แรปเตอร์ ฝากฝัง ส.ส. ‘ขอ รธน.ใหม่’ ตัวอุปสรรคทุกพรรค! ชี้จังหวะนี้สำคัญต้อง ‘ร่วมกันส่งเสียง’

แรปเตอร์ ฝากฝัง ส.ส. ‘ขอ รธน.ใหม่’ ตัวอุปสรรคทุกพรรค! ชี้จังหวะนี้สำคัญต้อง ‘ร่วมกันส่งเสียง’

สืบเนื่อง กลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ จัดแคมเปญ “เขียนใหม่ทั้งฉบับ เลือกตั้ง 100%” #conforall ซึ่งเป็นกิจกรรมที่รณรงค์ที่ขับเคลื่อนโดยหลายกลุ่ม องค์กร อาทิ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือไอลอว์ (iLaw), คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) ตั้งเป้าหมายเชิญชวนประชาชนเข้าชื่อให้ครบ 50,000 ชื่อ เพื่อเสนอคำถามสำหรับการทำประชามติต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ เพื่อผลักดันให้เกิดการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่นั้น

เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศเวลา 16.00 น. ที่หน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร แยกปทุมวัน กรุงเทพฯ กลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ เดินหน้าตั้งโต๊ะล่ารายชื่อในแคมเปญ “เขียนใหม่ทั้งฉบับ เลือกตั้ง 100%” #conforall โดยตั้งอยู่หน้าประทางเข้าหอศิลป์ BACC มี นายณัชปกร นามเมือง หรือ ถา ไอลอว์, สิรภพ อัตโตหิ หรือ แรปเตอร์ กลุ่มเสรีเทยพลัส, นายรัฐภูมิ เลิศไพจิตร หรือ เติร์ด โฆษกกลุ่มวีโว่ และ นายอุเชนทร์ เชียงเสน อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ร่วมเป็นอาสาสมัครอำนวยความสะดวกประชาชน พร้อมกล่าวเชิญชวนร่วมลงชื่อผ่านเครื่องขยายเสียงเป็นระยะ โดยมีประชาชนมาร่วมลงชื่อไม่ขาดสาย โดยเฉพาะในช่วงค่ำ

สิรภพ อัตโตหิ หรือ แรปเตอร์ กลุ่มเสรีเทยพลัส เปิดเผยว่า วันนี้ตนมาช่วยสนับสนุน (support) การทำกิจกรรมลงชื่อ เพื่อเสนอทำประชามติ แก้ไขรัฐธรรมนูญ

Advertisement

มองว่ากิจกรรมนี้สำคัญอย่างไร?

สิรภพกล่าวว่า จริงๆ แล้วตั้งแต่เคลื่อนไหวมา สิ่งที่เราเรียกร้องกันมาตลอดคือเรื่องการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งจังหวะนี้เป็นจังหวะที่กำลังจะมีรัฐบาลใหม่ มีการพูดว่าจะแก้รัฐธรรมนูญร่างรัฐธรรมนูญใหม่

Advertisement

“เป็นจังหวะสำคัญที่ภาคประชาชนเสนอความต้องการของตัวเองด้วย เป็นจังหวะที่ประชาชนที่สนใจเรื่องประชาธิปไตย ต้องการให้ประเทศไปสู่ประชาธิปไตย ต้องมาร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งในการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ของประชาชน”

“ประชาชนเป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันประชาธิปไตยให้ก้าวหน้าไปเรื่อยๆ เราต้องส่งเสียงความต้องการของเราว่าต้องการรัฐธรรมนูญแบบไหน ต้องการอนาคตแบบไหนกติกาในการอยู่ร่วมกันแบบไหน ด้วยการมาร่วมกันเป็นส่วนหนึ่ง” สิรภพกล่าว

เมื่อถามถึงความคาดหวังในการแก้รัฐธรรมนูญ?

สิรภพกล่าวว่า คาดหวังในเรื่องกระบวนการที่จะได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญต้องโปร่งใสและมาจากการเลือกของประชาชนจริงๆ สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ควรจะมาจากการเลือกตั้งของประชาชน

ประชาชนบางส่วนอาจจะไม่เข้าใจว่า ส.ส.ร.คืออะไร อยากให้ช่วยอธิบาย?

สิรภพกล่าวว่า ส.ส.ร.เป็นคณะกรรมการที่จะพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญในประเด็นต่างๆ ส่วนตัวเข้าใจว่ามีหลากหลายวิธีการที่จะได้มา อย่างเช่น รัฐธรรมนูญ ปี 2560 มี ส.ส.ร.ที่มาจากการแต่งตั้ง

“แต่เราต้องการ ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้ง มาจากภาคส่วนต่างๆ ของประชาชน เพื่อที่อย่างน้อยเราจะบอกได้ว่ารัฐธรรมนูญที่จะเกิดขึ้นมาจากความต้องการของประชาชนและประชาชนเลือกมา” สิรภพระบุ

คิดว่าจะทำอย่างไรให้ ส.ส.ร.ไม่ยึดโยงกับพรรคการเมืองมากจนเกินไป ซึ่งเป็นโจทย์ใหม่ที่มีผู้ตั้งคำถามไว้ เพราะไม่มั่นใจในคำสัญญาของพรรคการเมือง?

สิรภพกล่าวว่า เราเข้าใจว่า ส.ส.ร.มีวิธีการได้มาหลากหลายคือ 1.ที่มาจากการเลือกตั้ง ควรมีอยู่แล้ว 2.การแต่งตั้ง มีส่วนของ ส.ส.ร.ที่เป็นกลุ่มอาชีพต่างๆ

“เราคิดว่าต้องเปิดเผย โปร่งใส ในการที่จะลงสมัคร ประชาชนสามารถที่จะมองเห็นได้ตรวจสอบได้ รวมถึงประชาชนสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการสมัครได้ด้วย” สิรภพชี้

คิดว่า ภายใต้รัฐบาลชุดนี้จะแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ได้สำเร็จหรือไม่?

สิรภพกล่าวว่า เราคาดหวัง เพราะนักการเมืองก็บอกว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นหนึ่งใน priority ที่เลือกจะทำ

“เราก็คาดหวังว่าจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นให้ได้ จริงๆ พรรคการเมืองเกือบทุกพรรคก็ได้รับผลจากรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่มากก็น้อย อย่างกติกาเลือกตั้งที่เกิดขึ้น ทั้งการที่ ส.ว.มีสิทธิเลือกนายกฯ แล้วความฉิบหาย วิปริตทางการเมืองมากมายที่เกิดขึ้นก็เกิดจากรัฐธรรมนูญ 2560

“ดังนั้น พรรคการเมืองก็ควรจะต้องตระหนักว่าตัวเองก็เป็นส่วนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากรัฐธรรมนูญ 2560 เราควรจะกลับไปแข่งกันในกติกาที่มันแฟร์ เป็นธรรมกับทุกคน และประชาชนสามารถตรวจสอบได้ โปร่งใส ประชาชนเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเหล่านี้ได้ คิดว่าเราควรเริ่มต้นกันใหม่ รื้อรัฐธรรมนูญ 2560 ออกไป แล้วร่างรัฐธรรมนูญใหม่กันดีกว่า” สิรภพกล่าว

สิรภพกล่าวอีกว่า ส่วนความเป็นไปได้ รัฐบาลก็บอกว่าเป็นหนึ่งในวาระสำคัญที่เขาจะเลือกทำ ประชาชนก็ต้องเป็นส่วนหนึ่งในการบอกว่าเราต้องการอะไร เพื่อให้รัฐบาลเขาเอาไปพิจารณาผลักดันต่อไป

“เป็นส่วนหนึ่งการต่อสู้ของประชาชน แล้วก็เป็นส่วนหนึ่งในการมีส่วนร่วมของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย ที่เราจะสามารถส่งเสียงได้” สิรภพเผย

คิดว่าจะสะดุด ส.ว.อีกหรือไม่?

สิรภพกล่าวว่า เป็นกลไกที่ต้องดูกันต่อไป ต้องดูในเรื่องของเวลาด้วยว่าร่างนี้จะเข้าไปสู่สภาได้เมื่อไหร่ จะเกิดการพิจารณาได้เริ่มเมื่อไหร่ รวมถึง ส.ว.ที่กำลังจะหมดอายุอีก 9 เดือนข้างหน้าว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร สถานการณ์การเมืองก็คงจะเปลี่ยนอีก

“ไม่แน่ใจ แต่ ส.ว.น่าจะเป็นด่านหนึ่งที่ติด แต่ก็ต้องดูไปนานๆ แล้วก็ต้องต่อสู้กันต่อไป ก็หวังพึ่ง ส.ส.เพราะยึดโยงกับประชาชนมากกว่า หวังพึ่ง ส.ส.ทั้งฝ่ายประชาธิปไตย ฝ่ายรัฐบาล หรือฝ่ายค้านก็ตาม ต่างได้รับผลกระทบจากรัฐธรรมนูญ 2560 กันถ้วนหน้า ก็จะเป็นส่วนหนึ่งในการมาร่วมกันลงชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ บ๊ายบายรัฐธรรมนูญ 2560” สิรภพกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image