ธิดา มองตั้งรัฐบาลสลายขั้ว แต่ 19 ก.ย.66 ยุติสงครามระบอบทักษิณ ไม่ได้ยุติสงครามกับ ปชช.

ธิดา มองตั้งรัฐบาลสลายขั้ว แต่ 19 ก.ย.66 แค่ยุติสงครามระบอบทักษิณ ไม่ได้ยุติสงครามกับประชาชน

19 กันยายน 2566 ตรงกับวันครบรอบ 17 ปี รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 โอกาสนี้ นางธิดา ถาวรเศรษฐ อดีตประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ไลฟ์ผ่านเฟซบุ๊ก อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ “19 กันยา 2566 ยุติสงครามกับระบอบทักษิณ แต่ไม่ใช่เป็นการยุติสงครามกับประชาชน” ความตอนหนึ่ง ดังนี้

19 กันยายน เป็นอะไรที่เราไม่พูดถึงไม่ได้ เราจะไม่ใช่รำลึกเพียงมีอะไรเกิดขึ้น แต่ที่น่าสังเกตคือ 19 กันยายน 2566 ประหนึ่งยุติสงครามกับระบอบทัหษิณ แต่ไม่ใช่การยุติสงครามกับประชาชน ถามว่าใครเป็นผู้ยุติสงคราม นั่นคือ เครือข่ายจารีตอำนาจนิยม เพราะ 19 กันยายน 2549 เป็นวันที่เขาประกาศสงครามกับสิ่งที่เรียกว่า “ระบอบทักษิณ” ประกาศสงครามที่ไมได้ทำมาก่อน

ครั้งสุดท้ายในการสงครามบแบบเต็มรูปแบบคือประกาศสงครามกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ยุคสงครามเย็น แล้ว พคท.จากที่ไม่ต่อสู้ด้วยอาวุธก็มาต่อสู้ด้วยอาวุธในยุค จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ แต่นั่นเป็นสงครามที่ต่อสู้ทางทฤษฎี ด้วยอาวุธ เป็นสงครามที่มีการหลั่งเลือด และเป็นยุคสงครามเย็น

Advertisement

นางธิดากล่าวด้วยว่า ดูเหมือน นายทักษิณ ชินวัตร กลับมา ต่อมาได้รับพระราชทานอภัยโทษ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ พรรคเพื่อไทย (พท.) ข้ามขั้วมาอยู่ฝั่งจารีตนิยม บางคนถามว่าสีเสื้อสลาย สลายขั้วหรือยัง ครั้งที่แล้วได้บอกว่าข้ามขั้ว คือสลายเฉพาะขั้วพรรค แต่ไม่ใช่ประชาชน ทั้งนี้ 19 กันยายน 2549 ประกาศสงครามกับสิ่งที่เรียกว่าระบอบทักษิณ ส่วนปี 2553 ประกาศสงครามกับประชาชนแบบหลั่งเลือด ตอนนี้ 2566 ยุติหรือยัง?

ดูเหมือนเป็นการยุติสงครามกับสิ่งที่เรียกว่า “ระบอบทักษิณ” แต่นี่คือสิ่งที่ยืนยันที่อยากพูดในหัวข้อที่ว่า “สงครามกับประชาชนยุติหรือยัง?”

Advertisement

ในทรรศนะของตนถือว่าสงครามกับประชาชนระหว่างฝ่ายจารีตอำนาจนิยมที่ต้องการรักษาอำนาจตัวเอง กับ ประชาชนที่ต้องการอำนาจประชาชนเป็นจริง ในระบอบประชาธิปไตยยังดำรงอยู่

แต่สำหรับพรรคการเมืองอาจบอกว่า “ยุติชั่วคราว” หรือ “ยุติถาวร” คือ “การข้ามขั้วไปแล้วถาวร” ในทางยุทธศาตร์นั้นเข้าใจว่าเป็นสิ่งที่ฝ่ายจารีตอำนาจนิยมมักจะทำ ถามว่าเคยทำมาก่อนไหมในยุคคณะราษฎร ตอน จอมพล ป.พิบูลสงคราม รัฐประหาร 2490 ร่วมมือกับฝ่ายจารีตนิยม นั่นก็เป็นการแบ่งแยกจอมพล ป. ออกจาก ปรีดี พนมยงค์ หลังจากนั้นราว 10 ปี มีขุนทหารที่เหมาะสมกว่าคือ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ มาจัดการปรีดี

ทั้งนี้ กรณีคุณทักษิณคือศัตรูตัวเอ้ที่เขาต้องประกาศสงครามตั้งแต่ 2549 ลองคิดดูว่ายาวนานแค่ไหน จากศัตรูมาเป็นมิตรเพราะอะไร

ประการแรกคือ ผลของการเลือกตั้ง สมัย พรรคไทยรักไทย ยังได้ที่นั่งกว่า 200 เก้าอี้ แต่ครั้งนี้พรรคเพื่อไทยได้มา 141 ที่นั่ง แปลว่าพรรคเพื่อไทยได้ขึ้นถึงจุดสูงสุดและลงมาต่ำ แะลมีโอกาสต่ำต่อไป ถามว่าเพราะอะไร? เพราะโหวตเตอร์ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ หรือคนที่ทนไมได้กับกลยุทธ์จารีตอำนาจนิยมที่อยู่นานเกินไปกระทั่งเกิดความเสียหาย เพราะความคิดของจารีตนิยมไม่สามารถยกระดับประเทศและประชาชนให้สามารถแข่งขันในเวทีโลกได้

ผู้หนุนพรรคเพื่อไทยเหลือประมาณ 10 ล้านเสียง ผู้หนุน พรรคก้าวไกล (ก.ก.) กลายเป็น 14 ล้านเสียง แม้เสียงน้อยกว่ากัน 10 เก้าอี้ แต่คนหนุนมากกว่ากัน 4 ล้าน นี่เป็นอะไรที่ช็อกฝ่ายจารีตอำนาจนิยมแบบเดียวับที่พรรคไทยรักไทยเคยช็อกเขามาแล้ว ดังนั้น กลยุทธ์เอาศัตรูมาเป็นมิตร เพราะมีศัตรูตัวใหม่ที่น่ากลัวกว่าจึงเป็นเรื่อง “วิน-วิน” ในทรรศนะของเขา

คนที่สนับสนุนพรรคเพื่อไทยก็ดีใจที่พรรคได้เป็นรัฐบาล ฝ่ายวางแผนก็ถือว่าพรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาล ค้ำจุนอำนาจฝ่ายจารีตนิยมให้สามารถอยู่ต่อเนื่อไงด้ ไม่ต่างจากที่ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคประชาธิปัตย์ ทำรอบที่แล้ว ดังนั้น จึงเห็นกลยุทธ์ทางการเมืองในการรักษาอำนาจของฝั่งจารีตอำนาจนิยมไททำได้หลายอย่าง มีลักษณะพิเศษ ที่น่าสนใจคือการพลิกแพลง ยืดหยุ่น ใครจะคิดว่าพรรคเพื่อไทยจับมือ 2 ลุง ขนาดหัวหน้าพรรค (ณ ขณะนั้นคือ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว) ก็ไม่คิด กระทั่งต้องเสียสัจจะวาจามาแล้ว คนจำนวนมาก็ไมคิด อ.ธิดาก็ไม่คิด ที่ไม่คิดคือไม่อยากจะคิด

ถามว่าไว้ใจจารีตอำนาจนิยมไหม คิดว่าเขาก็เก่ง สามารถปรับได้ เช่น การลดลงของพรรคประชาธิปัตย์ เขาต้องหาพรรคถือธงใหม่ ตอนแรกคิดว่าจะเป็นพรรคประยุทธ์ (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) กับ ประวิตร (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) ที่การเลือกตั้ง 2566 จะพิสูจน์ว่าการครองอำนาจมา 9 ปีทำให้คนชื่นชมได้ ถือธงแทนพรรคประชาธิปัตย์ได้ ผลการเลือกตั้งปรากฏว่าไม่ได้ ฝั่งพรรคเหล่านี้ หรือรัฐบาลเดิม เหลืออยู่กว่า 20 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น กลยุทธ์คือต้องแบ่งแยกและดึงพรรคเพื่อไทย โดยที่พรรคเพื่อไทยถือว่า “วิน-วิน” ทั้งคู่

สิ่งที่เกิดขึ้นต่อไปนี้พรรคเพื่อไทยต้องถูกกระทำ เช่น ทำไมตอนนั้นบอกว่ายกเลิกเกณฑ์ทหาร ตอนนี้บอกไม่ยกเลิก นพ.ชลน่าน เคยถูกถามเรื่องแก้รัฐธรรมนูญใน 2 ปี แล้วยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ ตอนนี้บอกไม่ได้พูด จริงๆ บอกเขาไปตรงๆ ดีกว่า แล้วตอนที่ต้องการให้พรรคก้าวไกลในฐานะฝ่ายค้าน โหวตรับรองนายกรัฐมนตรีก็ต้องทำเอ็มโอยูอีกอย่างหนึ่ง คือยุบสภาทันทีที่มีการแก้รัฐธรรมนูญ แต่ตอนนี้อยู่ฝ่ายจารีตอำนาจนิยมแล้ว คนละสถานการณ์ อยุ่ในบริบทใหม่ คุณจะโดนจับผิดอีกเยอะ บอกตรงๆ ไปเลย

ถามว่าแก้รัฐธรรมนูญสำคัญไหม สำคัญมาก เพราะการวางกลยุทธ์ครั้งก่อนที่อยู่ในอำาจ 9 ปี ตัวแม่บทของรัฐธรรมนูญเป็นของจารีตอำนาจนิยม ต่อให้ไม่มีบทเฉพาะกาลก็ตาม ก็ยังเป็นรัฐธรรมนูญของฝ่ายจารีตอำนาจนิยม ดังนั้น ต้องเข้าใจความจริงว่าสถานะปัจจุบันคุณยุติสงครามระหว่างจารีตนิยม อำนาจนิยม กับพรรคเพื่อไทยและทักษิณ พูดง่ายๆ ว่ามาเป็นพวกเดียวกันในรัฐบาล แม้พรรคเพื่อไทยอาจไม่ขวาสุดโต่ง ไม่จารีตอำนาจนิยมสุดโต่ง อยู่กลางๆ ก็ตาม

อย่างไรก็ตาม ในการขับเคลื่อนนโยบาย ขับเคลื่อนการทำงาน คุณต้องทำ เพราะเสียงของจารีตอำนาจนิยมมากกว่า ดังนั้น ผลผลิตของรัฐบาลนี้คือสิ่งที่จารีตอำนาจนิยมอนุญาตเท่านั้นถึงจะทำได้ ถ้าเขาไม่อนุญาตพรรคเพื่อไทยก็ทำไม่ได้

แล้วพร้อมจะยุบสภาไหม? ก็ไม่พร้อม ต้องการทำงานเรียกคะแนนเสียงจากโหวตเตอร์คืน ซึ่งก็เข้าใจว่าพรรคเพื่อไทยพยายามจะทำ ส่วนเรื่องแก้รัฐธรรมนูญก็เป็นสิ่งที่บอกว่าได้ทำตามสัญญา แต่ปัญหาคือจะสิ้นสุดเมื่อใด? นพ.ชลน่านไม่ควรบอกว่าไม่เคยพูด เพราะมี Digital Footprint บอกไปเลยว่าคนละสถานการณ์ บอกว่าไม่เคยพูดมันไม่ดีหรอก

ยุติสงครามหรือไม่ ให้ท่านผู้ฟังพิจารณาเองว่าจารีตอำนาจนิยมยุติสงครามกับทักษิณและพรรคเพื่อไทยหรือยัง ตนคิดว่ายังไม่จบ เหมือนกรณียุคก่อนที่จอมพล ป. มาร่วมมือกัน อยู่ที่ว่าร่วมกันได้สนิทไหม และพูดตรงๆ ว่าขึ้นต่อจารีตอำนาจนิยมโดยสมบูรณ์หรือไม่ แข็งข้อหรือไม่

บางคนอาจบอกว่ายุติแล้ว สีเหลือง สีแดงจับมือกันเป็นกองเชียร์ว่าสลายสี นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ก็เปลี่ยนสีเลย หลายคนบอกว่าสลายขั้ว สลายสีเสื้อ ขณะเดียวกันก็เห็นคนเสื้อแดงจำนวนหนึ่งออกมาเผาเสื้อ แสดงความไม่พอใจ แสดงให้เห็นว่ามีความหลากหลาย มีเฉด เพราะ 2549 เป็นการทำรัฐประหารยุคใหม่ ใน 2 ทศวรรษใหม่ และมาลงดาบ 2 อีกตอน 2557

ดังนั้น คนเสื้อแดงที่เป็นสัญลักษณ์การต่อต้านรัฐประหารและต่อต้านรัฐธรรมนูญฉบับสืบทอดอำนาจก็เป็นคนเสื้อแดงแบบหนึ่ง คนเสื้อแดงที่เป็นกองเชียร์พรรคก็เป็นแบบหนึ่ง ยังมีเสื้อแดงเงียบ แต่เวลาโหวตก็โหวตตามที่คิดก็มี แต่ผลโหวตแสดงให้เห็นว่าคนเคยสนับสนุน เช่น กรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เคยได้ประมาณ 45 เปอร์เซ็นต์ของโหวตเตอรปี 2554 แต่ปี 2566 ได้มา 27 เปอร์เซ็นต์ของโหวตเตอร์ ทั้งนี้ ไม่ได้นำ 2562 มาคิดเพราะใช้บัตรใบเดียว ขณะที่สูญเสียโหวตเตอร์ให้พรรคก้าวไกลจำนวนมาก

ภาพในเวลานี้จึงอยากให้มองอย่างไม่ตัดตอนประวัติศาสตร์ ต้องแยกระหว่างการต่อสู้ของจารีตอำนาจนิยม กับเฉพาะตัว และพรรคคุณทักษิณ กับสงครามระหว่างจารีตอำนาจนิยมกับประชาชน ซึ่งมีมาตั้งแต่ 2475 จนถึงปัจจุบัน เราตัดตอนประวัติศาสตร์ไม่ได้

สงครามกับประชาชน โดยเฉพาะคนเสื้อแดงเป็นการหลั่งเลือด เราไม่มีอาวุธ เราไม่ใช่ พคท.ที่ต่อสู้ด้วยอาวุธ พูดตรงๆ ว่าฝ่ายจารีตอำนาจนิยมทำทุกอย่างแล้วในช่วงตั้งแต่ 2549 ถึงปัจจุบัน ทำหมดทุกกลยุทธ์ โดยกลยุทธ์สุดท้ายคือ “การนำศัตรูมาเป็นมิตร” คือเอาพรรคเพื่อไทยมาอยู่ฝั่งจารีตอำนาจนิยม นี่เป็นกลุยุทธ์สุดยอด

มองจากคนนอกคิดว่าพรรคก้าวไกลไม่ได้สะดุ้งสะเทือนอะไรมาก คิดว่ายุทธศาตร์ของเขาคือต้องการผ่านการเลือกตั้ง 2 รอบก่อน และรอบ 3 จะได้เป็นรัฐบาล เขาไม่ได้ผิดหวัง แต่คนผิดหวังคือประชาชนที่เลือกอย่างถล่มทลาย ดังนั้น กลยุทธ์ยุติสงครามกับพรรคเพื่อไทยและทักษิณจึงเป็นกลยุทธ์สุดยอดของฝั่งจารีตอำนาจนิยมในปัจจุบัน เพื่อแบ่งโหวตเตอร์ ลดสัดส่วนฝ่ายประชาชนที่เป็นปฏิปักษ์กับอำนาจนิยมและจารีตนิยมลงไป

ลักษณะพิเศษของจารีตนิยมไทยทำให้ประเทศไทยซึ่งไม่เคยเป็นอาณานิคม กลับมีพลังเพิ่มจากสงครามเย็น มีลักษณะประนีประนอม มีลักษณะชนชั้น เพราะผู้ก่อการเป็นขุนศึก-ขุนนางต้นๆ ยังไม่มีทฤษฎีการเปลี่ยนแปลงที่มีประสิทธิภาพชี้นำ ยังเป็นการผสมผสาน ยืดหยุ่น แต่ทุกการเปลี่ยนแปลงต้องมีจุดอ่อนทั้งสิ้น นี่คือลักษณะพิเศษของจารีตนิยมไทยที่เข้มแข็ง

“ปัญญาชนไทย” สำคัญ เพราะไม่ได้เป็นปัญญาชนที่เปลี่ยนจุดยืนมาอยู่กับชาวบ้าน หรือไพร่ หรือมวลชน ยังมีลักษณะ “ปัญญาชนขุนนาง” การต่อสู้ของประชาชนคนเสื้อแดงยากลำบาก มิหนำซ้ำยังถูกชักจูงด้วยผลประโยชน์เพราะคู่ขนานไปกับพรรคการเมือง แต่เราจะตัดตอนประวัติศาตร์ไม่ได้

19 กันยายน 2566 ยุติสงครามหรือยัง? สลายสีเสื้อหรือยัง? ยุติการต่อสู้ของประชาชน ประชาชนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับจารีตอำนาจนิยมหรือยัง? บอกได้เลยว่ายัง แต่อาจยุติกับทักษิณและพรรคเพื่อไทย ซึ่งก็เห็นใจและเข้าใจในฐานะที่เขาถูกกระทำมานาน แต่จุดยืนของเราต้องอยู่ฝ่ายประชาชน

ตราบใดที่อำนาจในระบอบประชาธิปไตยยังไม่อยู่ในมือประชาชน ยังอยู่ในมือชนชั้นนำ จารีตอำนาจนิยม หรือคนส่วนน้อย ไม่ว่าจะเป็นนายทุนผูกขาก จารีตนิยมสุดขั้ว หรือฝั่งอำนาจนิยม ซึ่งรวมกันกระทำการยึดอำนาจไทยยาวนาน มาพบกับการต่อสู้กับประชาชนที่เข้มแข็งหลังการเลือกตั้ง และการต่อสู้ของเยาวชนตั้งแต่ 2563 เป็นต้นมา คิดว่าผลการเลือกตั้ง ผลการเกิดของพรรคใหม่ ผลของการต่อสู้คนรุ่นใหม่ ทำให้ต้องยุติสงครามกับทักษิณและพรรคเพื่อไทย

เอาใจช่วยในฐานะคนเคยรู้จักกันให้พรรคเพื่อไทยได้โหวตเตอร์คืน หรือจะแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้แค่ไหน บอกเลยว่าพรรคเพื่อไทยทำได้ต่อเมื่อเขา “อนุญาต” ทำเกินกว่านั้นไม่ได้ เป็นสิ่งที่เราต้องเข้าใจ การยอมรับความจริงดีกว่า ประชาชนจะได้ไม่สับสน เราไม่ได้หวังร้ายกับพรรคที่ข้ามขั้วไป มันป็นสิ่งที่เราต้องทำใจให้ได้ว่าพรรคเพื่อไทยกลายเป็นส่วนหนุนทำให้พลังจารีตอำนาจนิยมยังครองอำนาจอยู่ได้นาน

19 กันยายน 2566 ไม่ได้ยุติสงครามกับประชาชน สงครามที่ประกาศไว้ยุติกับระบอบทักษิณเท่านั้นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image