รมช.คลัง ยันแจกเงินดิจิทัล ยึดวินัยการเงินการคลัง ไม่แตะต้องสมบัติชาติ ปัดเอื้อทุนใหญ่

‘จุลพันธ์’ ชี้ แจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตเน้นกระตุ้นศก.ชุมชน หวังคว้าโอกาสผู้นำดิจิทัลของโลก ยัน ไม่แตะเงินบำเหน็จบำนาญขรก. บอก ไม่เอื้อทุนใหญ่ แต่ให้เป็นสิทธิปชช.เลือกใช้จ่ายเอง

เมื่อวันที่ 11 กันยายน ที่รัฐสภา มีการประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) แถลงนโยบายต่อรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 162 วันแรก โดยช่วง เวลา 17.40 น. นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ชี้แจงว่า ขอตอบประเด็นที่มีการซักถามกันหลายเรื่องโดยเฉพาะเรื่องเงินดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งเป็น 1 ในนโยบายธงหลักของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ประเด็นแรก ต้องยืนยันในหลักคิดของนโยบายเติมเงิน 1 หมื่นบาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ไม่ใช่เรื่องของกระบวนการได้มาซึ่งคะแนนเสียงระหว่างการเลือกตั้ง แต่เราได้เห็นว่าสภาวะเศรษฐกิจประเทศไทยในปัจจุบันจำเป็นจะต้องมีนโยบายกระตุ้นในระดับฐานราก โครงการดิจิทัลวอลเล็ตมีหลักคิดสำคัญ คือกระตุ้นเศรษฐกิจไปที่ชุมชนทั่วภูมิภาคด้วยกลไกบล็อกเชน เพื่อกำหนดกรอบที่จะสามารถใช้จ่ายเงินที่อยู่ในกระเป๋าดิจิทัลได้

ฉะนั้น หลักคิดของนโยบายนี้ในประเด็นแรก คือการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างทั่วถึงไม่ว่าประชาชนจะอยู่ในจุดใดของประเทศ หลักคิดที่สอง เป็นหลักคิดในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานของเศรษฐกิจดิจิทัลให้ประเทศไทย เพื่อให้คนไทยในอนาคตมีกระเป๋าเงินสองกระเป๋า ได้แก่ กระเป๋าเงินสด และกระเป๋าเงินดิจิทัล ซึ่งจะสามารถสร้างโครงสร้างพื้นฐานนี้รองรับ จนกระทั่งประเทศไทยสามารถเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจดิจิทัลของโลกได้ โอกาสกำลังจะมาถึงและเราจะต้องคว้าให้ได้ผ่านโครงการนี้

นายจุลพันธ์ กล่าวต่อว่า ประเด็นที่สอง แหล่งที่มาของงบประมาณ สำหรับรัฐบาลเรายึดมั่นในกรอบวินัยการเงินการคลังเป็นหลัก จะไม่มีการแตะต้องทรัพย์สมบัติของชาติ ไม่ว่าจะเป็นกองทุนวายุภัค กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ หรือกองทุนประกันตน ในส่วนเหล่านี้เราทราบวัตถุประสงค์ดี กระบวนการที่เราจะทำ สุดท้ายจะมีความชัดเจน เราจะขอเวลาขอตรวจรายละเอียดและเดินหน้าโครงการ สุดท้ายจะมีความชัดเจนไม่ว่าจะเป็นกรอบการใช้เงิน รวมถึงระยะเวลาในการดำเนินการ และกระบวนการที่จะนำงบประมาณมาใช้คืนให้หมดภายในระยะเวลาที่กำหนด ไม่กระทบต่อหนี้สาธารณะแน่นอน

Advertisement

ประเด็นที่สาม การกระตุ้นเศรษฐกิจของดิจิทัลวอลเล็ต ต้องเรียนว่าอยู่ในช่วงของการรับฟังความคิดเห็น ซึ่งมีข้อเสนอมากมายจากภาคประชาชนรวมถึงสมาชิกรัฐสภา เราจะเก็บเอาข้อเสนอแนะเหล่านี้มาพิจารณาในภาพรวมเพื่อหาหนทางให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการใช้เม็ดเงินนี้ สุดท้ายข้อสรุปจะเป็นเช่นไร ไม่ว่าจะเป็นระยะทางในรัศมี 4 กม. หรือ 8 กม. เม็ดเงินทั้งหมดจะถึงมือประชาชนและเกิดประโยชน์สูงสุด ในการที่เราตั้งเป้าหมายหลัก คือการกระตุ้นเศรษฐกิจ

นายจุลพันธ์ กล่าวต่อว่า ประเด็นที่สี่ ในประเด็นการเอื้อทุนใหญ่ รวมถึงการดำเนินการที่อาจจะเกิดราคาที่ไม่เป็นธรรม แต่โดยหลักคิดแล้วรัฐบาลไม่ได้มองประชาชนเป็นผู้ร้าย เราคิดว่าประชาชนส่วนมากเมื่อได้เงินแล้วจะสามารถจัดสรรการใช้ได้อย่างเป็นประโยชน์ ที่สำคัญ ที่มีความกังวลว่า เม็ดเงินเหล่านี้จะไหลไปรวมกับทุนใหญ่ ต้องเรียนว่า โครงการนี้ไม่มีการเลือกปฏิบัติ ว่าสุดท้ายแล้วทุนใหญ่หรือร้านสะดวกซื้อจะไม่สามารถเข้าร่วมโครงการได้ มันเป็นสิทธิของประชาชน และเราต้องให้ความมั่นใจกับประชาชนที่เขาเลือกกิจกรรมที่จะทำ

แต่แน่นอนว่า รัฐก็จะมีนโยบายที่เราจะประกอบกันเข้า เพื่อจูงใจให้ประชาชนสามารถใช้เม็ดเงินนี้อย่างเป็นประโยชน์ นโยบายนี้เมื่อลงไปแล้วประชาชนจะสามารถแตกยอดความคิด รองรับกับเม็ดเงินที่ลงไปเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ระบบบล็อกเชนเป็นระบบเทคโนโลยีพื้นฐาน สิ่งที่จะยืนยันได้ว่าไม่มีเทคโนโลยีใดจะโปร่งใสได้เท่ากับเทคโนโลยีบล็อกเชนในปัจจุบัน ยืนยันกับทุกท่านว่านโยบายนี้จะเกิดประโยชน์และตรวจสอบได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์

Advertisement

ย้อนอ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image