือว่าเป็นเรื่องส่วนตัว ไม่ใช่ท่าทีของพรรคในการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองดังกล่าว

นายราเมศกล่าวต่อว่า ส่วนการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี ที่ประชุม ส.ส. ของพรรคมีมติชัดเจนว่าให้งดออกเสียง โดยไม่มีผู้ใดขัดข้อง ในส่วนของนายชวน หลีกภัย และนายบัญญัติ บรรทัดฐาน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ก็ได้แจ้งต่อที่ประชุม ส.ส.และได้บอกเหตุผลว่าเหตุใดที่มีความจำเป็นต้องโหวตไม่เห็นชอบนายเศรษฐา ซึ่งกรณีของนายชวน ได้ย้ำจุดยืนที่สำคัญคือจะ “ไม่ทรยศคนใต้” เพราะอดีตที่พี่น้องชาวปักษ์ใต้จดจำไม่เคยลืม ยุครัฐบาลทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ มีการเลือกปฏิบัติต่อพี่น้องชาวภาคใต้ ละเมิดหลักนิติธรรม ซึ่งนายชวนได้ต่อสู้ในเรื่องนี้ตลอดมาและการรณรงค์หาเสียงโดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ก็หยิบยกประเด็นนี้มารณรงค์หาเสียงจนคนใต้ไม่เลือกพรรคการเมืองที่กระทำต่อพี่น้องชาวภาคใต้ ดังนั้นการลงมติของนายชวน จึงมิใช่การลงมติที่ขัดต่อมติพรรคแต่อย่างใด

นายราเมศกล่าวด้วยว่า ส่วนการลงมติเห็นชอบนายเศรษฐา ของ 16 ส.ส.นั้น นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รักษาการหัวหน้าพรรคได้บอกว่า สั่งให้ ส.ส.16 คน ชี้แจงในที่ประชุม ส.ส. ในการประชุมครั้งหน้า และหากมีสมาชิกเข้าชื่อกันร้องให้มีการตรวจสอบ หรือสอบสวนตามข้อบังคับพรรค ในเรื่องนี้เป็นเรื่องของ กก.บห.ว่ากันไปตามข้อบังคับพรรคที่ได้กำหนดไว้ ตามข้อบังคับพรรค หมวดที่ 19 แต่ กก.บห.จะดำเนินการได้ก็ต่อเมื่อ กก.บห.คนหนึ่งคนใดหรือสมาชิกพรรคไม่น้อยกว่า 20 คนลงลายมือชื่อทำเป็นหนังสือถึงหัวหน้าพรรค เพื่อให้ดำเนินการตามข้อบังคับพรรค ซึ่งในข้อบังคับพรรค หัวหน้าพรรคจะสอบสวนเองหรือแต่งตั้งกรรมการไม่น้อยกว่า 3 คนดำเนินการสอบสวนก็ได้

“การดำรงคงอยู่ของพรรค การยึดหลักและอุดมการณ์คือสิ่งสำคัญที่จะทำให้พรรคประชาธิปัตย์ผ่านพ้นไปได้ในทุกสถานการณ์ พรรคทำหน้าที่ได้หมด ที่ผ่านมาจะเห็นว่าเราเป็นทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล และทำหน้าที่อย่างเต็มที่เพื่อประโยชน์ของประชาชนตลอดมา วินาทีนี้ในเรื่องการจะไปร่วมรัฐบาลพรรคยังไม่มีการพูดคุย ไม่มีท่าทีใดๆ ทั้งสิ้น ส่วนที่มีรายงานข่าวว่ามี ส.ส.ของพรรคไปพูดคุยเจรจา ก็ไม่อาจทราบได้ว่าใครทำอะไรที่ไหน แต่ถ้าหากมีการไปพูดคุยเจรจาก็ถือว่าเป็นเรื่องส่วนตัวไม่ใช่ท่าทีของพรรค เพราะยังไม่ได้ผ่านกระบวนการตามที่ข้อบังคับพรรคกำหนดไว้แต่อย่างใด” นายราเมศกล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image