อ.ธรรมศาสตร์ ลั่น ‘นึกถึงการเมือง นึกถึงมติชน’ บุกงานเปิดโกดังหนังสือ ย้อนรำลึก ‘นิธิ’

อ.ธรรมศาสตร์ ลั่น ‘นึกถึงการเมือง นึกถึงมติชน’ บุกงานเปิดโกดังหนังสือ ย้อนรำลึก ‘นิธิ’

เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม ที่มติชน อคาเดมี เขตจตุจักร กรุงเทพฯ สำนักพิมพ์มติชนร่วมกับศูนย์ข้อมูลมติชน (MIC) จัดงาน “มติชนเปิดโกดังหนังสือการเมือง” ครั้งแรก ระหว่างวันที่ 30 ส.ค.- 3 ก.ย. 66 นี้ โดยภายในงานคับคั่งด้วยกองทัพหนังสือการเมืองเล่มสำคัญที่หายาก พร้อมด้วยผลงานของศาสตราจารย์ ดร. นิธิ เอียวศรีวงศ์ รวมถึงกิจกรรมเสวนา ‘นิธิแห่งทัศนะและปัญญา’ นอกจากนี้ยังมีโปรโมชั่นพิเศษและของพรีเมียมอีกมากมาย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผศ.อัครพงษ์ ค่ำคูณ อาจารย์วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ ม.ธรรมศาสตร์ เดินทางมาเข้าชมนิทรรศการ

ผศ.อัครพงษ์ กล่าวว่า วันนี้ตั้งใจมางานเปิดโกดังหนังสือการเมือง เพราะตอนนี้สังคมมีภาวะที่ให้ความสำคัญเกี่ยวกับการเมือง ตื่นรู้ว่าการเมืองนั้นเป็นสิ่งที่ขับเคลื่อนสังคม ถ้าการเมืองดีเศรษฐกิจก็ดี สังคมก็จะดี การดำเนินชีวิต ความสัมพันธ์ในสังคมก็จะดี

Advertisement

“ถ้าเรานึกถึงการเมือง ต้องมาที่มติชน มาดูหนังสือต่างๆที่นักวิชาการ นักคิดนักเขียนทั้งหลาย ที่มติชนให้ความสำคัญมาก เรียกได้ว่า เป็นการจุดความตื่นรู้ให้กับสังคม” ผศ.อัครพงษ์กล่าว

 


ผศ.อัครพงษ์ กล่าวถึงศาสตราจารย์ ดร.นิธิ ว่าเป็นปูชนียบุคคล หนึ่งในยอดนักวิชาการที่สนใจเรื่องการบ้านการเมือง สร้างความตื่นรู้

Advertisement

“อาจารย์นิธิสามารถนำเรื่องวิชาการยากๆ มาอธิบายเรื่องง่ายๆในสังคม เช่น ละคร และหลายเรื่องที่เป็นเรื่องการใช้ชีวิต เป็นหนึ่งในปัญญาชนที่ทำให้เราเข้าใจว่า เราต้องเคารพ เข้าใจว่าวัฒนธรรมไม่ใช่สิ่งที่เราไปควบคุมได้ มันไม่อยู่นิ่งๆกับที่ ตัวแก่น ที่อาจารย์นิธิสื่อสารทั้ง 2 ทาง คือ การสื่อสารทั้งกับผู้มีอำนาจ ฟังว่าสังคมตอนนี้มันเป็นอย่างไร และสื่อสารให้คนธรรมดาทั่วไป ได้เข้าใจว่า สถานทางความสัมพันธ์เชิงอำนาจในสังคมเป็นอย่างไรบ้าง ฉะนั้นสิ่งที่อาจารย์ทำ หลายคนบอกว่าเป็นการศึกษาทางประวัติศาสตร์ ความรู้ทางด้านสังคมศาสตร์ สังคมวิทยา มานุษยวิทยา แต่ผมว่าไม่ใช่

ผมคิดว่าสิ่งที่อาจารย์นิธิทำ คือ เรื่องความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ก็คือการเมือง เพราะฉะนั้นงานของอาจารย์จึงทรงพลัง ถ้าประวัติศาสตร์เฉยๆ สังคมวิทยาเฉยๆ มานุษยวิทยาเฉยๆ มันไม่มีพลัง แต่พลังของอาจารย์นิธิ คือ การที่ทำให้เราเห็นถึงความสัมพันธ์ของคนต่างๆได้มากขึ้น” ผศ.อัครพงษ์กล่าว

ผศ.อัครพงษ์กล่าว ว่า เมื่อได้เดินชมนิทรรศการแล้วประทับใจ ว่าชีวิตของคนๆหนึ่งจะสร้างผลงานได้มากขนาดนี้ พอพูดถึงผลงานอาจารย์นิธิ ก็จะนึกถึงยี่ห้องานด้านประวัติศาสตร์ ที่เราจำได้ไม่รู้ลืม อย่างเช่น กรุงแตกพระเจ้าตาก

“อาจารย์นิธิยังนึกถึงเรื่องความสำคัญของคนทั่วไป ผ่านวิถีชีวิตซึ่งเป็นเรื่องทางวัฒนธรรม อย่าง ปากไก่และใบเรือ อาจารย์ชอบตั้งคำบทความแปลกๆ เช่น โขนคาราบาว ผ้าซิ่น ผ้าขาวม้า อาจารย์ก็ใช้ที่มันคำธรรมดา แต่พออ่านไปแล้วมันมีความหมายมาก


นิทรรศการนี้ ผมคิดว่าเป็นการรวมรวมผลงานของอาจารย์นิธิมากที่สุด เนื่องจากท่านเป็นคนสร้างปัญญา สร้างความรู้ คนหนึ่งในสังคมไทยอย่างหาที่สุดไม่ได้” ผศ.อัครพงษ์กล่าว

ผศ.อัครพงษ์ กล่าวว่า ในด้านความผูกพัน ตนเป็นลูกศิษย์ ศ.ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ซึ่งเป็นเพื่อนกับอาจารย์นิธิ เมื่อสังสรรค์ตนก็จะติดสอยห้อยตามไป

“เมื่อก่อนก็จะรู้สึกว่า เวลาเราลงชื่อในขบวนการต่อสู้อะไรทั้งหลาย ก็จะมี 2 ชื่อ คือ นิธิ-ชาญวิทย์ อยู่ประจำ พอเรามาเจอเราก็รู้สึกว่าแกแต่งตัวธรรมดา ไม่ใส่สูทผูกไทด์ ใส่แค่เสื้อโปโลอย่างที่เราเห็น ผมมีโอกาสคุยกับอาจารย์เรื่อยมา แต่ความน่าสนใจ คือ ปัญหาเรื่องการใช้ปัญหาเรื่อง ม.112 ที่อาจารย์ถูกเชิญไปพูดที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต” ผศ.อัครพงษ์กล่าว

ผศ.อัครพงษ์กล่าวว่า ช่วงหลังเมื่อตนได้เป็นคณบดีวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ อยากเชิญอาจารย์นิธิมาบรรยาย แต่ท่านป่วย ล่าสุด ได้โทรศัพท์ไปหา ท่านรับสายเอง

“ผมอยากให้อาจารย์นิธิมาพูดเรื่องฉากทัศน์การเมืองประเทศไทยหลังเลือกตั้ง พอมาเกิดเหตุการณ์ การจัดตั้งรัฐบาลสะดุด เกิดการข้ามขั้วภายหลัง เราก็เลยพับเก็บไป กระทั่งอาจารย์มาเสียชีวิตในวันที่ 7 สิงหา เราก็เลยไม่ได้ทำเวทีวิชาการนี้ ผมก็หมดวาระคณบดีพอดี

ผมคิดว่าสิ่งที่สำคัญของอาจารย์นิธิ คือ อาจารย์นิธิไม่ตาย สิ่งที่ทำไว้เป็นอมตะ แต่อย่าลืมว่างานวิชาการที่มันถูกสร้างขึ้นมาในยุคสมัยหนึ่ง มันก็รับใช้สมัยแนวคิด การเปลี่ยนแปลงในสมัยนั้น ในหนังสือของอาจารย์นิธิก็เขียนไว้เอง

อนาคตถ้าสังคมเปลี่ยนไปอีก งานของอาจารย์นิธิก็อาจจะเป็นหนังสือที่ไม่มีใครอ่านแล้วก็ได้ อันนี้คืออนิจจังของสังคมไทย วัฒนธรรมมันเปลี่ยนไปเสมอ เราจะไปฟรีซ (แช่แข็ง) วัฒนธรรมไม่ได้

คำพูดของอาจารย์นิธิที่ผมจะจำจนวันตาย คือ นาฬิกามันเดินไปข้างหน้า คุณจะดึงเข็มนาฬิกาถอยกลับมาเท่าไหร่ มันก็เดินต่อไปข้างหน้า ผมคิดว่านี่เป็นอมตะวาจาของอาจารย์ที่สำคัญที่สุด

ผมคิดว่าสิ่งที่อาจารย์ทำมาทั้งหมด ทำให้เห็นอนิจจังของสังคมไทยที่มันเปลี่ยนแปลงไป อำนาจมันก็ผลัดเปลี่ยนกัน ขึ้นอยู่กับว่าเวลาจะทำให้คนได้สติ ได้ตื่นรู้ อย่างที่อาจารย์อยากให้ตื่นรู้ได้หรือไม่

สังเกตจากงานของอาจารย์ที่ตีความเรื่องพระเจ้าตากใหม่ ตีความพระนารายณ์ใหม่ ตีความสมัยประวัติศาสตร์ใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานสุดท้ายของอาจารย์ คือ ว่างแผ่นดิน อาจารย์ก็บอกให้เราได้เห็นการเปรียบเทียบ
ผมคิดว่าอาจารย์นิธิ มีสิ่งที่สำคัญก็ คือ เป็นผู้ที่ไม่ได้ศึกษาแค่ตัวบท ที่ศึกษาตัวมันเอง แต่เป็นการศึกษาเชิงเปรียบเทียบ ทำให้เราเห็นภาพสังคมกว้างขึ้น อยากให้เรามองอะไรกว้างๆ มากกว่ามองแคบๆ นาฬิกามันเดินไปแล้วครับ” ผศ.อัครพงษ์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image