‘พรเพชร’ขู่ฟ้องหาคนรับผิด ยอมรับสภาใหม่เสร็จไม่ทัน ห่วงกลายเป็นสนิม

“พรเพชร”รับสภาใหม่เสร็จไม่ทันตามกำหนด ห่วงกลายเป็นซากสนิม ต้องฟ้องร้องหาคนรับผิดชอบ ข้องใจ ต่อสัญญาขยายเวลาก่อสร้าง 900 วัน ทั้งที่ยังไม่มีการรื้อถอนอาคารพื้นที่ก่อสร้าง

เมื่อวันที่ 11.00 น.วันที่ 17 กุมภาพันธ์ ที่สำนักงานบริหารโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ แยกเกียกกาย นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พร้อม นางสายทิพย์ ชวลิตถวิล เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร นางวรารัตน์ อติแพทย์ และคณะกรรมการบริหารโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ นำคณะสื่อมวลชนติดตามความคืบหน้าการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ บริเวณแยกเกียกกาย โดย นายพรเพชรได้เข้ารับฟังการบรรยายสรุปและปัญหาอุปสรรคในการก่อสร้าง จากนั้นได้ลงพื้นที่ก่อสร้างกับซักถามความคืบหน้าของโครงการ

นายพรเพชร กล่าวว่า การก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่คืบหน้าได้เพียง 18% คงไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จได้ตามกำหนดเวลาในสัญญาที่มีการต่อเวลาขยายจาก 900 วันเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2558 ไปอีก 387 วัน ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 15 ธันวาคม 2559 ได้อย่างแน่นอน และยังไม่สามารถประเมินระยะเวลาก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อไร เนื่องจากมีปัญหาในเรื่องของการส่งมอบพื้นที่ที่ยังไม่ส่งมอบ 4 ส่วน คือ ศูนย์สาธารณา 38 (กทม.) ชุมชนบ้านพักองค์การทอผ้า ห้องสมุดกทม. บ้านพัก อท.ศอ.พท. และโรงเรียนโยธินบูรณะ ซึ่งจากการประเมินแล้วเมื่อครบกำหนดสัญญาจะมีความคืบหน้าเพียง 30% อย่างไรก็ตาม เมื่อตนเข้ามาทำหน้าที่บริหารสัญญาและติดตามก่อสร้างก็จะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ซึ่งปัญหาหลักของการก่อสร้างคือ เรื่องของขนหน้าดินออกจากพื้นที่และการรื้อถอนอาคาร ซึ่งทางสภาไม่มีอำนาจการรื้อถอนได้ เพราะติดปัญหาขั้นตอนทางราชการเนื่องจากต้องขออนุญาตจากกรมธนารักษ์ ทั้งนี้ตนไม่ทราบในการทำโครงการผู้ลงนามในสัญญาไปลงนามทำสัญญาในลักษณะนี้ได้อย่างไรทั้งผู้ว่าจ้าง และผู้รับจ้าง ทั้งที่ยังไม่มีการรื้อถอนอาคารต่างๆที่อยู่ในพื้นที่ส่งมอบ ดังนั้นเมื่อครบสัญญาก็ต้องมาพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไรและใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ

นายพรเพชร กล่าวว่า ตนขอตั้งข้อสังเกต ในเรื่องการต่อสัญญาเพื่อขยายเวลาการก่อสร้าง 900 วัน ทั้งๆ โครงการก่อสร้างเป็นโครงการขนาดใหญ่มูลค่ากว่า 12,000 ล้านบาทในขณะที่ยังมีปัญหาการคืนพื้นที่ให้พร้อมสำหรับการก่อสร้างได้ ซึ่งหากเปรียบเทียบกับโครงการก่อสร้างอาคารหอประชุมกองทัพบกที่เทเวศร์ ซึ่งเป็นโครงการที่เล็กกว่าถึง 10 เท่า ก่อสร้างเพียง 3 ชั้น มีมูลค่าการก่อสร้างน้อยกว่า 4-5 เท่า แต่ทุกอย่างสามารถเคลียร์และส่งมอบพื้นที่ได้ทันตามกำหนดเวลาก่อสร้าง 1,250 วัน ซึ่งการต่อสัญญาโครงการก่อสร้างรัฐสภาถือเป็นบทเรียนของทางราชการที่จะต้องระมัดระวังในการทำสัญญาลักษณะเช่นนี้ต่อไป ไม่อยากพูดเรื่องนี้มาก เพราะจะไปกระทบคนอื่นที่เคยทำมา ไม่รู้ไปตกลงกันได้อย่างไรทั้งสองฝ่ายทั้งผู้ว่าจ้างและผู้รับจ้าง

Advertisement

“เรื่องการก่อสร้างไม่มีการทุจริตมีเพียงปัญหาขนดินจากโครงการเท่านั้น ส่วนที่ใครที่จะรับผิดชอบหากไม่เสร็จทันตามกำหนดไม่รู้ว่าเป็นใคร แต่ไม่ใช่ผม เพราะผมมาบริหารสัญญา และจะประคับประคองให้การก่อสร้างเสร็จลุล่วงและให้เกิดความเสียหายทางราชการให้น้อยที่สุด แต่สิ่งที่คาดการณ์ได้ล่วงหน้าหากก่อสร้างไม่เสร็จตามสัญญาก็จะกลายเป็นซากไปไม่รู้อีกกี่ปี จะกลายเป็นเศษสนิม ที่จะต้องมีการฟ้องร้องกันต่อไปว่าใครผิดหรือถูก ซึ่งยังไม่รู้ว่า เราจะเป็นฝ่ายถูกหรือไม่ ซึ่งผมก็ไม่เข้าว่าไปต่อสัญญา 900 วันได้อย่างไร ทั้งที่มีอาคารที่ยังไม่รื้อถอนอยู่เป็นจำนวนมาก ไม่ใช่เป็นที่ดินโล่งๆ หากครบกำหนด 900 วัน และไม่เสร็จตามสัญญาก็ต้องมาชี้แจงตนว่า ไม่เสร็จเพราะอะไร ต้องดูเงื่อนไขสัญญาเป็นความผิดของใคร ” นายพรเพชร กล่าว

ด้านนายโชติจุฑา อาจสอน ที่ปรึกษาโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ชี้แจงถึงกรณีที่ผู้อำนวยการโรงเรียนโยธินบูรณะระบุว่าพื้นที่บริเวณโรงเรียน ไม่ใช่พื้นที่โครงสร้างของอาคารไม่น่าจะเป็นอุปสรรคในการก่อสร้างว่า การก่อสร้างอาคารจำเป็นต้องขนย้ายวัสดุและโครงเหล็กขนาดใหญ่ เข้ามาในบริเวณก่อสร้าง เพื่อประกอบ จึงต้องมีเนื้อที่สำหรับการวางอุปกรณ์ วัสดุต่างๆ รวมถึงช่องทางเดินรถ ดังนั้นการที่ทั้งโรงเรียนและชุมชนไม่คืนพื้นที่ตามกำหนดเวลา จึงเป็นอุปสรรคในการก่อสร้าง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image