จารุพล ปธ.ยุทธศาสตร์ ‘เพื่อชาติ’ เขียนจม.เปิดผนึกถึง ‘สุทิน’ เสนอ 4 ข้อในฐานะ ‘ทหารชั้นผู้น้อย’

จารุพล ปธ.ยุทธศาสตร์ ‘เพื่อชาติ’ เขียนจม.เปิดผนึกถึง ‘สุทิน’ เสนอ 4 ข้อในฐานะ ‘ทหารชั้นผู้น้อย’

เมื่อวันที่ 5 กันยายนที่ผ่านมา ร้อยเอก ดร.จารุพล เรืองสุวรรณ ประธานยุทธศาสตร์และแคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อชาติ เผยแพร่จดหมายเปิดผนึกถึง นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นำเสนอข้อคิดเห็น 4 ข้อ

ความดังนี้

เรียน ท่านสุทิน คลังแสง ที่เคารพ

Advertisement

ถือเป็นนิมิตรหมายอันดีที่ประเทศไทยได้รัฐมนตรีพลเรือนคนใหม่ ที่จะเข้ามาทำให้กองทัพของเราทันสมัยมากยิ่งขึ้น ก่อนอื่นในฐานะ “ลูกหลานอีสาน” ด้วยกัน ต้องขอแสดงความยินดีในโอกาสที่ท่านได้รับการโปรดเกล้าแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมด้วยครับ ถือเป็นตำแหน่งสำคัญที่สามารถทำคุณประโยชน์ให้แก่บ้านเมืองได้มากมาย

หลังจากที่ท่านได้พบกับผู้นำกองทัพแล้ว ผมจึงขอเขียนจดหมายเสนอแนะฉบับนี้ในฐานะทหารเก่าชั้นผู้น้อย เผื่อว่าท่านจะได้นำมุมมองของทหารชั้นผู้น้อย ไปใช้ในการบริหารงานด้วยเช่นกัน

1. ทหารในปัจจุบันควรปรับเปลี่ยนทิศทางของตนเอง จากเป็นผู้ใช้งบประมาณ เป็นหนึ่งในผู้หารายได้เข้าสู่ประเทศ เข้าทำนองเป็น producer ไม่ใช่ consumer เพียงอย่างเดียว เนื่องด้วยทหารมียุทโธปกรณ์จำนวนมาก อีกทั้งยังมีที่ดินที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ในทางการเกษตร นอกจากนี้เรายังมีหน่วยงานต่างๆที่มีโครงสร้างสมบูรณ์ อาทิ สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ที่ได้ถูกออกแบบมาให้เป็นหน่วยงานที่มีความคล่องตัวคล้ายคลึงกับหน่วยงานเอกชน หากแต่ยังขาดการเพิ่มเติมบุคลากรที่มีศักยภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการวิจัย

Advertisement

ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม เป็นครัวของโลก และมีจุดแข็งในด้านความมั่นคงทางอาหาร และมีไม่กี่ประเทศบนโลกเท่านั้นที่มีจุดแข็งเช่นนี้ กระทรวงกลาโหม สามารถนำจุดแข็งเหล่านี้ไปสร้างเป็นรายได้ให้แก่ประเทศได้เช่นกัน อาทิเช่น การผลิตอาหารสำหรับกองทัพที่ใช้ในภารกิจ (Ration) ที่ทหารในโลกพัฒนาแล้วเขาใช้กัน ซึ่งป่านนี้ฝรั่งหัวทองคงเบื่อสปาเก็ตตี้กันแย่แล้ว ถ้ามีการพูดคุย เจรจาประสานงานระหว่างประเทศ แล้วเราสามารถทำได้ ส่งเป็น Ration ที่เป็นแกงเขียวหวาน ผัดไท หรือใดๆ ในมาตรฐานระดับเดียวกับเขา ก็ไม่แน่ว่าจะเป็นที่ปลื้มปิติของบรรดาทหารทั่วโลก แถมยังสร้างจุดยืนของไทยในฐานะครัวโลกและ “ครัวของทหารทั่วโลก” ไปอีก วัตถุดิบก็อยู่ในแผ่นดินไทยทั้งนั้น ต้นทางมีแล้ว เหลือกลางทางและปลายทาง ที่หากท่านจะกรุณาดำเนินการก็จะเป็นประโยชน์มหาศาล

การศึกษาวิจัยหรือผลิตสิ่งใด หากได้รับการพิจารณาเรื่องความได้เปรียบด้วยแล้ว จะยิ่งได้คำตอบที่ชัดเจนมากขึ้น เราได้เปรียบการเกษตร เรามิใช่เจ้าของเทคโนโลยี จะไปพยายามสร้างเครื่องบินก็คงเหนื่อย ก็เหมือนถ้าเราเตะตะกร้อเก่ง แต่ว่ายน้ำไม่เก่ง เราจะทุ่มเทฝึกว่ายน้ำจนเก่ง หรือฝึกตะกร้อต่อจนเป็นทีมชาติดีล่ะครับ ฉันใดก็ฉันนั้น ทำสิ่งที่เราได้เปรียบดีที่สุดครับ

2. ในฐานะทหารชั้นผู้น้อยคนหนึ่ง สิ่งที่นายทหารชั้นผู้น้อยต้องการ คงหนีไม่พ้นชีวิตที่ดี รายได้ที่ดี สวัสดิการที่ดี รวมถึงเวลาที่จะได้อยู่กับครอบครัว หรือแม้แต่หารายได้เพิ่มเติมโดยสุจริต ทหารเราถูกฝึกมาให้ทำได้ทุกอย่าง แม้ไม่ถนัดแต่ก็พร้อมเรียนรู้ แต่จะดีกว่าหรือไม่หากภารกิจบางประการที่ไม่ใช่ภารกิจของทหารโดยตรง จะได้รับการพัฒนาให้มีหน่วยงานพลเรือนที่สามารถรับมือได้ เพื่อผ่องถ่ายและลดภาระงานที่ไม่จำเป็นแก่ทหารชั้นผู้น้อย ต้องเข้าใจว่า เวลาผู้ใหญ่ครีเอทงานอะไร คนเหนื่อยที่สุดคือกำลังพลระดับล่าง และบัดนี้ทหารชั้นผู้น้อยจำนวนไม่น้อยก็เหนื่อยไม่น้อยมานาน หากทหารชั้นผู้น้อยจะพอมีเวลาได้อยู่กับครอบครัว ได้หารายได้เพิ่มเติม ก็จะดีกับคุณภาพชีวิตของเขา ลดภาระหนี้สินและการกู้ยืมเงิน และจะมีแรงทุ่มเททำงานเพื่อบ้านเมืองครับ

3. การปรับปรุงการเกณฑ์ทหาร หรือการพัฒนากองทัพอาสาสมัคร เป็นสิ่งที่ดีและสมควรทำ แต่ควรทำเพื่อให้กองทัพมีศักยภาพมากขึ้นไม่ใช่เพื่อทำให้กองทัพอ่อนแอลง ปัจจุบัน ปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นจากการเกณฑ์ทหาร คือการที่นำบุคคลพลเรือนที่ไม่ได้เต็มใจมารับการฝึก ผลที่ตามมาก็คือไม่สามารถฝึกหนักได้ และแน่นอน ศักยภาพในการรบก็ลดน้อยลงด้วย ยิ่งนานวันยิ่งจะ “ฝึกน้อย พักนาน” ขึ้นเรื่อยๆ

หัวใจสำคัญของการได้กำลังพลอาสาสมัครคือการเต็มใจรับการฝึก ซึ่งจะนำไปสู่การฝึกได้อย่างมีประสิทธิภาพ สร้างนักรบที่แข็งแกร่งได้อย่างแท้จริง แต่การจะให้คนเต็มใจมาฝึกนั้น ต้องมีค่าตอบแทนที่เหมาะสม ให้คุ้มเหนื่อยและคุ้มเสี่ยง มีอนาคตที่มองเห็นได้ หรืออาจเพิ่มเติมให้การศึกษาอย่างเป็นกิจลักษณะ จับมือกับราชภัฏต่างๆ จูงใจให้คนที่จบม. 6 เข้ามาเป็นทหารเหมือนในสหรัฐ ซึ่งก็จะเป็นมิติด้านการศึกษาที่ท่านมีประสบการณ์ด้วย

ทั้งหมดนี้เป็นข้อมูลที่ทางเศรษฐศาสตร์บอกไว้ว่า มนุษย์จะนำมาใช้ในการตัดสินใจครับ ดังนั้นหากสามารถปรับปรุงส่วนที่กล่าวมานี้ได้ ก็อาจปรับเปลี่ยนแนวคิดให้คนเต็มใจเข้าสมัครเป็นหทารได้มากขึ้น

เชื่อว่ายังมีคนที่อยากเป็นทหารอีกมาก หากทหารนั้นเป็นทหารอาชีพที่เหมือนในหนังฝรั่ง ฝึกดี อยู่ดี ค่าตอบแทนดี มีเกียรติ มีอนาคต เท่านี้ ก็เชื่อว่าคนจะสมัครกันล้นหลาม และกองทัพเราจะแข็งแกร่งไปถึงระดับบุคคลครับ

4. การซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ ซื้อได้ ควรซื้อ หากแต่ต้องพิจารณาให้ดีว่า “ซื้ออะไร” และ “ซื้อเมื่อไร” การพัฒนากองทัพเปรียบเสมือนกับการอัพเกรดประกันครับ กองทัพเปรียบเหมือนประกันสุขภาพที่ต้องมีไว้เพื่อใช้เวลาจำเป็น ดังนั้นการลงทุนกับประกันและการอัพเกรดประกันจึงไม่ใช่เรื่องแปลกและผิด

อย่างไรก็ดี ของให้ซื้อมีเยอะแยะทั่วโลกครับ แต่ซื้ออะไรจึงจะเหมาะกับสถานการณ์ความมั่นคงของโลก และการเตรียมพร้อมของไทย อะไรที่มีแล้วก็ไม่ควรซื้อ อะไรที่ซื้อแล้วไม่ได้ใช้ก็ไม่ควรซื้อ แต่ถ้ามีอะไรที่ควรซื้อก็จัดไป ที่สำคัญอีกประการคือ “ซื้อเมื่อไร” ถ้ามีเงินแล้วจะอัพเกรดประกันก็คงไม่แปลก แต่ถ้าเงินไม่มีแล้วจะอัพเกรดประกันก็คงจะลำบากหน่อยครับ

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ มิได้มีเจตนาจะก้าวล่วงหรือสอนจระเข้ว่ายน้ำแต่อย่างใดครับ หากแต่เป็นข้อเสนอแนะที่ออกมาจากความรู้สึกของนายทหารชั้นผู้น้อยและประชาชนคนหนึ่ง ที่พอจะมีแนวคิดและคิดออก จึงขออนุญาตเรียนเสนอแนะแก่ท่านด้วยความเคารพอย่างสูงครับ

ผมขอให้ท่านประสบความสำเร็จกับหน้าที่ใหม่เพื่อชาติบ้านเมืองในครั้งนี้ครับ

ด้วยความเคารพอย่างสูง
ร้อยเอก ดร. จารุพล เรืองสุวรรณ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image