เดินหน้าชน : ดูแล‘ผู้สูงวัย’

ก่อนพ้นหน้าที่ รัฐบาล พล..ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทิ้งโจทย์ใหญ่ไว้ให้รัฐบาลพรรคเพื่อไทยแก้ 

เมื่อวันที่ 12 สิงหาคมที่ผ่านมา กระทรวงมหาดไทยออกเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เพิ่มคุณสมบัติการเป็นผู้ไม่มีรายได้ หรือมีรายได้ ไม่เพียงพอแก่การยังชีพ เป็นเงื่อนไขในการรับเบี้ยยังชีพ 

ทำให้เกิดเสียงคัดค้านกระหึ่ม เพราะมีผู้ได้รับผลกระทบในระยะเวลาอันใกล้นี้จำนวนมาก

ไม่ใช่แค่ตัวผู้สูงอายุ แต่กระทบไปถึงคนรอบข้าง คนในครอบครัว มีภาระต้องดูแลเพิ่ม ในสถานการณ์สังคมไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้วในขณะนี้

Advertisement

เสียงคัดค้านถึงขั้นเครือข่ายภาคประชาสังคม ทั้งเครือข่ายสลัมสี่ภาค เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ และเครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม หรือ We Fair รวมตัวคัดค้านเงื่อนไขดังกล่าวทันที 

โดยยื่นข้อเรียกร้อง 1.กระทรวงมหาดไทย ยกเลิกระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ..2566 แล้วกลับไปใช้ระเบียบเดิม คงสิทธิถ้วนหน้า โดยไม่ต้องพิสูจน์ความยากจน และตัดสิทธิการรับสวัสดิการซ้ำซ้อนไว้แล้ว

2.คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ต้องออกมาปกป้องสิทธิของผู้สูงอายุทุกคน ไม่ให้ถูกลิดรอนต่ำลงไปกว่าที่เคยเป็น ด้วยการไม่สนองตอบต่อหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ..2566

Advertisement

3.กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ต้องมีบทบาทสำคัญในการยกระดับการเปลี่ยนเบี้ยยังชีพให้เป็นระบบบำนาญถ้วนหน้า ด้วยการออกเป็นกฎหมายรองรับ ไม่ใช่ใช้หลักนโยบายการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุตามมติคณะรัฐมนตรี

4.กระทรวงการคลัง ทำหน้าที่ของตัวเองในการศึกษาตัดงบรายจ่ายที่ไม่จำเป็น และหาแหล่งรายได้ใหม่ๆ เข้ารัฐ เพื่อเพิ่มรายได้มาเติมเต็มการจัดสวัสดิการให้กับประชาชนแบบถ้วนหน้า เช่น การศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการจัดเก็บภาษีความมั่งคั่ง ภาษีลาภลอย ภาษีกำไรจากการซื้อขายหุ้น เป็นต้น

5.รัฐบาลใหม่ ต้องผลักดันให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญมีเรื่องรัฐสวัสดิการเป็นสิทธิแบบถ้วนหน้าบรรจุในกฎหมายให้ชัดเจน

ด้านสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ชี้แจงการแก้ไขหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุว่า เป็นเรื่องที่คณะกรรมการกฤษฎีกาคณะพิเศษ พิจารณาหารือข้อกฎหมาย 

เพราะระเบียบเดิม กรมกิจการผู้สูงอายุ กำหนดไว้ไม่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ในรัฐธรรมนูญ ทำให้ผู้มีอายุเกิน 60 ปีทุกคน ไม่ว่าจะมีฐานะร่ำรวยหรือรายได้ประจำมากมายเพียงใด ถ้าไม่เคยได้รับสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์อื่นใดจากหน่วยงานรัฐ ย่อมมีสิทธิได้รับเบี้ยยังชีพ

ขณะที่ผู้ได้รับสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์อื่นใดจากหน่วยงานรัฐ แม้เพียงเล็กน้อย กลับไม่ได้รับเงินเบี้ยยังชีพ จึงไม่อาจถือได้ว่ามีลักษณะอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม

ข้อสังเกตการกำหนดกรณีไม่มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพ อาจพิจารณาจากข้อมูลของหน่วยงานต่างๆ เช่น รายได้ไม่ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษี จำนวนรายได้ตามเส้นแบ่งความยากจน หรือจำนวนเงินตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ

ขณะที่.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) มองว่า 

ผลกระทบหลักเกณฑ์ใหม่ จะมีผู้มีสิทธิได้เงินน้อยลง ถ้าหลักเกณฑ์นี้บังคับใช้จริง กระบวนการคัดกรองจะแน่ใจได้อย่างไรว่าไม่มีปัญหาตกหล่น

หลักเกณฑ์การพิจารณาก็มีไม่กี่ทางเลือก เช่น บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และบัตรสวัสดิการแห่งรัฐก็มีปัญหาในตัวเองอยู่แล้ว เพราะผู้มีสิทธิตกหล่นเยอะมาก นอกจากนี้ ผู้มีรายได้น้อยไม่มีบัตรนี้ มีแนวโน้มจะเป็นผู้มีรายได้น้อยมาก ยากจนกว่าคนอื่นๆ 

.สมชัยนำเสนอแนวคิดแบบลูกผสมโดยระบบถ้วนหน้าให้คงเอาไว้ แต่คงไว้ในระดับไม่สูงนัก เช่น ระดับปัจจุบัน 600-1,000 บาท

ผู้สูงอายุจะได้ถ้วนหน้าทุกคน แบบไม่คัดกรอง แต่ถ้ารัฐบาลชุดใหม่ อยากเพิ่มงบประมาณตามที่หาเสียงไว้ ก็เพิ่มส่วนที่ต้องเข้าสู่การคัดกรอง เพื่อให้ผู้มีรายได้น้อยมากจริงๆ ได้รับเงินนี้ไป 

ข้อดีของแนวคิดคือ จะไม่มีใครตกหล่น

ข้อเสนอจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุแบบลูกผสม อาจต้องใช้งบประมาณมากกว่าปัจจุบัน แต่จะใช้ไม่มากเท่ากรณีถ้วนหน้าในอัตราจ่ายต่อหัวสูง งบประมาณที่ต้องจ่าย ไม่ถึง 4-5 แสนล้านบาทต่อปี อาจอยู่ที่ราว 2 แสนล้านบาท เป็นหน้าที่ของรัฐบาลต้องไปหาเงิน .สุชนแนะรัฐบาลใหม่

มารอดูว่าพรรคเพื่อไทย เคยหาเสียงนโยบายสำหรับผู้สูงอายุมากมายหลายด้าน 

เช่น สาธารณสุข การเกษตร เศรษฐกิจ ที่ดิน และสิทธิมนุษยชน เป็นต้น 

จะเดินหน้าหาเงินมาพัฒนานโยบายเหล่านี้อย่างไร และส่งผลดีต่อชีวิตผู้สูงวัยได้แค่ไหน

สุรพล สุประดิษฐ์ ณ อยุธยา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image