เนาวรัตน์ ฉะกลางสภา เด็กเอาแต่กดปุ่ม ‘ขยุ้มหน้าจอ’ ไทยวิกฤตภาษา ป้ายร้านมีแต่คำฝรั่ง

เนาวรัตน์ ฉะกลางสภา เด็กเอาแต่กดปุ่ม ‘ขยุ้มหน้าจอ’ ไทยวิกฤตภาษา ป้ายร้านมีแต่คำฝรั่ง

เมื่อวันที่ 12 กันยายนที่ผ่านมา ที่รัฐสภา มีการประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) แถลงนโยบายต่อรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 162 เป็นวันที่สอง

ในตอนหนึ่ง นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ สมาชิกวุฒิสภา และศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ พ.ศ.2536 ลุกขึ้นกล่าวว่าอยากให้รัฐบาลชุดนี้ ใส่ใจเรื่องศิลปวัฒนธรรมมากขึ้น เพราะเป็นรากฐานของชาติไทย เด็กไทยในขณะนี้วิกฤตทางด้านภาษา ขอพื้นที่จัดกิจกรรมสาธารณะทางด้านศิลปวัฒนธรรมในทุกจังหวัด เพื่อสร้างเศรษฐกิจให้แก่ชุมชน และประเทศชาติ

นายเนาวรัตน์กล่าวว่า เรื่องศิลปวัฒนธรรมนั้น อยากจะทำความเข้าใจ ว่าเปรียบเสมือน ‘ต้นไม้’ ซึ่งมีความสำคัญอยู่ 3 ส่วน 1.ส่วนที่เป็นราก 2.ส่วนที่เป็นลำต้น 3.ส่วนที่เป็นเรือนยอด กล่าวคือ ราก คือ สิ่งที่เป็นเศรษฐกิจ ลำต้นก็คือสังคม เรือนยอดนั้นก็คือการเมือง ดอกผลของต้นไม้ก็คือ ศิลปวัฒนธรรม

Advertisement

“ศิลปะ นั้นเปรียบเสมือนเป็นดอก ผล ก็คือวัฒนธรรม ก็มีสุภาษิตจีนที่ว่า หวังผลอย่าเด็ดดอก เราให้ความสำคัญกับไม้ต้นนี้ หรือประเทศชาติเราโดยเฉพาะเรื่องศิลปวัฒนธรรมน้อยเกินไปจนแทบไม่เห็นความสำคัญ ทั้งที่ประเทศที่เจริญแล้วเขาจะใช้งานศิลปวัฒนธรรมเป็นตัวนำการพัฒนา อยากให้รัฐบาลชุดนี้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากสักหน่อย

โดยเฉพาะต้องมองวัฒนธรรมให้เห็น 3 ส่วน ที่สำคัญเช่นกัน จะใช้คำว่า ฐาน นั้นคือ 1. รากฐาน 2. พื้นฐาน 3.ภูมิฐาน เราให้ความสำคัญกับเรื่องที่เป็นภูมิฐานมาก ก็สมควรอยู่ดังนโยบายรัฐบาลชุดนี้ ให้ความสำคัญกับซอฟต์แวร์ (ที่ถูกต้องคือ ซอฟต์เพาเวอร์) เรียกว่าพลังสร้างสรรค์ แต่ผมจะเรียกว่าเป็นเรื่องของภูมิพลังวัฒนธรรม ซึ่งเราทำเหมือนกับว่า ซอฟต์แวร์ (ที่ถูกต้องคือ ซอฟต์เพาเวอร์) ของเรานั้นมีคนเปรียบเทียบว่าเหมือนวัฒนธรรมชุบแป้งทอด คือเอาเด็ดยอดที่เป็นภูมิฐานนำมาขาย นำมาโฆษณา แต่เราลืมรากฐาน ลืมพื้นฐาน” นายเนาวรัตน์ กล่าว

Advertisement

นายเนาวรัตน์กล่าวต่อไปว่า จะเปรียบเทียบเรื่อง ภาษา และวรรณกรรม รากฐานก็คือศัพท์ภาษา ในเวลานี้เราเกิดวิกฤตซึ่งตนคิดว่าเป็นวิกฤตทางภาษา เพราะแต่เดิมมาเรามีภาษาบาลี-สันสกฤต เกือบ 80% เวลานี้คนตั้งชื่อเป็นภาษาบาลี-สันสกฤต แล้วออกเสียงยากเข้าใจไม่ได้ ชื่อพวกเราทุกคนก็เป็นภาษาบาลี-สันสกฤตให้ความหมายไม่ตรงกันเลย ฉะนั้นเรื่องภาษาจึงเป็นเรื่องของรากฐาน เวลานี้ภาษาอังกฤษเข้ามาครอบงำมากยิ่งขึ้น เวลาไปเมืองใหญ่ๆ ในกรุงเทพฯ มีแต่ป้ายห้างร้านใหญ่ๆ เป็นภาษาอังกฤษทั้งนั้นเลย ศัพท์ภาษา ก็เข้าใจไม่ตรงกัน แม้แต่คำว่าประชาธิปไตย แม้แต่ คำว่าวัฒนธรรม ก็เข้าใจไม่ตรงกันแล้ว นี่เป็นปัญหาของสังคมไทย

“ในเวลานี้เด็กของเราอย่าว่าแต่เขียนเป็นเลย อ่านก็ยังไม่ได้ ได้แต่กดปุ่มขยุ่มขยี้กันอยู่ที่หน้าจอ เราจึงให้ความสำคัญกับเรื่องที่เป็นรากฐาน พื้นฐาน และภูมิฐาน สุดท้ายแล้วตามรัฐธรรมนูญมาตรา 57 (1) จึงอยู่ในหมวด 5 หน้าที่ของรัฐ ที่ต้องอนุรักษ์พื้นฟู และส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นศิลปวัฒนธรรมขนบธรรมเนียม และจารีตประเพณีอันดีงาม ของท้องถิ่นและของชาติ และจัดให้มีพื้นที่สาธารณะสำหรับกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งส่งเสริม และสนับสนุนให้ประชาชนชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ใช้สิทธิ และมีส่วนร่วมในการดำเนินการด้วย

อยากขอให้เป็นรูปธรรมสำหรับรัฐบาลชุดนี้ โดยเฉพาะกระทรวงวัฒนธรรม และคำว่าจัดให้มีพื้นที่สาธารณะ สำหรับกิจกรรมเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรม ส่วนตัวอยากให้มีทุกจังหวัด ซึ่งในแต่ละจังหวัดงบประมาณต่อปีไม่เกิน 200 ล้านบาท นี้จะทำให้งานศิลปวัฒนธรรมที่มีอยู่แพร่หลายทุกแผนดินจะได้ปรากฎขึ้นมา จะได้เป็นการสร้างมูลค่ามาเป็นทุนทางเศรษฐกิจได้

ขอจบด้วยบทกลอนที่ได้รับการจารึกที่กลาง กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี กลอนบทนี้กล่าวว่า ศิลปวัฒนธรรมประจำชาติ เอกราช เอกลักษณ์ เอกศักดิ์ศรี เป็นคันฉ่องส่องความงาม และความดี เป็นโคมฉายช่วยชี้วิถีชน” นายเนาวรัตน์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image