‘โภคิน’ หนุนแนวคิด ‘ฐากร’ โละทิ้งคำสั่งคสช. เสนอรัฐบาลเร่งช่วยคนตัวเล็กเข้าถึงแหล่งทุน

‘โภคิน’ หนุนแนวคิด ‘ฐากร’ โละทิ้งคำสั่ง คสช. เสนอรัฐบาลเร่งช่วยคนตัวเล็กเข้าถึงแหล่งทุน

นายโภคิน พลกุล ประธานยุทธศาสตร์พรรคไทยสร้างไทย ให้ความเห็นกรณี นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการพรรคไทยสร้างไทยและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ เสนอให้รัฐบาลยกเลิกคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และกฎหมายอื่นๆ ที่ลิดรอนสิทธิเสรีของประชาชนว่า เห็นด้วยกับแนวคิดของนายฐากรและมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมดังนี้

1.ประกาศ คำสั่งของคณะรัฐประหาร และหัวหน้าคณะรัฐประหารที่สะสมไว้มีมากมาย หากนับตั้งแต่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำรัฐประหารเมื่อ พ.ศ. 2501 และเป็นครั้งแรกที่มีรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวแบบสั้นๆ ไม่กี่มาตราที่ให้คณะรัฐประหารและหัวหน้าคณะรัฐประหารมีอำนาจเบ็ดเสร็จทั้งนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ จนถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อ พ.ศ. 2557 นับรวมได้ 7 ครั้ง

2.ประกาศ คำสั่งดังกล่าวมีทั้งระดับรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญและกฎหมายลำดับรอง หรือที่เรียกว่า กฎหมายลูกตั้งแต่พระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง ประกาศกระทรวง ข้อบัญญัติท้องถิ่น กฎระเบียบต่างๆ ฯลฯ เกือบทั้งหมดออกมาเพื่อลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน หรือไม่ก็เพื่อแก้ปัญหาแบบเฉพาะหน้า หรือเพื่อแสดงความมีอำนาจให้ประชาชนกลัว ระยะหลังๆ บางเรื่องเพื่อเอื้อประโยชน์ให้พวกพ้องโดยตรง เช่น กรณีรถไฟฟ้าสายสีเขียว

Advertisement

3.การขจัดประกาศ คำสั่งเหล่านี้ ในเบื้องต้นควรออกกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ 1 ฉบับ เพื่อยกเลิกโดยทำบัญชีรายชื่อของประกาศ คำสั่งไว้ท้ายพระราชบัญญัติ ซึ่งอาจปรับปรุงแก้ไขเพื่อเพิ่มเติมได้ด้วยการออกเป็นประกาศบัญชีเพิ่มเติม แต่หากเรื่องใดเป็นระดับรัฐธรรมนูญต้องไปแก้รัฐธรรนูญและเขียนวางหลักไว้ว่าให้ประกาศ คำสั่งเหล่านั้นไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ หรือเขียนให้อำนาจฝ่ายบริหารโดยความเห็นชอบของรัฐสภาออกเป็นประกาศกำหนดว่า ประกาศคำสั่งใดหรือส่วนใดของประกาศ คำสั่งนั้นไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

นายโภคินกล่าวว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 77 บัญญัติให้รัฐยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่หมดความจำเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ หรือที่เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตหรือการประกอบอาชีพโดยไม่ชักช้าเพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชน แต่บทบัญญัตินี้แทบไม่มีความหมาย เพราะมีกฎหมาย กฎระเบียบที่ให้อำนาจหน่วยงานและเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับกระบวนการ ขั้นตอนในการทำมาหากิน รวมถึงการอนุมัติ อนุญาตต่างๆที่กดทับประชาชน โดยเฉพาะคนตัวเล็กจนไม่มีพลังในการทำมาหากินหรือประกอบอาชีพ

“เมื่อระบบรัฐราชการไทยเต็มไปด้วยการทุจริต คอร์รัปชั่น ระบบนี้จึงมีการแต่เอื้อประโยชน์ให้กับทุนใหญ่ ทุนผูกขาด ทุนพรรคพวกและทุนสีเทาทั้งหลาย ขณะเดียวกันกลับละเลย รีดไถ และทำลายโอกาสและศักยภาพของคนตัวเล็ก” นายโภคินกล่าว

Advertisement

นายโภคินกล่าวว่า รัฐบาลจะต้องปลดปล่อย (Liberate) และสร้างพลัง (Empower) ให้คนตัวเล็กโดยทันทีเพราะคนเหล่านี้ไม่อาจรอการยกเลิกหรือการปรับปรุงกฎหมายที่เป็นเพียงวาทกรรมได้ กล่าวคือ ต้องพักใช้การอนุญาต อนุมัติไว้สักช่วงเวลาหนึ่ง (ประะมาณ 3-5 ปี) สำหรับกิจกรรมหรือการประกอบอาชีพที่ไม่ได้เป็นอันตรายหรือต้องการมาตรฐานที่สูงมาก เพื่อใช้ช่วงเวลาดังกล่าวโดยความร่วมมือระหว่างหน่วยงานของรัฐ ผู้ประกอบอาชีพและผู้บริโภค ยกเลิกปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบดังกล่าวให้เหมาะสม ทันสมัย ตอบโจทย์ผู้ประกอบอาชีพได้ทุกระดับ

นายโภคินกล่าวอีกว่า รัฐบาลสามารถออกเป็นพระราชบัญญัติหรืออาจเป็นพระราชกำหนดเพราะเป็นเรื่องความมั่งคงในทางเศรษฐกิจของประเทศและเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้ โดยวางหลักให้แขวนหรือพักการบังคับใช้การอนุมัติ อนุญาตเกี่ยวกับการประกอบอาชีพ ด้วยการทำเป็นบัญชีรายชื่อกฎหมายหรือประเภทของกิจการ อาชีพที่ยังมีความจำเป็นต้องขออนุมัติ อนุญาตไว้ ซึ่งอาจมีการเพิ่มหรือลดได้โดยออกเป็นพระราชกฤษฎีกาหรือประกาศ ดังนั้น กระบวนการขั้นตอนที่อาจมีถึง 1,500 กระบวนการ อาจเหลือเพียงไม่กี่ร้อยเรื่องที่มีความจำเป็น ในกรณีนี้กฎหมายว่าด้วยการพักใช้ฯ สามารถกำหนดให้ผู้ประกอบอาชีพมีการจดแจ้ง และให้คำมั่นว่าจะปฏิบัติตามกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ในระหว่างการพักใช้การขออนุมัติ อนุญาต

นายโภคินยังกล่าวถึงแนวทางการสร้างพลังให้คนตัวเล็กว่า มีเรื่องใหญ่ๆ 3 เรื่อง คือ 1.การเข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งมีแต่กลุ่มทุนใหญ่เท่านั้นที่ทำได้ (ดอกเบี้ยประมาณ 3%-4% ต่อปี) เพราะอยู่ในระบบธนาคารและสามารถออกหุ้นกู้ได้ แต่คนตัวเล็กต้องหาเงินจากเงินกู้นอกระบบ (ดอกเบี้ยมากกว่า 100% ต่อปี) ซึ่งต้องชำระดอกเบี้ยเป็นรายวัน รายสัปดาห์หรือรายเดือน คนตัวเล็กเหล่านี้ไม่ได้ต้องการกู้เงินมากมาย ส่วนใหญ่เพื่อเอาไปประกอบอาชีพที่สร้างรายได้ให้เพียงพอต่อการดำรงชีวิตของตนเองและครอบครัว ดังนั้นรัฐจะต้องสร้างกองทุนดอกเบี้ยต่ำ (ไม่เกิน 12% ต่อปี) เพื่อให้คนตัวเล็ก

2.การสร้างระบบการเรียนรู้และเพิ่มทักษะ ความเชี่ยวชาญในการประกอบอาชีพ โดยรัฐต้องร่วมมือกับสถาบันการศึกษา กลุ่มทุนใหญ่ ผู้ประกอบการที่มีทักษะ ความเชี่ยวชาญและองค์ความรู้ในเรื่องนั้นๆ โดยทำเป็นระดับชาติ ภูมิภาคและท้องถิ่นเพื่อถ่ายทอดสิ่งที่กล่าวมาให้คนตัวเล็กในแต่ละระดับ

3.การหาตลาดและการเพิ่มขนาดของกิจการ (Market & Economy of Scale) คนตัวเล็กส่วนใหญ่จะไม่เก่งเรื่องการตลาด ทั้งนี้เพราะแทบไม่มีเวลาพัฒนาตนเองในเรื่องนี้และไม่สามารถรวมตัวกันเพื่อให้มีขนาดของเศรษฐกิจหรือกิจการที่ใหญ่ขึ้น ซึ่งจะเป็นการลดต้นทุนและสามารถสร้างอุปทาน (Supply) อย่างเป็นระบบและมีคุณภาพที่ดีขึ้น รัฐจะต้องจัดการตรงนี้โดยร่วมมือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการผลิต การตลาดและการกระจายสินค้าหรือบริการ

“ทั้งหมดนี้คือวาระเร่งด่วนของประเทศที่ต้องเร่งทำเพื่อให้ SME’s และคนตัวเล็กทั้งหลายสามารถดำรงอยู่เพื่อพัฒนาตนเอง รวมถึงกิจการให้ไปได้อย่างมีพลังและยั่งยืน มิเช่นนั้นสังคมจะมีความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆจนเกิดกลียุค เป้าหมายที่จะพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางจะเป็นเพียงความฝัน นโยบายประชานิยมควรใช้ให้เหมาะสม ถูกจังหวะและเวลา หากเป็นเพียงการซื้อความชอบ ความพอใจของประชาชนเพียงชั่วคราวเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง ประเทศจะเสียหายอย่างมาก ประชาชนจะยิ่งลำบาก” นายโภคินกล่าว

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image