นพ.มงคล ณ สงขลา สัญญาณที่ต่างจำโพล

หากจะตรวจสอบประเด็นทางการเมืองที่แชร์ต่อๆ กันอย่างสนั่นหวั่นไหวในโลกออนไลน์ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา โพสต์ในหน้าเฟซบุ๊กของ นพ.มงคล ณ สงขลา เป็นหนึ่งในอันดับต้นๆ ที่กระจายไปแทบทุกช่องทาง

“ผมจำได้ว่า วันที่ 13 ม.ค. 2014 พวกเรารวมอายุกันเป็นพันปี เดินประท้วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ จากกระทรวงสาธารณสุขมา 5 แยกลาดพร้าว ร้อนก็ร้อน รถก็เยอะ กินควันท่อไอเสียมาตลอดทาง ผมไม่หยุดพักหรือแอบขึ้นรถแม้แต่นิด สาบานได้ เราต้องการการเปลี่ยนแปลงจากที่เห็นว่าสภาพประเทศอันเป็นที่รักแย่ที่สุด นี่คือสิ่งที่ผมทำผิดมหันต์ในชีวิต เพราะสภาพที่เป็นอยู่ในขณะนี้แย่ยิ่งกว่า และไม่มีโอกาสออกไปเดิน เพราะกลัวอำนาจรัฐบาลทหารครับ”

การที่ถูกส่งต่อกันอย่างกว้างขวางนั้น คนกลุ่มหนึ่งวิเคราะห์ว่าเกิดจากเป็นการพูดแทนอารมณ์ความรู้สึกของผู้คน ให้คนอื่นเอาไปใช้เนื้อหาไปบอกกล่าวแทนความรู้สึกของตัวเอง โดยไม่ถือว่าเป็นผู้พูดเอง

การนำแชร์กันเป็นทอดๆ ในเนื้อหานี้มีความน่าสนใจ โดยเฉพาะเมื่อนำไปเปรียบเทียบกับการสำรวจเมื่อไม่กี่วันก่อนหน้านั้น

Advertisement

สำนักงานสถิติแห่งชาติสำรวจในช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา ถึงความนิยมที่ประชาชนไทยมีต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ปรากฏ ว่าข้อมูลที่ลงทุนเพื่อให้ประชาชนทั่วไปใช้อ้างอิงด้วยงบประมาณของรัฐ สรุปตามโฆษกรัฐบาลแถลงว่า ประชาชนให้ความนิยมต่อ “พล.อ.ประยุทธ์” ถึงร้อยละ 99.5 เหมือนกัน มีเพียงร้อยละ 0.5 เท่านั้นที่ไม่ตอบในทิศทางนี้

Advertisement

เรียกว่าแทบไม่มีนายกรัฐมนตรีคนไหนที่จะได้รับการตอบรับด้วยเสียงเชียร์กระหึ่มมากมายถึงเพียงนี้

เป็นผลสำรวจที่แทบจะสรุปได้ว่า ในความแตกแยกของประชาชนของประเทศที่เหมือนจะไม่สามารถหลอมรวมกันได้ ถึงวันนี้กลายเป็นว่าเกือบทั้งหมดพร้อมเทใจมาร่วมศูนย์ที่การสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์

เป็นข้อมูลที่น่าชุ่มชื่นใจอย่างยิ่ง

ใครที่บอกว่า มีฝ่ายที่ไม่เห็นดีเห็นงามกับการปฏิวัติรัฐประหาร น่าจะถูกตราหน้าเป็นผู้ที่กล่าวอย่างไม่มีฐานที่น่าเชื่อถือ สำนักงานสถิติแห่งชาติที่เป็นหลักในการเสนอความเป็นจริงให้หน่วยงานรัฐและประชาชนทั่วไปนำไปใช้เพื่อพัฒนาประเทศ ซึ่งหมายถึงจะต้องเป็นข้อมูลที่มีที่มาที่ไปน่าเชื่อถือที่สุด ประกาศออกมาแล้วฝ่ายนั้นมีเพียงน้อยนิด

อันหมายถึงการเพิ่มขึ้นของคนที่สนับสนุน และการลดน้อยลงจนแทบไม่เหลือให้เห็นของฝ่ายที่ไม่เห็นดีเห็นงามด้วย

นั่นเป็นสัญญาณที่เห็นแนวโน้มทิศทางการเมืองในความรู้สึกประชาชน

ดังนั้นเมื่อ นพ.มงคล ณ สงขลา ออกมาบอกถึงความรู้สึกข้างต้น จึงเกิด

ความรู้สึกว่า “ผู้อาวุโสแห่งวงการแพทย์ที่เลือกข้างยืนมาตลอด คิดเช่นนั้นจริงหรือไม่ หรือเกิดจากความผิดพลาดในการสื่อสาร”

การตรวจสอบจึงเกิดขึ้น ซึ่งผลออกมาดูเหมือนจะตอกย้ำชัดเจนมากขึ้น

หมอมงคลให้สัมภาษณ์หลังจากนั้นว่า “เป็นเพียงการสะท้อนถึงสถานภาพขณะนี้ว่าเป็นอย่างไรจากประสบการณ์ที่ได้พบมา ส่วนผลจะเป็นอย่างไรก็ไม่เป็นไร ไม่ได้เป็นห่วงตัวเอง เพราะใครทำอะไรก็ได้รับสิ่งนั้น ทั้งนี้ การแสดงความคิดเห็นในครั้งนี้ไม่ใช่เพราะปัญหา สสส.เพียงอย่างเดียว แต่อึดอัดกับหลายเรื่อง เช่น การแก้ไขกฎหมายเช่าที่ดินที่ต้องการเพิ่มให้นานได้ถึง 99 ปี เพื่อจูงใจให้นักลงทุนต่างประเทศเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น”

เป็นเสียงสะท้อนของที่เหมือนจะไปคนละทางกับผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติก่อนหน้าไม่กี่วัน

ความน่าสนใจอยู่ที่ สัญญาณที่แตกต่างกันระหว่าง “ผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ” กับ “ความรู้สึกของหมอมงคล”

ประชาชนคิดว่าอะไรน่าเชื่อถือกว่า

ยิ่งสำคัญไปกว่านั้นคือ “พล.อ.ประยุทธ์” และ “คสช.” เลือกที่จะเชื่อถือใคร

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

    QR Code
    เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
    Line Image