ย้อนดูอดีตนักการเมือง ถูกพิพากษา เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตลอดชีวิต

ย้อนดูอดีตนักการเมือง ถูกพิพากษา เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตลอดชีวิต

ภายหลัง ศาลฎีกา มีคำพิพากษาให้ นางสาวพรรณิการ์ วานิช อดีตส.ส.พรรคอนาคตใหม่ ถอนสิทธิรับเลือกตั้งตลอดไป และไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมือง ฐานฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรงตามกฎหมาย กรณี นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นหนังสือต่อ ป.ป.ช. ให้ตรวจสอบกรณีโพสต์ภาพ และข้อความ เชื่อมโยงสถาบัน

อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่ครั้งแรก ที่นักการเมือง ถูกศาลฎีกา พิพากษาตัดสิทธิรับสมัครเลือกตั้งตลอดชีวิต

มติชนออนไลน์ ได้รวบรวม ส.ส. ในสมัยที่ผ่านมา ว่าในเวลาเพียงไม่กี่ปี ใครบ้างที่ถูกตัดสิทธิทางการเมือง

Advertisement

ปารีณา ไกรคุปต์ – บุกรุกพื้นที่ป่าราชบุรี

คดีความของนางสาวปารีณา ไกรคุปต์ นั้น เมื่อ 7 เมษายน 2565 ศาลฎีกานัดฟังคำพิพากษา คดีหมายเลขดำที่ คมจ.1/2564 ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงของ นางสาวปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ กรณีบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนในจังหวัดราชบุรี อันเป็นการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตัวและส่วนรวม และขอให้ศาลฎีกามีคำสั่งให้ผู้คัดค้านพ้นจากตำแหน่งนับแต่วันหยุดปฏิบัติหน้าที่ และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้คัดค้าน และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดเวลาไม่เกิน 10 ปี

ศาลพิพากษาว่า ผู้คัดค้านฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรม มีคำสั่งให้ผู้คัดค้านพ้นจากตำแหน่งนับจากวันที่ 25 มีนาคม 2564 ซึ่งเป็นวันที่ศาลฎีกา สั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้คัดค้านตลอดไป และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดเวลาไม่เกิน 10 ปี มีผลให้ผู้คัดค้านไม่มีสิทธิ์รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. สว. ผู้บริหารท้องถิ่น และดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 235 วรรคสี่ และพรบ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ. 2561 มาตรา 81, 87 และมาตรฐานจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ข้อ 3 ข้อ 17 ประกอบข้อ 27 วรรคสอง

Advertisement

กรณีดังกล่าวสืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา คณะกรรมการป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิดว่า น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ ยึดถือ ครอบครอง และใช้ประโยชน์ในที่ดินของรัฐโดยมิชอบดังกล่าว เป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง กรณีเป็นส.ส.กระทำการอันเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนกับประโยชน์ส่วนรวม ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม อันถือว่ามีลักษณะร้ายแรง และกรณีเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกระทำการใดที่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์ของการดำรงตำแหน่ง อันถือว่ามีลักษณะร้ายแรงตามมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ. 2561 ข้อ 11 ข้อ 17 ประกอบข้อ 27 วรรคสอง

กนกวรรณ วิลาวัลย์ คดีรุกป่าเขาใหญ่

นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ร้องฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง

ทั้งนี้ ป.ป.ช. ผู้ร้อง ยื่นคำร้องสรุปว่า เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2545 ผู้คัดค้านดำเนินการขอออกโฉนดที่ดินในพื้นที่หมู่ที่ 15 ตำบลเนินหอม อำเภอเมืองปราจีนบุรี จังหวัดปราจีนบุรี เนื้อที่ 30-2-80.5 ไร่ โดยอ้างว่าซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวมาจาก นายทิว มะลิซ้อน เมื่อปี 2533 แต่นายทิวไม่มีตัวตน ทั้งไม่เคยมีการเข้าทำประโยชน์ในที่ดินที่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และแนวเขตป่าไม้ถาวรป่าเขาใหญ่ ทำให้รัฐสูญเสียที่ดินในเขตอุทยานแห่งชาติให้แก่ผู้คัดค้าน การออกโฉนดที่ดินเลขที่ 41158 ตำบลเนินหอม อำเภอเมืองปราจีนบุรี จังหวัดปราจีนบุรี จึงมิชอบด้วยกฎหมาย และเป็นความเสียหายร้ายแรง ผู้คัดค้านยังคงยึดถือครอบครองที่ดินต่อเนื่องตลอดมาจนกระทั่งเข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

ป.ป.ช.ผู้ร้องจึงขอให้ศาลฎีกา มีคำพิพากษาหรือคำสั่งว่า ผู้คัดค้านฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ให้ผู้คัดค้านหยุดปฏิบัติหน้าที่นับแต่วันที่ศาลฎีการับคำร้องจนกว่าจะมีคำพิพากษา ให้ผู้คัดค้านพ้นจากตำแหน่งนับแต่วันหยุดปฏิบัติหน้าที่ เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้คัดค้าน และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดเวลาไม่เกินสิบปี ตาม รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 235 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 87 และมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ.2561 ข้อ 8 และข้อ 11, 17 ประกอบข้อ 27

ต่อมา ศาลฎีกาพิพากษาว่า นางกนกวรรณฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรงให้พ้นจากตำเเหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษา 26 สิงหาคม 2565 ให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตลอดไป รวมถึงไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 235 วรรคสี่ และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลา 10 ปี

อนุรักษ์ ตั้งปณิธานนท์ – ตบทรัพย์ 5 ล้าน อธิบดีน้ำบาดาล

6 มกราคม 2566 ศาลฎีกา นัดฟังคำพิพากษา คดีหมายเลขดำที่ คมจ.4/2565 ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ร้องต่อศาลว่า นายอนุรักษ์ ตั้งปณิธานนท์ ส.ส.มุกดาหาร พรรคเพื่อไทย ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง จากกรณีการเรียกรับเงินจำนวน 5 ล้านบาท จากนายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เพื่อแลกกับการผ่านงบประมาณ

กรณีดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากนายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กล่าวในที่ประชุมอนุกรรมาธิการแผนบูรณาการ 2 ในคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 ที่มีการประชุมพิจารณางบประมาณแผนบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ในส่วนของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล และกรมทรัพยากรน้ำ ว่ามีอนุกรรมาธิการบางคนโทรศัพท์เรียกเงิน 5 ล้านบาท แลกกับการผ่านงบประมาณ

ป.ป.ช.ตั้งอนุกรรมการไต่สวน ซึ่งนายศักดิ์ดาให้ข้อมูลว่า นายอนุรักษ์ได้เรียกรับเงินทางโทรศัพท์ จากการไต่สวนและการเช็กข้อมูลจากโทรศัพท์ ช่วงระยะเวลาที่มีการโทร จึงเชื่อได้ว่า นายอนุรักษ์ได้มีการเรียกรับเงินจากนายศักดิ์ดาจริง

ต่อมา ศาลฎีกา มีคำพิพากษาว่า นายอนุรักษ์ ฝ่าฝืน ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง โดยให้พ้นจาก ตำแหน่ง ส.ส.มุกดาหาร พรรคเพื่อไทย นับตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2564 ซึ่งเป็นวันที่ศาลฎีกามีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ให้เพิกถอนสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้งตลอดไป และไม่มีสิทธิ์ดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ และเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งเป็นเวลา 10 ปี นับตั้งแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา

ธณิกานต์ พรพงษาโรจน์ – เสียบบัตรแทนกัน

นางสาวธณิกานต์ พรพงษาโรจน์ อดีตส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ยื่นคำร้อง มีพฤติการณ์ฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรง กรณีเสียบบัตร ส.ส. แทนกันในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยองค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกา อ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ คมจ.2/2564 เมื่อ 3 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา

คดีดังกล่าว ย้อนไปเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม นางสาวธนิกานต์ ลงชื่อเข้าร่วมประชุมสภาซึ่งมีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.เหรียญราชรุจิ รัชกาลที่ 10 พ.ศ. … โดยไม่ได้ลาประชุม แต่ไม่ได้อยู่ในที่ประชุมระหว่างเวลาประมาณ 13.30-15.00 น. ผู้คัดค้านฝากบัตรอิเล็กทรอนิกส์แสดงตนและลงมติของตนกับ ส.ส.รายอื่น หรือบัตรของผู้คัดค้านอยู่ในความ ครอบครองของ ส.ส.รายอื่นโดยความยินยอมของผู้คัดค้าน เพื่อให้ ส.ส.รายนั้น ใช้บัตรของผู้คัดค้านกดปุ่มแสดงตนและลงมติแทนผู้คัดค้านในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติเหรียญราชรุจิ รัชกาลที่ 10 พ.ศ. … วาระที่ 1 และวาระที่ 3 ทำให้ผลการลงมติ พ.ร.บ.ดังกล่าวไม่สอดคล้องกับหลักนิติธรรม มีผลกระทบต่อกระบวนการตรากฎหมายของฝ่ายนิติบัญญัติ กระทบต่อเจตนารมณ์ที่แท้จริงของผู้แทนปวงชนชาวไทย การกระทำของผู้คัดค้านเข้าลักษณะเป็นการฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง

ศาลพิพากษาว่า นางสาวธนิกานต์ ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กร อิสระ พ.ศ.2561 ข้อ 6-8 ประกอบข้อ 27 วรรคหนึ่ง ให้ผู้คัดค้านพ้นจากตำแหน่งนับแต่วันที่ 11 ส.ค.64 อันเป็นวันที่ศาลฎีกามีคำสั่งให้ผู้คัดค้านหยุดปฏิบัติหน้าที่ เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้คัดค้านตลอดไป และ ไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดเวลา 10 ปี นับแต่วันที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาตาม รัฐธรรมนูญ มาตรา 235 วรรคสามและวรรคสี่ พรป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 87 ประกอบมาตรา 81 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในส่วนของคดีอาญาก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคมที่ผ่านมา ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อ่านคำพิพากษาชั้นวินิจฉัยอุทธรณ์ลงโทษยืนจำคุก 1 ปี ปรับ 2 แสนบาท รอลงอาญา 2 ปี น.ส.ธณิกานต์ ใช้อำนาจหน้าที่มิชอบเสียบบัตรแทนกัน กรณีเดียวกันนี้ก่อนตัดสิทธิทางการเมือง

พรรณิการ์ วานิช – โพสต์พาดพิงสถาบัน

20 กันยายน ศาลฎีกามีคำพิพากษาให้ นางสาวพรรณิการ์ วานิช อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคอนาคตใหม่ ถอนสิทธิรับสมัครเลือกตั้งตลอดไป และไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมือง ฐานฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรงตามกฎหมาย ในคดีเลขที่ คมจ. 1/2565 ที่นายศรีสุวรรณ จรรยา ขณะนั้นเป็นเลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นหนังสือต่อ ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2562

กรณีดังกล่าว นายศรีสุวรรณยื่นหนังสือให้ตรวจสอบกรณีโพสต์ภาพและข้อความจำนวนมาก ในเฟซบุ๊กที่ทำให้ประชาชนเข้าใจไปในทางที่อาจเชื่อมโยงกับเรื่องของสถาบันอย่างมิบังควร อันเป็นพฤติการณ์หรือการกระทำที่ส่อไปในทางขัดต่อมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ทั้งที่นางสาวพรรณิการ์เป็น ส.ส.ได้รับโปรดเกล้าฯ และได้ถวายสัตย์ปฏิญาณตน

คดีดังกล่าว ที่ประชุม ป.ป.ช.มีมติเอกฉันท์ชี้มูลเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 ว่านางสาวพรรณิการ์ ผิดจริยธรรมร้ายแรง ตามมาตรฐานจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ.2561 ที่บังคับใช้กับ ส.ส.

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image