สัมภาษณ์พิเศษ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ : ถอดรหัส’การเมือง-เศรษฐกิจ’ ปี’60


หมายเหตุ : นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ “มติชน” เกี่ยวกับทิศทางการเมืองและเศรษฐกิจในปี 2560

-ในรอบปีที่ผ่านมามองการเมืองและเศรษฐกิจเป็นอย่างไรบ้าง

ปีที่ผ่านมาประเทศมีเรื่องใหญ่ที่เป็นเหตุการณ์สำคัญที่สุดคือ ความสูญเสียที่เกิดขึ้นครั้งใหญ่ที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จสวรรคต และจนถึงวันนี้และจะผ่านช่วงปีใหม่ไปประชาชนก็จะยังอยู่ในช่วงการถวายความอาลัย แต่สำหรับเรื่องของการเมืองนั้น มีกระบวนการทางการเมืองที่ใช้คำว่า “โรดแมป” ยังเดินไปตามทิศทางที่กำหนด โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญที่ผ่านการทำประชามติ ทำให้ขั้นตอนของการทำรัฐธรรมนูญฉบับนี้อยู่ระหว่างการนำขึ้นทูลเกล้าฯ และทรงรอการลงพระปรมาภิไธยจากพระมหากษัตริย์ ซึ่งยังไม่ทราบว่าสิ้นปี 2559 จะมีการทรงลงพระปรมาภิไธยหรือไม่ แต่อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนของการลงพระปรมาภิไธย หรือขั้นตอนในช่วงระยะเวลาที่จะมีการพระราชวินิจฉัย จะจบตอนเดือนกุมภาพันธ์ 2560 ขณะที่คณะกรรมาการร่างรัฐธรรมนูญ หรือ กรธ. ก็เดินหน้าทำพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญ และ กรธ.ก็มีความพร้อมพอสมควรในเดินหน้าตามปฏิทิน ในกรณีที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ เพราะฉะนั้นทั้งหมดนี้ ถือว่ายังไม่มีอะไรที่กระทบ

ตลอดเวลาที่ผ่านมามักมีคนคิดวิเคราะห์ว่า ประเทศไทยต้องมีปัญหา และเราจะหลุดพ้นจากปัญหานี้อย่างไร แต่ในสำหรับปี 2559 ที่ผ่านมา ถือว่าทุกอย่างเดินตามกรอบ ในขณะที่ปฏิทินตรงนี้เดินไป ก็มองว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) และรัฐบาล เดินหน้าทำงานได้อย่างราบรื่นพอสมควร แม้จะมีกลุ่มที่ไม่เห็นด้วย แต่ประเด็นในการแสดงออกต่อต้าน หรือคัดค้าน เช่น เรื่องรัฐธรรมนูญ ก็ไม่ได้ส่งผลมากนัก ถือว่า คสช.และรัฐบาลคุมสภาพและดูและความสงบเรียบร้อยได้ นี่เป็นจุดแข็งของรัฐบาล เพราะประชาชนพึงพอใจกับความสงบเรียบร้อยที่เกิดขึ้น แต่ความนิยมของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ที่ประชาชนมองว่า เป็นคนตั้งใจทำงานเด็ดขาด

Advertisement

เรื่องสภาพในเรื่องของเศรษฐกิจและปัญหา ยังเป็นปมทำให้คนเห็นต่างหรือขัดแย้งกัน ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ เศรษฐกิจเป็นสิ่งที่รัฐบาลประคับประคองให้อยู่ในระดับนี้ แต่เศรษฐกิจของประชาชนโดยเฉพาะในชนบทกระทบกระเทือนมาก ทั้งภัยแล้ง ราคาพืชผลตกต่ำ รัฐบาลก็มีมาตรการกระตุ้นเป็นระยะเพื่อประคับประคอง แต่สรุปว่า คนยังไม่ได้คิดว่าเศรษฐกิจดีขึ้น ประชาชนส่วนใหญ่ยังบอกว่า เศรษฐกิจไม่ดี และไม่มีแนวโน้มว่าจะพลิกโฉมหรือเปลี่ยนแปลงได้อย่างไรในปีหน้า รวมทั้งการปฏิรูปยังไม่เห็นรูปธรรมที่ชัดเจน และยังขัดแย้งกันในตัว เช่น เรื่องนโยบาย 4.0 แต่มีความไม่ลงตัวเรื่อง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ดังนั้น ภาพรวมทั้งหมดในปี 2559 ก็คือความต่อเนื่องมาจากปี 2558 แต่ไม่ได้มีอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ชัดเจนหรือเป็นรูปธรรมมากนักในเรื่องการเมืองและเศรษฐกิจ

ดังนั้น การเมืองและเศรษฐกิจในปี 2560 จะต้องต่อเนื่องจากปี 2559 ด้วยหรือไม่

ช่วงที่รัฐบาลนี้ถืออำนาจอยู่ก็ยังมองไม่ค่อยเห็นว่าจะมีอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปจากทิศทางเดิม แต่ความแตกต่างระหว่างปี 2559 และปี 2560 คือ ในปี 2560 เราจะต้องเดินเข้าไปสู่การเลือกตั้ง อาจจะไม่ได้เลือกภายในปี 2560 แต่อย่างช้าภายในครึ่งปีแรกของปี 2561 สังคมจะต้องเดินไปสู่จุดนั้น อาจจะเร็วหรือช้ากว่านั้นก็ได้ แต่ในปี 2560 จะต้องชัดเจนว่าสังคมไทยจะต้องเดินออกจากสถานการณ์นั้นแล้ว เพราะฉะนั้นการเมืองในปี 2560 ก็จะต้องมีการเคลื่อนไหวที่ไม่เหมือนกับ 2-3 ปีที่ผ่านมา เพราะพรรคการเมืองต้องเคลื่อนไหวชัดเจนขึ้น ไม่ใช่แค่จะทำตามกฎหมายที่จะออกมา แต่คือ การเตรียมการเลือกตั้ง และคงเป็นเรื่องยากถ้าไม่ให้พรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมต่างๆ ถ้าจะให้เขาทำตามกฎหมายพรรคการเมืองให้สำเร็จด้วย แต่ก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ขณะนั้น ซึ่งพรรคการเมืองต้องมาฟังความต้องการ ความคาดหวังของประชาชนเป็นหลัก

ที่มองว่าการเลือกตั้งจะยาวถึงปี 2561 ถ้าเป็นเช่นนั้นจะมีผลกระทบต่อการเมืองและเศรษฐกิจอย่างไรบ้าง

เศรษฐกิจก็ไม่ง่าย ถ้าสถานการณ์ยังดำรงแบบนี้ เพราะเหตุผลคือความอัตโนมัติ ต่างประเทศก็มีข้อจำกัด ยุโรปชัดเจนว่าผู้นำระดับนโยบายเขาจะไม่มาเจรจาทำอะไรกับเราทั้งสิ้นจนกว่าจะมีการเลือกตั้ง นักลงทุนชาวต่างประเทศ ถึงแม้เขาจะสนใจการลงทุนอย่างที่นายกฯพูด แต่เขาก็จะยังไม่ตัดสินใจลงทุนจริง จนกว่าเขาจะได้เห็นภาพแล้วว่า ระบบที่เป็นระบบไม่ชั่วคราว เพราะขณะนี้เราก็ใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 เพราะเขาไม่เห็นตรงนั้น ต่างชาติเขาก็จะไม่มีความรีบร้อน หรือเห็นว่าจำเป็นที่จะตัดสินใจในการลงทุนกับเรา เพราะฉะนั้นเงื่อนไขทางเศรษฐกิจก็ยังขยับยาก ทำได้แค่ที่ทำอยู่ในปัจจุบันคือกระตุ้นเศรษฐกิจภายใน ประคับประคองอยู่เช่นนี้

ส่วนในทางการเมือง ประชาชนอาจจะไม่ได้อยู่ในอารมณ์ที่เห็นว่าจะต้องรีบร้อนเลือกตั้ง แต่ก็ขอให้โรดแมปเดินไปในทิศทางที่ควรจะเป็น ซึ่งไม่ใช่หมายความว่าจะปล่อยให้เป็นสภาพเช่นนี้ไปเรื่อยๆ ไม่ได้

การสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ที่พูดถึงจะเป็นผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการเมืองต่อไปหรือไม่

ต่างประเทศเคยกลัว หรือเคยตั้งข้อสังเกตว่า ถ้าประเทศไทยจะต้องมีการเปลี่ยนผ่านแบบนี้จะต้องมีความวุ่นวาย แต่อย่างน้อยที่สุดเราก็ได้เห็นว่า มันไม่ได้เป็นอย่างนั้น ท่ามกลางความสูญเสีย เราได้เห็นพลังของความสามัคคีที่แสดงออกมาในรูปแบบต่างๆ ที่บริเวณท้องสนามหลวง ที่มีคนเคยบอกว่า คนไทยไม่มีวินัย แต่ทำไมคนจำนวนเป็นหมื่น ถึงมาเข้าแถวรอเป็นเวลา 6-7 ชั่วโมงกว่าได้ เราเคยกังวลว่า เราจะมีความเอื้ออาทรต่อกันหรือไม่ในสังคมหากเปลี่ยนผ่าน แต่ทุกวันนี้ทุกคนสามัคคี เพราะฉะนั้นท่ามกลางความสูญเสียวันนี้เราก็ได้เห็นพลังในสังคมไทย ผมมองตรงนี้มากกว่าเรื่องเศรษฐกิจเป็นอย่างไร ดังนั้นเราจะต้องมองว่า จะทำอย่างไรให้พลังสามัคคีตรงนี้เป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการเมืองเดินต่อไปข้างหน้าได้มากกว่า

การปฏิรูปการเมืองตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะนำไปสู่การเมืองในรูปแบบไหนของอนาคตประเทศไทย

รัฐธรรมนูญพยายามเข้มงวดกวดขันแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นมากขึ้น โดยรวมมีความเข้มงวดเรื่องคุณลักษณะ ลักษณะต้องห้าม เพิ่มโทษ แต่ปัญหาการเมืองไทยเรื่องคอร์รัปชั่นอยู่ที่การบังคับใช้กฎหมาย กับวัฒนธรรมทางการเมือง ที่ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะทำให้มีกลไกที่เป็นประสิทธิภาพมากขึ้นได้อย่างไร เพราะตรงนี้จะไม่ได้มาจากตัวกฎหมาย ต้องอาศัยพลังของสังคมที่จะเป็นตัวกดดัน

นอกจากนี้ ปัญหาที่คนเบื่อหน่ายความขัดแย้ง แต่คำว่า “เบื่อหน่ายความขัดแย้ง” เราก็ไม่ได้เผชิญถึงต้นเหตุของความขัดแย้งอย่างจริงจัง สิ่งสำคัญคือ กติกาที่เขียนมาเมื่อใช้ไปแล้วยังมีความสุ่มเสี่ยงต่อความขัดแย้งอยู่ดี โดยเฉพาะเมื่อมีวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งจาก คสช. 250 คน ในกรณีที่อาจจะมีจุดขัดแย้งกับสภาที่มาจากการเลือกตั้ง รวมทั้ง คนส่วนใหญ่ต้องการจะได้รัฐบาลที่เข้าใจปัญหา และมีประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาโดยไม่ใช่การแข่งขันเฉพาะประชานิยม ซึ่งตรงนี้จะไม่ได้คำตอบจากตัวกฎหมาย แต่จะอยู่ที่ว่า พรรคการเมืองจะทำตรงนี้ได้หรือไม่

ผมไม่สามารถที่จะประเมินได้ว่า หลังการเลือกตั้งสถานการณ์จะคลี่คลายไปในทางใด เพราะต้องขึ้นอยู่กับผลการเลือกตั้งด้วย และไม่คิดว่ากฎกติกาที่เขียนอยู่นี้เมื่อนำมาใช้แล้วจะเป็นเหมือนที่คนเขียนคิด หรือจะเป็นเหมือนที่หลายๆ คนคิด เช่น บางคนบอกว่า เลือกตั้งแล้วจะเป็น “เบี้ยหัวแตก” แต่ผมบอกว่า ไม่จำเป็น เพราะเราไม่มีทางรู้จนกว่ากระแสสังคมในการเลือกตั้งจะให้คำตอบกับเราเอง และใครที่คิดว่า 250 เสียงวุฒิสภา ที่มาจากการแต่งตั้งจะมากำหนดอะไรได้ ก็ไม่ได้ง่ายอย่างนั้น เพราะฉะนั้น ผมและพรรคไม่อยากจะเสียเวลาเรื่องกติกากฎหมาย วันนี้ต้องหันกลับมาดูว่า ประชาชนต้องการอะไรแล้วกลับมาคิดพยายามตอบสนอง และถ้าเราคิดตรงใจประชาชน ประชาชนก็จะสนับสนุนให้เราทำงานได้เอง อย่างไรก็ตาม การเตรียมความพร้อมของพรรคประชาธิปัตย์ภายใต้กลไกใหม่ ไม่ว่ากฎหมายเขียนมาอย่างไร เราก็ต้องทำให้ได้ เราไม่ได้มีปัญหา

พรรคประชาธิปัตย์มีการเตรียมความพร้อมในการเลือกตั้งตามกติกาในปี 2560 อย่างไรบ้าง

ส่วนตัวมองว่ากติกาเป็นเรื่องรอง แต่การตั้งโจทย์ของประเทศเพื่อสนองความต้องการของประชาชนเป็นเรื่องหลัก ขณะนี้พรรคประชาธิปัตย์เดินหน้าให้ความสำคัญกับประชาชนเป็นอย่างมากในเรื่องเศรษฐกิจ ประเทศไทยแม้จะอยู่ในสถานการณ์พิเศษ แต่เราก็อยู่ในกระแสโลก วันนี้เป็นวันที่ประชาชนส่วนใหญ่มีความรู้สึกแปลกแยกจากเศรษฐกิจกระแสหลัก คือ การพูดถึงตัวเลขเศรษฐกิจต่างๆ ที่เราใช้กันมา ทุกวันนี้เศรษฐกิจจะเติบโตเป็นตัวเลขเท่าไหร่ ผมมองว่าคนส่วนใหญ่ไม่ได้มองตรงนี้ แต่เขามองที่ว่า จะปลูกข้าวได้หรือไม่ ราคาข้าว ราคายาง ราคามันสำปะหลัง มีราคาเท่าไหร่ เราจะเห็นปฏิกิริยาที่ออกมาจากหลายประเทศ ตัวเลขเศรษฐกิจจะไม่ได้มีความสัมพันธ์อะไรกับชีวิตความเป็นอยู่

เพราะฉะนั้นโจทย์สำหรับพรรคประชาธิปัตย์ตั้งไว้คือ คนที่ทำงานเรื่องนโยบายพรรคก็ทำในเรื่องของเศรษฐกิจ แม้จะประชุมพรรคไม่ได้ แต่เราก็ต้องศึกษาแก้ไขดำเนินงานว่า ในแง่ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนจะเป็นอย่างไร และประชาชนแต่ละที่ก็จะมีความต้องการที่ไม่เหมือนกัน เราต้องมาเชื่อมโยงกันให้หมด คือ ต้องไม่มีนโยบายที่ขัดกันเอง ประชานิยมแบบไม่มีเหตุผลจะต้องไม่มี เราเก็บข้อมูลและทดลองนโยบายเพื่อรอการเลือกตั้งครั้งหน้าอยู่ในหลาย ๆ เรื่อง โดยที่ต่อไปนี้นโยบายจะต้องเจาะเป็นกลุ่มๆ ไม่มีนโยบายภาพรวมเศรษฐกิจกิจที่จะแก้ทุกสิ่งทุกอย่าง เพราะโครงสร้างสังคมเศรษฐกิจนั้นเปลี่ยนไปเยอะ ความต้องการคนหลากหลาย

วันนี้เราจะไปคิดนโยบาย 4.0 แต่ว่า ยังมีคนไทยที่อยู่ใน 1.0 ถึง 3.0 ที่อย่างไรก็ยังอยู่ในโลกนั้น เพราะฉะนั้นการมีเศรษฐกิจ 4.0 ไม่ตอบโจทย์ทุกคนได้ แต่เราต้องโยงสิ่งเหล่านี้เข้ากับนโยบายอื่นๆ ได้ นโยบาย 4.0 ต้องพึ่งความคิดสร้างสรรค์ แต่ถ้าบรรยากาศของสิทธิเสรีภาพไม่มี ก็ไม่เกิดผล นี่คือสิ่งที่ทำไมปฏิกิริยาในเรื่อง พ.ร.บ.คอมพ์ กับ นโยบาย 4.0 ถึงเป็นเรื่องสวนทางกันอยู่ ของพวกนี้ผมคิดว่าพอเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งต้องมีการมาถกเถียงประเด็นเหล่านี้แบบจริงจังมากขึ้น และพรรคการเมืองก็ต้องมาทำการบ้านมากขึ้น

เป็นห่วงหรือไม่หากเข้าสู่สถานการณ์ปกติแล้วรัฐบาลหลังการเลือกตั้งเข้ามาจะทำงานยากขึ้น เพราะรัฐบาลปัจจุบันมีอำนาจมาตรา 44 ดำเนินการเบ็ดเสร็จ สามารถทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย โดยที่บางเรื่องหากเป็นรัฐบาลปกติในอนาคตอาจจะทำไม่ได้

การมีอำนาจเบ็ดเสร็จก็ทำอะไรได้รวดเร็วมากขึ้น เป็นข้อดี แต่เราจะไว้ใจให้ทุกคนมีอำนาจแบบนี้หรือไม่ แล้วเราจะไว้ใจได้หรือไม่ว่า คนที่เคยใช้อำนาจแบบนี้ แบบมีคุณธรรม จะไม่ไปใช้ในทางอื่นเมื่อกาลเวลาผ่านไป ประวัติศาสตร์ของโลกก็พิสูจน์แล้ว ไม่เช่นนั้นระบอบประชาธิปไตยจะไม่เติบโตมาถึงทุกวันนี้ บางเรื่องผมจึงเข้าใจว่าถ้าไม่มีมาตรา 44 ก็คงไม่ง่ายเช่นนี้ แต่ผมอยากให้เรามาช่วยกันคิดว่า ถ้าไม่มีมาตรา 44 แล้วเกิดปัญหาอุปสรรคที่ระบบจะทำอย่างไร เพราะเราก็ควรปรับปรุงระบบมากกว่า หากรัฐบาลนี้ถ้ามั่นใจว่า อุปสรรคที่มีอยู่ในระบบ ทำให้แก้ปัญหาไม่ได้ ก็ปรับปรุงแก้ไขระบบดีกว่า จะเป็นประโยชน์กับประเทศในระยะยาว แม้บางเรื่องที่ใช้มาตรา 44 บางเรื่องก็เป็นผลที่น่าพึงพอใจ แต่ก็ไม่ได้แปลว่า ปัญหาจะไม่มีอีกเสียทีเดียว คนที่ถูกแขวนโดยมาตรา 44 มีหลายคนที่ขณะนี้สอบสวนไปแล้วเขาก็ไม่ผิด หรือยังไม่พบว่าเขาผิด รัฐบาลต้องมานึกถึงประเด็นนี้ด้วย

อภิสิทธิ์

มีโอกาสไหม ที่ผลจากกติกาตามรัฐธรรมนูญ จะมีส่วนบีบให้พรรคการเมืองจับมือกันทำงานในสภามากขึ้นในอนาคตหรือไม่

ถ้ารัฐบาลนี้ตั้งโจทย์การปฏิรูปเป็นการแก้ระบบในเรื่องเหล่านี้แล้วเป็นยุทธศาสตร์ชาติ ผมว่าจะไม่เป็นปัญหากับอนาคต แต่ถ้าไม่ทำก็ต้องไปดูว่า เราสามารถรวบรวมแรงสนับสนุนการแก้ปัญหาเหล่านี้ได้มากแค่ไหน ซึ่งอาจจะเป็นพรรคการเมืองจับมือกัน หรือพรรคการเมืองคุยกับวุฒิสภา หรืออะไรก็ตาม ส่วนจะคุยกับฝ่ายไหนง่ายกว่ากัน ผมว่าตรงนี้ต้องนำความคิดมากางดูกันก่อน

มองว่าเรื่องความปรองดองในอนาคตจะสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างไร

พอสถานการณ์ทุกอย่างสงบ ก็ลดการสร้างความเกลียดชังลงไปได้บ้าง แต่ความคิดพื้นฐานหลายคนยังแตกต่างกันอยู่ สำหรับผมคิดว่า ต้องตั้งโจทย์ปรองดองให้ถูก ถ้าตั้งโจทย์ปรองดองโดยมองไปในอนาคต ผมว่าเราก็มีโอกาสที่จะปรองดองได้ คำว่า “ปรองดองในอนาคต” คือ สิ่งที่เราต้องถกเถียงกันในวันนี้ว่า ตกลงข้อมูลเท็จในคอมพิวเตอร์เราจะจัดการอย่างไร ที่ยังเป็นช่องโหว่ในการละเมิดสิทธิ์ เป็นต้น เราจะอยู่ร่วมกันแล้วมีพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนกันอย่างไร ถ้าเรามองโจทย์แบบนี้ ผมว่าก็เดินหน้าไปได้ แต่ถ้าตั้งโจทย์ปรองดองแบบมองถอยหลัง เช่น จะนิรโทษกรรมคนที่เคยทำผิดอย่างไร ผมว่าคงไม่จบสิ้น เพราะฉะนั้นถ้าเมื่อไหร่ที่คนที่ทำงานเรื่องปรองดอง แยกเรื่องปรองดองให้ขาดออกมาจากเรื่องเก่า โดยปล่อยให้กระบวนการทางกฎหมายเดินไปก่อน แต่ถ้าไม่ทำอย่างนี้เราจะวนเวียนอยู่ที่เดิม อย่างกรณีนายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีตหัวหน้าพรรครักประเทศไทย ก็ออกจากเรือนจำมาแล้ว ตรงนี้เป็นอุทาหรณ์ว่า เรื่องจบได้โดยเข้าสู่กระบวนการ แต่ถ้าคนยังบอกว่า การทำผิดต้องได้รับการนิรโทษกรรม ก็จะไม่จบสิ้น

อยากให้แนะนำการทำงานของรัฐบาลในฐานะอดีตนายกรัฐมนตรี

พล.อ.ประยุทธ์ แนะนำมาตลอด เรื่องต้องให้กฎหมายศักดิ์สิทธิ์ ถ้ายืนบนพื้นฐานนี้ก็เดินหน้าได้ แต่ที่ต้องมองไปข้างหน้าว่า จะทำอย่างไรให้ประชาชนมีเสรีภาพ แล้วใช้เสรีภาพ เคารพกัน อยู่ร่วมกันได้ ตรงนี้ต้องทำให้ได้ แต่จะทำแบบสุดโต่งทางใดทางหนึ่งไม่ได้ เช่น พยายามจะห้ามไม่ให้มีการแสดงความคิดเห็นเลย แบบนี้ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ อีกด้านหนึ่งคือ การปล่อยให้มีการสร้างความเกลียดชัง โดยปล่อยให้มีการนำความเท็จมากระทำกันอย่างเสรี ตรงนี้คือโจทย์ที่คิดว่าสำคัญที่สุดสำหรับการปรองดองในอนาคต

รัฐบาลต้องยอมรับความเป็นจริงที่หลากหลายของสังคม อย่ามองความเห็นต่างว่าเป็นเรื่องปฏิปักษ์ เช่น กรณี พ.ร.บ.คอมพ์ ผมดูแล้วว่า คนเขียนไม่ได้มีเจตนาที่จะไปทำอะไรที่เป็นปัญหา แต่เมื่อเขียนแล้วจากประสบการณ์ในอดีตอาจจะทำให้คนมีสิทธิระแวงว่า สามารถบิดเบือน ตีความ ใช้กฎหมายไปในทางที่ละเมิดสิทธิเขาได้เหมือนกัน จึงอยากแนะนำว่า กลุ่มที่คัดค้าน เขามีจำนวนมากพอสมควร และมีระบบการจัดการมากพอสมควร มิเช่นนั้นเขาคงไม่สามารถรวบรวมรายชื่อได้มากขนาดนั้น ดังนั้นทำไมรัฐบาลไม่นำคนเหล่านี้มานั่งคุย แล้วฟังเขาพูดก่อนโดยที่อย่าเพิ่งไปสรุปว่า คนเหล่านี้เขาบิดเบือน ขอให้ฟังข้อห่วงใยเขาก่อน มีอะไรที่จะแก้ให้เขา หรือทำความเข้าใจบ้างหรือไม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image