‘ษัษฐรัมย์’ แนะ รบ.ทำให้เด็กมีเงินไปเรียน ก่อน ‘ปฏิรูปการศึกษา’ ถ้า ผปค.ยังต้องกู้-ใช้หนี้ ระบบพังอยู่ดี

‘ษัษฐรัมย์’ แนะรัฐบาล ‘ขยายสวัสดิการ’ ทำให้เด็กมีเงินไปเรียน ก่อนมุ่งพลิกประเทศ ‘ปฏิรูปการศึกษา’ เชื่อ ถ้าผู้ปกครองยังต้องทำโอที-ใช้หนี้ สุดท้ายระบบพังอยู่ดี

เมื่อวันที่ 11 กันยายน สืบเนื่องการประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) แถลงนโยบายต่อรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 162 ซึ่ง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นผู้แถลงนโยบาย โดยแบ่งเป็น ‘เป้าหมายระยะเร่งด่วน’ คือการกู้เศรษฐกิจและลดหนี้ครัวเรือน อาทิ เติมเงิน 10,000 บาท เข้ากระเป๋าดิจิทัลวอลเล็ตเพื่อกระตุ้นการจับจ่าย พร้อม 4 นโยบายเร่งด่วน คือ 1.การพักหนี้เกษตรกร 2.ลดภาระพลังงาน 3.ดันการท่องเที่ยว และ 4.ทำให้รัฐธรรมนูญมีความเป็นประชาธิปไตย มากขึ้น ส่วน ‘เป้าหมายระยะกลางและระยะยาว’ คือการสร้างรายได้ โดยใช้การทูตเศรษฐกิจเชิงรุก รวมถึงนโยบายพัฒนาความรู้-ความคิดสร้างสรรค์ของคนไทย เพื่อสร้างมูลค่าและรายได้ ผ่านการส่งเสริม “1 ครอบครัว 1 ทักษะ” ให้เป็นซอฟต์เพาเวอร์ ไปจนถึงการ ‘ปฏิรูปการศึกษา’ สร้างศักยภาพของผู้เรียนตามความถนัด ลดความเหลื่อมล้ำทางการเรียนรู้ นั้น

รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ ม.ธรรมศาสตร์ ในฐานะผู้ผลักดันลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษามาอย่างต่อเนื่อง ให้สัมภาษณ์ ‘มติชน’ ถึงนโยบายปฏิรูปการศึกษา โดยมองคำว่า ‘ปฏิรูปการศึกษา’ เป็นคำใหญ่ที่เราพูดกันมานาน และทุกรัฐบาลในช่วงหลาย 10 ปีที่ผ่านมาก็มักพูดคำนี้ แต่น่าสนใจว่าเรื่องที่จะส่งผลต่อคุณภาพการศึกษา และเห็นผลได้ชัดเจน กลับไม่ถูกหยิบยกขึ้นมาอย่างมีนัยสำคัญในช่วงรอยต่อนี้ คือเรื่อง “เงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า

“ก่อนที่เราจะพูดถึงเรื่องการศึกษา เรื่องการพลิกประเทศ การสร้างมูลค่าเพิ่ม การที่ทำให้คนส่วนมากของสังคม ทำให้เด็กสามารถที่จะท้องอิ่มโดยไม่ต้องอยู่ในวังวนของการกู้นอกระบบ หรือว่ามีเงินพอที่จะไปโรงเรียน ยังเป็นเรื่องสำคัญ แต่ผมคิดว่ามีภาพใหญ่ที่หายไปในทุกการแถลงนโยบายของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา เรื่องพื้นฐานจริงๆ คือการทำให้ครัวเรือนของเด็กมีเงิน และเมื่อเขามีสวัสดิการที่เพียงพอ ก็จะทำให้ประสิทธิผลของการศึกษาดีขึ้นแบบก้าวกระโดดได้” รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ชี้

Advertisement

เมื่อหันไปมองตัวอย่างในต่างประเทศ รัฐบาลทุ่มงบประมาณไปกับการศึกษามากน้อยแค่ไหน?

รศ.ดร.ษัษฐรัมย์กล่าวว่า เรื่องการทุ่มงบการศึกษา กรณีของไทย ภาพอาจจะดูเหมือนเยอะ แต่ก็เทียบไม่ได้กับต่างประเทศ เพราะเด็กไทยไปโรงเรียนเกือบทุกวัน ซึ่งอาจจะบ่อยกว่าการที่คนป่วย หรือบ่อยกว่าคนเจ็บในประเทศที่มีสงคราม บ่อยกว่างบประมาณด้านอื่น

“คือเด็กไปโรงเรียนทุกวัน ตั้งแต่ 3 ขวบ จนอายุ 18 ปี จริงๆ แล้วถ้าเราพูดถึงเรื่องงบประมาณ ก็ไม่สามารถที่จะไปแยกส่วนกับเรื่องงบสวัสดิการที่จะถูกส่งต่อไปยังเด็กในวัยเรียน หรืองบที่จะทำให้คุณภาพชีวิตการทำงานของบุคลากรดีขึ้น มีจำนวนครูที่เพียงพอ มีการกระจายคุณภาพการศึกษาที่เท่าเทียมกัน

Advertisement

แต่ที่ผ่านมา การศึกษาของเราจะไปหมกมุ่นอยู่กับเรื่องของการ ‘สร้างเด็กอัจฉริยะ’ หรือ ‘การสร้างมูลค่าเพิ่ม’ ต่างๆ ซึ่งผมคิดว่าเรื่องนั้นก็สำคัญ แต่อาจจะไม่ได้เป็นรากฐานที่จะทำให้เราเห็นการเปลี่ยนแปลงได้” รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ระบุ

เมื่อถามต่อว่า แล้วรัฐบาลควรจะผลักดันนโยบายด้านการศึกษาอย่างไร เพื่อมุ่งเน้นลดความเหลื่อมล้ำทางความรู้ของเด็กทั้งประเทศ รวมทั้งในภูมิภาคที่ทรัพยากรมีจำกัดกว่าในเมือง?

รศ.ดร.ษัษฐรัมย์กล่าวว่า เป็นเรื่องใหญ่ของการศึกษาที่เรามักไปคิดว่าคุ้ม-ไม่คุ้ม สร้างมูลค่าได้-ไม่ได้ บางทีในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เราเห็นโรงเรียนขนาดเล็กถูกปิดตัวลง เพื่อที่จะเอางบไปทำเป็นโรงเรียนประจำอำเภอ หรือโรงเรียนตัวอย่าง ถ้าถามว่าในระดับชีวิตประจำวันของคน สมมุติในต่างจังหวัดการที่ต้องเดินทาง 4-5 กิโลเมตรเพื่อไปโรงเรียน กลายเป็นเรื่องใหญ่ถ้าเทียบกับการที่จะต้องเดินเท้า ตนจึงคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญซึ่งเกี่ยวข้องกับความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ในหลากหลายมิติ ในอีกด้านหนึ่งก็คิดว่าควรที่ส่งเสริม ‘คุณภาพของครู’ และ ‘หลักสูตร’ ต้องมีการปรับเปลี่ยนให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ไม่ได้อิงอยู่กับแนวคิดอำนาจนิยม แบบที่เป็นอยู่

“พูดง่ายๆ คือการสร้างจินตนาการของเด็ก แต่จินตนาการจะมาได้พร้อมกับท้องอิ่ม และการไม่ต้องไปกังวลเรื่องการเดินทางและหนี้สินในครัวเรือน ซึ่งผมคิดว่าทางที่แฟร์ที่สุด พูดง่ายๆ คือ ‘ทำให้เด็กทุกคนมีเงินไปโรงเรียน’ ทำให้เด็กทุกคนได้เรียนโดยไม่มีค่าใช้จ่ายอย่างแท้จริง ซึ่งวิธีการง่ายๆ คือการทำให้สวัสดิการสำหรับเด็กนั้น ขยาย”

“อีกด้านหนึ่งที่ผมเห็น คือรัฐบาลก็จะมุ่งเน้นไปในด้านการศึกษาวิทยาศาสตร์ วิศวกรรม มูลค่าต่างๆ ที่มองว่าตอบสนองกับตลาดได้ เรื่องนั้นก็สำคัญ แต่เรื่องที่ใหญ่ที่สุดคือการที่เราจะ ‘วางระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน’ ตั้งแต่ประถม จนถึงมัธยมอย่างไร ให้เรามี Literacy เรื่องการอยู่ร่วมกันในสังคม เรื่องความเป็นประชาธิปไตย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องเปลี่ยนผ่านทั้งในระดับคนรุ่นก่อน ให้เกิดความเข้าใจต่อคนรุ่นใหม่ด้วย ไม่ได้เป็นเพียงแค่การศึกษาที่ทำให้คนรุ่นใหม่เข้าใจคนรุ่นเก่า การปลูกฝังเรื่องสิทธิมนุษยชน ปลูกฝังเรื่องความเสมอภาคในสังคม การเลือกปฏิบัติ การคุ้มครองสิทธิแรงงาน

หรือแม้กระทั่งทักษะ Financial literacy ที่เราชอบพูดกันว่า ให้เด็กมีความรู้ด้านการเงิน แต่ผมอยากชวนให้ดู Financial literacy ในแง่ที่คนรุ่นใหม่มีความสามารถในการตรวจสอบงบประมาณของรัฐ หรือจินตนาการถึงการกระจายทรัพยากรต่างๆ ที่เป็นไปได้มากขึ้น ไม่ได้เป็นเพียงแค่ฟันเพืองหนึ่งในระบบทุนนิยม” รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ชี้แนะ

กล่าวคือ รัฐบาลควรจะมุ่งเน้นส่งเสริมการศึกษา เพื่อให้ประชาชนมีความเป็น Active Citizen มากขึ้น ?

รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ชี้ว่า รัฐบาลควรมุ่งเน้นสร้างพลเมืองตื่นรู้ (Active citizen) ไม่ควรมองแค่ว่า เรื่องนั้นเป็นเรื่องสิทธิ ไม่ก่อให้เกิดมูลค่าหรือรายได้

“จริงๆ แล้วการที่เราทำให้คนสามารถอยู่ในสังคมที่มีความเสมอภาคกันได้ ตระหนักว่าการเอาเปรียบผู้ใช้แรงงานเป็นสิ่งที่ผิด ตระหนักว่าการที่ประเทศเรามีวันลาคลอดเพียงแค่นี้ ไม่ดีต่อคนรุ่นต่อๆ ไปในอนาคต ผมว่าเรื่องเหล่านี้สำคัญ ส่งผลให้เกิดการต่อสู้ ต่อรอง และทำให้เกิดการก้าวกระโดดทางเศรษฐกิจและสังคมแบบที่พิสูจน์แล้วในหลายประเทศ ว่าสังคมที่เสมอภาคเติบโตได้ดีกว่า สังคมที่เหลื่อมล้ำ” รศ.ดร.ษัษฐรัมย์กล่าว

แล้วสำหรับประชาชนทั่วไปที่ไม่ได้อยู่ในวัยเรียน รัฐบาลสามารถที่จะมีส่วนสร้างให้ประชาชนมีความเป็นพลเมืองตื่นรู้ได้อย่างไร ‘การส่งเสริมการอ่าน’ พอจะช่วยได้หรือไม่ ?

รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ระบุว่า ทั้ง 2 อย่างต้องไปด้วยกัน ทั้งการที่รัฐบาลจะจัดแมททีเรียล หรือลดหย่อนภาษีหนังสือ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่จะช่วยส่งเสริมการเขาถึงแหล่งข้อมูลที่ราคาถูก แต่เรื่องใหญ่ที่สำคัญก็เหมือนกับเรื่องเด็กนักเรียน คือถ้าเด็กท้องหิว หรือไม่มีเงินไปเรียน สุดท้ายแล้วระบบการศึกษาก็จะพังลงไป

“เช่นเดียวกัน ถ้าเราอยากให้คนสามารถต่อยอดความรู้ต่างๆ ได้ เราต้องทำให้คนว่าง เราต้องหาทางที่จะลดชั่วโมงการทำงานของคน แล้วก็เพิ่มค่าจ้างต่อชั่วโมงของเขาให้สูงขึ้น โดยที่เรื่อง Upskill Reskill จะเกิดขึ้นได้เอง ถ้าคนว่าง มั่นคง ปลอดภัย คนก็จะสามารถวางแผนตัวเองไปอยู่ในเซ็กเตอร์ที่มันมีมูลค่าสูงมากขึ้นได้ แต่ถ้าคนยังต้องทำงาน ทำโอทีเพื่อใช้หนี้นอกระบบแบบที่เป็นอยู่ ต้องทำงาน 40-50 ชั่วโมง/สัปดาห์ เพื่อการมาใช้หนี้ หรือจ่ายปัจจัยพื้นฐาน ก็พัฒนาสกิลไม่ได้อยู่ดี

ผมว่าเรื่องเหล่านี้ต้องเชื่อมโยงกัน การพัฒนาคุณภาพคน 1 คน มันเกี่ยวพันกับเรื่องการสร้างความปลอดภัยทางสังคม (Social Safety Net) ด้วย” รศ.ดร.ษัษฐรัมย์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image