‘จุฬา สุขมานพ’เลขาอีอีซี เพิ่มพลังแม่เหล็กดูดลงทุน

‘จุฬา สุขมานพ’เลขาอีอีซี เพิ่มพลังแม่เหล็กดูดลงทุน

หมายเหตุนายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ อีอีซี ให้สัมภาษณ์พิเศษ “มติชน” ถึงนโยบายและแผนงานต่างๆ ในการดึงดูดเอกชนจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนในพื้นที่อีอีซีมากขึ้น

อีอีซีมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนมากขึ้นในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา สำหรับแผนดำเนินงานช่วงที่เหลือของปี 2566 นั้น อีอีซีจะเร่งปรับการทำงานเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุน หลังจากโควิด-19 คลี่คลาย โดยอีอีซีเตรียมวางระบบการออกใบอนุญาตแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) รวม 44 ฉบับ

ใบอนุญาตแต่ละฉบับจะมีหน่วยงานกำกับดูแลเฉพาะ อาทิ ใบขออนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (รง.4) จะมีกรมโรงงานฯ กระทรวงอุตสาหกรรม ดูแล หรือใบขออนุญาตประกอบกิจการพลังงาน จะมีคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ดูแล ซึ่งทางอีอีซีได้หารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขอนำเรื่องนี้มาดำเนินการเบ็ดเสร็จที่อีอีซีเลย นักลงทุนไม่ต้องไปตระเวนขอใบอนุญาตจากหน่วยงานต่างๆ ซึ่งแต่ละแห่งจะใช้เวลานานมาก แต่หากมาลงทุนในอีอีซี จะยื่นขอใบอนุญาตต่างๆ ได้ในที่เดียว ช่วยลดขั้นตอนและเวลาในการขออนุญาต เพื่อให้ลงทุนเกิดรวดเร็วขึ้น รวมถึงจะมีการออกอีอีซี วีซ่า (EEC VISA) ให้กับนักลงทุนและครอบครัว ได้เข้ามาอยู่ในประเทศ ระยะเวลาประมาณ 5 ปี เป็นต้น

Advertisement

กระบวนการออกใบอนุญาตดังกล่าว คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในวันที่ 1 มกราคม 2567 โดยปัจจุบัน อีอีซีเดินหน้าตามแผนงานไปแล้วกว่า 30-40% และจะเร่งดำเนินการให้จบก่อนประกาศใช้ ภายในสิ้นปี 2566 นี้โดยจะทำควบคู่ไปกับการหาบุคลากรเพื่อรองรับการเติบโตของอีอีซีที่จะมีมากขึ้นต่อไป

อีอีซี ไม่ได้ไปแย่งงานของหน่วยงานอื่นๆ แต่เราอยากให้มองว่าอีอีซีเป็นหน่วยงานหนึ่งเปรียบเสมือนเป็นสาขาของหน่วยงานต่างๆ ส่วนค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่ได้จากการออกใบอนุญาตนี้จะส่งกลับไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบ ซึ่งค่าธรรมเนียมในการออกใบอนุญาตไม่มีค่าใช้จ่ายมากนัก

สำหรับการส่งเสริมการลงทุนในอู่ตะเภา ให้เป็นพื้นที่พิเศษในลักษณะ เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ เพื่อให้เป็นตัวเปลี่ยนเกมในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจ และต่อไปจะประกาศเป็นโซนปลอดภาษี เป็นเมือง TAX FREE ที่รัฐบาลจะยกเว้นภาษีให้ เพื่อจะดึงดูดการลงทุนใหม่ๆ ที่ประเทศไทยไม่เคยมี อย่างเช่น ฟอร์มูล่าวัน หรืออุตสาหกรรมด้านความบันเทิงต่างๆ ในพื้นที่ 1 ตารางกิโลเมตร (ตร.กม.) เพื่อรองรับนักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุนและจับจ่ายใช้ชีวิตในอีอีซี

Advertisement

โครงการอู่ตะเภาเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์จะเชื่อมโยงกับโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่อีอีซีได้วางเอาไว้ ทั้งศูนย์ซ่อมเครื่องบิน (เอ็มอาร์โอ) ซึ่งจะมีความเพียบพร้อมทั้งสนามบิน เครื่องบินศูนย์ซ่อม และ เกี่ยวข้องกับผู้โดยสารจำนวนมาก ในพื้นที่ขนาด 6,000 ไร่ จะเปิดประมูลให้เอกชนเข้ามาลงทุน โดยผ่านบริษัท อู่ตะเภาอินเตอร์เนชั่นแนล (VTA) ซึ่งเป็นผู้รับสัญญาสัมปทานในการบริหารพื้นที่ระยะเวลา 45 ปี

สำหรับความคืบหน้าในการลงทุนโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ 4 โครงการ มีความคืบหน้าตามลำดับ กล่าวคือ โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก มีงานในส่วนที่อยู่ในความรับผิดชอบของภาครัฐ กองทัพเรือ (ทร.) คือ การก่อสร้างรันเวย์เส้นที่ 2 อยู่ระหว่างการเตรียมออกประกาศเชิญชวนผู้รับจ้างงานก่อสร้างและส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างให้กับ บริษัทอู่ตะเภาอินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด (UTA) รวมไปถึงอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 คลังสินค้า และเมืองการบินด้วย

ส่วนของโครงการก่อสร้างสนามบินอู่ตะเภา ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดหาวงเงินกู้ ในการพัฒนาโครงการคาดว่าจะใช้เงินลงทุน 10,000 ล้านบาท โดยเป็นเงินกู้สัดส่วน 85% เงินงบประมาณ 15% จากนี้ทางอีอีซี จะเปิดประกวดราคาในการก่อสร้างรันเวย์และอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 ในเดือนกันยายน 2566 นี้ ต่อเนื่องจากก่อนหน้านี้ที่ได้ดำเนินการก่อสร้างรันเวย์ 2 โดยทางกองทัพเรือไปแล้ว

ส่วนโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 กับ โครงการท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 จัดเป็น 2 โครงการที่มีความคืบหน้ามากที่สุดท่าเรือแหลมฉบัง ขณะที่โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสนามบิน ซึ่งล่าช้ามากว่า 2 ปี เนื่องจากยังติดปัญหาในเรื่องการเจรจาโอนกรรมสิทธิพื้นที่ในส่วนของคู่สัญญาและเงื่อนไขในการชำระเงิน ซึ่งทางอีอีซีมีความเห็นว่าต้องการให้โครงการเสร็จทยอยวิ่งไปจ่ายไป เพื่อไม่ให้ซ้ำรอยโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ในอดีต อย่างโฮปเวลล์ ขณะที่เอกชนต้องการให้ก่อสร้าง ในรูปแบบสร้างไปจ่ายไป

ส่วนของสถานะอีอีซีปัจจุบันเป็นสำนักงานที่ได้รับงบประมาณประจำปีสนับสนุน ประมาณปีละ 400-500 ล้านบาท จะมีบางปีที่ได้เงินในส่วนของค่าที่ดินสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หรือ ส.ป.ก.ก็จะสูงประมาณ 1,000 ล้านบาท โดยมีการตั้งกองทุนเยียวยาผู้ประกอบการวงเงิน 200 ล้านบาท ซึ่งในอนาคตอีอีซีมองว่าจะมีโอกาสสร้างรายได้และอยู่ได้โดยลดภาระการใช้งบประมาณ

ขณะที่ แผนการส่งเสริมการลงทุน ที่ผ่านมาได้มีการส่งเสริมการลงทุนใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย แบ่งเป็น S Curve 5 อุตสาหกรรม และ New S Cuver อีก 7 อุตสาหกรรมนั้น จากการลงพื้นที่สอบถามคนในชุมชนท้องถิ่นยังไม่มีความเข้าใจเรื่อง S Curve มากนัก และการทำงานด้านการส่งเสริมการมีการกระจายเป็นหลายอุตสาหกรรมมากเกินไป

ดังนั้น อีอีซีจึงมีการปรับโครงสร้างภายในใหม่ เพื่อให้สอดรับกับแผนแม่บทใหม่ ที่จะปรับจาก 12 S Curve เป็น 5 คลัสเตอร์ คือ 1.การแพทย์ขั้นสูง 2.ดิจิทัล 3.ยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) 4.เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy :BCG) และบริการ แต่จะมีบางอุตสาหกรรมที่ปรับลดลงหรือหายไป อาทิ อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ เพื่อให้สอดรับกับบริบทการลงทุนในแต่ละช่วง

สำหรับสิทธิประโยชน์ในการส่งเสริมการลงทุนตามรูปแบบนโยบายใหม่ โดยจะใช้วิธีการเจรจาแบบ 1 ต่อ 1 และให้สิทธิประโยชน์ในอุตสาหกรรมที่ต้องการดึงลงทุนโดยอาศัยหลักการเดียวกัน แต่อาจจะให้มากกว่า บีโอไอเป็นไปตามกรอบสิทธิประโยชน์กำหนดการยกเว้นภาษี 15 ปี ขึ้นอยู่กับการเจรจา และอีอีซี จะจัดโซนโปรโมชั่น แนะนำพื้นที่เป้าหมายให้นักลงทุนว่าโซนใดเหมาะสมกับการลงทุนอุตสาหกรรมใด โดยอิงจากความพร้อมในห่วงโซ่ซัพพลายเชนในอุตสาหกรรมเป็นหลัก

อีอีซี เปรียบเป็นสาขาของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ที่ดูแลเฉพาะในพื้นที่ 3 จังหวัด คือ ระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา ขณะที่ บีโอไอดูแลทั้งประเทศ อีอีซีก็จะมาช่วยแบ่งเบาในส่วนนี้

ที่ผ่านมา อีอีซี ไปโรดโชว์ดึงการลงทุนก็จะปรับใหม่ โดยเชิญเอกชนไปด้วย ลักษณะเป็นพาร์ตเนอร์ อาทิ นิคมอุตสาหกรรมอมตะ อีเอ หรือผู้ลงทุนที่เกี่ยวข้องกับการดึงการลงทุนในครั้งนั้นไปด้วย ซึ่งการเดินทางในแต่ละครั้งเอกชนต้องออกค่าใช้จ่ายเอง แต่อีอีซีจะช่วยส่งเสริมจัดเป็นบิซิเนสแมทชิ่งให้ โดยจะเลือกประเทศและอุตสาหกรรมเป้าหมาย ไม่หว่านไปหลายอุตสาหกรรม

ในช่วงปลายเดือนกันยายนนี้ เตรียมจะไปอินเดีย โดยประสานงานร่วมกับเอกอัครราชทูตอินเดียแล้ว ซึ่งครั้งนี้มีแผนที่จะดึงดูดการลงทุนอุตสาหกรรมที่อินเดียมีศักยภาพ คือ ยา และไอที จากก่อนหน้านี้ที่เคยไปโรดโชว์แล้วที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งที่มีสิทธิบัตรยามากที่สุด และประเทศอิตาลี เป็นประเทศที่มีโรงงาน OEM ยา เพื่อดึงมาลงทุนในไทยช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมยาที่แข็งแกร่งได้

ปัจจุบันไทยผลิตยาได้เองเพียง 18% นำเข้า 82% และในจำนวน 18% นี้ มีถึง 80% ที่ต้องใช้สารตั้งต้นจากการนำเข้า หากดึงอุตสาหกรรมยามาลงทุนได้ จะช่วยลดการพึ่งพาการนำเข้ายา และจะเป็นโอกาสในการส่งออกในอนาคต โดยขยายไปตลาดต่างๆ ในภูมิภาคนี้ด้วย

นอกจากนี้ ยังมีการเดินทางประเทศจีนในอุตสาหกรรมอีวี ซึ่งมีผู้ผลิตจีนหลายรายเข้ามาประกาศลงทุนตั้งฐานการผลิตในไทย อาทิ เกรทวอลล์BYD และล่าสุดยังมีฉางอัน แต่นอกเหนือไปจากนั้นเรายังมีการเจรจากับผู้ลงทุนที่เป็นผู้ผลิต แบตเตอรี่อีวี รายใหม่ๆ อีก 2-3 ราย

ในส่วนของแบตเตอรี่นี้มีผู้ที่เชี่ยวชาญหลากหลายแบบ มีทั้งค่ายรถที่เดิมเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่ อย่าง BYD หรือบางรายทำรถยนต์ก่อนและกำลังจะขยายไปทำแบตเตอรี่ เช่น เกรทวอลล์ หรือผู้ที่ทำแบตเตอรี่เฉพาะเลย การดึงดูดการลงทุนเรื่องแบตเตอรี่ รวมถึงรีไซเคิลแบตเตอรี่จะมีส่วนสำคัญกับอุตสาหกรรมอีวีในอนาคต

ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามแผนงานที่วางไว้ อีอีซีจำเป็นต้องมีการวางโครงสร้างใหม่ และเตรียมจะตั้งสำนักงานอีอีซี ที่มหาวิทยาลัยบูรพา เพื่อเพิ่มการอำนวยความสะดวกกับนักลงทุน

ส่วนความกังวลเรื่องการขาดแคลนน้ำจากปรากฏการณ์เอลนิโญ นั้น มั่นใจว่าน้ำที่กรมชลประทาน สำรองไว้ยังเพียงพอใช้ในพื้นที่อีอีซี ไปถึงฤดูแล้งปีหน้า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image