‘พิมพ์ภัทรา’ล็อกเป้า 6นโยบายด่วน-ปั้นอุตฯศก.

‘พิมพ์ภัทรา’ล็อกเป้า 6นโยบายด่วน-ปั้นอุตฯศก. หมายเหตุ - บทสัมภาษณ์ น.ส.พิมพ์ภัทรา

หมายเหตุ – บทสัมภาษณ์ น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

-สั่งการนโยบายเร่งด่วนอย่างไรบ้าง?

กระทรวงอุตสาหกรรมในยุคปัจจุบันมีบทบาทที่สำคัญคือ การเป็นหน่วยงานส่งเสริมและสนับสนุนให้กับผู้ประกอบการทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) และผู้ประกอบการรายใหม่ ตลอดจนสตาร์ตอัพ ให้สามารถเติบโตอย่างยั่งยืนและเป็นที่ยอมรับของชุมชนและสังคม โดยเน้นการเติบโตอย่างสมดุลใน 4 มิติ ทั้งด้านขีดความสามารถในการแข่งขัน การได้รับการยอมรับจากสังคม การสอดคล้องกับกติกาสากล และการกระจายรายได้สู่ชุมชน

ขณะนี้จึงได้กำหนดวาระเร่งด่วน 6 ด้านสำคัญ ประกอบด้วย 1.การพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยเน้นไปที่อุตสาหกรรมที่จะเป็นอนาคตของประเทศ อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ซึ่งครอบคลุมสินค้าที่เกี่ยวข้องมากมาย ทั้งการผลิตแบตเตอรี่ แผงวงจร และสถานีประจุไฟฟ้า โดยกระทรวงอุตสาหกรรมจะเร่งพัฒนาผู้ประกอบการในประเทศให้ยกระดับการผลิตให้สามารถแข่งขันในระดับภูมิภาค และเป็นส่วนหนึ่งในโกลบอลซัพพลายเชน รวมทั้งสนับสนุนการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) ในอุตสาหกรรมเหล่านี้ ดึงผู้ผลิตอันดับต้นๆ ของโลกเข้ามาลงทุนไทย โดยเฉพาะในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมที่สำคัญทั่วประเทศ

Advertisement

2.พัฒนาอุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพให้สอดคล้องกับนโยบายการสร้างเศรษฐกิจสร้างสรรค์ผ่านซอฟต์เพาเวอร์ อาทิ การส่งเสริมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลที่มีมาตรฐาน มีความสะอาด ปลอดภัย และสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ ที่ผ่านมาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทุกประเทศต่างเจอปัญหาเรื่องของความมั่นคงทางด้านอาหาร อาหารฮาลาลน่าจะมีส่วนสำคัญที่สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศไทยได้ เพียงแต่เวลานี้ยังมีปัญหาอุปสรรคของอาหารฮาลาลอยู่ อย่างการได้รับใบอนุญาตบางปีได้แต่บางปีกลับไม่ดี ดังนั้นต้องดำเนินการปลดล็อกและอำนวยความสะดวกผู้ประกอบการให้มากที่สุด

3.พัฒนาอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งสามารถดำเนินการได้หลายรูปแบบ ทั้งการทบทวนและปรับปรุงกฎหมายของกรมโรงงานอุตสาหกรรม อาทิ การกำจัดกากของเสีย หรือการทำเหมืองแร่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการมีมาตรฐานอุตสาหกรรมที่สนับสนุนให้มีผลิตภัณฑ์รักษ์สิ่งแวดล้อม

4.มุ่งให้บริการอย่างรวดเร็ว พร้อมปรับปรุงฐานข้อมูลของภาคอุตสาหกรรมให้เป็นระบบในรูปแบบวัน สต๊อป เซอร์วิส ที่สามารถเข้าถึงและใช้งานง่ายมีความโปร่งใส เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประชาชน

Advertisement

5.พัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและสตาร์ตอัพให้มีความเข้มแข็งและอยู่รอดได้ ภายใต้สถานการณ์ความเสี่ยงต่างๆ ด้วยการสนับสนุนองค์ความรู้ ผู้เชี่ยวชาญ และแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำผ่านทางกลไกของกรมต่างๆ และสถาบันเครือข่ายของกระทรวงอุตสาหกรรม

และ 6.เตรียมรับมือภาวะภัยแล้งอันเนื่องจากภาวะเอลนิโญ ซึ่งจะส่งผลกระทบกับภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่อ่อนไหวสูงที่ต้องมีการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพร่วมกันระหว่างภาคเกษตรกรรมและภาคอุตสาหกรรม โดยวาระเร่งด่วนที่ได้กล่าวมาข้างต้นจะเร่งทำทันทีและทำต่อเนื่อง

“จะมีการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนในแต่ละวาระว่าประชาชนและผู้ประกอบการจะได้ประโยชน์อย่างไร หน่วยงานใดเป็นผู้รับผิดชอบและจะมีความก้าวหน้าในแต่ละเดือนอย่างไร ซึ่งจะมีการติดตามประเมินผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องว่ามีผลงานอย่างไร”

-มีแนวทางประเมินผลอย่างไร?

ตัวอย่างโครงการที่เดินหน้าได้ทันที อาทิ การพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีตั้งแต่เดือนแรก กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม จะเร่งพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีผ่านศูนย์ ดีพร้อม เซ็นเตอร์ ของกรมในทุกภูมิภาค และภายใน 6 เดือน กระทรวงจะสนับสนุนการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรและการผลิตที่มีประสิทธิภาพ ในรูปแบบเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ ผ่านกองทุนพัฒนาอุตสาหกรรม และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือเอสเอ็มอีดีแบงก์

พร้อมทั้งยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ของเอสเอ็มอีให้สามารถแข่งขันในตลาดภูมิภาคและตลาดโลก โดยการเปิดช่องทางให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลด้านมาตรฐานในประเทศต่างๆ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถผลิตสินค้าที่ผ่านเกณฑ์ของประเทศต่างๆ นอกจากนี้จะให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เร่งสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เข้าถึงแล็บเทสต์ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานในระดับสากล

“การประเมินผลจะให้ความสำคัญกับผลที่เป็นรูปธรรมว่ามีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้รับประโยชน์กี่ราย และที่สำคัญคือผู้ประกอบการจะมีรายได้เพิ่มขึ้นหรือสามารถลดต้นทุนได้เท่าไหร่”

-ประเด็นฝุ่นพิษจากการเผาอ้อยมีแนวทางจัดการอย่างไร?

ประชาชนให้ความสนใจ อย่างประเด็นการจ่ายเงินช่วยเหลือให้กับชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสด 120 บาทต่อตัน เพื่อลดปัญหาฝุ่น พีเอ็ม2.5 โดยในระยะสั้นกระทรวงจะพิจารณาจ่ายเงินช่วยเหลือสำหรับการเก็บเกี่ยวในฤดูการผลิตที่ผ่านมาให้เร็วที่สุด

“เบื้องต้นประเมินวงเงินไว้ที่ 8,000 ล้านบาท โดยจะต้องหารือร่วมกับนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกหน่วย เพราะใช้งบประมาณค่อนข้างสูง หากจำเป็นต้องใช้ก็ต้องคุ้มค่า เกิดประโยชน์ให้มากที่สุด โดยเฉพาะการช่วยลดฝุ่นพีเอ็ม2.5”

ส่วนการแก้ไขปัญหาการเผาอ้อยในระยะยาวนั้น กระทรวงจะพิจารณาแนวทางอื่นๆ เพิ่มเติมจากการจ่ายเงินช่วยเหลือด้วย อาทิ การสนับสนุนเครื่องตัดอ้อยสดในจำนวนที่เพียงพอ โดยกระทรวงจะให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนที่ทุกกลุ่มที่เกี่ยวข้องทั้งเกษตรกร ผู้ประกอบการ ผู้บริโภคและประชาชนทั่วไปยอมรับได้

-มาตรการอีวี3.5จะเดินหน้าหรือไม่?

มาตรการส่งเสริมอีวีระยะ 3.5 หรือแพคเกจอีวี 3.5 ซึ่งจะมีทั้งส่วนลดราคารถอีวีและการส่งเสริมการตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ในไทย เพิ่มเติมจากแพคเกจอีวี 3.0 ที่จะสิ้นสุดมาตรการวันที่ 31 ธันวาคม 2566 กระทรวงได้รับฟังความเห็นจากผู้ประกอบการรถยนต์ไฟฟ้า และในขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือร่วมกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณามาตรการโดยเร็วที่สุด

“เรื่องนี้ทั้งนายกรัฐมนตรี และนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ต่างให้ความสำคัญสอบถามความคืบหน้าเพื่อให้มาตรการดังกล่าวเดินหน้า”

รวมทั้งกระทรวงอุตสาหกรรมจะเดินหน้าอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญในการยกระดับอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจประเทศ กระทรวงจะเร่งผลักดันอุตสาหกรรมใหม่ที่สามารถเป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้สามารถเติบโตได้เต็มศักยภาพ อาทิ อุตสาหกรรมอีวีโดยกำลังผลักดันอีวี 3.5 อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ อุตสาหกรรมชีวภาพ อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ และอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล

-ปัญหาลักลอบทิ้งกากจะจัดการอย่างไร?

กระทรวงอุตสาหกรรมเร่งประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ปัญหาการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรม โดยกระทรวงจะให้ความสำคัญทั้งในด้านของการป้องกันโดยการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง มีการตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมที่ได้รับจากทุกช่องทาง และหากมีความจำเป็นกระทรวงก็พร้อมที่จะเข้าทำการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมดังเห็นได้จากตัวอย่างของราชบุรีโมเดล ที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เข้าทำการฟื้นฟูพื้นที่ที่มีปัญหา

“ระยะต่อไปกระทรวงจะปรับปรุงกฎ ระเบียบ ให้ผู้กระทำผิดยำเกรง และจะมีกระบวนการทำงานเพื่อที่จะสร้างความมั่นใจให้กับสังคมว่าจะสามารถป้องกันและลดปัญหาการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมได้”

-ปมสินค้าต่างประเทศราคาถูกทะลักเข้าไทย?

กระทรวงอุตสาหกรรมจะเร่งช่วยเหลือผู้ผลิตไทยที่ได้รับผลกระทบจากสินค้านำเข้าราคาถูกที่ไม่ได้มาตรฐานจากต่างประเทศ กระทรวง โดยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม จะร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการตรวจสอบมาตรฐานของสินค้านำเข้าที่จำเป็นต้องมีมาตรฐานบังคับ (มอก. บังคับ) อย่างจริงจังเพื่อป้องกันไม่ให้สินค้านำเข้าที่ราคาถูกแต่ไม่ได้มาตรฐานเข้ามาแย่งตลาดจากผู้ประกอบการที่ได้มาตรฐานในประเทศ และจะประสานข้อมูลกับตัวแทนภาคอุตสาหกรรมเพื่อทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด

-รัฐบาลมีนโยบายพักหนี้เอสเอ็มอี บทบาทของกระทรวงอุตสาหกรรม?

เรื่องนี้กระทรวงอุตสาหกรรมจะเข้าไปดูแลคือการพักหนี้ให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีตามนโยบายรัฐบาล กระทรวงจะรับฟังความคิดเห็นจากทุกส่วนทั้งลูกหนี้เอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 และสถาบันการเงินเพื่อหาแนวทางการช่วยเหลือที่เหมาะสมอาทิ การพักเงินต้น การพักดอกเบี้ย

“โดยต้องระวังที่จะไม่สร้างปัญหา Moral Hazard หรือจงใจผิดชำระหนี้ของลูกหนี้เอสเอ็มอี”

-กระทรวงอุตสาหกรรมยุค “พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล”

ภาพกระทรวงอุตสาหกรรมคงเปรียบเสมือนโซ่ข้อกลาง ที่จะเชื่อมโยงภาคอุตสาหกรรมของประเทศ ครอบคลุมผู้ประกอบการทุกขนาดทั้งรายใหญ่ไปจนถึงเอสเอ็มอี รวมถึงคนรุ่นใหม่ที่พร้อมจะก้าวเป็นผู้ประกอบการให้เข้ากับโลกในยุคพลิกผัน (VUCA: Volatility, Uncertainty, Complexity, Ambiguity) เพื่อสร้างอุตสาหกรรมเศรษฐกิจ ที่เติบโตอย่างยั่งยืนคู่ชุมชน

ยกตัวอย่างโลกปัจจุบันอยู่ในช่วงที่นักเศรษฐศาสตร์เรียกว่า การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ซึ่งหนึ่งในเทคโนโลยีสำคัญที่เกิดขึ้นคือ เทคโนโลยีดิจิทัลและระบบการประมวลผลที่มีศักยภาพสูงมาก มีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาเชื่อมโยงกับกระบวนการผลิตรวมถึงการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) มาช่วยเสริมการทำงาน ทำให้ประสิทธิภาพในการผลิตของภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นมากและต้องลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมลง

โดยกระทรวงอุตสาหกรรมจะต้องมีบทบาทสำคัญในการสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องเทคโนโลยีสมัยใหม่เหล่านี้ให้กับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ให้ผ่านการอบรม การอัพสกิล การรีสกิล การสนับสนุนด้านการวิจัยและพัฒนา รวมถึงการสนับสนุนด้านแหล่เงินทุนผ่านธนาคารเอสเอ็มอีดีแบงก์ และกองทุนพัฒนาอุตสาหกรรม

สุดท้ายนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมต้องทำหน้าที่สำคัญในการเชื่อมโยงผู้ประกอบการเข้ากับผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วนโดยเฉพาะอย่างยิ่งชุมชนและภาคประชาชน โดยให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (อีเอสจี) ด้วยเช่นกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image