บก.ฟังแล้วสะอึก! ‘นิธิ’ เคยยื่น MOU ขอเขียนตามใจ เล่านาทีต้นฉบับสุดท้าย ‘เขียนไป ซับเลือดไป’

บก.ฟังแล้วสะอึก! ‘อ.นิธิ’ เคยยื่น MOU ขอเขียนตามใจ – เล่าเป็นฉาก นาทีต้นฉบับสุดท้าย ‘เขียนไป ซับเลือดไป’

ฟังแล้วสะอึก! อ.นิธิ เคยยื่น MOU บก.มติชนสุดสัปดาห์ ‘ขอเขียนตามใจ’ เล่าเป็นฉาก ต้นฉบับสุดท้าย ‘วันชาติ’ เสียดายไม่ได้อ่าน ‘เขียนไป ซับเลือดไป’ ยกย่อง คือนักหนังสือพิมพ์ – ผู้สร้างชนชั้นชาวบ้าน

เมื่อวันที่ 2 กันยายน ที่มติชน อคาเดมี เขตจตุจักร กรุงเทพฯ สำนักพิมพ์มติชน ร่วมกับศูนย์ข้อมูลมติชน (MIC) จัดงาน “มติชนเปิดโกดังหนังสือการเมือง” ครั้งแรก ตั้งแต่วันที่ 30 สิงหาคม – 3 กันยายนนี้ โดยภายในงานคับคั่งไปด้วยกองทัพหนังสือการเมืองเล่มสำคัญที่หายาก พร้อมด้วยผลงานของศาสตราจารย์ ดร. นิธิ เอียวศรีวงศ์ รวมถึงกิจกรรมเสวนา อาทิ ‘นิธิแห่งทัศนะและปัญญา’ นอกจากนี้ ยังมีโปรโมชั่นราคาพิเศษ และของพรีเมียมอีกมากมาย

บรรยากาศเวลา 16.30 น. มีการเสวนา Editor’s Talk: นิธิก่อนขึ้นแท่น(พิมพ์): เรื่องของบรรณาธิการกับงานของนิธิ เอียวศรีวงศ์” โดย นายสุพจน์ แจ้งเร็ว บรรณาธิการนิตยสารศิลปวัฒนธรรม และ นายสุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร บรรณาธิการนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ ผู้อยู่เบื้องหลังการปลุกปั้นหนังสือและข้อเขียนของ ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ร่วมพูดคุย แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ดำเนินรายการโดย พิชญ์เดช แสงแก่นเพ็ชร์

Advertisement

ในตอนหนึ่ง นายสุวพงศ์ บรรณาธิการนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ กล่าวถึงการร่วมงานกับ ศ.ดร.นิธิ ว่าอาจารย์นิธิเข้ามาเขียน มติชนสุดสัปดาห์ตั้งแต่ปี 2530 หลังจากที่ นายขรรค์ชัย บุนปาน ประธานกรรมการ บมจ.มติชน และ นายสุจิตต์ วงษ์เทศ นักโบราณคดีและคอลัมนิสต์ ชักชวนมาร่วมเขียนบทความในศิลปวัฒนธรรม โดย นายเสถียร จันทิมาธร เป็น ผู้ชักชวนมาเขียน

“งานของอาจารย์นิธิ เริ่มตั้งแต่มติชนรายวัน จนเกือบ 10-20 ปี ฟังดูเหมือนเราใกล้ชิดกับอาจารย์นิธิมาก มักคุ้นกันเป็นอย่างดี อย่างผมเหมือนเป็นปรู๊ฟ ดูต้นฉบับที่อาจารย์ส่งมา ส่งมาอย่างตรงเวลาเคร่งครัด นี่คือส่วนหนึ่งที่ประทับใจอาจารย์นิธิอย่างมาก ความเป็นคนที่ตรงต่อเวลาอย่างมาก จะไม่มีการที่กอง บก. โทรไปถามว่าอาจารย์ส่งหรือยัง ต้นฉบับของอาจารย์จะมาตรงเวลาเสมอ” นายสุวพงศ์เผย

นายสุวพงศ์กล่าวต่อว่า ต้นฉบับของอาจารย์นิธิ แทบจะไม่มีอะไรต้องแก้ไข ในเชิงบรรณาธิการ หน้าที่เราคือการอ่านให้เข้าใจว่าอาจารย์เขียนถึงอะไร บางเรื่องลึกซึ้งเราอ่านอีกรอบหนึ่งยังไม่เข้าใจ อย่างน้อยๆ ในฐานะบรรณาธิการเราควรจะเข้าใจ และอธิบายให้ได้ว่าอาจารย์นิธิเขียนถึงอะไร นี่คือภารกิจใหญ่ และคือสิ่งที่ทำมาตลอด ตั้งแต่มติชนรายวันจนถึงมติชนสุดสัปดาห์

Advertisement

จากนั้น นายสุวพงศ์ ย้อนเล่าเกร็ดความทรงจำ หลังการรัฐประหารปี 2557 ว่าปกติ ตนกับอาจารย์นิธิ ติดต่อกันน้อยมาก ใน 1 ปี จะคุยกัน 2-3 ครั้ง บางครั้งไม่ได้คุยกันเลยด้วยซ้ำ

“แต่หลังการปฏิวัติ ปี 2557 อาจารย์นิธิโทรศัพท์มา บอกว่ามีเรื่องที่ต้องแจ้ง ว่านับต่อจากนี้ผมจะขอเขียนเรื่องตามใจผม เราในฐานะบรรณาธิการฟังแล้วสะอึก เพราะตอนนั้นบรรยากาศ การปรับทัศนคติมีอยู่ตลอด ทั้ง บก. ในเครือมติชนเอง ทั้งเป็นทางการและไม่เป็นทางการ เรียกไปพูดคุยหลายครั้ง บางครั้งทำให้ข้อเขียนในมติชนสุดสัปดาห์ หายไป โดยความสมัครใจ

“อาจารย์นิธิเกริ่นมาว่า ผมจะขอเขียนตามใจ ความรู้สึกแรกก็คือ ผมหนักใจมากเลย ในแง่ บก. แต่ใน MOU ข้อที่ 2 อาจารย์นิธิบอกว่า ถึงแม้ผมจะเขียนตามใจผม แต่ถ้าหากข้อเขียนนั้นคุณเห็นว่ามีผลกระทบต่อมติชนหรือต่อองค์กร ขอให้ยกต้นฉบับนั้นเลย อาจารย์ยังมีข้อแม้ข้อที่ 3 คือ อย่าเซ็นเซอร์ต้นฉบับนั้น ถ้าจะไม่ลง ก็ไม่ลง สะท้อนให้เห็นถึงสิ่งที่อาจารย์อยากจะแสดงจุดยืนบางอย่างเกี่ยวกับการรัฐประหารในครั้งนั้นและเหตุการณ์ที่สืบเนื่องต่อมา 2.อาจารย์ไม่อยากให้มีการเข้าไปเปลี่ยนแปลงเนื้อหา ถึงจะไม่ได้ลง แต่ก็เป็นสิ่งที่ยืนยันในสิ่งที่อาจารย์เชื่อผ่านต้นฉบับนั้น ซึ่งบทความที่กอง บก.ยกออก ก็มีบ้าง แต่น้อยมาก เพราะส่วนหนึ่งอาจารย์เองก็เขียนรัดกุม” นายสุวพงศ์กล่าว และว่า

คือนอกจาก อ.นิธิ จะเป็นนักวิชาการ อาจารย์ยังเป็นนักหนังสือพิมพ์ สามารถมีลูกเล่นลูกชน ที่ทำให้บางสารเข้าไม่ถึง

นายสุวพงศ์ยังกล่าวถึง ศ.ดร.นิธิ ที่งานค่อนข้างแตกต่างจากนักวิชาการท่านอื่น ที่มีลักษณะเป็นวิชาการ แต่งานจะมีความกลมกลืนจนเป็นธรรมชาติ จนเราสัมผัสได้

“มีเกร็ดเล่าถึงงานชิ้นนสุดท้ายของอาจารย์ในช่วงวันชาติ ผมไปงานรำลึกการเสียชีวิตของอาจารย์ที่เชียงใหม่ ก่อนถึงคืนนั้น อาจารย์นิธิเขียนเรื่องวันชาติส่งมติชน ประมาณต้นเดือนกรกฎาคม โดยตั้งใจที่จะเขียนหลังจากเจอคำอธิบายของคุณวิษณุ เครืองาม เรื่องวันชาติ ซึ่งอธิบายในแง่ของความเป็นฝ่ายอนุรักษนิยมเต็มที่ ดูแล้วอาจารย์นิธิไม่เห็นด้วย เลยต้องการจะเขียนเป็นซีรี่ย์ 3 ชิ้น

ตอนนั้นอาจารย์ป่วยหนักอาการค่อนข้างซีเรียส แต่ตั้งใจมากที่จะเขียนเรื่องนี้ให้เป็นชิ้น ให้เป็นหลักยึดในสังคมไทย แต่อาจารย์เขียนไปได้ตอนนึง อีกวันจันทร์ที่อาจารย์จะต้องส่งต้นฉบับ ก็มีโทรศัพท์มาหาผมว่า ‘ผมเหนื่อย ผมเขียนไม่ไหวแล้ว’ จากนั้นอีก 2-3 สัปดาห์ก็จากไป

ตอนไปร่วมงาน อ.สุชาดา จักรพิสุทธิ์ (คู่ชีวิตที่คอยดูแลช่วงวาระสุดท้าย) ก็เล่าว่า อาจารย์นิธิเขียนเรื่องวันชาติ เขียนไปเลือดในโพรงจมูกก็ไหลออกมา ต้องซับอยู่ตลอดแล้วก็เขียน กว่าจะเสร็จก็ประมาณ 23.00 น. วันรุ่งขึ้นหมอให้ไปคีโม แต่คีโมไม่ได้ แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจของอาจารย์อย่างมาก

สิ่งที่เราสังเกตเห็นในงานของอาจารย์จะไม่มีลักษณะของความเจ็บปวดให้เห็นอยู่ในงาน งานในช่วงหลังที่อาจารย์ป่วยมากๆ แต่ยังดูสดใสมีพลังอยู่ตลอดเวลา อ่านแล้วแทบไม่รู้ว่าอาจารย์ป่วย เรื่องเศร้าคืออาจารย์เสียชีวิต ทั้งที่อาจารย์ต่อสู้กับโรคเหล่านี้มาหลายปีแล้ว เรื่องวันชาติอาจารย์นิธิตั้งใจมาก น่าเสียดายไม่ได้เขียนต่อ

อาจารย์นิธิบอกว่า ‘วันชาติ’ มันควรจะเป็นเรื่องของทุกชนชั้นในสังคม ไม่ควรจะเป็นตัวแทนของใครบางฝ่ายเท่านั้น วันชาติควรจะเป็นเรื่องความเท่าเทียมความไม่เหลื่อมล้ำ ซึ่งเราก็เสียดายที่ 2 ตอนสุดท้ายไม่มีโอกาสได้อ่าน” นายสุวพงศ์เผย

เมื่อถามถึงความโดดเด่นของผลงานอาจารย์นิธิ ?

นายสุวพงศ์ชี้ว่า ส่วนตัวมี 2 เรื่องคือ 1.ภาพจำของอาจารย์นิธิในสายตา ประทับใจคำพูดที่นายสุจิตต์ วงษ์เทศ เขียนในบทหวีว่า อาจารย์นิธิหลุดพ้นจากความเป็นศาสตราจารย์ทางวิชาการแล้ว และมีความเป็นตัวของตัวเองมาก

“คือมันเป็นการหลุดพ้นอะไรบางอย่าง เราอ่านแล้วรู้สึกจับภาพตรงนั้นได้ เราคาดไม่ถึงเสมอว่าอาจารย์กำลังจะพูดถึงอะไร ผมเคยออกทริปกับอาจารย์ ไปดูสิ่งเดียวกัน แต่เวลาที่อาจารย์เอามาเขียน เป็นอีกเรื่องหนึ่ง มันไปอีกชั้น คือภาพจำส่วนตัว” นายสุวพงศ์ กล่าว

นายสุวพงศ์กล่าวต่อว่า มุมที่ 2 ที่นำมาใช้ในมติชนสุดสัปดาห์ เป็นปกสุดท้ายที่เราเขียนถึงอาจารย์นิธิ

“บก.เอาความรู้สึกเข้าไปใส่ด้วย ภาพจำผมสิ่งที่ผุดขึ้นมา คือภาพที่อาจารย์นิธิ ยืนมีไม้เท้าค้ำ แขวนคอด้วยภาพนักโทษทางการเมือง ‘ยืน หยุด ขัง’ นี่ไม่ใช่แค่ภาพเดียว อ.นิธิ ชูป้าย ‘เราอยากเลือกตั้ง’ มันคือสิ่งที่คนตัวเล็กๆ ทำ ที่บางทีเราไม่กล้าทำ เราเลยขึ้นเอามาเป็นปก เพราะเป็นภาพจำที่ส่วนตัวค่อนข้างประทับใจ”

เวลาคิดถึงอาจารย์นิธิ ผมคิดถึงภาพนี้ตลอด ถือไม้เท้า เรียกร้องให้คนตัวเล็กตัวน้อย ที่หน้าปกบอก ‘ผู้พิทักษ์ชนชาวบ้าน’ อาจารย์นิธิสร้างชนชั้นชาวบ้านขึ้นมา ให้คนได้รำลึกและต่อสู้อยู่เสมอ” นายสุวพงศ์กล่าวทิ้งท้าย

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image